กาลครั้งหนึ่ง…นานมาแล้ว แฝดสยาม (21) คนคู่จากสยามได้เฝ้าควีนวิกตอเรียที่บัคกิงแฮม โดย พล.อ.นิพัทธ์ ทองเล็ก

ท่านผู้อ่านที่ติดตามอ่านมหากาพย์ระดับโลกเรื่องแฝดสยามอิน-จัน มาตลอด 20 ตอน สอบถามมาว่า ได้ข้อมูลของแฝดอิน-จันและครอบครัวที่ละเอียดทุกซอกทุกมุมเหล่านี้มาจากไหน

เกือบ 200 ปีที่แล้ว แฝดสยามอิน-จัน ลูก หลาน และเพื่อนๆ ของแฝดอิน-จันในอเมริกา เขียนบันทึกไดอารี่ เขียนจดหมายตอบโต้กันทางไปรษณีย์ บรรยายความอย่างละเอียด ระบุวัน เดือน ปี และเหตุการณ์สำคัญในชีวิตของแฝดอิน-จัน มีทั้งดี ทั้งร้าย จดหมายเหล่านี้ถูกเก็บรักษาไว้อย่างดี ลูกหลานเหลนภูมิใจนำข้อมูลมาเปิดเผยรวบรวมเพื่อสืบค้นหาบรรพบุรุษต้นตระกูลของตนเอง

เพื่อนสนิทมิตรสหายของแฝดสยาม แพทย์ ผู้พิพากษา พ่อค้า ชาวอังกฤษและอเมริกัน ที่เคยสัมผัสกับครอบครัวของแฝดคนคู่ ล้วนเขียนเป็นหนังสือขายดีโด่งดังในอเมริกา นี่คืออุปนิสัยของชาวตะวันตกที่ชอบบันทึก ขีดเขียน วาดภาพ บอกเล่าทุกอย่าง น่ายกย่องยิ่งนัก

ถ้าฝรั่งเหล่านี้ไม่เขียนบันทึกอะไรไว้ คนไทยรุ่นหลังจะไม่ทราบเรื่องบรรพบุรุษสยามจากเมืองแม่กลองที่ยิ่งใหญ่ระดับโลกคู่นี้เลย

Advertisement

ผู้เขียนขอเรียนว่า พ.ศ.2559 ลูก หลาน เหลน โหลน ของแฝดสยามจากเมืองแม่กลองที่สืบตระกูล ขยายเครือญาติ 5 ชั่วอายุคนต่อมาเกือบ 200 ปี เป็นพลเมืองอเมริกันนามสกุลบังเกอร์ (Bunker) รวมตัวกันนับญาติได้ราว 1,500 คน ได้รวบรวมข้อมูลทั้งปวงของบรรพบุรุษอิน-จัน มาเผยแพร่ ทายาทของแฝดสยามเก็บรักษาเอกสาร เครื่องใช้ของแฝดอิน-จันไว้ในห้องสมุดมหาวิทยาลัย และยังมีนักเขียนของอเมริกา เขียนหนังสือเป็นวรรณกรรมขายทั่วโลก

แฝดสยามที่ชื่ออิน-จัน ฝรั่งเรียกว่า Eng-Chang ที่กล้าเดินทางออกไปจากแผ่นดินสยามเมื่ออายุ 18 ปี ในขณะที่ภาษาอังกฤษไม่กระดิกหู เพื่อแสวงโชคลาภจากโลกกว้างในสมัยในหลวง ร.3 คือบรรพบุรุษชาวสยามที่ทำให้คนทั้งโลก โดยเฉพาะแพทย์ รู้จักคำว่า Siamese Twins มาจนถึงทุกวันนี้

สำหรับในประเทศไทยปัจจุบัน ชาวเมืองแม่กลอง สมุทรสงคราม จะลองสืบหาลูกหลาน เหลน วงศาคณาญาติของแฝดบันลือโลกคู่นี้หรือไม่? ท่านเป็นวีรบุรุษของชาวไทยนะครับ

