ขออภัย-ขอถาม โดย นฤตย์ เสกธีระ

แฟ้มภาพ

ความจริงสัปดาห์นี้น่าจะว่าด้วยเรื่อง กปปส. และ นปช. เกี่ยวกับการประชามติ

แต่เมื่อสัปดาห์ก่อนเกิดความผิดพลาดด้านข้อมูล สัปดาห์นี้จึงต้องขออภัย

ข้อเขียนเมื่อสัปดาห์ที่แล้วเกิดความเข้าใจผิดเรื่องระบบเลือกตั้ง ส.ส.เขต

ทั้งนี้ ในข้อเขียนเรื่อง “ได้คนที่ไม่ได้เลือก?” ได้ตั้งข้อสังเกตว่า ส.ส.เขตนั้นได้ตัดทอนสิทธิของประชาชนหรือเปล่า?

Advertisement

เพราะเข้าใจว่า เขตเลือกตั้งใหม่จะมี ส.ส.ได้ 3 คน แต่ประชาชนเลือกได้คนเดียว

แต่มาทราบภายหลังว่า วิธีเลือกตั้ง ส.ส.ที่ว่ามานั้น เป็นร่างเก่า

ส่วนร่างหลังสุดก่อนประชามติ การเลือกตั้ง ส.ส.เขต กลับไปเป็น “เขตเดียวเบอร์เดียว” แล้ว

Advertisement

บทความเมื่อสัปดาห์ก่อนจึงผิดพลาด

ต้องขออภัย …

เมื่อประชาชนได้เลือก ส.ส.เขตโดยตรง คนที่ได้ก็คือ “คน” ที่เขาเลือก

อันนี้เคลียร์!

ส่วนที่ยังไม่เคลียร์ว่าดีหรือไม่ คือ ส.ส.บัญชีรายชื่อ

ไม่เคลียร์ว่า ส.ส.บัญชีรายชื่อเป็นตัวแทนของใครกันแน่

หนึ่ง คือ เป็นตัวแทนของประชาชน … แต่จะแตกต่างจาก ส.ส.เขตอย่างไร

สอง คือ เป็นตัวแทนของพรรคการเมือง เพราะพรรคเป็นคนเลือกสมาชิกมาเรียงลำดับในบัญชีรายชื่อ

ขณะเดียวกันก็สงสัยว่า ส.ส.บัญชีรายชื่อมีไว้เพื่ออะไร

เพราะแต่เดิมคาดหวังว่า ส.ส.บัญชีรายชื่อคือ การโชว์ตัวรัฐมนตรี

รวมทั้งโชว์ตัวนายกรัฐมนตรีด้วย

แต่ตอนนี้ทั้งนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรี ไม่จำเป็นต้องโชว์ในบัญชีรายชื่อ

ทำให้ความสำคัญของ ส.ส.บัญชีรายชื่อลดลง

นอกจากนี้ ระบบการเลือกที่กำหนดให้ใช้คะแนน ส.ส.เขต เป็นหลัก

โดยให้เอาคะแนน ส.ส.เขตไปคำนวณเป็นจำนวน ส.ส.ที่แต่ละพรรคพึงมี

เอาจำนวน ส.ส.ที่แต่ละพรรคพึงมีไปลบด้วยจำนวน ส.ส.เขตของแต่ละพรรคที่ได้รับเลือก

ผลลัพธ์ที่เกิดคือจำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อของพรรคนั้น

หากพรรคใดมีจำนวน ส.ส.เขตเท่ากับหรือมากกว่าจำนวน ส.ส.ที่พรรคนั้นพึงมี

พรรคนั้นก็ไม่มี ส.ส.บัญชีรายชื่อ

ต้องนำโควต้าเก้าอี้ไปให้กับพรรคการเมืองที่มีจำนวน ส.ส.เขตไม่ถึงจำนวน ส.ส.ที่พึงมี

ตามกระบวนการนี้เท่ากับว่า ส.ส.บัญชีรายชื่อมีหน้าที่เพียง “เติมเต็ม”

หรือเป็นตัวแทนของเสียงที่แพ้เลือกตั้งในระบบเขตมาแล้ว

แม้ฝ่ายสนับสนุนจะบอกว่า เป็นระบบการเลือกตั้งที่ทำให้ทุกคะแนนเสียงมีค่า

แต่ขณะเดียวกันก็เป็นระบบที่ประชาชนได้ “คน” ที่ไม่ได้เลือกแน่ๆ เพราะพรรคทำหน้าที่เลือกให้แทน

ดีไม่ดียังรู้สึกก้ำกึ่ง !

ส่วนคำถามพ่วงเรื่องเพิ่มอำนาจให้ ส.ว.โหวตร่วมกับ ส.ส.เพื่อเลือกนายกรัฐมนตรีนั้น

คงต้องเคลียร์ให้ชัด

ถ้าประชามติเห็นชอบกับคำถามของ สนช.

นั่นคือ ให้ ส.ว. 250 คน ร่วมกับ ส.ส. 500 คน เลือกนายกรัฐมนตรี

มองภาพรวมก็เห็นว่า ส.ว.มีแค่ครึ่งหนึ่งของ ส.ส.

แต่ถ้ามองลงไปถึงการเลือกตั้ง ส.ส.ดังที่เล่าให้ฟัง ก็ยังน่าเป็นกังวลว่านายกรัฐมนตรีจะเป็นใคร

จะเป็นนายกรัฐมนตรีของประชาชน หรือเป็นนายกรัฐมนตรีของพรรคการเมือง

หรือเป็นนายกรัฐมนตรีของ ส.ว.

อันนี้ขอถาม?

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image