เมืองไทยหลังยุคคน(ตัว)เล็ก โดย พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์

ผมเองก็อยากจะขอใช้พื้นที่ในวันนี้รำลึกถึงการจากไปของนายบรรหารสักหน่อย ตามประสาของคนที่เติบโตมาในยุคที่นายบรรหารรุ่งเรือง โดยเฉพาะในสมัยที่นายบรรหารเป็นเลขาฯพรรคชาติไทยในยุคน้าชาติ จนกระทั่งหลังรัฐประหาร รสช. ที่นายบรรหารเองก็มีบทบาทสำคัญมากขึ้นตามลำดับ ถึงกับสามารถเป็นผู้นำรัฐบาลได้ และแม้ว่านายบรรหารจะลงจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีไปแล้ว นายบรรหารก็ยังคงเป็นตัวแปรสำคัญในการจัดตั้งรัฐบาล และตัวแปรสำคัญในการแก้ปัญหาบ้านเมืองมาโดยตลอด

ใช่ว่านายบรรหารจะไม่มีที่ติ แต่บรรยากาศแบบนี้เมื่อคนคนหนึ่งได้จากเราไปแล้ว ผมกลับคิดว่าเราน่าจะมาลองพิจารณาดูว่าเรามีบทเรียนอะไรที่ได้เรียนรู้จากชีวิตทางการเมืองบางส่วนของนายบรรหารบ้าง และทำอย่างไรเราจะก้าวต่อไปจากยุคการเมืองที่นายบรรหารเป็นที่จดจำ (ไม่ว่าจะจากฝ่ายไหน) ไปสู่จุดที่เรามองกลับมาถึงยุคสมัยของนายบรรหารอย่างห่างไกลมากขึ้นเรื่อยๆ

การศึกษาบทบาททางการเมืองของนายบรรหารนั้นไม่ใช่เรื่องใหม่ ผมเองก็เคยมีประสบการณ์ตรงที่ไปช่วยเพื่อนชาวต่างชาติเก็บข้อมูลเรื่องการเมืองในจังหวัดสุพรรณบุรีเมื่อสิบกว่าปีก่อน แม้ว่าจะไม่ได้ลึกซึ้งในพื้นที่มากนัก เอาเป็นว่าในช่วงเวลาที่ไม่นานนักของการจากไปของนายบรรหาร ผมคงจะขอกล่าวถึงการพิจารณาบทบาทของนายบรรหารออกเป็นสามประเด็น โดยที่สองประเด็นแรกนั้นเป็นเรื่องของการที่มีคนพูดถึงเยอะแล้ว ส่วนเรื่องที่สามน่าจะเป็นเรื่องที่ผมอยากจะอภิปรายและพยายามคิดอะไรต่อออกไปอีกนิดหน่อย

บทบาทของนายบรรหารในแบบแรก เป็นเรื่องการพิจารณาถึงบทบาทของนายบรรหารในเรื่องของภาวะผู้นำของนายบรรหาร โดยเฉพาะการเป็นตัวแบบของนักการเมืองนอกกรุงเทพฯที่สามารถประสบความสำเร็จในแง่ของการมีตำแหน่งในส่วนกลางและสร้างความเจริญให้กับท้องถิ่นของตนเอง เรื่องนี้เป็นเรื่องที่น่าจะมีคนจดจำนายบรรหารได้มากที่สุด จนถึงกับตั้งฉายาจังหวัดของนายบรรหารว่าเป็นจังหวัด “บรรหารบุรี”

