บทนำ 16ต.ค.61 : 45 ปี 14 ตุลาฯ

เหตุการณ์ 14 ตุลาฯ 2516 หรือวันมหาวิปโยค เกิดขึ้น 45 ปีก่อน เมื่อนักศึกษาประชาชน เรียกร้องให้รัฐบาลที่มาจากรัฐประหาร ประกาศใช้รัฐธรรมนูญ และกลับสู่ระบอบประชาธิปไตย ผลคือรัฐบาลสั่งจับกุมผู้เรียกร้อง ทำให้ประชาชนไม่พอใจ ลุกฮือกว่า 5 แสนคน ขึ้นสนับสนุนผู้เรียกร้องรัฐธรรมนูญ รัฐบาลใช้กำลังทหารเข้าปราบปรามจนมีผู้เสียชีวิตกว่า 77 ราย บาดเจ็บ 857 ราย และสูญหายอีกจำนวนหนึ่ง ผู้นำรัฐบาลเวลานั้น คือ จอมพลถนอม กิตติขจร นายกรัฐมนตรี จอมพลประภาส จารุเสถียร และ พ.อ.ณรงค์ กิตติขจร บุตรชายจอมพลถนอมและบุตรเขยจอมพลประภาส เดินทางไปลี้ภัยที่สหรัฐ

ประเด็นน่าสนใจจากประวัติศาสตร์ที่่น่าศึกษาได้แก่ 14 ตุลาฯ 2516 เกิดจากความเบื่อหน่ายของประชาชนที่สะสมอย่างต่อเนื่อง จากยุครัฐประหารอันยาวนาน ที่เริ่มต้นเมื่อปี 2500 ประชาชนไม่มีสิทธิเสียง เกิดอภิสิทธิ์ชน โดยเฉพาะพวกพ้องของผู้มีอำนาจขึ้นทำมาหาประโยชน์ กระทั่งจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ หัวหน้าคณะปฏิวัติ และนายกรัฐมนตรี เสียชีวิตในปี 2506 จอมพลถนอมสืบทอดต่อ แม้ยอมจัดเลือกตั้งในปี 2512 แต่เวลาผ่านไปเพียง 2 ปี ก็ทำรัฐประหารตัวเอง ในเดือนพฤศจิกายน 2514 แล้วกลับมาเป็นนายกฯและรัฐบาลในระบบเผด็จการอีกครั้ง จากนั้นมีข่าวคราวการทุจริต การใช้อำนาจเพื่อตนเองและพวกพ้อง โดยเฉพาะการปกปิดกลบเกลื่อนกรณีเฮลิคอปเตอร์ตกหลังไปล่าสัตว์ป่าที่ทุุ่งใหญ่ อ้างว่าไปราชการลับ เมื่อมีการทวงถามรัฐธรรมนูญประชาชนจึงให้การสนับสนุนการเรียกร้องอย่างกว้างขวาง

หลัง 14 ตุลาฯ จอมพลถนอมกับพวกถูกยึดทรัพย์ แต่ไม่มีการเอาผิดกับผู้ที่ปราบปรามประชาชน ไม่มีมาตรการป้องกันการกลับสู่อำนาจของเผด็จการ แต่บทเรียนสำคัญที่เกิดขึ้น คือ รัฐประหารไม่ว่ายุคไหน ไม่ว่าอ้างเหตุสวยหรูแค่ไหน ก็ล้วนเป็นไปเพื่ออำนาจของตนเองพวกพ้อง และลิดรอนสิทธิเสรีภาพของประชาชน การใช้อำนาจเบ็ดเสร็จโดยไม่มีการตรวจสอบ มีแต่จะนำไปสู่ความเสียหายของบ้านเมือง ในวาระ 14 ตุลาฯเวียนมาในปีนี้ ประเทศไทยกำลังมุ่งหน้าสู่การเลือกตั้ง ประชาชนจึงควรตระหนัก ออกมาใช้สิทธิกำหนดความเป็นไปของประเทศ ไม่ยอมให้ใครบิดเบือนฉกฉวยเอาอำนาจที่ประชาชนต้องลงแรงใช้เลือดเนื้อชีวิต ไปเรียกร้องเอามา ไปครอบครองไว้ และต้องหาทางรักษาอำนาจนี้ไว้กับประชาชนให้ได้ต่อไป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image