อดีตที่เกิดใหม่และอนาคตของปัจจุบัน : ตุลาฯรำลึก2561

ในทุกๆ ปีเรื่องราวของการรำลึกเหตุการณ์เดือนตุลาฯ ก็จะย้อนกลับมาอีกครั้ง แต่ดูเหมือนในช่วงหลังการพูดถึงเหตุการณ์เดือนตุลาฯ จะไม่ได้จำกัดตัวเองอยู่ในเรื่องของอดีตอีกต่อไป

แต่เรื่องของตุลาฯนั้นก็ถูกเชื่อมโยงกับการพูดถึงอนาคตมากขึ้น

ตัวอย่างเช่นถ้าสนใจงานรำลึกอดีต ก็ไปร่วมงานรำลึกที่ธรรมศาสตร์ แต่สนใจงานมองอนาคต ก็ไปร่วมงานที่ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ ดังที่เป็นมาในช่วงหลัง (งานไม่ชนกัน หลายคนเข้าร่วมทั้งสองงาน)

ปีนี้รัฐศาสตร์ จุฬาฯ เชิญศิลปินนักพ่นสีกำแพงชาวมาเลเซียที่ล้อเลียนอดีตนายกฯราจิบของมาเลเซียมาปาฐกถา “ศิลปะยืนยาว (เผด็จการ) ชีวิตสั้น” และมีเวทีของคนที่ไม่ได้ผ่านเหตุการณ์เดือนตุลาฯเพราะเป็นคนรุ่นหลังๆ มาร่วมพูดคุยสู่อนาคต เหมือนกับปีที่เชิญ โจชัว
หว่อง นั่นแหละครับ

Advertisement

แต่เอาเข้าจริง งานเรื่องอดีต ก็ยังเดินหน้าต่อไป งานอนาคตก็ยังมีเรื่องที่ท้าทายอีกมากมาย

ก่อนจะอธิบายเพิ่มเติม อยากขอจำกัดขอบเขตของการอธิบาย ว่าเกี่ยวพันกับเรื่องของ เหตุการณ์ 6 ต.ค.19 และ 14 ต.ค.16 ซึ่งก็ย้ำมาตลอดว่า เหตุการณ์ 6 ต.ค.นั้น รำลึกก่อน แม้ว่าในเชิงประวัติศาสตร์นั้น จะเกิดขึ้นทีหลัง

เรื่องการรำลึกเหตุการณ์เดือนตุลาฯที่เชื่อมโยงกับอดีต ก็อยากจะบอกว่า อดีต โดยเฉพาะอดีตของเหตุการณ์เดือนตุลาฯนั้น แม้ว่าจะเกิดขึ้นมาแล้ว แต่การเกิดขึ้นของอดีตในเรื่องของเหตุการณ์เดือนตุลาฯนั้น ยังเป็น “อดีตที่เกิดใหม่” ไม่มีที่สิ้นสุด

Advertisement

หมายถึงทั้งในแง่การค้นพบหลักฐานใหม่ๆ และการให้คุณค่าและความหมายของเหตุการณ์เดือนตุลาฯที่มีความแปรเปลี่ยนไปตลอดเวลา

อย่างในกรณี 14 ต.ค.16 นั้นยุคแรกๆ อาจจะมองว่าเป็นวันมหาวิปโยค เพราะเป็นการมุ่งไปที่มิติของความสูญเสียในเหตุการณ์ ต่อมาก็มองไปในแง่ของวันปฏิวัติและชัยชนะของประชาชน หรือวันมหาปิติที่เป็นต้นกำเนิดของความใฝ่ฝันและอุดมการณ์แบบการเมืองของพระราชอำนาจ รวมไปถึงการเฉลิมฉลองเหตุการณ์ 14 ตุลาฯในแง่งานรำลึกและการเรียกขานงานนี้ว่า 14 ตุลาฯประชาธิปไตย (ว่าง่ายๆ ก็คือ ประชาธิปไตยเมืองไทยมีหลายแบบ รวมไปถึง ประชาธิปไตยแบบ 14 ตุลาฯ)