Advertisement

เรื่องความเป็นตัวแบบของนายบรรหารนั้นมีลักษณะโดดเด่นอยู่หลายประการ เพราะนายบรรหารไม่ได้ซื้อเสียงในแบบใช้เงินโดยตรง หรือไม่ได้ใช้อิทธิพลในการข่มขู่โดยตรงเมื่อเปรียบเทียบกับอีกหลายกรณี ดังนั้นภาพของการเป็นนักธุรกิจการเมืองแบบที่เราชอบจินตนาการกัน หรือนักเลง-เจ้าพ่อ ก็คงไม่ได้เป็นกรณีที่นายบรรหารจะซ้อนภาพเหล่านั้นได้สนิทนัก แต่ครั้นจะกล่าวถึงความสามารถในแง่ของผลงานการบริหารและการเอาจริงเอาจังของนายบรรหารในการผลักดันโครงการและตรวจสอบโครงการ ก็คงจะต้องถามว่านอกจากสุพรรณบุรีแล้ว คนอื่นจะจดจำนายบรรหารได้เหมือนชาวสุพรรณบุรีไหม?

เรื่องที่ผมกล่าวถึงนี้เป็นเรื่องที่มีงานวิจัยมากมายพยายามนิยามการเมืองแบบนายบรรหารมาเยอะแล้ว อาจจะเรียกกว้างๆ ว่าแนวทางสังคมวิทยาทางการเมือง เพราะศึกษาถึงความสัมพันธ์ระหว่างสภาพสังคมกับบุคลิกลักษณะ และตัวความชอบธรรมของนายบรรหารในฐานะเป็นนักการเมืองที่ “ประสบความสำเร็จ” ในทางการเมืองแบบหนึ่ง โดยเฉพาะในท้องถิ่นของเขา

บทบาทในแบบที่สองของนายบรรหารที่น่าจะพิจารณาก็คือ บทบาททางการเมืองที่นายบรรหารเองต้องการให้คนอื่นได้จดจำตัวเขา ซึ่งในแง่นี้อาจจะมีการศึกษายังไม่มากนัก แต่ก็มีการพูดถึงอยู่บ้างแล้ว เช่นการพูดถึง “ความเป็นมังกร” หรือความเป็นลูกจีนต่างจังหวัดที่ประสบความสำเร็จทางธุรกิจและการเมือง และกลับไปสร้างความเจริญให้กับท้องถิ่น

Advertisement

สิ่งสำคัญก็คือ ความเป็นลูกจีนของนายบรรหารในเศรษฐกิจการเมืองและวัฒนธรรมท้องถิ่น ที่แต่เดิมนั้นความเป็นไทยถูกพิจารณาเพียงแค่เป็นเรื่องของสังคมเกษตรและความเป็นชาวนา หรือถ้าเราคิดถึงสุพรรณฯ เราก็คงจะต้องนึกแต่เพลงลูกทุ่ง

สำหรับผมแล้ว นายบรรหารทำให้เราเห็นสุพรรณบุรีในอีกแบบหนึ่ง ซึ่งผมไม่เห็นด้วยกับคำอธิบายที่มักจะมองกันว่าสุพรรณบุรีเป็นจังหวัดล้าหลัง เพราะสุพรรณบุรีเป็นจังหวัดที่มีความสำคัญในแง่ของเศรษฐกิจชาวนามาเนิ่นนานเสียมากกว่า

คนที่ไปจังหวัดสุพรรณบุรีแล้วไปถ่ายรูปกับตลาดเก่าหลายแห่ง ย่อมจะนึกออกว่าที่ไหนที่ตลาดใหญ่โตได้ขนาดนั้น ย่อมมีความเจริญทางเศรษฐกิจอยู่ไม่ใช่น้อย และนอกจากชาวนาแล้วยังย่อมต้องมีโจร เสือ นักเลง และชุมชนชาวจีน เป็นองค์ประกอบของความรุ่งเรืองระหว่างตลาด เมืองขนาดย่อม และพื้นที่โดยรอบของบริเวณนั้น