Advertisement

กลับมาที่ตำนานชีวิตแฝดสยามครับ

ในยุคสมัยที่แฝดไปอยู่ที่อเมริกานั้น ชาวอเมริกันส่วนใหญ่มีความฝันว่า อยากจะเห็นลอนดอน มหานครที่เจริญรุ่งเรืองด้วยศิลปวัฒนธรรม ตึกรามบ้านช่องสถานที่ราชการที่งามสง่า มีบุคคลที่มีชื่อเสียง คนเก่งๆ ของโลก แพทย์ นักวิทยาศาสตร์ กวี นักดนตรี การศึกษาทุกแขนง กองทัพเรืออันเกรียงไกร ล้วนรวมตัวกันอยู่ที่ลอนดอน อังกฤษคือศูนย์กลางของโลกนี้

ในตอนค่ำของ 18 ธันวาคม พ.ศ.2411 แฝดอิน-จันที่อายุหมิ่นเหม่ 60 ปี และลูกสาว 2 คน คือ แคเธอรีน สาวน้อยวัย 24 ปี และแนนนี่ อายุ 21 ปี พร้อมด้วยนายอิงกอลส์ (Ingalls) เดินทางด้วยเรือจากนิวยอร์กมาถึงเมืองลิเวอร์พูล ของอังกฤษ ในช่วงที่อากาศหนาวกัดเซาะเข้าไปถึงกระดูกอ่อนข้างในร่างกาย

เดินทางในทะเลมานาน 14 วันเต็ม ลูกสาว 2 คนเมาคลื่น เมาทะเล อาเจียนจนรากเขียวรากเหลืองเหมือนผู้โดยสารอื่นๆ แต่แฝดสยามลูกแม่กลองอิน-จัน กิน ดื่ม เล่นลูกเต๋า เล่นหมากรุกกันมาตลอดทาง เฮฮาปาร์ตี้ กระเซ้าเย้าแหย่ เล่าเรื่องตลกโปกฮากับผู้โดยสารคนอื่นๆ ในเรือมาตลอด หาได้ปวดหัวตัวร้อนแต่ประการใดไม่

คณะของลุงอิน-จัน เข้าที่พักชั่วคราว แล้วเดินทางต่อด้วยรถไฟไปถึงเมืองเอดินเบอร์ก (Edinburgh) ที่อยู่ทางตอนเหนือติดชายทะเลด้านตะวันออกของเกาะอังกฤษ มีงานเลี้ยงต้อนรับคณะของแฝดสยามรวมทั้งคณะการแสดงอื่นๆ ที่จะมาร่วมโชว์ตัว โชว์ของแปลก คนประหลาด มีชาวเมืองสนใจเข้ามาชมการแสดงพอสมควร ซึ่งต่างก็มาขอดูแฝดตัวติดกันเป็นๆ ครั้งสุดท้ายตามคำโฆษณาชวนเชื่อ ก่อนการผ่าแยกร่างในอังกฤษ

หน้าฉากของแฝดสยาม คือการยิ้มแย้ม แจ่มใส ตั้งใจพูดคุยกับผู้คนทั้งหลาย แต่สิ่งที่ร้อนรุ่มกลุ้มใจและรอคำตอบอย่างกระวนกระวาย คือการขอนัดพบกับแพทย์แห่งวิทยาลัยแพทย์เอดินเบอร์ก (Edinburgh Medical College) เพื่อให้ตรวจร่างกายแคเธอรีนลูกสาวคนสวยของแฝดอินที่หอบหิ้วมาจากอเมริกา เธอป่วยเจ็บมานาน ไม่แข็งแรง ทุกคนสวดภาวนา ขอให้เกิดปาฏิหาริย์กับลูกสาวคนสวย ลูกครึ่งสยาม-อเมริกัน สักครั้ง