หรืออย่างในกรณี 6 ตุลาฯ 19 ก็มักถูกมองว่าในยุคแรกๆ เป็นเรื่องของวันฆ่านกพิราบ และจุดตั้งต้นของการเข้าป่าของนักศึกษาเพื่อเข้าร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์ ก่อนที่จะออกมาเป็นผู้ร่วมพัฒนาชาติไทย

ขณะที่ในยุคต่อมานั้น เรื่องราวสำคัญคือ การบันทึกเหตุการณ์อย่างเป็นระบบและการทำเหตุการณ์ให้ปรากฏในฐานะความทรงจำสาธารณะ เช่น การจัดงานรำลึก ซึ่งกว่าจะจัดได้ก็ล่วงเลยจากเหตุการณ์มาหลายปี

อีกประเด็นที่สำคัญก็คือ เมื่อเริ่มมีการรำลึกเหตุการณ์เดือนตุลาฯไปได้สักพัก ก็มีการพยายามรวบรวมหลักฐานที่มากกว่าหลักฐานทางประวัติศาสตร์ไปสู่เรื่องของการรวบรวมหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่สะท้อนความเข้าใจในระดับความคิดรวบยอด (concept) ในการรำลึกเหตุการณ์อย่างเป็นระบบมากขึ้น ได้แก่ เรื่องของการพิจารณาว่า 6 ตุลาฯนั้นเป็น “อาชญากรรมโดยรัฐ” เป็นคำถามในระดับทฤษฎีความคิด มากกว่าเรื่องของการตั้งคำถามแค่ว่า “ใครอยู่เบื้องหลังเหตุการณ์” ซึ่งอาจจะเป็นการทำความเข้าใจหลักฐานแต่ในแง่ของเชิงประจักษ์ แต่ยังไม่ได้สนใจหลักฐานเชิงระบบ มุ่งหวังที่จะนำไปสู่การฟ้องร้องดำเนินคดี

ในแง่หนึ่ง การฟ้องร้องดำเนินคดีไม่ว่าจะเกิดขึ้นในศาลหรือไม่ แต่การนำเสนอเรื่องนี้ออกสู่สาธารณะก็มีผลสะเทือนไปสู่เรื่องของการทำให้เรื่องนี้ปรากฏในการรับรู้ของสังคมไปเรียบร้อยแล้ว

เท่านั้นยังไม่พอ ในช่วงไม่นานมานี้ การรำลึกอดีตยังพัฒนาไปถึงเรื่องของการค้นพบหลักฐานเพิ่มเติม อาทิ จำนวนต้นมะขามสนามหลวง จำนวนศพที่ถูกแขวน ไปจนถึงเรื่องของการจัดเก็บข้อมูลในรูปแบบดิจิทัลที่เข้าถึงได้กว้างขวางขึ้น อาทิ “บันทึก 6 ตุลา” (https://doct6.com) ที่มีความลึกซึ้งและกว้างขวางของข้อมูลมากกว่ารูปแบบเดิมๆ คือ หอจดหมายเหตุที่บรรจุกระดาษที่อาจเสื่อมสภาพ หรือหนังสือรำลึก/สมุดภาพแบบเดิมๆ

ส่วนประเด็นล่าสุดในไม่กี่ปีที่ผ่านมานั้น การตั้งคำถามในระดับความคิดร่วมยอดต่อเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ นั้นก็เพิ่มเติมเรื่องของ “การลอยนวลพ้นผิด” (impunity) ในสังคมไทยเข้าไป ซึ่งอาจไม่ได้ตั้งคำถามแค่เรื่องของใครอยู่เบื้องหลังเหตุการณ์ หรือความผิดประกอบด้วยเรื่องอะไรบ้าง (การละเมิดสิทธิและอาชญากรรมโดยรัฐ)