เวลาที่เราจดจำคุณบรรหารว่าเป็นมังกรสุพรรณบุรี (มากกว่าปลาไหล) ส่วนหนึ่งนั้นไม่ใช่แค่ว่าคุณบรรหารนำความเจริญมาให้กับชาวสุพรรณฯเมื่อครั้งเล่นการเมืองเท่านั้น แต่คงต้องย้อนกลับไปดูชุมชนและสถานะของคุณบรรหารกับการเติบโตของชาวจีนโพ้นทะเลที่กลายเป็นส่วนหนึ่งของท้องถิ่นต่างๆ มาตั้งแต่แรกเสียด้วย ซึ่งในแง่นี้ย่อมจะทำให้เรามองท้องถิ่นและความเป็นไทยในท้องถิ่นแตกต่างไปจากเดิม และไม่มองอะไรง่ายๆ แค่ว่าพัฒนาหรือไม่พัฒนาด้วยโครงการเท่านั้น (ครอบครัวคุณชวน ครอบครัวคุณทักษิณ และอีกหลายครอบครัวก็เป็นเช่นนี้ แต่ว่าคุณบรรหารไม่ได้ใช้หนทางของการวิ่งเข้าหากรุงเทพฯในฐานะของแหล่งเลื่อนชั้นทางสังคมด้วยการศึกษาในระดับมหาวิทยาลัยเหมือนท่านอื่นๆ ที่กล่าวถึงไป) แต่อาจจะต้องมองว่าฐานทางเศรษฐกิจเดิมของพื้นที่และฐานทางวัฒนธรรมของผู้คนที่นั่นเป็นอย่างไร รวมทั้งอะไรทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในทิศทางการพัฒนาของสุพรรณบุรีในยุคก่อนและหลังที่นายบรรหารเข้ามามีบทบาท

อาทิ การเติบโตอย่างก้าวกระโดดของยุทธศาสตร์อุตสาหกรรมและการมุ่งกรุงเทพฯในช่วงปีสองพันห้าร้อย ทำให้สุพรรณบุรีกลายเป็นจังหวัดที่เหมือนจังหวัดอื่นๆ ที่ไม่ใช่จังหวัดที่เป็นอุตสาหกรรม และทำให้งบประมาณการพัฒนาแนวใหม่นั้นข้ามผ่านพื้นที่ภาคกลางไปยังพื้นที่อื่นๆ หรือไม่?

บทบาทในแบบที่สามของนายบรรหารที่ผมคิดว่ายังมีการศึกษาน้อย แต่พูดถึงมาก และมักเป็นการพูดถึงในทางลบอยู่ไม่ใช่น้อยคือ ภาพลักษณ์ของนายบรรหารในฐานะตัวแทนของการเมืองในยุคก่อนการปฏิรูปการเมือง ซึ่งแม้ว่านายบรรหารอาจจะไม่ได้ถูกมองว่าแย่เหมือนอีกหลายคน แต่ภาพของนายบรรหารนั้นก็ไม่ได้บวกอะไรมาก เพราะนายบรรหารก็ถูกเหมาให้เป็นทั้งนักการเมืองแบบเก่าในยุครัฐบาลผสม และเป็นนักการเมืองใน “สองนคราประชาธิปไตย” ใน “นคร” ที่จะต้องถูกปฏิรูปจากสายตาของนักวิชาการ ชนชั้นนำบางกลุ่ม และคนเมือง คือ “นครชนบท”

การเมืองก่อนการปฏิรูปเป็นเรื่องที่ไม่น่าจดจำอะไร ส่วนหนึ่งคือเรื่องของนักการเมืองชนบทที่ขาดความรู้ความสามารถ และสนใจแต่เรื่องของตัวเอง (นี่คือที่มาของการเข้มงวดกับคุณลักษณะของนักการเมืองในรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน)