ทีมแพทย์ที่วิทยาลัยเอดินเบอร์กช่วยกันตรวจร่างกายแคเธอรีนอย่างละเอียดแล้ว ลงความเห็นว่าเธอป่วยเป็นวัณโรค การรักษาในขณะนี้ทำได้เพียงแค่การบรรเทาอาการเท่านั้น

มันคือพายุอีกลูกที่กระหน่ำเข้ามาในชีวิต สาวน้อยแคเธอรีนได้รับการยืนยันชัดเจนสิ้นสงสัยจากแพทย์ในอังกฤษ ซึ่งฟังแล้วหดหู่ไร้ความหวัง (ในสมัยนั้นยังไม่มีวิธีการรักษาวัณโรค : ผู้เขียน)

ชีวิตต้องดำเนินต่อไป การนัดพบแพทย์คิวต่อไปคือ เรื่องของแฝดตัวติดกันจากสยาม ที่ตัดสินใจเด็ดขาดแล้วจะขอผ่าตัดแยกร่าง แสวงหาเสรีภาพ อิสรภาพ ประสงค์จะแยกทางกันเดินก่อนตายให้จงได้

เรื่องนี้เป็นประเด็นโด่งดัง และเป็นความท้าทายของแพทย์ระดับโลกในยุโรปและอเมริกาครับ จะเป็นการตรวจร่างกายก่อนการผ่าแยกร่างของแฝดตัวติดกัน (Cojoined Twins) ซึ่งการตัดสินใจตรงนี้ จะเป็นการวัดความเก่ง ความซื่อตรงของแพทย์ ที่ใครก็อยากแสดงฝีมือเป็นรายแรกของโลก

เซอร์เจมส์ ซิมป์สัน (Prof. Sir James Simpson) เป็นศาสตราจารย์ของวิทยาลัยแพทย์เอดินเบอร์ก มีดีกรีเป็นแพทย์ที่เคยถวายการรักษาพระราชินีของอังกฤษและบุคคลสำคัญระดับโลกมาแล้วหลายราย มีเกียรติประวัติผลงานระดับโลก ขอเป็นเจ้าภาพดูแลความเป็นไปได้ที่จะผ่าแยกร่างแฝดประหลาดคู่นี้ให้เองกับมือ

หนังสือ The Two ของ Irving Wallace และ Amy Wallace บรรยายอย่างละเอียดว่า ศาสตราจารย์แพทย์ยอดเก่งคนนี้แหละคือคนที่คิดผลิตคีมที่แพทย์ใช้ เรียกว่า Forceps แกยังเป็นคนริเริ่มใช้อีเทอร์ (Ether) เป็นยาสลบเป็นคนแรก และเป็นคนริเริ่มการใช้ยาชาเฉพาะที่เป็นคนแรกของโลก

แนนนี่เขียนบันทึกไดอารี่เมื่อ 22 ธันวาคม ว่า เซอร์ ซิมป์สันเดินทางมาพบกับแฝดอิน-จัน ในงานเลี้ยงด้วยตัวเอง ท่านเป็นคนมีบุคลิกน่านับถือ สุขุมเยือกเย็น คุณหมอเอ่ยปากเชิญอิน-จันให้ไปพบที่ที่ทำงาน แต่ให้ไปพบศ.โซจีน (Prof. Sogine) เพื่อการตรวจขั้นต้นก่อน

วันรุ่งขึ้น อิน-จันเดินทางไปพบ ศ.โซจีนตามนัด คณะแพทย์ตรวจร่างกายอย่างละเอียด ใช้เวลานานพอดู คำตอบที่ลุงอิน-จันได้รับคือ ไม่สมควรผ่าแยกร่าง และแพทย์ยังกล่าวเสริมอีกว่า แม้จะเดินทางไปที่ปารีส หรือที่ไหนๆ ก็จะไม่มีหมอคนใดกล้าลงมือผ่าแยกร่างให้