แต่หมายถึงอะไรทำให้ผู้กระทำผิดสามารถลอยนวลต่อไปได้ และเอาเข้าจริง หากกระแสความเข้าใจเรื่องของอาชญากรรมโดยรัฐเริ่มเป็นที่เข้าใจว่า รัฐนั้นหลายครั้งไม่ได้คุ้มกันและสร้างความมั่นคงให้กับเรา แต่อาจจะสร้างความไม่มั่นคงและสูญเสียต่อเราได้ และเกิดขึ้นหลายครั้งแล้วในสังคมไทย เราก็อาจจะพิจารณาประเด็นการลอยนวลพ้นผิดของผู้กระทำผิดในแต่ละครั้งควบคู่กันไปด้วย เพราะการลอยนวลพ้นผิดนั้นกระทำกันเป็นกระบวนการ และถูกรองรับด้วยวัฒนธรรมบางอย่างที่อาจจะเพิ่งถูกสร้างขึ้น

มากกว่าวัฒนธรรมในฐานะสิ่งที่มาจากอดีตอันไกลโพ้น

มีอีกแนวคิดหนึ่งที่อาจเปิดก่อนเรื่องของการตั้งคำถามกับ 6 ตุลาฯในแง่ของการลอยนวลพ้นผิด ก็คือ การบันทึกว่าเหตุการณ์เดือนตุลาฯนั้นเป็นประวัติศาสตร์ชนิดพิเศษ ก็คือประวัติศาสตร์บาดแผล ซึ่งประวัติศาสตร์บาดแผลมีลักษณะพิเศษบางประการ อาทิ มันไม่ใช่เรื่องของการไปมุ่งเน้นที่ตัวหลักฐานเท่านั้น แต่ต้องทำความเข้าใจว่ามันจะเป็นประวัติศาสตร์ที่มีชีวิตต่อชีวิตของผู้คนจากวันนั้นจนถึงวันนี้อย่างไร เพราะมันกระทบไปถึงความรู้สึกของผู้คนที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ที่เขาอาจไม่อยากจะพูดถึงมันอีก หรือเรื่องราวต่างๆ จะถูกเล่าเรื่องออกมาอย่างไรไม่ให้ไปกระทบจิตใจของผู้ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์นั้น ในแง่นี้การบันทึกเหตุการณ์จึงไม่ใช่แค่การจัดเก็บหลักฐาน แต่เป็นเรื่องของการร้อยเรื่องราวต่างๆ อย่างไร และอาจจะต้องขยายความไปเก็บหลักฐานและเรื่องราวของหลายๆ ฝ่ายด้วย

หนึ่งในการจัดเก็บหลักฐานที่อาจจะส่งผลเชื่อมโยงโดยไม่ได้ตั้งใจกับเรื่องของประวัติศาสตร์บาดแผล ก็คือเรื่องของการบันทึกเหตุการณ์ในแง่ศิลปะ ที่ไม่ใช่ศิลปะที่ตรงไปตรงมาในการสะท้อนสิ่งที่เกิดขึ้นในวันนั้น แต่อาจหมายรวมไปถึงเรื่องของการบันทึกเหตุการณ์ไว้เป็นฉากหลังของเรื่องราวต่างๆ ในนิยาย หรือภาพยนตร์ ละคร หรือสื่ออื่นๆ แล้วใส่เรื่องราวตัวละครที่เสริมเติมเข้ามา โดยไม่ได้มีวัตถุประสงค์ในแง่ความถูกต้อง หรือบิดเบือนโดยตรง แต่อาจหมายถึงการทำให้เหตุการณ์นั้นถูกประทับในความทรงจำและมีอิสระเพียงพอที่จะไม่หันกลับไปทำร้ายหรือเปิดบาดแผลเดิมๆ ที่มีอยู่ แต่เป็นการทำให้ชีวิตมันดำเนินต่อไปได้ เป็นเรื่องที่ไม่ใช่แค่ถูกเล่า แต่เป็นเรื่องที่อยากเล่า เป็นเรื่องที่ไม่ใช่แกนกลางแต่เป็นเรื่องเล็กๆ ที่อยู่ในฉากหลังที่ยังดำรงอยู่ แต่ไม่ได้เป็นประธานของเรื่อง

