ภาพเก่าเล่าตำนาน ไปที่ไหนๆ…ก็มีไชน่าทาวน์ (1) เมืองซัวเถา…ที่เราไม่ค่อยรู้จัก โดย : พลเอก นิพัทธ์ ทองเล็ก

ท่านผู้อ่านที่ติดตามบทความจาก มติชน ส่งสัญญาณมาให้หาตำนานชาวจีนในไทยมาคุยกันบ้าง…ด้วยความยินดีครับ…

ย้อนไปราว 50 ปีทีแล้ว ผมจำว่า ได้ยินลุง ป้า น้า อา คุย กันสนุกๆ ว่า ทรัพย์สมบัติของก๋ง ของอากู๋ บรรพบุรุษของเราจำนวนมาก ยังซุกซ่อนไว้มหาศาลที่ ซัวเถา เมืองจีน… เราคงต้องไปขุดเอามาขายกินกันบ้าง จะได้พ้นจากความยากจน… แล้วก็ตามด้วยเสียงหัวเราะลั่นสนั่นวงอาหาร

แต่เมื่อราว 50 ปีที่แล้วในประเทศไทย มีกฎหมายการป้องกันการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์ พ.ศ.2495 ทำให้ไม่มีใครกล้าพูดถึงจีนแผ่นดินใหญ่ที่เป็นคอมมิวนิสต์ ใครสอบถามข้อมูลการปกครองในระบอบคอมมิวนิสต์ คือ การฝักใฝ่คอมมิวนิสต์ ห้ามคนไทยเดินทางไป ห้ามคบค้ากับชาวจีนแผ่นดินใหญ่ ห้ามมีเอกสารของจีนไว้ในครอบครอง ถ้าทางราชการทราบว่าใครไปเมืองจีน ติดต่อกับจีน ต้องถูกจับติดตะราง จึงไม่ใช่เรื่องสนุกที่จะเอ่ยถึงเมืองจีน

ทั้งๆ ที่ ยังไม่มีใครเคยรู้เลยว่า ไอ้คอมมิวนิสต์ มัน คืออะไร

Advertisement

ชีวิตที่ผ่านไปกว่า 50 ปี คำว่า “ซัวเถา” ยังคงฝังในใจผมจนถึงปัจจุบัน ว่ามันคือเมืองอะไร อยู่ที่ไหนในเมืองจีน ลูกหลานมาทราบภายหลังว่า บรรพบุรุษชาวจีนที่อพยพมาจากซัวเถาทุกคน คือ คนที่สิ้นเนื้อประดาตัว ทุกคนจะขายสมบัติทุกชิ้น เพื่อเป็นค่าเรือโดยสารออกจากเมืองจีนขอไปตายเอาดาบหน้า

ลูก หลาน เหลน ที่มาเกิดเมืองไทย ก็ไม่มีใครทราบว่าเราเป็นใครเพราะไม่ได้ถ่ายทอดกันไว้ เรารู้เพียงว่า เทือกเถาเหล่ากอของเรามาจากเมืองซัวเถา

ที่ต้องมาเมืองไทยด้วย เสื่อผืนหมอนใบ ลงเรือหนีตายออกมา เพราะคนจีนไม่มีจะกินและกำลังจะอดตาย

Advertisement

ภาพเก่า…เล่าตำนาน ตอนนี้ ขอชวนคุย เล่าสู่กันเรื่องของ เมืองซัวเถา ในแผ่นดินจีน ที่คนไทยเชื้อสายจีนนับแสนคน ใช้เป็น “ต้นทาง” ลงเรืออพยพหนีตายมาสู่แผ่นดินไทย

ราว 700 ปีที่ผ่านมา จีนกับสุโขทัยมีการติดต่อค้าขาย แล่นเรือสำเภาไป-มา เรือสำเภาเป็นของจีน แลกเปลี่ยนสินค้ากัน มีการส่งคณะทูตจากจีนมายังราชสำนักแห่งอาณาจักรสุโขทัย และมีการส่งคณะทูตไทยไปยังปักกิ่งเช่นกัน