ยังเหลือ ศ.ซิมป์สันอีกคนที่จะให้ความเห็นเป็นคนสุดท้าย

วันรุ่งขึ้นคณะของแฝดสยามเดินทางไปพบ ศ.ซิมป์สันด้วยหัวใจระทึก เพราะหัวใจของแฝดทั้งสองได้แยกร่างออกจากกันล่วงหน้าไปก่อนแล้ว ศ.ซิมป์สัน แพทย์มือหนึ่งระดับโลกตรวจร่างกายอย่างละเอียดซ้ำอีก ทีมแพทย์ใช้แสงไฟส่องไปที่เนื้อเยื่อตรงที่ยึดร่างกายแฝดเข้าด้วยกันเพื่อต้องการทราบข้อมูลอวัยวะภายใน ดูแล้วดูอีก แต่ยังไม่ลงความเห็นทันที ขอไปประชุมหารือกับทีมแพทย์ให้รอบคอบ ให้อิน-จันอดทนรอคำตอบอย่างเป็นทางการ

7 สัปดาห์แห่งการอคอยคำตอบที่สำคัญที่สุดในชีวิต ผลการวินิจฉัยของ ศ.ซิมป์สัน ระบุอีกเช่นกันว่า ไม่สมควรผ่าแยกร่าง

ศ.ซิมป์สัน นำผลการตรวจวิเคราะห์ร่างกายของลุงอิน-จัน ไปเขียนบทความทางวิชาการชื่อ “A Lecture on the Siamese and Other Viable United Twins” ตีพิมพ์ในวารสารการแพทย์ของอังกฤษเมื่อ 13 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2412

แฝดสยามหมดอาลัยตายอยาก ความทุกข์โศกเข้ามาปกคลุมชีวิตให้ทุกข์ระทมหนักเป็นทวีคูณ คนคู่นี้รอคอยการผ่าแยกร่างมาทั้งชีวิตตั้งแต่เป็นทารกจนแก่เฒ่า แต่ก็ต้องผิดหวัง

อิสรภาพที่โหยหา ขอผ่าแยกร่างก่อนตายเป็นไปไม่ได้ซะแล้ว ตั้งแต่เกิดมา 57 ปีแล้วไม่เคยเดินไปไหนคนเดียว ไม่เคยนอนคนเดียว ไม่เคยเข้าส้วมคนเดียว แต่งงานมีเพศสัมพันธ์ก็ต้องอุ้มกระเตงกันไป พลิกคว่ำพลิกหงาย กินเหล้าเล่นไพ่ ติดหนึบกันไปทั้งกายและใจมาตลอด

ผู้เขียนขอแทรกความเห็นส่วนตัวว่า แพทย์ทุกท่านที่แฝดไปขอคำปรึกษามาตลอดชีวิต ตั้งแต่เหยียบแผ่นดินอเมริกาเมื่อ 30 กว่าปีก่อนจนมาถึงมือ ศ.ซิมป์สัน ทุกท่านมีจรรยาบรรณของแพทย์มืออาชีพ ซื่อสัตย์ในหลักวิชาการของแพทย์ การผ่าแยกร่างเป็นเรื่องเล็กมากสำหรับแพทย์ทุกคน แต่อวัยวะภายในต่างหากที่ไม่เกื้อกูลต่อการผ่า

ผ่าไม่ได้คือไม่ได้ ถ้าแพทย์คนใดคิดอยากดัง ทรยศต่อวิชาชีพ กะล่อนเหลวไหล ตัดสินใจลงมือผ่าแยกร่างให้ คงไม่มีใครกล้าขัดขวาง ซึ่งแฝดก็คงจะเสียชีวิตทันที และแพทย์ที่ลงมือทำคงจะออกมากล่าวขอโทษพอเป็นพิธี อ้างโน่นอ้างนี่เรื่อยเปื่อย

