สถานีคิดเลขที่12 : หนังสือกระดาษ : โดย ปราปต์ บุนปาน

มติชนรายวันเพิ่งสัมภาษณ์ “สุชาดา สหัสกุล” นายกสมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จัดจำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย

สองประเด็นที่นายกสมาคมผู้จัดพิมพ์ฯ ค่อนข้างเชื่อมั่น คือ (1) เทคโนโลยีดิจิทัลนั้นไม่ได้เข้ามาทำลายสื่อกระดาษโดยสิ้นเชิง แต่ยังมีแง่มุมที่ฝ่ายหลังสามารถใช้ประโยชน์จากฝ่ายแรก ขณะเดียวกัน (2) หนังสือกระดาษก็ยังมีที่ทางอยู่ในท้องตลาด

ในประเด็นแรก สุชาดายกตัวอย่างของสื่อสังคมออนไลน์ต่างๆ ที่ช่วยผลักดันให้คนรุ่นใหม่สามารถเป็นนักเขียน ซึ่งมีตัวตน มีฐานคนอ่านประจำได้ง่ายดายขึ้น

ถือเป็นช่องทางการนำเสนอผลงานอีกหนึ่งแบบ แทนที่การนำต้นฉบับออกไปตระเวนเสนอตามสำนักพิมพ์

Advertisement

ในประเด็นที่สอง แม้จะมีสำนักพิมพ์เก่าๆ ล้มหายตายจากไปบ้าง แต่นายกสมาคมผู้จัดพิมพ์ฯ ตั้งข้อสังเกตว่า ประเทศไทยมีสำนักพิมพ์เปิดตัวใหม่แทบทุกเดือน

แสดงว่ายังมีกลุ่มคนที่ปรารถนาจะประกอบธุรกิจประเภทนี้ หรือพวกเขาอาจมองเห็นว่ามีหนังสือบางแนวที่น่าจะถูกผลิตตีพิมพ์ออกมา แต่สำนักพิมพ์หัวเก่าๆ ยังไม่ได้ลงมือทำ

ทั้งนี้ เมื่อสำรวจตลาดหนังสือจริงๆ ก็พบว่ายอดขายของหนังสือบางแนวยังไปได้ดี อาทิ กลุ่มนิยาย “วาย” และหนังสือแปล เป็นต้น

Advertisement

ปลายสัปดาห์ที่แล้ว มติชนสุดสัปดาห์ทำคลิปวิดีโอสัมภาษณ์ “วีรพร นิติประภา” นักเขียนหญิงดีกรี “ดับเบิลซีไรต์”

คำถามหนึ่งที่วีรพรต้องตอบ ก็คือ “คิดว่าคนเสพสื่อกระดาษน้อยลงไหม?” ในปัจจุบัน

นักเขียนผู้คว้ารางวัลซีไรต์ประเภทนวนิยายจาก “ไส้เดือนตาบอดในเขาวงกต” และ “พุทธศักราชอัสดงกับทรงจำของทรงจำของแมวกุหลาบดำ” ไม่ค่อยเชื่อสมมุติฐานข้างต้น

ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะเธอได้รับรางวัลซีไรต์ทันทีจากผลงานนวนิยายเล่มแรก
ในชีวิต ผลลัพธ์ด้านการขายที่น่าพึงพอใจจึงเกิดขึ้นตามมาอย่างรวดเร็ว

แต่อีกด้าน วีรพรยังเชื่อว่าปัญหาการเข้าถึงกลุ่มผู้อ่าน ไม่ได้อยู่ที่ “ตัวเนื้อกระดาษ” แต่หลายๆ ปัจจัยของปัญหาข้อนั้น อยู่ในมือ “ผู้เขียน” เองต่างหาก

“พี่เชื่อแต่ว่านักเขียนจะต้องทำงานหนักขึ้น คุณต้องเขียนเรื่องที่สนุก คุณต้องเขียนเรื่องที่ชวนติดตาม คุณต้องใช้ภาษาที่แบบว่าสวยงามพอที่คุณจะได้เปรียบหนัง ที่ไม่มีเวลาเล่าเรื่องสวยๆ งามๆ มีการใช้คำพูดหยาดเยิ้ม”

นักเขียนหญิงไทยคนแรกและคนเดียวที่คว้ารางวัลซีไรต์สองหนย้ำเตือนว่าบริบทของการทำงานเขียนได้เปลี่ยนแปลงไปแล้ว

“สำหรับคนที่เป็นนักเขียน คุณก็ต้องพึงสังวรว่าคุณไม่ได้ทำงานเพื่อแข่งขันกับนิยายด้วยกันอีกแล้ว แต่ว่าคุณต้องแข่งกับหนัง แข่งกับเน็ตฟลิกซ์ แข่งกับเพลง แข่งกับเฟซบุ๊ก ไลน์ อินสตาแกรม ทุกอย่าง ฉะนั้น คุณจำเป็นจะต้องมี “ภาพ” ที่ชัดเจนเหมือนกันในหนังสือ มันอาจจะต้องเปลี่ยนรูปแบบของการเล่าเรื่องไปอีก จากที่เราเคยทำมา”

วีรพรลองวิเคราะห์แนวโน้มทิศทางของการผลิตงานวรรณกรรมในยุคร่วมสมัยและอนาคตอันใกล้ โดยเธอเห็นว่างานเขียนแนว “กระแสสำนึก” ที่เล่าเรื่องผ่านตัวละครหลัก ซึ่งนั่งคิดนั่งรู้สึกถึงเรื่องราวต่างๆ ไปเรื่อยๆ อาจจะกำลัง “ตกกระแส” ในโลกที่ขับเคลื่อนด้วย “ภาพ” นานาชนิด

เจ้าของรางวัลซีไรต์ปีล่าสุดทำนายว่า งานวรรณกรรมอาจจะต้องมี “แอ๊กชั่น” (ความเคลื่อนไหว) มากขึ้น มีฉากต่างๆ เยอะขึ้น

เพราะสำหรับตัวเธอเองแล้ว “ถ้าเขียนหนังสือมาแห้งๆ ไม่มีฉากสวยๆ หรือฉากที่น่าสนใจ ก็ยากต่อการติดตาม”

ปราปต์ บุนปาน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image