การค้าขายแล่นเรือไป-มา ระหว่างแผ่นดินสยามกับเมืองจีนเป็นการผสมผสานกับการอพยพย้ายถิ่นฐาน

ในยุคแรก ชาวจีนที่อพยพมา ส่วนใหญ่เป็นชาวจีนที่มาจากทางตอนใต้เพราะไม่ไกลนัก

ชาวจีน (บางเผ่า) เป็นชนชาติที่เจริญรุ่งเรืองด้วย ศิลปะ วัฒนธรรม ขนบธรรมเนียม กฎ ระเบียบ มีความรู้ ความเป็นอยู่ ในระดับแถวหน้าของทุกชนชาติบนโลกใบนี้

แผ่นดินจีนกว้างใหญ่ไพศาล มีชนเผ่าหลากหลาย มีวัฒนธรรม ภาษาแตกต่างกัน ร้อน หนาว ฝนตก แดดออก น้ำท่วม น้ำแล้ง ระคนกันไป บางมณฑลอุดมสมบูรณ์ บางมณฑลแผ่นดินแตกระแหง ทั้งคนและสัตว์อยู่ไม่ได้ บางพื้นที่แล้งติดต่อกันหลายปี ข้าว ปลา อาหาร พืชผัก ตายหมด และที่เลวร้ายที่สุด คือ บ้านเมืองเต็มไปด้วยศึกสงครามที่รบกันเอง

ชาวจีนเริ่มย้ายถิ่นฐานบ้านช่อง ชาวจีนที่เคยเข้ามาติดต่อค้าขายกับสยาม เมื่อกลับไปเมืองจีน ก็ไปบอกเล่าข้อมูลกับญาติพี่น้อง เพื่อนฝูงว่า ดินแดนทางใต้ของจีน น้ำท่าอุดมสมบูรณ์ พืชพันธุ์ไม้เขียวขจี ไม่ร้อนจัด ไม่หนาวจัด บ้านเมืองสงบสุข น่าจะไปทำมาหากิน

เมื่อข่าวแพร่กระจาย พลันก็เกิดกระแสการอพยพ ทิศทางหลัก คือ ลงเรือมุ่งสู่ทิศใต้ เมืองที่เป็นท่าเรือ คือ ซัวเถา

ดินแดนที่ชาวจีนบอกเล่ากัน ว่าดินดำน้ำชุ่ม สงบร่มเย็น ปลูกอะไรก็งอกงาม คือ ดินแดนที่เรียกกันว่า สุวรรณภูมิ (หมายถึง เวียดนาม กัมพูชา ลาว ไทย มาเลเซีย อินโดนีเซีย เมียนมา)

ในยุคสมัยโน้น ยังไม่มีคำว่า “ประเทศ” นะครับ อยู่กันเป็นกลุ่มๆ แยกเป็นชนเผ่า เผ่าพันธุ์ เป็นอาณาจักร ที่มีหัวหน้าปกครองดูแลในลักษณะ กษัตริย์ จักรพรรดิ

การอพยพออกมาหาหลักแหล่ง ตั้งต้นชีวิตใหม่แบบ “จัดหนัก” เริ่มสมัยปลายกรุงศรีอยุธยาเรื่อยมาจนกระทั่งสมัยกรุงรัตนโกสินทร์

ช่วงเวลาที่ชาวจีนอพยพออกมากที่สุด คือช่วงที่แผ่นดินจีนถูกปกครองโดยราชวงศ์ชิง ซึ่งเป็นกษัตริย์แห่งราชวงศ์แมนจูเรีย ที่คนจีนส่วนมากถือว่าเป็นกษัตริย์ต่างชาติ มิใช่ราชวงศ์ของชนชาติฮั่นที่เคยปกครองจีนมาแต่สมัยโบราณ การปกครองในยุคนั้น เข้มงวดกวดขันในชีวิตความเป็นอยู่ของพวกไพร่พลเมืองจีน

