เสียงระฆังวัดมากกว่าการบอกเวลา แต่บอกประวัติศาสตร์และจิตวิญญาณของชุมชน โดย สุกรี เจริญสุข

ผู้อำนวยการเขตบางคอแหลม กรุงเทพมหานคร นายอนันต์ กายพรรณ เพิ่งเข้ารับตำแหน่งเมื่อ
ต้นเดือนตุลาคมปีนี้ มีงานต้องแก้ปัญหาทางสังคม เนื่องจากมีผู้ช่วยผู้อำนวยการเขต (ลูกน้อง) ได้ทำหนังสือถึงพระอธิการปรีชา ปุณณสีโล เจ้าอาวาสวัดไทร ย่านพระราม 3 ให้ลดเสียงตีระฆังลง เพราะว่าเมื่อพระหรือสามเณรตีระฆังแล้ว เสียงระฆังไปรบกวนชาวคอนโดทั้งหลายที่อยู่ใกล้วัด พระท่านว่า วัดอยู่มาตั้งแต่ปลายสมัยอยุธยา 300 ปีแล้ว คอนโดเพิ่งปลูกเมื่อ 10 ปีมานี้เอง ก็เป็นกรณีพิพาทระหว่างวัดกับชาวคอนโดที่อยู่ใกล้วัด ชาวบ้านรอบวัดนั้นเขาเข้าใจ แต่ชาวคอนโดจะไม่เข้าใจ

เป็นกรณีพิพาทที่มีกันหลายมิติ หนึ่ง วิถีชีวิตดั้งเดิมกับวิถีชีวิตสมัยใหม่ที่เปลี่ยนแปลงไป สอง เป็นมิติของกาลเวลา การเปลี่ยนแปลงช้ากับการเปลี่ยนแปลงเร็ว สาม มิติของความไม่เข้าใจถึงวัตถุประสงค์ ความหมาย และการดำรงอยู่ที่แตกต่าง สี่ เป็นมิติของร่องรอยประวัติศาสตร์ท้องถิ่นและวิถีชีวิตชาวบ้านกับคนรุ่นใหม่ที่ไม่ยอมรับวิถีชีวิตดั้งเดิม ความขัดแย้งมาจากความแตกต่างที่ไม่เข้าใจ จนกลายเป็นความแตกแยกระหว่างความผิดและความถูก เกิดเป็นความขัดแย้ง ซึ่งกำลังพัฒนาไปสู่ความเกลียดชังกัน

ความเห็นแก่ตัว ใจแคบของชาวคอนโด นอกจากความไม่เข้าใจและไม่มีใจให้กับสาธารณะ ไม่มีส่วนร่วมกับสาธารณสถานแล้ว ยังทำลายส่วนที่เป็นรากฐานของชุมชนโดยไม่ตั้งใจ ความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ กระทั่งเป็นกรณีพิพาทปรากฏในพื้นที่สาธารณะ

ระฆัง เป็นนาฬิกาโบราณของสังคม ที่เหลืออยู่แห่งเดียวคือที่วัด ซึ่งเป็นศาสนสถาน ระฆังนั้นตีบอกเวลาของชาววัด (พระสงฆ์ สามเณร และเด็กวัด) เพื่อจะได้ทำหน้าที่เมื่อถึงเวลา ตื่นทำวัตรเช้า สวดมนต์ และออกบิณฑบาต รวมทั้งบอกชาวบ้านให้ตื่นเพื่อเตรียมอาหารใส่บาตร

Advertisement

ส่วนชาวคอนโดนั้น ไม่ได้ประโยชน์จากเสียงระฆังแต่ประการใด นอกจากไม่ตื่นเพื่อเตรียมอาหารใส่บาตรแล้ว ยังรำคาญเสียงระฆังและด่าพระอีกต่างหาก เพราะชาวคอนโดใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่บอกเวลา ชาวคอนโดไม่ใช้เสียงระฆัง ไม่เข้าใจเสียงระฆัง ไม่เปิดใจรับเสียงระฆัง เป็นเพียงแค่เสียงที่หนวกหู เพราะพระตีระฆังกรอกหูทุกวัน เป็นเสียงระฆังที่ไม่ใช่เสียงธรรม แต่เป็นเสียงรำคาญ

