ทำ”หน้าที่”เพื่อรักษา”สิทธิ” โดย สุชาติ ศรีสุวรรณ

คอลัมน์ ที่เห็นและเป็นไป

ในช่วงที่ผ่านมามีเรื่องราวน่าสนใจติดตามอยู่หลายเรื่อง

จากการแข่งขันเพื่อความอยู่รอดของสื่อยุคดิจิตอลทีวีสารพัดช่องที่ต้องแข่งช่วงชิง

เม็ดเงินโฆษณากับโซเชียลเน็ตเวิร์ก สื่อออนไลน์ จนกระทั่งทำให้การเสียชีวิตของ “ปอ ทฤษฎี” เป็นสนามการแข่งขันที่เอาเป็นเอาตาย ในยามที่ข่าวเป็นภาพสะท้อนของ “การเมือง เศรษฐกิจ และสังคม” ต้องใช้ความระมัดระวังในการนำเสนอสูงยิ่ง

Advertisement

ภาวะแห้งแล้งที่มีแนวโน้มจะก่อสงครามชิงน้ำระหว่างคนชนบทกับคนเมือง

การสถาปนาสมเด็จพระสังฆราชพระองค์ใหม่ซึ่งเกิดการต่อสู้กันดุเดือดไม่เลือกรูปแบบไม่ต่างจากการเมือง จนไม่น่าเชื่อว่านี่คือเรื่องราวของ “พุทธศาสนา” ที่พระธรรมคำสอนมุ่งให้ฝึกจิตใจอยู่ในความสุขสงบ ปล่อยวาง เห็นสรรพสิ่งเป็นอนัตตา

และอื่นๆ

Advertisement

แต่หากฟันธงกันว่าเรื่องราวไหนที่สำคัญที่สุดต่อประเทศยามนี้ เสียงส่วนใหญ่ดูเหมือนจะให้น้ำหนักตรงกันว่าเป็น “ร่างรัฐธรรมนูญ” ที่กำลังจะแล้วเสร็จก่อนที่จะแจกจ่ายให้ประชาชนไปศึกษาเพื่อทำ “ประชามติ” ว่าจะผ่านให้หรือไม่

ติดตามจากนักตีความกฎหมายทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายที่เห็นด้วยกับคณะกรรมการร่าง และฝ่ายที่ไม่เห็นด้วย มีมุมมองไม่ต่างกันนัก

นั่นคือ ร่างรัฐธรรมนูญฉบับ “ผู้เฒ่ามีชัย ฤชุพันธุ์” ใส่หมวกแก๊ปนำทีมเขียนขึ้นมานี้ สาระหลักไม่ต่างจากฉบับที่ “บวรศักดิ์ อุวรรณโณ” นำทีมร่างขึ้นมาและถูกล้มกระดานไปก่อนหน้านั้นนัก

หลักการยังอยู่ที่

หนึ่ง ทำให้หลังการเลือกตั้งโอกาสที่พรรคการเมืองพรรคหนึ่งพรรคใดจะได้รับชัยชนะอย่างเด็ดขาดมีน้อยมาก รัฐบาลที่จะเกิดขึ้นมีโอกาสสูงที่จะเป็นรัฐบาลผสม

โดยไม่สนใจว่ารัฐบาลมีเสถียรภาพพอที่จะบริหารประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพหรือไม่

สอง เปิดทางให้คนนอกมาเป็นนายกรัฐมนตรีได้

สาม ป้องกันการวางนโยบายบางประการของรัฐบาล

สี่ ให้บทบาทกับนักการเมืองที่มาจากการแต่งตั้ง ทั้งในนามวุฒิสมาชิก และองค์กรอิสระต่างๆ มีอำนาจเต็มเข้าไปแทรกแซงตัดสินนักการเมือง

ห้า จะเป็นรัฐธรรมนูญที่หากประกาศใช้แล้ว มีกลไกที่มีประสิทธิภาพสูงยิ่งที่จะป้องกันไม่ให้แก้ไข

ทั้งนี้ โดยความคิดสรุปรวมยังอยู่ที่ “นักการเมือง” เป็นเผ่าพันธุ์มนุษย์ที่เห็นแก่ประโยชน์ส่วนตัวมากกว่าส่วนรวม แสวงอำนาจเข้ามาเพื่อผลประโยชน์มากกว่าที่จะมาช่วยพัฒนาประเทศชาติ โดยที่ประชาชนส่วนใหญ่ยังไม่รู้เท่าทันเหลี่ยมเล่ห์ของนักการเมืองเหล่านี้

ดังนั้น จึงต้องหาทางป้องกัน และลดบทบาทของนักการเมืองพวกนี้ลงไปให้อยู่ในระดับที่ควบคุมได้

รัฐธรรมนูญในหลักการและวิธีคิดเช่นนี้ กำลังได้รับการนำเสนอต่อประชาชนให้ทำ “ประชามติ”

แน่นอน ที่สุดแล้วขึ้นอยู่กับประชาชนจะตัดสินว่าจะให้ประกาศใช้รัฐธรรมนูญที่ร่างขึ้นมาด้วยหลักการและความคิดนี้หรือไม่

แต่ที่น่าสนใจ จะมีกลไกอย่างไรที่จะทำให้ประชาชนได้รู้ว่ารัฐธรรมนูญนี้เป็นอย่างไร เมื่อประกาศใช้แล้วจะเป็นผลดีหรือผลเสียต่อประชาชนโดยรวมอย่างไร

กลไกนี้จะต้องทำหน้าที่อย่างมีประสิทธิภาพ ด้วยจะให้ประชาชนมาเรียนรู้ ศึกษาเองย่อมเป็นเรื่องยาก

แม้จะมีคนบางกลุ่มพยายามชี้ให้เห็นว่า “หากประชาชนยังไม่ฉลาดพอที่จะเรียนรู้ด้วยตัวเองก็สมควรจะต้องยอมรับวิธีการนี้ เพราะสะท้อนถึงความไม่พร้อมที่จะเรียนรู้ประชาธิปไตย เมื่อไม่พร้อมก็จำเป็นจะต้องถูกชี้นำบงการ หรือจำกัดสิทธิบางอย่าง”

แต่นั่นเป็นเรื่องที่จะต้องตั้งคำถามกลับว่า เป็นวิธีคิดที่ถูกต้องและเป็นธรรมกับประชาชนทั่วไปที่โดยหลักการแล้วจะต้องมีสิทธิที่เท่าเทียมกัน ไม่ถูกจำกัดสิทธิด้วยความไม่รู้

ที่สุดแล้วการรักษาสิทธิของประชาชนเป็นภาระของนักการเมือง ซึ่งมีหน้าที่หลักคือเป็นปากเสียงให้ประชาชน

และควรจะเป็นปากเสียงต่อสู้เพื่อสิทธิของประชาชนอยู่ตลอดเวลาไม่ว่าจะมีสภาหรือไม่ก็ตาม

“ร่างรัฐธรรมนูญ” ที่ชัดเจนว่ากระทบต่อบทบาทของนักการเมืองที่เป็นตัวแทนจากอำนาจประชาชนเช่นนี้ จำเป็นต้องทำให้ประชาชนส่วนใหญ่เข้าใจ และเลือกที่จะรับหรือไม่รับ

หน้าที่ในการทำให้ประชาชนเข้าใจเป็นของนักการเมืองที่จะต้องเป็นปากเป็นเสียงให้

ดังนั้น ที่จะต้องจับตาอย่างใกล้ชิดนับจากนี้คือ นักการเมืองจะแสดงบทบาทของตัวเองอย่างไร

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image