หัวหน้าครอบครัว บรรดาคนหนุ่มที่ยังมีกำลังวังชา จำเป็นจะต้องละทิ้งครอบครัวและแผ่นดินเกิด ลงเรือเดินทางไปแสวงโชคตามดินแดนต่างๆ ที่สงบสุขและอุดมสมบูรณ์ เพื่อส่งเงินกลับมาช่วยเหลือครอบครัว

ท่าเรือซัวเถา เป็นหนึ่งในจังหวัดของจีนที่ตั้งอยู่ในมณฑลกวางตุ้ง มีพื้นที่ราว 234 ตารางกิโลเมตร จังหวัดซัวเถา ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของมณฑลกวางตุ้ง

ซัวเถาเป็นหนึ่งในถิ่นฐานของชาวจีนแต้จิ๋ว (Teochiu) ที่พูดภาษาแต้จิ๋ว ซึ่งเป็นภาษาที่แยกย่อยมาจากภาษาหมินใต้ (ฮกเกี้ยนใต้) เมืองซัวเถา เป็นเมืองชายทะเล ในตอนนั้นเมือง ซัวเถา ถูกเรียกว่า ชาชานปิง

เมืองซัวเถา ในอดีตเป็นเพียงหมู่บ้านชาวประมงเล็กๆ เริ่มคึกคักขยายตัวออกไปแบบผิดหูผิดตา ต่อมาถูกยกระดับฐานะขึ้นเป็นเมืองท่านานาชาติในศตวรรษที่ 18 ก่อนจะกลายมาเป็น 1 ใน 4 เมืองเขตเศรษฐกิจพิเศษของจีน

คำว่า ซัวเถา มาจากเครื่องชามที่เรียกว่า ชาชาน โทวเปาไท ต่อมาได้ยกระดับเป็นเมืองเมื่อ พ.ศ.2452 (ตรงกับปลายรัชสมัยในหลวง ร.5)

ท่านผู้อ่านที่เคารพ ลองสอบถามจากบรรพบุรุษดูนะครับ…ถ้าเป็นคนไทยเชื้อสายจีนแต้จิ๋ว ต้องมาผ่านเมืองท่าแห่งนี้ ชาวจีนที่อพยพออกมา ไปทำมาหากินทั่วโลกแล้วประสบความสำเร็จ ร่ำรวย มีชื่อเสียง เงินทอง ต่างยกย่องว่า ซัวเถา เป็นบ้านเกิดของชาวจีนโพ้นทะเล

ชาวจีนยกย่องว่า ซัวเถา เป็นประตูสู่อิสรภาพ และมีชีวิตใหม่

การอพยพของชาวจีนขยายตัวออกไปในหลายพื้นที่ของโลก ซัวเถา แห่งนี้กลายเป็นท่าเรือที่ชาวจีนอพยพไปตั้งถิ่นฐานยังประเทศต่างๆ กว่า 30 ประเทศทั่วโลก

นิสัยที่ดีงามของชาวจีน คือ การไม่ลืมพระคุณของถิ่นฐานบ้านเกิด รักถิ่นฐาน รักพวกพ้อง ปัจจุบันลูกหลานชาวจีนโพ้นทะเลเป็นกำลังสำคัญในการผลักดันให้เศรษฐกิจของเมืองซัวเถาพัฒนาแบบก้าวกระโดด มีบริษัททัวร์ของไทยจัดการเดินทางไปซัวเถาเพื่อเคารพอนุสรณ์สถานของบรรพบุรุษ ไปสืบค้นหาทายาทกันเป็นระยะๆ