อีกส่วนหนึ่งที่สร้างปัญหาก็คือ ระบบของรัฐบาลผสม ซึ่งทำให้ไม่เกิดฝ่ายบริหารที่เข้มแข็ง (นี่คือที่มาของการพยายามออกแบบระบบการเลือกตั้งที่ กกต. วันนี้มองว่าเป็นการนับซ้ำคือนับคะแนนทั้งระดับเขตเลือกตั้งย่อย-เลือกคนที่รัก และการเลือกพรรคที่ใช่-บัญชีรายชื่อ และทำให้สภาผู้แทนมีแหล่งที่มาทั้งสองแหล่งรวมกัน เพื่อทำให้เกิดเสียงในการจัดตั้งรัฐบาลและบริหารประเทศที่เข้มแข็ง

การวิพากษ์วิจารณ์คุณลักษณะของนักการเมืองในข้อแรกนั้นแม้จะมีข้อวิจารณ์มาก แต่ในวันนี้การวิจัยทางรัฐศาสตร์ในแนวทางสังคมวิทยาการเมืองและชาติพันธุ์วรรณา ได้พยายามให้ภาพอีกด้านหนึ่ง คือความสัมพันธ์ระหว่างนักการเมืองเหล่านั้นกับท้องถิ่นของเขาในแง่ของการศึกษาภาวะผู้นำและการจัดองค์กรทางการเมืองของพวกเขา เช่น ระบบอุปถัมภ์ จากมุมมองที่หลายด้านขึ้น แต่ในแง่ที่สองคือเรื่องของรัฐบาลผสมนั้นดูจะไม่ค่อยมีคนสนใจมากนัก

แถมมักจะมีการกล่าวว่า การจัดตั้งรัฐบาลผสมนั้นสะท้อนถึงความไม่จริงแท้และปมปัญหาของการเมือง เพราะการเมืองที่พึงปรารถนาของคนหลายคนคือเรื่องของความถูกต้อง ถูกต้องในแบบที่อีกฝ่ายหนึ่งนั้นต้องไม่ถูกต้องเท่านั้น ความถูกต้องฝ่ายเดียว/หนึ่งเดียวจึงเป็นเรื่องของความจริงแท้ทางการเมืองของแต่ละฝ่าย ส่วนใครที่มองว่าการเมืองคือการเจรจา ประนีประนอม เพื่อจะอยู่ด้วยกันมักจะถูกมองว่าเป็นพวกที่ไม่จริงแท้ (inauthentic) ขาดทั้งความกล้าหาญและไม่มีความเข้าใจแก่นแท้ของประวัติศาสตร์

นักการเมืองที่บางครั้งหันไปเข้ากับฝ่ายโน้นบ้าง ฝ่ายนี้บ้าง จึงถูกมองว่าเป็นพวกปลาไหล เป็นงูเห่า เป็นอะไรอีกหลายอย่างที่เลื้อยไปมาได้ แทนที่จะสนใจว่าในแต่ละครั้งที่เกิดการพลิกขั้วทางการเมือง เงื่อนไขอะไรบ้างที่ทำให้เกิดปรากฏการณ์เช่นนั้น และการศึกษาเงื่อนไขเหล่านั้นเราจะสามารถเข้าใจได้อย่างไร เพราะเงื่อนไขบางอย่างมันไม่ใช่เรื่องที่จะสามารถศึกษาได้ตรงๆ เราเพียงคาดเดาว่ามันน่าจะเป็นเช่นนั้น (ในทางการวิจัยเราอาจจะมองเห็นของสองอย่างมันเกิดขึ้นในเวลาเดียวกัน หรือใกล้กัน แต่เราจะมั่นใจหรือพิสูจน์ได้อย่างไรว่ามันเป็นเหตุเป็นผลซึ่งกันและกัน?)

