ความพร่าเลือนในความทรงจำ โดย สาโรจน์ มณีรัตน์

ตลอดเวลาผ่านมา นับจากนวนิยายเรื่อง “พุทธศักราชอัสดงกับทรงจำของทรงจำของแมวกุหลาบดำ” ซึ่งมี “วีรพร นิติประภา” เป็นผู้เขียน ตีพิมพ์ออกมาตั้งแต่เดือนตุลาคม 2559 ผ่านมา

เธอถูกสัมภาษณ์บ่อยครั้ง

ทั้งนั้นอาจเป็นเพราะก่อนหน้านั้นราวปี 2558 เธอเคยคว้ารางวัลซีไรต์จากนวนิยายเรื่อง “ไส้เดือนตาบอดในเขาวงกต” มาก่อน จึงทำให้เธอถูกจับตามอง

จนทำให้เธอมีแฟนคลับระดับหนึ่ง

Advertisement

ดังนั้น เมื่อเธอแสดงความคิดเห็นอะไร ทั้งในส่วนที่เกี่ยวข้องกับหนังสือ ครอบครัว และการทำงานทางด้านก๊อบปี้ไรเตอร์จากบริษัทโฆษณาแห่งหนึ่ง จึงทำให้ทุกถ้อยคำที่เธอพูดมีคนสนใจ

ซึ่งเหมือนกับครั้งหนึ่งที่เธอให้สัมภาษณ์กับสื่อหลายฉบับว่ามูลเหตุในการเขียนนวนิยายเรื่อง “พุทธศักราชอัสดงกับทรงจำของทรงจำของแมวกุหลาบดำ” มาจากการมองเห็นความขัดแย้งทางการเมืองบริเวณถนนราชประสงค์

เธอตั้งคำถามกับเหตุการณ์ครั้งนั้นว่า…ถ้าเวลาผ่านไปจนกลายเป็นประวัติศาสตร์ เหตุการณ์ครั้งนั้นจะมีความจริงซ่อนอยู่สักกี่เปอร์เซ็นต์

Advertisement

“วีรพร” บอกว่า ทุกประวัติศาสตร์ต่างมีความพร่าเลือน

ไม่มีความถูกต้องครบถ้วน

และไม่เฉพาะแต่ประเทศไทยเท่านั้น

หากทุกๆ ประเทศในโลกใบนี้ก็เป็นเช่นนั้น ซึ่งเหมือนกับที่เธอบอกว่า…ครั้งหนึ่งทุกคนพยายามตามหาหมุดหมายทางประวัติศาสตร์จากเหตุการณ์ปฏิวัติสยามเมื่อปี 2475

จนกลายเป็นทอล์ก ออฟ เดอะ ทาวน์

กระทั่งวันหนึ่งเธอมีโอกาสเดินทางไปเที่ยวเมืองเบอร์ลิน ประเทศเยอรมนี เธอพบหมุดมากมายเรียงรายอยู่ริมฟุตปาธ ซึ่งหมุดดังกล่าวแสดงออกถึงเหตุการณ์ฆ่าหมู่ชาวยิว ณ ค่ายกักกันเอาชวิตซ์ ที่ตระกูลของพวกเขาต่างมีอาชีพช่างทำรองเท้า ช่างทำกรรไกร และอื่นๆ

“วีรพร” ตั้งคำถามว่าหากชาวยิวรุ่นใหม่มาเห็นหมุดเหล่านี้พวกเขาจะรู้สึกเช่นไร จนพบคำตอบว่าพวกเขากลับไม่รู้สึกโกรธแค้น ไม่รู้สึกกล่าวโทษผู้ปกครองบ้านเมืองขณะนั้น เพราะพวกเขาต่างมีความเชื่อว่าสิ่งนี้เป็นความผิดพลาดของมนุษย์ ที่จะต้องเรียนรู้ร่วมกัน

อันเป็นสังคมปัจจุบัน

แต่กระนั้น ถ้าไปอ่านบันทึกประวัติศาสตร์อาจมีเรื่องเล่าในอีกแบบหนึ่ง อาจเอนไปทางซ้าย หรือเอนไปทางขวา ซึ่งหาความจริงไม่ได้เลย

เนื่องจากตัวละครที่อยู่ในประวัติศาสตร์จริง ถูกดินฝังกลบหน้าจนสิ้นลมหายใจเสียแล้ว

ในประวัติศาสตร์ไทยก็เช่นกัน

“วีรพร” มีความเชื่อดุจเดียวกันว่าทุกบรรทัดของประวัติศาสตร์ไม่ว่าสมัยใดก็ตาม ย่อมมีความจริงซ่อนอยู่อย่างพร่าเลือน

ผู้ชนะเป็นผู้เขียนประวัติศาสตร์

ซึ่งแม้เธอจะไม่เชื่อทั้งหมด แต่กระนั้นก็ทำให้เธอฉุกคิดว่าหากจะนำเรื่องราวทางประวัติศาสตร์มาต่อจิ๊กซอว์ให้เข้ากับครอบครัวของคนจีนที่อพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานในสยามประเทศ

น่าจะเป็นอีกประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจ

แม้จะไม่ถูกต้องทั้งหมด

แต่กระนั้น การขยายความเชื่อจากความทรงจำที่แหว่งวิ่นของตัวละครในมิติต่างๆ ก็น่าจะมีความน่าสนใจ ไม่ต้องเล่าทั้งหมด ไม่ต้องเล่าความจริงอย่างเลือกข้าง

ค่อยๆ เล่า

อาจหลงลืมบ้าง

ข้ามๆ ไปบ้าง

หรือจดจำไม่ได้บ้าง

เพราะทั้งหมดคือความเป็นจริงของมนุษย์ที่ทุกคนมีโอกาสจดจำแค่เพียงบางอย่าง ซึ่งไม่จำเป็นหรอกที่จะต้อง

เป็นเรื่องดีๆ เสม อไป

จดจำเรื่องชั่วร้ายบ้างก็ได้

“วีรพร” พยายามมุ่งประเด็นตรงนี้และพยายามสร้างสรรค์งานวรรณกรรมคอลลาจออกมาเพื่อให้เกิดภาพอย่างสมบูรณ์ จนที่สุดจึงปรากฏนวนิยายเรื่อง “พุทธศักราชอัสดงกับทรงจำของทรงจำของแมวกุหลาบดำ” ขึ้นมา

หากใครยังไม่เคยอ่าน ต้องลองไปหาอ่านดู

แล้วคุณจะพบคำตอบเองว่าทำไมหนังสือเล่มนี้ถึงได้รางวัลซีไรต์ประจำปี 2561

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image