สังคมไทยจะจัดการอย่างไรกับความแตกต่าง ความหลากหลายของวิถีชีวิต กระทั่งขยายกลายเป็นความขัดแย้ง และก้าวไปไกลถึงความเกลียดชัง เป็นกรณีพิพาทในที่สุด ซึ่งสังคมไทยนั้นมีความล้มเหลวในการจัดการความแตกต่างให้เห็นมาแล้ว ตั้งแต่เรื่องขนาดใหญ่ อาทิ ความแตกต่างระหว่างคนใส่เสื้อสีแดงกับคนที่ใส่เสื้อสีเหลือง เป็นความแตกต่าง จนแตกแยก ขัดแย้ง และท้ายที่สุดกลายเป็นความเกลียดชัง แม้จะจัดตั้งองค์กรขนาดใหญ่เพื่อสร้างความสมานฉันท์ ก็ยังไม่เกิดผลแต่ประการใด

ตัวอย่างของความแตกต่างของกาลเวลา “เสียงระฆังบอกเวลา” ที่เกิดขึ้นในใจกลางเมืองหลวงของประเทศไทยนั้น เป็นตัวอย่างที่ตลกที่หัวเราะก็ไม่ได้ ซึ่งเป็นเรื่องเดียวกับสีเสื้อที่แตกต่าง แต่เสียงระฆังเป็นนามธรรมมากกว่า

Advertisement

จะบอกว่าสาเหตุมาจากครูสอนศิลปะ ที่ไม่ได้สอนให้คนไทย (เด็กไทย) ได้เรียนรู้ความหลากหลายของสี เรียนรู้ความแตกต่างของสี เพื่อให้เด็กเห็นว่าสีทุกสีมีความสำคัญเท่าเทียมกันหมด จะใช้สีใดสีหนึ่งสีเดียวไม่ได้ ในเมื่อสังคมมีความหลากหลายของสี มีความหลากหลายทางวัฒนธรรม มีความหลากหลายของเชื้อชาติ มีความหลากหลายของศาสนา ซึ่งควรเรียนรู้และทำความเข้าใจเรื่องของชุมชน เรื่องมิติของกาลเวลา ครูสอนวิชาสังคมก็ต้องสอนวิชาวิถีชีวิตของชุมชน ครูประวัติศาสตร์ต้องสอนความแตกต่างที่ลงตัว ซึ่งเจ้าของคอนโดจะต้องบอกเงื่อนไขกับลูกค้าว่า “เมื่อคุณซื้อห้องที่คอนโดนี้ จะมีเสียงระฆังวัดแถมให้จิตใจคุณสงบด้วย”

ครูดนตรีในโรงเรียน ก็ต้องสอนเรื่องเสียงระฆังดังกังวานในจิตใจคน

เมื่อก่อนวัดใช้ระฆังไม้ เรียกว่า “โปง” โดยเอาท่อนไม้ทั้งต้น “ท่อนซุง” โดยเฉพาะไม้เนื้อแข็งมาทำเป็นระฆังเพื่อตีให้สัญญาณ ตีเพื่อป่าวร้อง ตีเพื่อประกาศ ตีเพื่อบอกให้รู้หรือประชาสัมพันธ์ ตีเพื่อทำเสียงให้ดังและขจัดความกลัว เมื่อชีวิตในสังคมมีความซับซ้อนเรื่องเสียงมากขึ้น เสียงที่ตีด้วยไม้ก็ไม่ได้ยินถึงหูคนฟังอีกต่อไป โปงก็ตาย หายไปจากวัด

พัฒนาการของสังคมมีการคิดโลหะมาใช้ มีการนำโลหะมาทำเป็นฆ้องและระฆัง โลหะเป็นของสูง ราคาแพง จะอยู่ที่หัวหน้าหรือผู้นำเป็นสำคัญ ชาวบ้านไม่มีกำลังและไม่มีอำนาจที่จะเป็นเจ้าของได้ เพราะโลหะหายากก็ต้องอยู่ในที่ที่เป็นศูนย์รวมของจิตใจ อยู่ที่วัดหรือพื้นที่ทางศาสนา ซึ่งเป็นผู้นำด้านจิตวิญญาณ ก็จะมีฆ้องและระฆังไว้ตีเพื่อเตือนจิตใจ เป็นเสียงของอำนาจที่จะนำวิญญาณไปสู่ความสงบ

