กัญชาทางการแพทย์ โดย : พญ.ชัญวลี ศรีสุโข

กัญชาเป็นพืชสมุนไพรที่มีสารออกฤทธิ์ (Bioactive compounds) กว่า 400 ชนิด พบมากที่สุดเป็น สารแคนนาบินอยด์ (cannabinoids) ได้แก่ เตตร้าไฮโดรแคนนาบินอยด์ (tetrahydrocannabinoid: THC)และแคนนาบิไดอัล (cannabidiol) ออกฤทธิ์ ยับยั้ง กระตุ้น ระบบประสาท ฮอร์โมน ภูมิคุ้มกันและระบบอื่นๆ ของร่างกาย มีถิ่นกำเนิดในทวีปเอเชีย แต่สามารถปลูกได้ทุกประเทศทั่วโลก

ประเทศไทยเป็นถิ่นกำเนิดกัญชาสายพันธุ์ Cannabis sativa L. ssp. Indico ที่มีชื่อเสียง เพราะนักวิทยาศาสตร์นิยมสกัดเอาสารแคนนาบินอยด์ที่มีปริมาณสูงมาใช้ทดลองทางการแพทย์ โดยประสิทธิภาพของกัญชาวัดจากปริมาณของ THC

กัญชาใช้เป็นยาตั้งแต่สมัยโบราณ มีบันทึกในตำราอายุรเวทของชนเผ่าต่างๆ มานานกว่า 3,000 ปี หลายประเทศในยุโรป แคนาดา และบางมลรัฐของประเทศสหรัฐอเมริกา ล่าสุดได้แก่รัฐแคลิฟอร์เนีย อนุญาตให้เสพกัญชาได้โดยไม่ผิดกฎหมาย แต่เพราะฤทธิ์เสพติด จึงทำให้หลายประเทศ ประกาศเป็นสารเสพติด ประเทศไทยถือกัญชาเป็นยาเสพติดประเภท 5 ตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 ปัจจุบันกัญชาถือเป็นยาเสพติดผิดกฎหมายที่ใช้กันมากที่สุดทั่วโลก ส่วนใหญ่ใช้เพื่อความผ่อนคลาย (Recreation)

สถานการณ์การเสพกัญชาและปัจจัยเสี่ยง

Advertisement

ข้อมูลจากงานวิจัยประมาณว่ามีคนเสพกัญชาใน ค.ศ.2016 จำนวน 192 ล้านคนทั่วโลก โดยเพิ่มขึ้นร้อยละ 16 ใน 10 ปีที่ผ่านมา ปัจจัยที่เพิ่มความเสี่ยงในการเสพดังนี้

1.อายุ 18-25 ปี เพศชายเสพมากกว่าเพศหญิงสองเท่า

2.เชื้อชาติ ชาติพันธุ์ คนตะวันตกเสพมากกว่าคนเอเชีย

Advertisement

3.การศึกษาต่ำกว่าระดับวิทยาลัย ว่างงาน รายได้ต่ำ

4.มีความรุนแรงในครอบครัว โสดไม่แต่งงาน ครอบครัวไม่อบอุ่น

5.ไม่มีศรัทธาในศาสนา ติดเหล้า บุหรี่

การเสพติดกัญชา

(Cannabis use disorder)

งานวิจัยพบ ผู้เสพติดกัญชา ตั้งแต่ร้อยละ 0.19-12.7 ของผู้เสพ ที่ข้อมูลแตกต่างกันมาก อาจจะเกิดจากความแตกต่างของประชากรที่นำมาศึกษา โดยพบว่า

-การเสพกัญชาร่วมกับ แอลกอฮอล์ บุหรี่ ฝิ่น เฮโรอีน โคเคน ยาบ้า หรือยากล่อมประสาท ทำให้ติดสารเหล่านั้นมากขึ้น และเสพติดกัญชามากขึ้น ทำให้เกิดผลข้างเคียงทั้งจากกัญชาและสารเหล่านั้นสูงขึ้น 2-10 เท่า

-การเสพกัญชาในคนไข้ที่เป็นโรคจิต โรคประสาท นอกจากมีจำนวนสูงกว่าคนทั่วไปแล้ว คนไข้เหล่านี้มีแนวโน้มที่จะเสพติดกัญชาและเลิกยากกว่าคนทั่วไป เช่น คนไข้ที่มีความผิดปกติทางอารมณ์ (Mood disorder) โรคจิตเภท (Schizophrenia) โรควิตกกังวล (Anxiety disorder) อาการเครียดหลังเกิดจากเหตุการณ์สะเทือนใจ (Post traumatic stress disorder) โรคย้ำคิดย้ำทำ (Obsessive-compulsive disorder) โรคสมาธิสั้น (Attention deficit hyperactive disorder) โรคบุคลิกภาพผิดปกติ (Personality disorder)

