ปชป.-สามก๊กการเมือง

รูปร่าง หน้าตารัฐบาลใหม่ภายหลังการเลือกตั้งที่กำลังจะมาถึงจะปรากฏโฉมออกมาแบบไหน ใครต่อใครก็พูดทำนองเดียวกันว่า หน้าฉากละครการเมือง ขึ้นอยู่กับผลการเลือกตั้งจะออกมาอย่างไรพรรคไหนได้ที่นั่ง ส.ส.มากน้อยแค่ไหน

แต่ความเป็นจริงที่อยู่หลังฉาก นักสังเกตการณ์มือละอ่อนก็รับรู้กันตลอดมาว่า ทั้งก่อนและหลังเลือกตั้งแทบทุกครั้งจะมีรายการฮั้วกันทางการเมืองเกิดขึ้นเสมอ

การเลือกตั้งครั้งนี้ก็เช่นกัน ใครจะจับมือกับใคร ดูจากความเคลื่อนไหวและจุดยืนทางการเมืองทำให้พอคาดเดาได้ไม่ยาก จาก 3 ก๊กใหญ่ ก๊กแรกต้องการสืบทอดอำนาจ คสช. ดำรงโมเดลแม่น้ำห้าสายให้เดินหน้าต่อไปโดยชู พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี ก๊กที่สองยุติระบอบ คสช. ยกเลิกรัฐธรรมนูญ หยุดโมเดลอำนาจนิยม ไทยนิยมประชารัฐ

ก๊กที่สาม ยังไม่แจ่มชัดจะไปทางไหนแน่ โดยเฉพาะพรรคใหญ่อย่างประชาธิปัตย์ ระหว่างเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล เป็นพรรคร่วมรัฐบาล หรือ เป็นพรรคฝ่ายค้าน ยังตอบไม่ได้ว่าจะจอดป้ายไหนในที่สุด

Advertisement

เหตุจากการขับเคลื่อนเพื่อชิงชัยเก้าอี้หัวหน้าพรรคจะรู้ผลภายในวันที่ 5 พฤศจิกายน เป็นวันตัดสิน ขณะที่สถานการณ์เวลานี้ นายอภิสิทธ์ เวชชาชีวะ อดีตหัวหน้าพรรค มีแนวโน้มเป็นต่อคู่แข่งอีกสองคน ที่คะแนนเสียงตัดกันเอง

เพราะฝ่ายหนึ่งประกาศแนวทางปฏิรูป ซึ่งลงทุนลงแรงผลักดันมาตลอดร่วมกับแม่น้ำห้าสาย และอีกฝ่ายหนึ่งซึ่งถูกมองว่าจะเป็นสะพานทอดให้แรงผลัก พล.อ.ประยุทธ์อยู่ต่อไปเป็นจริง

สองกลุ่มหลังนี้จุดยืนทางการเมืองละม้ายคล้ายกัน ทำให้โอกาสของอดีตหัวหน้าพรรคมีสูงกว่า ประกอบกับแนวคิดไม่อยากเปลี่ยนม้ากลางสนามเป็นปัจจัยเกื้อหนุนอีกแรงหนึ่ง

Advertisement

อย่างไรก็ตาม การขับเคี่ยวระหว่างสามกลุ่มในพรรคประชาธิปัตย์ กลยุทธ์เฉพาะหน้าที่จำเป็นต้องเดินเหมือนกัน คือ เอาชนะศึกภายในให้ได้ก่อน ค่อยไปสู้ศึกภายนอก

สถานการณ์ภายในพรรคประชาธิปัตย์จึงต่างไปจากพรรคอื่นๆ ซึ่งจุดยืนทางการเมืองค่อนข้างชัดเจน พอมองเห็นแนวโน้มว่าจะเอนเอียงไปทางไหน