พิธีงานศพในภาคอีสานใต้จะมี “วงตุ้มโมง” ตีประโคมในงานศพ ซึ่งปัจจุบันไม่มีแล้ว วงตุ้มโมงนั้นมีเครื่องดนตรีหลักเป็นฆ้องกับกลอง ความจริงแล้วกลองไว้ตีบอกเวลาตอนกลางคืน เสียงดัง “ตุ้มตุ้ม” ปัจจุบันใช้เรียกบอกเวลาว่า “หนึ่งตุ้ม/หนึ่งทุ่ม” กลองตีหนึ่งที “สองตุ้ม/สองทุ่ม” ก็ตีกลองสองที หรือในเวลากลางวันก็ใช้ฆ้องตีบอกเวลา “หนึ่งโมง” ฆ้องตีหนึ่งที “สองโมง” ฆ้องก็ตีสองที ดังนั้น เสียงระหว่างกลางวันกับกลางคืน ก็ใช้อุปกรณ์ในการตีเพื่อบอกเวลาด้วยเสียงที่แตกต่างกัน

ระฆังวัดทำด้วยโลหะ ระฆังที่เสียงดีและเสียงดังกังวาน ทำด้วยสัมฤทธิ์ เรียกว่าลงหินหรือบรอนซ์ (Bronze) โดยมีส่วนผสมของทองแดงเป็นหลัก (7 ส่วน) มีโลหะอื่น อาทิ ดีบุก (2 ส่วน) เสียงระฆังเป็นเสียงของจักรวาล คือ ดังไม่มีที่สิ้นสุด ไม่มีขอบเขต ดังกังวานอยู่ในจิตใจคน ช่างที่ทำระฆังจะบอกว่า “ระฆังดีไม่ต้องตีก็ดัง ระฆังที่ไม่ดีตีให้ตายก็ไม่ดัง” เพราะระฆังเนื้อโลหะที่ดีก็จะดังกังวาน เมื่อมีใครตีระฆังที่วัดอื่น หากระฆังที่มีความถี่ของเสียงตรงกัน ระฆังที่ไม่ได้ตีก็ดังขึ้นด้วย เหมือนกับผีตีระฆัง

ทุกวัดในพุทธศาสนา มีหอกลองและมีหอระฆัง เพื่อที่จะตีบอกเวลา บอกกลางวันกลางคืน บอกเวลาทำงาน บอกข่าว เตือนสติ หรือเป็นเสียงนำทางให้คนในชุมชนว่ามีกิจกรรมของวัด ชุมชนควรมีเวลาให้นึกถึงวัด หรือนึกถึงคนอื่นในสังคมบ้าง

ในสมัยโบราณนั้น ชุมชนมีความหนาแน่นน้อย มีความมืด เปลี่ยว วังเวง ว้าเหว่ และมีความเงียบ จิตใจมนุษย์มีความกลัว กลัวทุกสิ่งทุกอย่างที่ทำให้จิตใจกลัว ดังนั้น เสียงฆ้อง เสียงระฆังจากวัด จะทำให้จิตใจมนุษย์หายจากความหวาดกลัว ทำให้จิตใจมีความอบอุ่นมากขึ้น แต่สังคมและชุมชนโบราณไม่ได้ซับซ้อนอย่างสังคมในปัจจุบัน คนโบราณ “แสงสีเสียง” คือความเจริญ

แต่เมื่อสังคมและชุมชนเปลี่ยนไป ปัจจุบันคนในสังคมไม่ได้ต้องการเสียงฆ้องและเสียงระฆังอีกต่อไป ในสังคมที่มีแต่ความวุ่นวาย คนในปัจจุบันต้องการความมืด ความเงียบ และความสงบ ไม่อยากได้ยินเสียงหนวกหูหรือเสียงที่ตนไม่ต้องการ เพราะชีวิตประจำวันก็มีความวุ่นวายมากเพียงพอแล้ว