นายบรรหารถูกมองว่าเป็นตัวอย่างของนักการเมืองที่ทำให้การบริหารอ่อนแอ เพราะการเมืองในยุคก่อนการปฏิรูป เป็นการเมืองที่พรรคขนาดกลางเป็นพรรคที่สามารถกำหนดประเด็นทางการเมืองและต่อรองกับพรรคขนาดใหญ่ได้มากกว่า หรือพูดง่ายๆ ว่า พรรคอันดับสามจะสามารถพลิกเกมในการจัดตั้งรัฐบาลและบริหารประเทศได้ โดยเงื่อนไขที่พรรคอันดับหนึ่งและสองเป็นพรรคที่ไม่ได้มีเสียงข้างมากแบบชนะเกินครึ่ง ดังนั้นเกมการต่อรองตำแหน่งรัฐมนตรีหรือการคุมกระทรวงต่างๆ ของพรรคอันดับสามจึงเป็นเรื่องสำคัญที่ทำให้เกิดการตัดสินใจร่วมรัฐบาล หรือถอนตัวจากรัฐบาล หรือเมื่อมีการอภิปรายไม่ไว้วางใจพรรคอันดับสามจะยกมือให้หรือไม่ยกมือให้เมื่อเกิดการลงคะแนน เราจะพบแบบแผนการต่อรองทางการเมืองที่เรียกว่าคณิตศาสตร์ทางการเมืองเช่นนี้บ่อยๆ

ตัวอย่างรูปธรรมของนายบรรหารก็คือ การยึดกุมกระทรวงเกษตรฯเอาไว้ให้ได้ เพื่อทำให้เกิดความมั่นคงในการบริหารจัดการน้ำในลุ่มน้ำภาคกลางซึ่งเป็นฐานเสียงของพรรคชาติไทย และต่อเนื่องไปสู่การที่นายบรรหารมีสายสัมพันธ์อันดีกับข้าราชการกระทรวงเกษตรฯ จนกระทั่งอดีตข้าราชการหลายคนเข้ามาร่วมงานกับพรรคชาติไทย (พัฒนา) หลังจากที่เกษียณอายุ เป็นต้น

ประเด็นที่ผมอยากจะชี้ให้เห็นในส่วนนี้ก็คือ วิธีการมองเรื่องการประนีประนอมและการเป็นรัฐบาลผสมในสังคมประชาธิปไตยว่า เราจะมีมุมมองอื่นๆ ได้ไหมนอกเหนือจากมองว่าสิ่งเหล่านี้ไม่ทำให้เกิดเสรีภาพที่แท้จริง หรือเป็นการกระทำที่ไม่จริงแท้ทางการเมือง

คำตอบก็คือ ในหลายครั้งในสังคมประชาธิปไตย สิ่งที่สำคัญคือการตั้งคำถามก่อนว่าการเมืองคืออะไร และมีเป้าหมายไปสู่อะไร จากนั้นจึงถามกันต่อว่าประชาธิปไตยจะเป็นเครื่องมือและกระบวนการในการบรรลุเป้าหมายเหล่านั้นได้อย่างไร

ถ้าเรามองว่าการเมืองคือความถูกต้องหนึ่งเดียว การเมืองก็เหมือนสงครามกับความไม่ถูกต้อง เมื่อเรามีความรู้ เราก็ถูกต้อง เมื่อเราเป็นคนดี เราก็ถูกต้อง เมื่อเราเป็นเสียงข้างมากเราก็ถูกต้อง ทีนี้การถูกต้องของเราก็จะต้องไปเกี่ยวกับการสร้างสภาวะบังคับให้คนอื่นเห็นคล้อยตามไปกับเรา

แต่ถ้าการเมืองเป็นเรื่องของกฎกติกาที่หาความถูกต้องในแต่ละครั้งแบบไม่สุดโต่ง เพราะความถูกต้องนั้นมันเปลี่ยนแปลงไปมาได้ เพราะโดยรากฐานของสังคมเรามีความหลากหลายมากกว่าสองฝ่าย เราจะมองความถูกต้องด้วยมุมมองอื่นๆ ได้มากน้อยแค่ไหน?