คณะของอิน-จัน พักสงบจิตใจ ทำใจ แต่ก็โชว์ตัวหาเงินไปด้วยแบบหน้าชื่นอกตรมในเมืองเอดินเบอร์กต่ออีก 2 สัปดาห์ จึงย้ายวิกเดินทางต่อไปตะวันตกถึงเมืองกลาสโกว์ (Glasgow) แสดงตัวเก็บเงินอีก 2 สัปดาห์ อากาศหนาวสุดๆ ไม่มีแสงแดด ลมแรง ฝนตกเฉอะแฉะตามแบบฉบับของเกาะอังกฤษ ทุกคนในคณะล้วนปวดหัวตัวร้อน ไอจามเป็นไข้หวัดกันงอมแงม

แฝดและคณะเดินทางฝ่าลมหนาว ละอองฝน ท้องฟ้าที่ไร้ดวงตะวัน ขึ้นไปโชว์ตัวในสกอตแลนด์ ตระเวนแสดงตัวเก็บเงินอยู่อีกราว 6 เดือน ซึ่งก็ได้เงินมาจากกระเป๋าชาวสก๊อตไม่น้อย เพราะผลของการโฆษณาของนายบาร์นัมที่พยายามโกหกชาวบ้านร้านตลาดทั้งหลายว่า นี่จะเป็นการแสดงครั้งสุดท้ายก่อนผ่าแยกร่าง

ได้เงินมาพอสมควร แต่สิ่งที่สูญเสียไปมากโขคือ สุขภาพร่างกายของแฝดอาวุโสที่เสื่อมทรุดลงอย่างฮวบฮาบ

ระหว่างที่แฝดสยามตระเวนในอังกฤษ หนังสือพิมพ์แสดงความเป็นมิตรกับแฝดอย่างอบอุ่น โดยนำเรื่องราวเมื่อ 40 ปีที่แล้ว ตอนที่แฝดหนุ่มจากสยามคู่นี้มาที่เกาะอังกฤษ แทรกด้วยตำนานรักของสาวลอนดอนที่จะขอวิวาห์กับแฝด “แบบเหมาจ่าย” ขอรวบแฝดเป็นสามีแต่ผู้เดียว เป็นที่วี้ดว้ายกระตู้วู้สนั่นเมืองมาแล้ว

แนนนี่ ลูกสาวของแฝดบันทึกในไดอารี่ว่า คนอังกฤษชื่นชมการแสดง ปรบมือต้อนรับให้กำลังใจแฝดในทุกเวที ชาวอังกฤษให้การยอมรับแฝดว่าเป็นนักสู้ชีวิต เป็นพระเอกตัวจริง ที่ 40 ปีที่แล้ว แฝดหนุ่มมาปรากฏตัว มาตรวจร่างกายในอังกฤษ เมื่ออายุมากขึ้นราว 57 ปี ก็มิได้มีความผิดปกติของร่างกาย มิได้แปลงร่างเป็นอสูร เป็นปีศาจซาตานแต่อย่างใด แถมยังมีลูกสาวสวยมาโชว์ตัวให้ดูซะอีก

ระหว่างการแสดงในอังกฤษยังไม่ทันเลิกรา เพื่อนใหม่ที่มีนามว่านายวอลเลซ (Wallace) เข้ามาตีสนิท เสนอตัวขอนำแฝดไปแสดงที่ฝรั่งเศส เยอรมัน รัสเซีย เวียนนา อิตาลี และสเปน คุณลุงอิน-จันตกตะลึงในข้อเสนอธุรกิจที่ร้อนแรง และจะได้เดินทางสุดหล้าฟ้าเขียวในยุโรป แฝดให้ความสนใจกับข้อเสนอทางการเงินของนายวอลเลซ หลายประเทศในยุโรปที่รุ่งเรืองเจิดจรัส คนคู่สู้ชีวิตประสงค์จะไปเยือนให้จงได้

