คอลัมน์ที่เห็นและเป็นไป : ‘เลือกตั้ง’แค่เหมือนจะมีแน่ : โดย สุชาติ ศรีสุวรรณ

พรรคการเมืองทุกพรรคกำลังเตรียมตัวเพื่อเข้าสู่การเลือกตั้งกันอย่างตั้งอกตั้งใจ
เหมือนว่าทุกคนในพรรคการเมืองเชื่อค่อนข้างแน่นอนแล้วว่าจะมีการเลือกตั้งในเดือนกุมภาพันธ์ 2562

และทุกคนอยู่ด้วยความหวังว่าจะมีอนาคตของพรรคตัวเองจะเป็นไปในทางที่ดี

อย่างไรก็ตาม ในบางครั้งเมื่อตั้งคำถามให้ลึกลงไปแล้ว บ่อยครั้งพบว่าในความกระตือรือร้นของนักการเมืองนั้น เป็นเพียงอาการของคนที่ห่างเหินจากการมีส่วนร่วมในอำนาจมานาน หรือเหมือนคนที่ตกงานมานานแล้วมองเห็นโอกาสว่าจะได้งานทำอีกครั้ง เป็นแค่ความดีอกดีใจที่จะได้กลับสู่วิถีชีวิตที่เคยชินอันนำมาซึ่งความภาคภูมิใจ

แต่ลึกลงไปกว่านั้น ความมั่นอกมั่นใจในความมั่นคงของชีวิตหลังเลือกตั้งยังมีสภาพหายใจไม่ทั่วท้อง
กฎกติกาที่ไม่เอื้อให้มีอำนาจและแสดงบทบาทได้เท่าเก่า เพราะถูกลิดรอนไปมากด้วยแนวคิดที่หมิ่นแคลน และต้องกดข่มนักการเมืองจากการเลือกตั้ง แม้จะทำให้รู้สึกอึดอัดอยู่บ้าง แต่ดูจะเป็นเรื่องที่ยอมทนกันได้ เพียงแต่ขอให้เข้าไปมีส่วนร่วมในอำนาจบ้าง

Advertisement

ความหวาดวิตกจริงๆ ของนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งอยู่ที่ “เสถียรภาพในทุกระดับหลังเลือกตั้ง”
ความเชื่อมั่นว่า หลังเลือกตั้งการเมืองจะดำเนินไปได้ตามครรลองอย่างสงบ แทบจะไม่เกิดขึ้น
เรียกได้ว่าทุกคนต่างเห็นปัญหากันหมดว่า ไม่ว่าฝ่ายใดจะมีอำนาจโอกาสที่จะเกิดความวุ่นวายมีมากจนถึงระดับที่ยากจะหลีกเลี่ยง
และเป็นที่รู้กันว่าความวุ่นวายนั้นจะนำมาซึ่งอะไร

ด้วยเหตุนี้เอง แม้ว่าแนวโน้มชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ ว่าประเทศต้องกลับไปสู่การเลือกตั้งในเดือนกุมภาพันธ์อย่างยากที่จะหลีกเลี่ยง หรือเลื่อนต่อไปได้อีก
แต่มีคนจำนวนไม่น้อยที่ยังเชื่อความไม่เปลี่ยนแปลงว่า “จะไม่มีการเลือกตั้ง”
เหตุผลที่ยกขึ้นคือ เมื่อ “ความสงบ” เป็นสิ่งที่จำเป็นต้องทำให้เกิดมากที่สุดของประเทศ แล้วการเลือกตั้งเสี่ยงต่อการเกิดความวุ่นวาย จะเลือกไปทำไม
สู้จัดการให้เรียบร้อยกว่านี้ไม่ดีกว่าหรือ

บางคนมองเลยไปถึงมุมที่ว่า คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) มีความจำเป็นที่จะต้องรักษาอำนาจต่อไป ด้วยเหตุที่พวกเขาเชื่อว่าปล่อยให้เป็นอย่างอื่นไม่ได้

การเลือกตั้งเป็นความเสี่ยงอย่างที่สุดที่จะทำให้สูญเสียอำนาจ ไม่ว่าจะเป็นเพราะ “พ่ายแพ้การเลือกตั้ง” ซึ่งมีโอกาสเป็นไปได้สูงไม่น้อย หรือแม้แต่ชนะเลือกตั้งแล้ว “รัฐบาลที่จัดตั้งขึ้นมาไม่มีความมั่นคง” และแน่นอนว่า “ไม่สามารถใช้อำนาจได้เต็มที่เหมือนเก่า”

ไม่เลือกเสียดีกว่า

คนกลุ่มนี้เชื่อว่า เหตุที่จะหามาเป็นข้ออ้างที่จะไม่เลือกตั้งนั้น ทำให้เกิดขึ้นง่ายดายอย่างยิ่ง และไม่มีใครที่จะเสนอตัวเองมาสร้างแรงกดดันให้เกิดในระดับที่บีบบังคับให้ต้องจำยอม

ตราบใดที่กฎหมายยังรองรับให้ใช้อำนาจได้เต็มที่ และใช้เทคนิคการจัดสรรผลประโยชน์ที่เคลียร์กับผู้มีอิทธิพลในอำนาจทุกฝ่ายได้

ทุกอย่างก็จบ

ประชาชนไม่ได้มีความหมายอะไรในอำนาจที่จะมาต่อต้านความจำเป็นที่จะต้องสืบทอดนั้น
นี่คือ ภาพสะท้อนของความรู้สึกนึกคิดของคนไทย โดยเฉพาะกลุ่มที่ติดตามการเมืองอย่างใกล้ชิด
ภาพสะท้อนของความไม่เชื่อมั่นต่ออะไรทั้งสิ้น
สะท้อนถึงความไม่แน่ใจในอนาคตของประเทศ
และภาพสะท้อนเช่นนี้ เป็นเรื่องที่น่าเศร้า
ความไม่เชื่อมั่นในทิศทางของประเทศ ความลังเล ไม่มั่นใจว่าประเทศจะเดินไปในทิศทางไหน
ความรู้สึกคับข้องใจกับการบริหารจัดการผลประโยชน์ของประเทศอย่างเป็นธรรม
อำนาจที่ไม่มีส่วนร่วม มองไม่เห็นกลไกที่ควบคุมได้
เป็นเรื่องน่าเศร้า

ด้วยเป็นความรู้สึกไม่ได้ถึงความมั่นคงในชีวิต ซึ่งมีผลโดยตรงต่อความทุกข์ สุข

สุชาติ ศรีสุวรรณ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image