หลายคนคงเริ่มเห็นว่าแม้แต่ตัวแบบประชาธิปไตยที่เราสมาทานมาแต่เนิ่นนานเช่นอังกฤษกับอเมริกา เราจะพบว่า วันนี้อังกฤษก็ผ่านการมีรัฐบาลผสมมาในบางช่วงเวลาแล้ว หรือแม้กระทั่งในอเมริกา การที่เรามองว่าพรรคการเมืองสองฝ่ายแข่งขันกันก็จะต้องลงไปดูการเมืองในระดับมลรัฐที่ความชัดเจนของพรรคไม่ค่อยมี หรือมองเห็นการทำงานร่วมกันระหว่างประธานาธิบดีกับพรรคฝ่ายตรงข้ามที่เขาถูกเลือกมาคานอำนาจกันระหว่างฝ่ายบริหารกับนิติบัญญัติ ซึ่งมักอยู่คนละพรรคกัน ดังนั้นการเมืองจึงไม่ใช่การประหัตประหารกันเท่านั้น แต่ต้องเป็นการเมืองของการประนีประนอม จูงใจ และต่อรองกันด้วย

ทั้งหมดนี้ไม่นับการเมืองในยุโรปและในอีกหลายที่ในโลกที่รัฐบาลผสมเป็นเรื่องปกติ แต่เราก็มักจะมองการเมืองในแบบที่เราอยากให้มันเป็นมากกว่าการเมืองที่มันเป็นอยู่จริง

หรือในอีกหลายกรณีในอดีต เราจะพบว่าคนที่อยู่กลางๆ ที่มองว่าไม่กล้าตัดสินใจหรือโลเล หรือตัดสินใจแบบเปลี่ยนไปมานั้นอาจจะไม่ทำให้สถานการณ์นำไปสู่การเผชิญหน้าและแตกหักจนทำให้เกิดการพังทลายของระบอบการเมืองก็อาจจะเป็นได้

เราจึงอาจจะต้องพยายามมองว่า การสะวิงไปมาของพวกพรรคเล็กและระดับกลางมีแง่ที่น่าสนใจอยู่ไม่ใช่น้อย โดยเฉพาะหากพยายามมองว่าการมีรัฐบาลผสมไม่ใช่ข้อจำกัดที่แย่ไปในทุกเรื่อง แต่เป็นการจำกัดตัวเองจากภายในสังคมประชาธิปไตยเอง (self-limitation) ที่ไม่ต้องการมีสภาวะสุดขั้วของสองฝ่าย หรือทำให้เสียงฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งชนะอยู่ฝ่ายเดียว และอีกฝ่ายต้องหาทางทุบทำลายด้วยเงื่อนไขนอกประชาธิปไตย

เรื่องแบบนี้มองอย่างผิวเผินคือการสร้างความชอบธรรมให้กับการสร้างความอ่อนแอให้กับระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตย แต่ถ้าลองมองอีกทีก็คือ ถ้าสังคมมันมีความหลากหลายมากกว่าสองขั้วจริงๆ เราจะทำอย่างไรให้ระบบการผสมรัฐบาลและการประนีประนอมกันในการตัดสินใจทางการเมืองนั้นไม่ทำให้เกิดการล่มสลายทางการเมือง

คําตอบหนึ่งก็คือ การพยายามมองในเรื่องของสลับขั้วทางการเมือง หรือการสร้างรัฐบาลผสม หรือพันธมิตรทางการเมืองในเชิงบวก โดยจับตามองและมีส่วนร่วมกดดันให้ผู้นำที่อยู่ในแต่ละกลุ่มสามารถตกลงและต่อรองกันได้ แต่ไม่ใช่ทำให้การเมืองเป็นเรื่องของชนชั้นนำเท่านั้น การจับตามองอาจจะรวมไปถึงการกำหนดกฎเกณฑ์ของการร่วมมือกันให้เป็นกรอบกติกาบางอย่างด้วย