โชคชะตาของแฝดสยามที่จะได้พบบุคคลสำคัญของโลกเวียนมาอีกแล้วครับ

วันหนึ่งบนเกาะอังกฤษ อิน-จันได้รับการติดต่อจากสำนักพระราชวังให้ไปเข้าเฝ้าพระราชินีวิกตอเรียของอังกฤษในพระราชวังบัคกิงแฮม นี่เป็นเกียรติประวัติอันสูงส่งของชีวิตแฝดสยามอีกครั้ง

ลูกสาวที่ไปด้วยบันทึกว่า พระราชินีวิกตอเรียทรงมีพระราชปฏิสันถาร สอบถามเรื่องราวชีวิตของอิน-จันในสยาม ก่อนกราบบังคมทูลลากลับ พระราชินีของอังกฤษได้พระราชทานนาฬิกาพกแบบมีโซ่คล้องแกะสลักชื่อให้แก่แฝดสยามคนละเรือน ซึ่งปัจจุบันเหลนของแฝดยังคงเก็บรักษาไว้ เป็นสมบัติของตระกูลบังเกอร์ในอเมริกา

อิน-จัน คือทูตตัวจริงเสียงจริงจากสยามประเทศที่ได้เข้าเฝ้าพระราชินีอังกฤษ ผู้เป็นมหาอำนาจอันดับต้นของโลกใบนี้ จะมีใครซักกี่คนที่ได้มีโอกาสสร้างชื่อเสียงให้กับสยามประเทศเฉกเช่นอิน-จัน

แฝดจากแม่กลอง อายุอานามใกล้ 60 ปี เดินทางท่องโลกไปมา เหมือนตัวละครในเทพนิยาย ถึงแม้จะเป็นการทำมาหาเลี้ยงชีพ ก็ต้องยอมรับว่าไม่เคยหวาดหวั่นภยันตราย เหตุเภทภัยและมัจจุราชทั้งปวง บนบก และในทะเล

การแสดงตัวหาเงินในอังกฤษปิดฉากลงอย่างสวยงาม

30 กรกฎาคม พ.ศ.2412 เรือกลไฟชื่อ City of Antwerp ออกจากท่าเรือเมืองควีนส์ทาวน์ (Queenstown) แล่นฝ่าคลื่นลมข้ามมหาสมุทรแอตแลนติก นำผู้โดยสารเต็มลำรวมทั้งแฝดสยามผู้โด่งดังกลับมาถึงนิวยอร์กในราวกลางเดือนสิงหาคม

เงินตุงกระเป๋า บวกกับของฝากของขวัญสารพัดที่ซื้อเพื่อครอบครัวมาจากอังกฤษ อิน-จันไม่ลืมที่จะช้อปปิ้งในมหานครนิวยอร์ก หาซื้อของฝากทุกคนในครอบครัวที่รอคอยที่บ้านเมาท์แอรี่ นอร์ธแคโรไลนา มีของฝากให้แม้กระทั่งทาสที่บ้าน

เพื่อนรัก เพื่อนสนิทของแฝดได้บันทึกว่า ลุงแฝดมือหนัก ใช้จ่ายเงินไม่น้อยเพื่อซื้อของฝากครอบครัว เพื่อครอบครัวแล้ว แฝดทั้งสองจะใช้ของดี กินดีอยู่ดีเสมอ

แต่ตอนนี้ หลังสงครามกลางเมือง แฝดและครอบครัวประสบปัญหาการเงิน การทำเกษตรในที่ดินอันกว้างใหญ่ที่เคยทำรายได้เป็นอันต้องพังพาบเพราะไม่มีทาสไว้ทำงานในไร่อีกต่อไป

การตระเวนแสดงตัวเก็บเงินไปเรื่อยๆ คือบุญเก่า ที่พระเจ้าให้มา ที่พอจะหาเงินมาจุนเจือครอบครัวได้