เป็นเรื่องที่ไม่ได้แบ่งเป็นเรื่องขาวดำ ถูก ผิด ดี หรือชั่ว แต่เป็นเรื่องที่เข้าใจและรับรู้มันไม่ใช่โดยปราศจากอคติ ความรู้สึก แต่เป็นเรื่องที่ทำให้เราตรวจสอบความรู้สึกและอคติของเราได้มากขึ้น หรือเป็นเรื่องที่นำพาเราไปสู่ปริมณฑลใหม่ๆ ที่เราไม่เคยเดินทางมาก่อน

การประเมินผลของการบันทึกและบอกเล่าเหตุการณ์จึงอาจไม่ได้อยู่ที่ความถูกต้อง แต่อาจหมายถึงสิ่งที่พ้นจากความถูกต้องไปสู่การปริมณฑลของการอยู่ร่วมกันท่ามกลางความขัดแย้งได้อย่างไร การเริ่มตั้งคำถามว่าถ้าความเป็นมิตร-ศัตรูที่เราเคยยึดติดกับมันมานานนั้น วันหนึ่งเราเริ่มเข้าใจมุมมองของแต่ละฝ่ายมากขึ้น เราเริ่มรับรู้มิติอื่นๆ ในชีวิตของแต่ละฝ่ายมากขึ้น เรากำลังไปสู่ดินแดนที่เราไม่เคยไปถึง หรือกลับสู่ดินแดนที่เราเคยไปมาก่อนด้วยมุมมองใหม่ๆ เราจะค้นพบอะไรใหม่ๆ ในเรื่องนี้ที่ไม่ใช่เรื่องของหลักฐาน การเอาผิด การกล่าวหา หรือการเรียกร้องการรับผิดในแบบที่ผ่านมา

อาทิ ไม่มองว่า เหตุการณ์ “16 ตุลาฯ” ไม่มีจริง เป็นความทรงจำที่ผิดพลาด แต่มองมันในแง่ของเศษเสี้ยวของความทรงจำที่ถูกสร้างขึ้นใหม่ และมีชีวิตของมันเอง มีแรงตึงเครียด มีเรื่องราวที่ถูกจดจำ เรื่องราวที่คลุมเครือ มีเรื่องราวที่หายไป และอาจหายไปเพราะอำนาจอื่นๆ ที่ปฏิบัติการมาอย่างยาวนาน แต่ 16 ตุลาฯก็นำพาให้เรากลับสู่เดือนตุลาฯในแบบใหม่ ให้เราเข้าใจความพยายามจดจำ ให้เราตั้งคำถามในส่วนที่ขาดหาย และให้เราพยายามทำความเข้าใจถึงการมีชีวิตของมันเองที่แยกขาดและเชื่อมโยงอย่างพิสดารของ 16 ตุลาฯ จาก 6 ตุลาฯ และ 14 ตุลาฯ)

สำหรับเรื่องของการไม่ได้บันทึกและตีความทุกอย่างของเหตุการณ์เดือนตุลาฯไปในเรื่องของการเรียกร้องความยุติธรรมทางกฎหมายนั้น เรื่องนี้ความสำคัญไม่ได้อยู่ที่การละเลยกระบวนการยุติธรรม แต่เรากำลังทำให้เรื่องของการเรียกร้องกระบวนการยุติธรรมที่เคยเป็นมา เดินทางเข้าสู่ปริมณฑลทางสาธารณะที่ไม่ได้ยึดติดกับเรื่องราวของเทคนิคขั้นตอนของการกล่าวหาด้วยกรอบเงื่อนไขทางกฎหมายที่เคร่งครัดตายตัว และเป็นเรื่องเชิงเทคนิค