ในการเจรจาต่อรองกันทางการเมือง การร่วมมือกันเป็นกลุ่มเดียวกันในบางกรณี เป็นเรื่องที่ทุกฝ่ายรู้สึกว่าเขามีส่วนร่วมในนั้น และเขาได้รับประโยชน์จากการร่วมมือ (ถ้าชนชั้นนำคิดว่าได้ประโยชน์ ประชาชนก็จะต้องตรวจสอบและกดดันชนชั้นนำฝ่ายตัวเองด้วย)

และในการต่อรองกันก็จะต้องมีลักษณะที่พยายามเข้าใจและเคารพสิ่งที่อีกฝ่ายยืนและเสนอ แม้ว่าเราอาจจะไม่เห็นด้วยกับสิ่งเหล่านั้น ที่สำคัญการจะทำงานร่วมกันได้จะต้องมีความตั้งใจที่จะประนีประนอมและอยู่ด้วยกัน

เรื่องที่ยากขึ้นกว่านั้นก็คือ การประนีประนอมจะต้องมีเรื่องของการเป็นผู้ร่วมงานกัน (partnership) ซึ่งอาจจะไม่ได้หมายถึงว่าแบ่งอะไรให้เท่ากันทุกอย่าง แต่หมายถึงว่าแต่ละฝ่ายเคารพถึงความโดดเด่นของเพื่อนร่วมงาน และต่างมีความเสมอภาคกันในการเสนอความเห็นในการตัดสินใจและการกระจายประโยชน์จากการร่วมมือกัน

กระบวนการของการเจรจาร่วมมือกันนั้น ก็อาจจะไม่ใช่แค่การปิดห้องลับหรือกินข้าวกันของแกนนำ แต่ต้องหมายถึงการที่แต่ละฝ่ายผลิตเอกสารเพื่อสื่อสารความคิดของตัวเองให้กับอีกฝ่ายเข้าใจและให้กับฝ่ายตัวเองเข้าใจด้วย และเมื่อเริ่มเจรจาก็อาจจะต้องพัฒนาการสื่อสารดังกล่าวที่ชี้ให้ฝ่ายตัวเองเห็นว่าตอนนี้การเจรจาคืบหน้าไปในเรื่องไหน และเรื่องไหนที่ยังตกลงกันไม่ได้ รวมทั้งเรื่องของการตกลงกันให้ได้ว่ากระบวนการเจรจาจะเป็นอย่างไร ใครเป็นผู้เคาะหรือตัดสินใจในขั้นสุดท้ายของแต่ละฝ่าย รวมทั้งจะต้องสื่อสารกับมวลชนของตัวเอง เพราะบ่อยครั้งมวลชนฝ่ายตัวเองกลับเป็นกลุ่มที่ไม่ต้องการการเจรจามากที่สุด และเมื่อการตกลงสิ้นสุดลง เอกสารของการตกลงจะต้องถูกเผยแพร่เพื่อให้เป็นหลักฐานในการทำงานร่วมกันต่อไป

สิ่งสำคัญก็คือ การสร้างการทำงานร่วมกันนี้ต้องมีเป้าหมายที่ทำให้ระบอบการเมืองมันเข้มแข็งและแต่ละฝ่ายอยู่ด้วยกันได้ ไม่ใช่มีเป้าหมายที่จะสนับสนุนให้ระบอบการผสมกันนี้เป็นสิ่งที่สกัดขัดขวางประชาธิปไตยเสียเอง ดังนั้นเรื่องราวการเมืองหลังยุค “คน(ตัว)เล็ก” จึงยังคงเป็นเรื่องราวที่ต้องน่าติดตามต่อไป ว่าในทางหนึ่งกลุ่มก้อนทางการเมืองในระดับกลางๆ จะมีบทบาทต่อไปไหมท่ามกลางความขัดแย้งที่มี และเราจะสร้างการทำงานร่วมกันของแต่ละฝ่ายได้อย่างไรไม่ให้ระบอบการเมืองมันล่มสลายลง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image