ขอเปลี่ยนอารมณ์ท่านผู้อ่านมาย้อนอดีตดูว่า ในขณะที่แฝดสยามไปใช้ชีวิตในอเมริกา ยุโรปแบบโชกชุ่ม แล้วในสมัยนั้นมีอะไรน่าสนใจบ้างในสยามประเทศของเรา เพื่อเป็นความรู้เสริมครับ

ในช่วงเวลาก่อนหน้านั้น พระราชินีวิกตอเรียของอังกฤษได้ส่งราชทูตคือ เซอร์จอห์น เบาริง มาเข้าเฝ้าฯในหลวง ร.4 ที่กรุงเทพฯ เพื่อขอทำสัญญาทางไมตรีและการค้ากับสยาม คณะของอังกฤษมาพำนักและประชุมกับข้าราชการของสยามในกรุงเทพฯราว 1 เดือน และลงนามในสัญญาร่วมกันเมื่อ 18 เมษายน พ.ศ. 2398 สัญญาดังกล่าวชาวสยามเรียกว่าสนธิสัญญาเบาริง (Bowring Treaty) ที่เปิดประตูการค้าให้พ่อค้าชาวอังกฤษเข้ามาค้าขายในกรุงเทพฯโดยเสรี สยามอนุญาตให้ตั้งกงสุลอังกฤษในกรุงเทพฯ ให้ชาวอังกฤษถือครองที่ดินในสยามได้ ประการสำคัญ ข้าว ปลา และเกลือ จะไม่เป็นสินค้าต้องห้ามอีกต่อไป

กลับมาที่ตำนานชีวิตแฝดอิน-จัน ที่มีชะตาชีวิตสูงส่งได้ไปเฝ้าพระราชินีวิกตอเรียของอังกฤษที่บัคกิงแฮม

คณะของลุงแฝดอิน-จันยอดทรหด เดินทางต่อจากนิวยอร์กกลับถึงบ้านที่เมาท์แอรี่ นอร์ธแคโลไรนา พร้อมเงินก้อนใหญ่เพื่อเลี้ยงครอบครัว ที่มีลูก 2 ท้องรวมกัน 21 คน และเพื่อเงินเป็นทุนจ้างทาสนิโกรมาทำงานในไร่ขนาดมหึมาให้มีผลผลิต

ตามความตกลงที่ลุงแฝดจับมือกับนายวอลเลซที่อังกฤษ หมายความว่า ลุงแฝดตอบรับที่จะเดินทางทัวร์ยุโรปอีกครั้ง อิน-จันจะมีเวลาอยู่บ้านทำมาหากินในอเมริกาอีก 5 เดือน ก็จะต้องร่อนเร่ไปแสดงตัวหาเงินในเยอรมัน ฝรั่งเศส รัสเซีย อิตาลี และสเปน เพื่อเปิดตลาดหาเงินมาประคับประคองครอบครัวต่อไปอีก

สำหรับสาวสวย แคเธอรีน ที่ป่วยเป็นวัณโรค หลังจากเดินทางกลับจากพบแพทย์ที่อังกฤษ อาการของเธอไม่ดีขึ้นเลย พระผู้เป็นเจ้ามิได้ประทานปาฏิหาริย์ต่อเธอ ถัดมาอีกราว 2 ปี เธอเสียชีวิตครับ

ซึ่งถ้าเป็นสมัยปัจจุบัน วัณโรคเป็นโรคที่รักษาหายได้ (ผู้เขียน)

ลุงแฝดมีครอบครัวใหญ่ ต้องใจถึง ต้องไม่กลัวความยากลำบาก ต้องพร้อมเผชิญกับทุกสถานการณ์ การเดินทางไปยุโรปครั้งต่อไปจะเป็นครั้งสุดท้าย? และจะเกิดอะไรขึ้นในพระราชวังที่รัสเซีย?

โปรดติดตามตอนต่อไปครับ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image