ภาวะทุพพลภาพทั้งหมด (Total disability) ของกัญชา

ในบรรดาสารเสพติดทั้งหลาย ไม่รวมบุหรี่ กัญชาเป็นสารเสพติดที่สร้างปัญหาสุขภาพไม่มากนัก เมื่อเทียบกับสารเสพติดอื่นๆ ดังนี้

1.แอลกอฮอล์ ร้อยละ 47

2.ฝิ่น เฮโรอีน ร้อยละ 24.3

3.ยาบ้า ร้อยละ 7

4.กัญชา ร้อยละ 5.5

5.โคเคน ร้อยละ 2.9

6.ยาเสพติดชนิดอื่นๆ ร้อยละ 13.4

ผลข้างเคียงของกัญชา

1.ตายด้วยอุบัติเหตุการขับขี่ยวดยานบนท้องถนน

งานวิจัยขนาดใหญ่ วิเคราะห์แบบตัดขวางทางระบาดวิทยา (Large-scale cross-sectional epidemiological studies) และการศึกษาขนาดเล็กกว่าแบบไปข้างหน้าระยะยาว (Smaller prospective longitudinal studies) ไม่พบว่าการเสพกัญชาเกี่ยวข้องกับโรคที่เป็นอยู่แล้ว (Medical condition) หรือทำให้เจ็บป่วย หรือตายจากโรค แต่พบว่าการเสพกัญชาสัมพันธ์กับการตายด้วยอุบัติเหตุการขับขี่ยวดยาน

2.การทำงานด้านจิตสังคม (Psychosocial functioning) และสุขภาพ (Health)

การทบทวนงานวิจัยอย่างเป็นระบบ (Systematic review) พบว่าการเสพกัญชา สัมพันธ์กับการเรียนไม่จบ เพิ่มการใช้ยาเสพติดตัวอื่น แต่ไม่สัมพันธ์กับผลการเรียนที่ตกต่ำ งานวิจัยจากประเทศฝรั่งเศสที่ติดตามผู้เสพกัญชานานถึง 19 ปี พบว่าคนที่เสพกัญชาในอายุต่ำกว่า 16 ปี เรียนไม่จบชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย มากกว่าคนไม่เสพ แต่หากเสพอายุเกิน 16 ปี วุฒิการศึกษาไม่แตกต่างกัน

3.โครงสร้างและหน้าที่ของสมอง การทบทวนงานวิจัยอย่างเป็นระบบ (Systematic review)พบว่าการเสพกัญชา สัมพันธ์กับการลดลงของสมองส่วนฮิปโปแคมปัส (Hippocampus) ลดการทำงานของเส้นประสาทในเปลือกสมอง ซิงกูเลทส่วนหน้า และกลีบหน้าผากส่วนหน้า (Anterior cingulate cortex and Prefrontal cortex)

4.ผลต่อจิตประสาท (Neuropsychological effects) การเสพกัญชามีผลระยะสั้น ทำให้เสียความตั้งใจ สมาธิ ความจำ การพูด การเรียนรู้ เมื่อหยุดเสพจะกลับมาเป็นปกติ

5.โรคจิต (Psychosis) กัญชาสามารถชักจูงให้เกิดโรคจิตได้ในวัยรุ่น ที่เสพบ่อยเกิน 5 ครั้งเมื่ออายุ 15-16 ปี หรือคนที่เสพกัญชามานานเรื้อรัง

6.อารมณ์แปรปรวน งานวิจัยส่วนใหญ่แต่ไม่ทั้งหมดพบว่า การเสพกัญชาทำให้เกิดภาวะซึมเศร้าและโรคอารมณ์แปรปรวนสองขั้ว

7.ปอด การสูบกัญชาทำให้เกิดหลอดลมอักเสบ หอบหืด ไอมีเสมหะ อย่างเฉียบพลัน
8.ภาวะการเจริญพันธุ์ กัญชาทำให้อสุจิมีจำนวนน้อยลง แม่ที่เสพกัญชาเพิ่มการตายของทารกที่คลอดออกมาจากการติดเชื้อและปัญหาระบบประสาทสมอง และมีน้ำนมน้อยลงจากกัญชามีผลลดการหลั่งของฮอร์โมนโปรเลคติน (prolactin)