ซึ่งท้ายสุดในหลายกรรมและวาระ ชัยชนะหรือความพ่ายแพ้ที่ผ่านมากลับถูกกำหนดด้วยขั้นตอนและเรื่องราวทางเทคนิค มากกว่าหลักฐานหรือความรู้สึกที่เราคาดหวังเอาไว้ และอาจทำให้กระบวนการแสวงหาความยุติธรรมนำไปสู่ความไม่ยุติธรรม หรือสิ้นศรัทธาในความยุติธรรมและกระบวนการยุติธรรม

ในประการสุดท้าย เมื่อเราพูดถึงเรื่องราวของเดือนตุลาฯ เมื่อเรามองไปสู่อนาคต ส่วนที่สำคัญส่วนหนึ่งที่เห็นได้ชัดเจนขึ้นในปีนี้ก็คือเรื่องราวของการตั้งคำถามกับคนรุ่นใหม่มากขึ้น และการตั้งคำถามเรื่องของคนรุ่นใหม่ในปีนี้ก็ได้ขยับเราไปสู่เรื่องราวของการนิยามคนรุ่นใหม่ที่เปลี่ยนไปจากเดิม

จากการนิยามคนรุ่นใหม่ว่าหมายถึง คนหนุ่มสาว และนิสิต นักศึกษา เยาวชน เท่าที่เคยเป็นมา มาสู่เรื่องของคนที่มีอุดมการณ์บางอย่างร่วมกันที่อาจจะก้าวข้ามเงื่อนไขในเรื่องของช่วงวัย

จากการเชื่อว่ามีแต่ “คนเดือนตุลาฯ” เท่านั้นที่มีความจริงแท้ทางอุดมการณ์และความมุ่งมั่นที่จะเปลี่ยนแปลงสังคม มาสู่คนในทุกๆ เดือนที่ไม่จำเป็นต้องรับช่วงทางประวัติศาสตร์ หรือถูกประเมินโดยคนเดือนตุลาฯว่าพร้อมหรือไม่พร้อม แตกต่างกันแค่ไหน มีความถ่องแท้แค่ไหนในการเปลี่ยนแปลงสังคม

เพราะคนรุ่นใหม่ในทุกๆ เดือนนั้น อาจจะกระจายตัวเองไปอยู่ในพรรคที่ต่างกัน อยู่ในภาคส่วนที่ต่างๆ กัน อยู่ใน platform สื่อโซเชียลที่แตกต่างกัน

และพวกเขาอาจจะไม่ได้ประเมินตัวเองผ่านการปะทะ ขัดแย้ง เปรียบเทียบกับคนรุ่นอื่น ในความหมายว่า หลายคนอาจไม่ได้อยู่ในวิธีคิดในแบบแบ่งเขาแบ่งเรา เหนือกว่า แท้กว่า แม้จะเรียกตนว่ารุ่นใหม่กว่าก็ตาม เพราะบ่อยครั้งก็เห็นว่าคนรุ่นใหม่หลายคนก็ผ่านเหตุการณ์เก่าๆ หรือมีอายุมากและเคยเป็นคนรุ่นเก่ามาก่อน แต่พร้อมจะอยู่กับคนอื่นโดยไม่ต้องคิดเรื่องของ “การนำ” แต่เป็นเรื่องของการ “เดินไปด้วยกัน” และเขาอาจจะเปลี่ยนแปลงและปกป้องเรื่องราวบางอย่างไว้โดยไม่จำเป็นต้องคิดทุกเรื่องราวแบบขาวดำตลอดเวลา

นี่คือสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นทั้งในอดีตร่วมสมัย และอนาคตที่ถูกสร้างจากพลวัตรในปัจจุบันที่น่าตื่นตายิ่งในตุลาคมของปีนี้ครับ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image