ขณะที่ประชาธิปัตย์ยังไม่สะเด็ดน้ำ จึงเป็นสถานการณ์ที่ท้าทาย เพราะความเป็นประชาธิปไตยภายในพรรคแทนที่จะทำให้เกิดเอกภาพ เดินไปด้วยกัน กลับตรงกันข้าม เป็นความย้อนแย้งที่บั่นทอนพลังร่วมที่ควรจะมีเพื่อรวมพลังกันขบคิด ข้อเสนอ ชุดนโยบายใหม่ๆ ให้แรงพอที่จะหักโค่นคู่แข่งลงได้

ผลการเลือกตั้งหัวหน้าพรรคจะทำให้พรรคประชาธิปัตย์แข็งแกร่ง เติบใหญ่ ได้รับเลือกตั้ง ส.ส.จำนวนมากหรือแตกเป็นเสี่ยงๆ ก็ตาม การรวมพลังเพื่อนำพาพรรคเดินไปข้างหน้าภายใต้จุดยืนแนวคิดจุดยืนที่แตกต่างกันเองเช่นนี้จึงยากลำบาก ยกเว้นได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งทั่วไปอย่างถล่มทลายเท่านั้น จึงจะเป็นทางออก

ณ วันนี้ แนวโน้มการเป็นพันธมิตรทางการเมืองแบ่งออกเป็นสามขั้ว สามกลุ่ม สามก๊กชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ ได้แก่ พลังประชารัฐ (พปชร.) รวมพลังประชาชาติไทย (รปช.) พลังชล (พช.) ประชาชนปฏิรูป พลังชาติไทย พลังพลเมืองไทยฯ

กลุ่มที่สอง เพื่อไทย เพื่อธรรม เสรีรวมไทย อนาคตใหม่ ประชาธิปไตยใหม่ ประชาชาติฯ

กลุ่มที่สาม ประชาธิปัตย์ ภูมิใจไทย ชาติไทยพัฒนา (ชทพ.) ชาติพัฒนา (ชพ) ท้องถิ่นไทยฯ

ความเคลื่อนไหวที่ต้องติดตามต่อจากนี้ไปไม่ใช่มีเพียงแค่ว่าทั้งสามกลุ่มนี้ พรรคไหนจะได้รับเลือกตั้งมากที่สุด และกลุ่มไหนจะรวบรวมคะแนนเสียง ส.ส.ได้สูงสุดเท่านั้น

แต่ต้องติดตามว่า พล.อ.ประยุทธ์จะตัดสินใจเลือกเส้นทางเดินทางการเมืองไปร่วมกับพรรคไหน ยินยอมให้พรรคใดเสนอชื่อเป็น 1 ใน 3 ผู้สมควรได้รับเลือกเป็นนายกรัฐมนตรี

การเกิดขึ้นจนเป็นรูปเป็นร่างของพรรคพลังประชารัฐที่มีรัฐมนตรีร่วมรัฐบาลเป็นมือเป็นแขนปฏิบัติการ เป็นคำตอบในระดับหนึ่งแล้วว่าแนวโน้มที่ พล.อ.ประยุทธ์จะเดินหน้าต่อเป็นไปได้สูงมาก หาไม่เช่นนั้นแล้วรัฐมนตรีร่วมรัฐบาลคงไม่ยอมเปลืองตัว เดินหน้าตั้งพรรคเพื่อรองรับจนสำเร็จ

ประเด็นสำคัญอยู่ที่ว่า การตัดสินใจลงสู่สนามการเมืองของ พล.อ.ประยุทธ์จะเป็นพลังดันให้พรรคกลุ่มนี้ได้รับเลือกตั้งมาก หรือเป็นพลังฉุด พลังดับ เพราะยิ่งทำให้สาระและบรรยากาศการเมืองไทยไม่ต่างไปจากสี่ปีที่ผ่านมาจากโครงสร้างอำนาจที่วางไว้ตามรัฐธรรมนูญ เดือนกุมภาพันธ์ ปีหน้า ถ้าไม่บิดเบี้ยว พลิกพลิ้วไปมากันอีก จะเป็นวันตัดสินว่า ผู้ใช้สิทธิลงคะแนนเสียงส่วนใหญ่ต้องการให้ประเทศเดินหน้าไปทางไหน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image