ชาวจีนทยอยอพยพกันเข้ามาในสยามอย่างต่อเนื่องนานนับร้อยปี เมื่อตั้งรกรากได้ก็ส่งข่าวกลับไปบอกญาติให้ลงเรือตามมา ส่งข่าวกัน มาอยู่รวมกันเป็นกลุ่มก้อน ชาวจีนมีนิสัย หนักเอาเบาสู้ ทำงานทุกอย่าง ประหยัด ขยัน อดทน ทำงานทุกที่ ทุกเวลาเป็นที่ครั่นคร้ามของประชากรเจ้าของแผ่นดิน เก่งที่สุด คือ ค้าขาย ชาวจีนอพยพเข้ามาแผ่นดินสยาม กลุ่มใหญ่ๆ คือ

กลุ่มจีนแต้จิ๋ว มาจากตะวันออกเฉียงเหนือของมณฑลกวางตุ้ง

กลุ่มจีนฮกเกี้ยน มาจากตอนใต้ของมณฑลฟูเจี้ยน

กลุ่มจีนไหหลำ มาจากตะวันออกเฉียงเหนือของเกาะไหหลำ

กลุ่มจีนกวางตุ้ง มาจากตอนกลางของมณฑลกวางตุ้ง

กลุ่มจีนแคะ มาจากตอนเหนือของมณฑลกวางตุ้ง

ชาวจีนต่างเผ่าเหล่านี้พูดกันคนละภาษา เข้ามาในสยามก็ยังสื่อสารกันไม่รู้เรื่อง ฮกเกี้ยนมีเป็นจำนวนมากแถบภาคใต้ของจังหวัดภูเก็ต ปัตตานี สงขลา และระนอง

จากบันทึกทางประวัติศาสตร์ไทยกล่าวว่า ชาวจีนที่เดินทางมาไทยในสมัยอยุธยาส่วนใหญ่นั้นเป็นจีนฮกเกี้ยน มักมีอาชีพรับราชการ แต่หลังสมัยอยุธยานั้นจะมีชาวจีนแต้จิ๋วหลั่งไหลเข้ามาเป็นจำนวนมาก ปักหลักอาศัยอยู่ในกรุงเทพฯ ฉะเชิงเทรา และชลบุรี เป็นส่วนใหญ่

ช่วง พ.ศ.2310 กรุงศรีอยุธยาแตกครั้งที่ 2 เป็นช่วงเวลาชาวจีนแต้จิ๋วแห่กันลงเรือเข้ามาตั้งถิ่นฐานในประเทศไทยเป็นจำนวนมืดฟ้ามัวดิน เนื่องจากได้รับการสนับสนุนอย่างดี และได้รับสิทธิพิเศษบางประการเพราะพระเจ้าตากสินทรงมีพระบิดาเป็นชาวแต้จิ๋ว

ในช่วงการทำสงครามกอบกู้เอกราชของพระเจ้าตากสินฯ ชาวจีนแต้จิ๋วได้มีบทบาทสำคัญในการสู้รบ กอบกู้บ้านเมืองจากพม่า

เมืองแต้จิ๋วเป็นที่รู้จักกันดีในด้านทรัพยากรธรรมชาติ เช่น ส้มแต้จิ๋ว ชาแต้จิ๋ว น้ำตาลแต้จิ๋ว ในด้านวัฒนธรรม เช่น อาหารแต้จิ๋ว งิ้วแต้จิ๋ว ผ้าปักลูกไม้แต้จิ๋ว ชาวแต้จิ๋ว เก่งในการทำอาหาร

ชื่อแต้จิ๋วเป็นชื่อโบราณ คำว่าเตีย (แต้) เป็นคำโบราณแปลว่า ทะเล คำว่า โจว (จิ๋ว) แปลว่าเมืองแต้จิ๋วจึงแปลว่า เมืองชายทะเล คล้ายๆ ชื่อจังหวัดชลบุรีของเรา

ชาวจีนแต้จิ๋วรุ่นดึกดำบรรพ์ ที่อพยพมาเมืองไทยบางคนยังบอกว่าตนมาจากเมืองแต้จิ๋ว แต่คนรุ่นหลังจะเรียกชื่อใหม่คือ เตี่ยอัน ซึ่งเป็นชื่อที่ออกสำเนียงแต้จิ๋วของอำเภอเฉาอัน (Chaoan) ปัจจุบันอำเภอเฉาอันคือ ที่ตั้งของเมืองแต้จิ๋วโบราณ