9.ปาก กัญชาทำให้ปากแห้ง แผลเปื่อยในช่องปาก โรคปริทนต์ (Periodontitis)

10.ตา กัญชาทำให้เส้นเลือดตาขยาย (Red eyes) ลดความดันลูกตา เห็นไม่ชัด ไวต่อแสง

11.คลื่นไส้อาเจียนอย่างรุนแรงและปวดท้อง พบได้น้อย ไม่ตอบสนองต่อยาแก้คลื่นไส้อาเจียนแต่อาการจะดีขึ้นเมื่ออาบน้ำอุ่น และหายไปเองเมื่อหยุดเสพกัญชา สำหรับการเสพกัญชากับการเกิดมะเร็ง การทำงานของตับผิดปกติ ปัญหาระบบหัวใจและหลอดเลือด งานวิจัยไม่พบความสัมพันธ์กับความเสี่ยงเหล่านี้ หรือพบไม่มาก

กัญชากับการนำมาใช้ทางการแพทย์
ในเดือนสิงหาคม ค.ศ.2018 จำนวน 31 รัฐของประเทศสหรัฐอเมริกา รวมถึง District of Columbia เปอร์โตริโก และเกาะกวม ประกาศให้ใช้กัญชาทางการแพทย์ ส่วนอีก 15 รัฐให้ใช้สารสกัดกัญชา THC รักษาโรคลมชักในเด็ก โดยเฉพาะที่ดื้อยา (refractory seizures)

27 ประเทศรวมประเทศแคนาดา แต่ไม่รวมประเทศสหรัฐอเมริกา อนุญาตให้ใช้สารสกัดกัญชา THC และแคนนาบิไดอัล (nabiximols, Sativex) รักษาอาการเจ็บปวด กล้ามเนื้อหดเกร็งจากโรคเอ็มเอส (Multiple sclerosis) โดยการใช้กัญชาทางการแพทย์นั้น มักพิจารณาใช้ในคนไข้ที่เคยใช้มาก่อนเพราะจะมีผลข้างเคียงน้อย บางรัฐกำหนดขนาดสาร THC ที่ใช้เป็นยา เพราะอาจทำให้เสพติดได้

การบริหารกัญชา มีทั้งแบบสูบและกิน สูบจะออกฤทธิ์เร็วเป็นนาทีมีผลระยะสั้น 2-4 ชั่วโมง ส่วนแบบกินออกฤทธิ์ช้าครึ่งถึงหนึ่งชั่วโมงแต่มีผลระยะยาว 4-12 ชั่วโมง

การใช้สารแคนนาบินอยด์สงเคราะห์ มีการผลิต Dronabiol (Marinol syntheticTHC) และ nabilone(THC analogue,eg, Cesamet) ในรูปยากิน โอกาสเสพติดน้อยเพราะออกฤทธิ์ช้าจึงไม่ค่อยทำให้รู้สึกสุขสบาย (Euphoria) ได้รับการรับรองจากองค์การอาหารและยาประเทศสหรัฐอเมริกา (FDA) ให้ใช้ในกรณี รักษาอาการคลื่นไส้อาเจียนและน้ำหนักลดในคนไข้โรคเอดส์ และคนไข้โรคมะเร็งที่รับสารเคมีบำบัดและไม่ตอบสนองต่อยาแก้คลื่นไส้อาเจียน

สำหรับประเทศไทย มีข้อเสนอจากการประชุมวิชาการจัดโดยองค์การเภสัชกรรมและภาคีเครือข่ายในวันที่ 8-9 กุมภาพันธ์ 2561 เรื่องการวิจัยและพัฒนาสารสกัดกัญชาและกัญชงทางการแพทย์เพื่อการพัฒนาประเทศ ให้เร่งรัดแก้ไขร่างพระราชบัญญัติประมวลกฎหมายยาเสพติด ฉบับใหม่ เพื่อสามารถใช้กัญชาในการบำบัดรักษา ส่งเสริมการวิจัยทางการแพทย์แผนไทยและแผนปัจจุบัน สร้างมาตรการด้านการเกษตร การวิจัย การใช้กัญชาทางการแพทย์ และการป้องกันนำไปใช้ผิดประเภท

พญ.ชัญวลี ศรีสุโข
[email protected]

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image