เสียงระฆังวัดจึงกลายเป็นปัญหาของคนในสังคมเมืองปัจจุบัน

เราจะอยู่กันอย่างไรต่อไป รัฐควรออกจดหมายเตือนพระให้ตีระฆังเบาๆ ลดเสียงระฆังวัด หรือห้ามพระตีระฆัง หรือออกกฎหมายห้ามใช้เสียงดังในพื้นที่สาธารณะ ดังเกิน 80 เดซิเบล หรือออกกฎหมายห้ามสร้างคอนโดใกล้วัด ห้ามสร้างคอนโดใกล้พื้นที่ศาสนาในระยะหนึ่งกิโลเมตร แต่ความเป็นจริงแล้ว มีการใช้พื้นที่วัดสร้างคอนโดไปแล้วจำนวนมาก ซึ่งทั้งหมดที่กล่าวมานั้นล้วนทำได้ยาก และถึงขั้นทำไม่ได้แทบทั้งสิ้น

เมืองใหญ่ของโลก เมืองที่เจริญของโลก เขารักษาศาสนสถาน โดยให้ศาสนจักรทำพิธีกรรมของศาสนาได้อย่างสมบูรณ์ คนทั้งโลกไปดูไปชมกิจกรรมของศาสนา คนไปทำความเคารพต่อศาสนา เคารพต่อสถานที่อย่างสำรวม ผู้คน นักท่องเที่ยว ไปฟังเสียงระฆังจากวัด วัดในเมืองใหญ่ทั้งหลายของโลกจึงตีระฆังได้อย่างไพเราะและงดงาม นอกจากวัดจะเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์แล้ว ยังเป็นสถานที่พักของจิตใจ เป็นสถานที่ท่องเที่ยวอีกด้วย วัดจึงเป็นทั้งที่พักใจและเป็นที่พึ่งทางเศรษฐกิจ ให้คนไปชม ให้ดูตัวอย่างวัดในญี่ปุ่น วัดในยุโรป วัดในที่นี้หมายถึงวัดในทุกศาสนา

รัฐไทยควรถือโอกาสจากเหตุการณ์ “ระฆังวัดปะทะชาวคอนโด” นี้ ปฏิรูปวัดให้เป็นที่พักผ่อนทางใจของคน กวาดวัดให้สะอาด ทำวัดให้มีระเบียบ ปฏิรูปคนที่อาศัยอยู่ในวัด ทำวัดให้เป็นตัวอย่าง สะอาดทั้งกายและใจ เพราะวัดเป็นแหล่งเดียวที่มีอดีตเหลืออยู่ วัดเปลี่ยนแปลงช้าที่สุด วัดยังคงรักษาอดีตไว้ได้มากที่สุดด้วย วัดเป็นร่องรอยประวัติศาสตร์ วิถีชีวิตในวัดก็ยังสมบูรณ์ หากรัฐไทยต้องการนำอดีตมารับใช้ปัจจุบัน ขายอดีตที่มีอยู่ในวัดให้เป็นแหล่งท่องเที่ยว ทำความสะอาดวัด เข้าไปในวัดแล้วมีความสงบ แค่นี้วัดก็จะเจริญ ประเทศก็ร่ำรวยแล้ว

ระฆังวัดใช่เป็นแค่เสียงหนวกหูหรือเสียงรบกวน แต่เป็นเสียงที่บอกร่องรอยของอดีต เป็นร่องรอยของประวัติศาสตร์ของชุมชน ปัจจุบันคนดิบมีมากขึ้น จิตใจคนขุ่นมัวมากขึ้น ไม่ได้ยินเสียงระฆังวัด กลับได้ยินเป็นเสียงหนวกหูแทน ซึ่งเป็นหน้าที่ของพระและสังคมที่จะต้องช่วยให้เสียงระฆังชำระจิตใจของคนให้สะอาดมากขึ้น

เสียงดังกังวานของระฆังวัด ควรจะดังไปไกล ทะลุอาคารคอนโด ผ่านจิตใจคน ให้ได้ยินความสงบมากขึ้นด้วย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image