จิตวิวัฒน์ : ตำนานมีชีวิต (3) ไปตามความรื่นรมย์ (Follow your bliss) : โดย ณัฐฬส วังวิญญู

มีประโยคที่ติดปากและมีชื่อเสียงของ โจเซฟ แคมพ์เบลล์ คือ Follow your bliss. มีคนถามว่าที่เรียนเรื่องตำนานมีชีวิตมาทั้งหมด เรียนไปทำไม คำตอบคือเพื่อให้ค้นหาการเติมเต็มอันวิเศษ (Bliss) ผมไม่อยากแปลว่าความสุข เพราะบางทีคุณต้องพร้อมเผชิญกับความทุกข์ได้ด้วย แต่ว่าคุณรู้สึกอิ่ม บลิสอาจเป็นความอิ่มเอมทางจิตวิญญาณก็ได้ ให้ไปตามความรื่นรมย์ ความสุขทางจิตวิญญาณ พูดเหมือนง่าย ฟังดูดี แต่บางทีสิ่งที่ขวางกั้นเราก็คือความเป็นคนดีทั้งหลาย ความเป็นคนที่รู้ว่าอะไรควรทำ ไม่ควรทำมากเกินไป

นิทานอูฐ

ตอนแรกเราเป็นเหมือนอูฐในตำนาน เขาบอกให้เอาสัมภาระขึ้นหลัง ก็เอาขึ้น ให้เดินส่งของ ก็ส่งของไป ทำตามที่สังคมบอก แต่ถ้าเราจะเติบโตทางจิตวิญญาณ เราต้องกล้าออกนอกฝูง แม้ว่าจะถูกขู่ เช่น “ถ้าเจ้าออกไปคนเดียวในทะเลทราย เจ้าตายแน่” เราต้องกล้าพอที่จะออกไปค้นหาเสี่ยงตาย แล้วจะค้นพบและแปลงร่างกลายเป็นสิงโต ซึ่งเป็นขั้นที่สองของการเปลี่ยนแปลงคือเป็นอิสระจากการปกป้องของสังคม แต่ยังไม่จบ หน้าที่ของสิงโตคือต้องไปพบมังกร (ตามตำนานตะวันตก) ในถ้ำ ผู้คอยปกป้องสมบัติที่มันไม่ได้ใช้

มังกรคืออีโก้ของเราที่หวงแหนบางสิ่งบางอย่างของตัวเอง เราอาจจะเป็นอิสระจากสังคมแต่เราไม่มีอิสระในตัวเอง สมบัติเป็นตัวแทนของความอยาก ทำให้ต้องปกป้องหวงแหน มังกรตัวนี้เรียกว่ามังกรหมื่นปี มีเกล็ดหนามาก แต่ละเกล็ดจะสลักว่าหน้าที่ของคุณคืออะไร อะไรดีเลว เป็นความเชื่อที่บอกว่าเราต้องเป็นคนแบบไหน เมื่อพบมังกรแล้ว หน้าที่อย่างที่สองคือฆ่ามังกร ถ้าฆ่ามังกรได้ คุณจะได้กลายเป็นเด็ก เป้าหมายคือกลับไปเป็นเด็ก ใช้ชีวิตแบบเด็ก ไม่ได้หมายถึงว่าคุณจะมีหน้าตาเป็นเด็ก แต่ข้างในของคุณจะใช้ชีวิตที่เหลืออยู่เหมือนโลกเป็นสนามเด็กเล่นคุณจะเป็นอะไรก็ได้

Advertisement

เรื่องนี้เป็นตำนานที่อาจนิยมในตะวันตก แคมพ์เบลล์มีชื่อเสียงจากสารคดีที่บิล มอเยอร์ สัมภาษณ์เขา ออกอากาศทาง PBS ชื่อ “Joseph Campbell and the Power of Myth” เขาพูดว่าตำนานคืออะไร แคมพ์เบลล์ทำให้ตำนานต่างๆ มีความหมายขึ้นมา ซึ่งส่งผลกระทบกับแวดวงศิลปะภาพยนตร์ ดนตรี วรรณกรรมอย่างมาก แต่บางคนที่สอนเรื่องนี้บอกว่าแคมพ์เบลล์เพ้อเจ้อ อาจจะมีปัญหาในวิธีคิดบางอย่าง

