นัย ประชามติ มวลมหา ประชาชน มูล ‘ความจริง’

ขณะที่ด้าน 1 นายสุเทพ เทือกสุบรรณ เปิดแถลงข่าวที่อาคารทู แปซิฟิกเพลส ถนนสุขุมวิท อีกด้าน 1 นายจตุพร พรหมพันธุ์ ก็เปิดแถลงข่าวที่อาคารอิมพีเรียล เวิลด์ ลาดพร้าว

“สุเทพ” หนุน “ร่างรัฐธรรมนูญ”

“จตุพร” ไม่รับ “ร่างรัฐธรรมนูญ”

ความเด่นชัดของนายจตุพร พรหมพันธุ์ และกลุ่ม นปช.ดำเนินไปอย่างเป็นเอกภาพกับพรรคเพื่อไทย

Advertisement

ความเด่นชัดของนายสุเทพ เทือกสุบรรณ และกลุ่ม กปปส.ดำเนินไปอย่าง “แย้ง” และไม่เป็นเอกภาพกับพรรคประชาธิปัตย์

นี่คือ “จุด” อัน “เร้า” ความสนใจ

แม้ว่าบุคคลที่แวดล้อมโดยรอบนายสุเทพ เทือกสุบรรณ กล่าวคือ นายถาวร เสนเนียม นายสาธิต วงศ์หนองเตย นายวิทยา แก้วภราดัย นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ และ นายอิสระ สมชัย เป็นต้น

Advertisement

ล้วนมาจาก “พรรคประชาธิปัตย์”

ท่าทีของ กปปส.อันมาจากนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ต่างไปจากท่าทีของพรรคประชาธิปัตย์อันมาจากนายองอาจ คล้ามไพบูลย์ หรือแม้กระทั่งนายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ แน่นอน

ความ “ต่าง” นี้สะท้อนอะไรในทาง “การเมือง”

หากย้อนกลับไปยังสถานการณ์ “ประชามติ” เมื่อเดือนสิงหาคม เมื่อ 9 ปีก่อนต่อร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 จะทำให้เข้าใจพรรคประชาธิปัตย์ได้ลึกซึ้งยิ่งขึ้น

เมื่อ 9 ปีก่อนไม่เหมือนสถานการณ์ในเดือนเมษายน 2559

ก่อนการลงประชามติในเดือนสิงหาคม 2550 ความเห็นของพรรคประชาธิปัตย์ก็คือ ผ่านไปก่อนแล้วค่อยแก้ไขภายหลัง

ผลก็คือ 14,727,306 เห็นชอบ 10,747,441 ไม่เห็นชอบ

สะท้อนให้เห็นว่า ความโน้มเอียงของพรรคประชาธิปัตย์เมื่อเดือนสิงหาคม 2550 เป็นความโน้มเอียงที่จะยอมรับต่อร่างรัฐธรรมนูญ

เป็นเอกภาพทั้งนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และนายสุเทพ เทือกสุบรรณ

การเคลื่อนไหวของ กปปส.อันถึงจุดพีคสูงสุดเมื่อดำเนินมาตรการ “ชัตดาวน์” ตั้งแต่เดือนมกราคม 2557 เป็นต้นมา เอกภาพนี้ก็ยังดำรงอยู่ และปัจจัยอันก่อให้เกิดการแปรเปลี่ยนปรากฏให้เห็นอย่างน้อยก็ 2 ระลอกใหญ่

1 ปัจจัยจากรัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 อาจไม่รุนแรงเท่าใดนัก แต่ก็เริ่มมีเค้าลางขึ้น และ 1 ปัจจัยจากร่างรัฐธรรมนูญ ไม่ว่าจะเป็นฉบับนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ไม่ว่าจะเป็นฉบับนายมีชัย ฤชุพันธุ์ ก็ตาม

นี่ย่อมเป็นสถานการณ์อันต่างไปจาก “ประชามติ” เมื่อเดือนสิงหาคม 2550

สถานการณ์ของ “ร่างรัฐธรรมนูญ” ไม่ว่าเดือนกันยายน 2558 ไม่ว่าในเดือนเมษายน 2559 ส่งผลสะเทือนให้สายสัมพันธ์ระหว่างพรรคประชาธิปัตย์กับ กปปส.เริ่มห่างออกจากกัน

กปปส.อาจยืนหยัดอยู่กับ “คสช.” ไม่แปรเปลี่ยน

แต่เนื้อหาของ “ร่างรัฐธรรมนูญ” ทั้งฉบับ นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ และทั้งฉบับนายมีชัย ฤชุพันธุ์ อันหมายรวมถึง “คำถามพ่วง” ทำให้นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และพรรคประชาธิปัตย์จำเป็นต้อง “เลือกข้าง”

เป็นการเลือกข้างไปในทิศทาง “ไม่รับ”

สถานการณ์นี้ทำให้ระยะห่างระหว่างพรรคประชาธิปัตย์กับพรรคเพื่อไทยเริ่มเปลี่ยนแปลงและผลักให้ 2 พรรคการเมืองใหญ่มายืนอยู่ในแถวเดียวกัน

แม้ไม่ลึกซึ้งถึงกับมีการจับมือเป็นพันธมิตรใน “แนวร่วม”

แต่สถานการณ์นี้ก็ทำให้เกิด “ความต่าง” ในทางเนื้อหาและส่งผลสะเทือนในทางรูปแบบอย่างลึกซึ้งต่อกระบวนการ “ประชามติ” ในเดือนสิงหาคม 2559

เสียงของพรรคประชาธิปัตย์อาจมิได้ตรึงอยู่ที่กว่า 10 ล้านเสียงโดยพื้นฐาน

กระนั้น กล่าวสำหรับพรรคเพื่อไทยหากถือเอาบรรทัดฐานจากผลการเลือกตั้งเมื่อเดือนกรกฎาคม 2554 เสียงก็น่าจะอย่างน้อยหรือใกล้เคียงกับกว่า 15 ล้านเสียง

หากผนวกรวมกับพรรคประชาธิปัตย์ก็น่าจะยังอยู่ที่ระนาบกว่า 20 ล้านเสียงขึ้น

และหากผนวกรวมกับเสียงของคนชั้นกลางที่สวมจิตวิญญาณ “ประชาธิปไตย” อันกระจัดกระจายอยู่ทั่วประเทศ

คะแนน “ไม่รับ” ก็น่าจะอยู่ระหว่าง 20-25 ล้านเสียงได้

ยิ่งกว่านั้น การตัดสินใจประกาศ “เลือกข้าง” อันมาจากนายสุเทพ เทือกสุบรรณ และ กปปส.ก็ทรงความหมาย

อย่าลืมเป็นอันขาดว่ารากฐานของ กปปส.มาจากคำว่า “มวลมหาประชาชน” ผลประชามติในวันที่ 7 สิงหาคม จึงเท่ากับเป็นการพิสูจน์ทราบในเชิงประจักษ์ว่า ที่ว่า “มวลมหาประชาชน” นั้นเป็นจริงหรือไม่

หากเป็นจริงโอกาสที่ “ประชามติ” จะผ่านฉลุยย่อมง่ายเหมือนปอกกล้วยเข้าปาก

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image