เมืองแต้จิ๋วในระยะหลังเมื่อผ่านยุครุ่งเรืองแล้วได้กลายเป็นอำเภอเฉาอัน สังกัดเทศบาลนครซ่านโถว (ซัวเถา) จนกระทั่งปี 2532 จึงได้รับการตั้งเป็นเทศบาลเมืองสังกัดมณฑลกวางตุ้ง รัฐบาลจีนได้ประกาศให้เมืองแต้จิ๋วเป็นเมืองประวัติศาสตร์ ในปี 2529

ซัวเถา ออกเสียงชื่อในภาษาจีนกลาง ซานโถว (Shantou)

การอพยพของคนจีนที่เข้ามาตั้งถิ่นฐานในสยามที่ผ่านมา เป็นไปด้วยความราบรื่น มีการแต่งงาน สร้างครอบครัวกลมกลืนกันไปกับคนสยามที่เป็นเจ้าของบ้าน แตกต่างจากหลายประเทศที่ “เกิดความบาดหมาง-กีดกัน” กับเจ้าของบ้าน

อาชีพที่คนจีน ที่เข้ามาในไทยสมัยต้นรัตนโกสินทร์นิยมทำกันเมื่อแรกมาถึงก็คือ เป็นกุลีขนสินค้าที่ท่าเรือ ซึ่งไม่ต้องพูดกันมากเพราะพูดกันไม่รู้เรื่อง ก้มหน้าก้มตาทำงานลูกเดียว

อาชีพที่เหนื่อยยาก สมบุกสมบัน เหมือน “คนเหล็ก” ในสยามคือ อาชีพลากรถรับจ้างจนเรียกกันติดปากว่า เจ๊กลากรถ

งานที่ชาวสยามไม่ทำ แต่ชาวจีนขอทำ คือการก่อตั้งบริษัทขนอุจจาระไปทิ้ง บริษัทที่กล้าทำงานแบบนี้ ชื่อบริษัทออนแหวง มีชาวจีนเป็นคนงานขนอุจจาระ ที่ต่อมากลายเป็นธุรกิจที่ประสบความสำเร็จทำเงินทำทองมหาศาล

อุปนิสัยหลักของชาวจีนที่ทำให้คนจีนตั้งตัวได้เร็ว คือ ขยัน ซื่อสัตย์ ประหยัด และอดทน ทำให้คนจีนที่อพยพไปอยู่ทั่วโลกเอาชนะอุปสรรคทั้งปวง สร้างชีวิตใหม่ได้แบบองอาจ ภูมิใจ

คนจีนที่เข้ามาในสยามในยุคแรกๆ บางกลุ่มได้รับการหยามเหยียด ดูถูก ดูแคลนแสนสาหัส แต่คุณสมบัติที่สุดวิเศษอีกอย่างหนึ่งคือ ความอดทนมุ่งมั่นเฉพาะงานที่ทำ ใครจะด่าว่าอย่างไร ใครจะรังเกียจเดียดฉันท์อย่างไร จะทำไม่รู้ไม่ชี้ ไม่โต้ตอบ ทำหูทวนลม ขอให้ได้เงินเลี้ยงชีพ เลี้ยงครอบครัว ไม่ขอมีเรื่องมีราวเด็ดขาด

ยังมีเรื่องสนุกๆ เล่าต่อนะครับ…โปรดติดตามตอนต่อไป

พลเอก นิพัทธ์ ทองเล็ก

จากหนังสือ ชาวจีนแต้จิ๋วในประเทศไทยและภูมิลำเนาเดิมที่เฉาซันสมัยที่หนึ่ง ท่าเรือจากงหลิน (2310-2393) โดยสถาบันเอเชียศึกษา

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image