สัญลักษณ์

ทุกครั้งที่เราฟังนิทานเรื่องเดิม จะมีอะไรบางอย่างที่เราประทับใจ แคมพ์เบลล์บอกว่าหน้าที่ของสัญลักษณ์ (Symbol) ทั้งหลาย คือ ยึดครอง (Capture) เรา ให้เราลืมตัวเองไปชั่วขณะ ยึดครองเหมือนคนเป็นลมชัก ไม่เป็นตัวของตัวเอง เพื่อให้เชื่อมโยงกับบางสิ่งบางอย่างที่เราอธิบายไม่ได้ เช่น ถ้าเรามองที่พระพุทธรูปหรือต้นไม้ บางคนจะรู้สึกถูกดึงดูด

Advertisement

การเสพงานศิลปะแบบตำนาน คือไม่ต้องไปถามว่าคนวาดภาพนี้เพื่อสื่ออะไร จะสนใจแต่ว่ามันยึดครองเราอย่างไรถ้าเราอยู่ในเหตุผลมากๆ บางทีเราจะไม่รู้ตัวว่ามันยึดครองเราไปแล้ว สัญลักษณ์มีอยู่รอบๆ ตัวเรา เช่น สถานที่ศักดิ์สิทธิ์ ภูเขา ถ้ำหลวง หิมาลัย

เราต้องเรียนรู้การเป็นมนุษย์ที่ไม่ต้องอธิบายอะไรตลอดเวลา ลองดูความรู้สึกของตัวเอง ผมเชื่อเรื่องเซนส์ เช่น ผมชอบดนตรี ดนตรีจับใจผมมาก หรือภาพบางภาพก็ยึดครองเรา เราอาจจะไม่มีเซนส์บางอย่างแต่อาจจะมีบางอย่าง เช่น คนบางคนมาทางการเคลื่อนไหวให้เราลองดูว่าเรามีเซนส์อะไร

การถูกยึดครองเหมือนเป็นนิมิต เป็นสัญญาณ (Sign) เช่น ถ้าเราไปยืนตรงนั้นนานๆ ความเป็นตัวเราจะเริ่มละลายออก ที่เชียงราย ผมชอบไปน้ำตกเล็กๆ ไม่ใช่สถานที่ท่องเที่ยว แต่มีความสุขที่ได้อยู่ตรงนั้น ตามธรรมเนียมของหมอผี (shaman) ถือว่าตรงนั้นเป็นที่ของเรา เป็นบ้านเรา เป็นจุดที่ให้พลังงานกับเรา ให้เราไปตรงนั้นบ่อยๆ แล้วไปดูว่ามันคืออะไร คล้ายๆ ที่คาร์ลยุงเรียงหิน

บางทีต้องให้กาลเวลาค่อยๆ บอกเราว่าสัญลักษณ์เหล่านี้มีความหมายอย่างไร ทำไมอยู่ๆ เราเริ่มชอบเด็กตัวเล็กๆ ทั้งๆ ที่เมื่อก่อนเราไม่ชอบ ดูวุ่นวาย แต่อยู่ๆ เราเห็นหน้าเด็กบางคน ต้องมองแล้วมองอีก มันอาจให้แง่มุมบางอย่างเช่นว่ามีความเป็นเด็กในตัวเรา อาจจะอยากมีพื้นที่ หรืออารมณ์อยากเป็นแม่เป็นพ่อ

หน้าที่สุดท้ายของตำนานคือเป็นไปเพื่อเป็นอิสระ (Independent) เพื่อการเป็นพระเจ้าด้วยตัวเอง เป็น
สิ่งศักดิ์สิทธิ์เป็นจักรวาล “เป็นอิสระ” ไม่ได้หมายความว่าเป็นอิสระจากอะไร แต่เป็นต่อจากสิ่งนั้นที่เราเคยเคารพบูชา ค้นพบให้ได้ ยอมรับว่าเราเป็น นี่คือขั้นตอนสุดท้ายของความเป็นไปได้

เราอาจจะมีเส้นทางสู่อิสรภาพที่ไม่เหมือนกัน หลายๆ คนอาจจะมีการฝึก การปฏิบัติของตัวเอง แต่เมื่อทำความเข้าใจเรื่องตำนาน ในแง่หนึ่งเราจะให้ชีวิตพาไป ไม่ต้องคิดมาก เส้นทางเหล่านี้จะพาเราไปเอง แล้วเราจะค่อยๆ เข้าใจมากขึ้น เพราะมันเกิดขึ้นกับเราทั้งด้วยความตั้งใจและไม่ตั้งใจ

ณัฐฬส วังวิญญู

www.thaissf.org, twitter.com/jitwiwat
สนับสนุนโดย มูลนิธิสดศรี-สฤษดิ์วงศ์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image