เน วินกับระบอบเผด็จการ ทหารในพม่า (5) โดย ลลิตา หาญวงษ์

เน วินกับเติ้ง เสี่ยวผิง, ค.ศ.1985

ภายใต้การปกครองของเน วินหลังรัฐประหารครั้งแรกและครั้งเดียวในประวัติศาสตร์การเมืองสมัยใหม่พม่าในปี 1962 (พ.ศ.2505) ไม่มีสิ่งที่เรียกว่าความแน่นอน ไม่มีมิตรแท้และศัตรูถาวรอีกต่อไป และเน วินจะอัพเกรดตนเองขึ้นมาเป็นผู้นำเผด็จการเต็มตัว เน วินตระหนักดีว่าการอยู่ในอำนาจและการรักษาสหภาพพม่าไม่ให้แตกสลายนั้น ผู้นำอย่างเขาต้องเด็ดขาดและไร้ความปรานี เมื่อเน วินรัฐประหารรัฐบาลของอู นุในวันที่ 2 มีนาคม 1962 มีนายทหารเพียงไม่กี่คนเท่านั้นที่รู้แผนการนี้ จริงอยู่ว่าข่าวลือเรื่องรัฐประหารมีมาโดยตลอด และในเวลานั้น หลายคนก็ตั้งข้อสังเกตว่าเน วินเป็นคนเดียวที่จะนำพารัฐพม่าให้ก้าวต่อไปได้ ทั้งกองกำลังที่มีอยู่ในมือ และนโยบายการเมืองที่แข็งกร้าว ต่างจากบุคลิกของนายกรัฐมนตรีอู นุโดยสิ้นเชิง

แม้แต่นายพลจัตวา อ่อง จี นายทหารคนสนิทของเน วินเองยังไม่ทราบแผนรัฐประหารมาก่อน ว่ากันว่าจุดเปลี่ยนที่ทำให้เน วิน นายทหารเพลย์บอย รักการแทงม้า ชื่นชอบการเข้าสังคม และดื่มวิสกี้ดีๆ เป็นชีวิตจิตใจ เริ่มไม่ไว้วางใจอู นุ และเริ่มวางแผนรัฐประหารมาตั้งแต่พฤศจิกายน 1961 (พ.ศ.2504) ด้วยประเด็นเรื่องความมั่นคง เพราะอู นุมีท่าทีประนีประนอมกับผู้นำกลุ่มชาติพันธุ์ และยังได้เชิญผู้นำฉานและกะเหรี่ยงมาหารือกันเรื่องอนาคตของสหภาพพม่า แนวคิดของทั้งสองฝ่ายโน้มเอียงไปที่การตั้งสหพันธรัฐ และมอบอำนาจให้ชนกลุ่มน้อยดูแลกิจการภายในของตนเอง มากกว่าการควบคุมอย่างเคร่งครัดภายใต้รัฐบาลกลางของสหภาพอย่างที่เป็นมาตั้งแต่พม่าได้รับเอกราช

ยังมีประเด็นอื่นๆ ที่สร้างความบาดหมางระหว่างกองทัพกับรัฐบาลอู นุ โดยเฉพาะข่าวลือเรื่องการตัดงบประมาณกองทัพ และความพยายามทำให้ศาสนาพุทธเป็นศาสนาประจำชาติ ที่อู นุหาเสียงมานานตั้งแต่ก่อนการเลือกตั้งทั่วไปในปี 1960 (พ.ศ.2503) จนทำให้พรรคสหภาพ (Union Party) ขออู นุชนะการเลือกตั้งแบบถล่มทลาย ประเด็นนี้ยังเป็นประเด็นละเอียดอ่อน ที่ทำให้หลายคนในกองทัพ โดยเฉพาะนายทหารสายฮาร์ดคอร์ ประหวั่นว่าจะนำไปสู่การประท้วง และการก่อความไม่สงบโดยชนกลุ่มน้อยที่ไม่ได้นับถือศาสนาพุทธ (มีกะเหรี่ยง
กะฉิ่น และฉิ่น เป็นต้น)

อู นุเล่าในหนังสืออัตชีวประวัติของตน Saturday’s Son (คนวันเสาร์) ว่าราวตีสองของวันที่ 2 มีนาคม 1962 หลังกลับจากประชุมหารือกับผู้นำฉานและกะเหรี่ยง ก็มีทหารกลุ่มหนึ่งบุกเข้ามาในบ้าน และบอกกับอู นุว่า

Advertisement

“กองทัพได้ยึดอำนาจไว้หมดแล้ว”

อู นุถามต่อด้วยความงัวเงียว่า

“เหรอ? แล้วผมจะต้องทำอะไรบ้าง?”

Advertisement

“ท่านต้องมากับผม”

ระหว่างเดินออกจากบ้าน อู นุเปิดประตูห้องน้ำ

“นั่นท่านจะทำอะไรน่ะ?”

“ผมจะฉี่!”

ทหารชั้นผู้น้อยไม่อนุญาตให้อู นุฉี่ และรีบคุมตัวอู นุไปไว้ที่บ้านหลังหนึ่งแถบมินกะลาดง (ทางตอนเหนือของย่างกุ้ง ใกล้กับสนามบินย่างกุ้งในปัจจุบัน) อู นุผู้มองโลกในแง่ดีคิดมาตลอดทางว่านี่คงจะเป็นกบฏภายในกองทัพ ที่มีผู้ก่อการเป็นนายทหารชั้นผู้น้อย “เดี๋ยวเน วินก็มารับเรากลับบ้านเองล่ะน่า” ผู้นำพม่าคิดในตอนนั้น เวลาผ่านไปหลายชั่วโมง จากเช้ามืด เป็นช่วงสาย ไปจนถึงช่วงเย็นของวันที่ 2 มีนาคม เน วินก็ยังไม่มา เมื่ออู นุได้รับแจ้งว่าจะมีบุคคลสำคัญมาขอเข้าพบ อู นุ
ก็ยังคิดอยู่ตลอดว่าต้องเป็นเน วินอย่างแน่นอน

ปรากฏว่าผู้ที่มารอพบอู นุคือประธานาธิบดี อู วิน หม่อง ฝ่ายหลังถามอู นุเพียงว่า

“ท่านได้ยินเน วินแถลงการณ์เมื่อเช้านี้ไหม…เป็นแถลงการณ์สั้นๆ ว่ากองทัพได้ยึดอำนาจไว้หมดแล้ว เขาบอกว่าประเทศกำลังอยู่ในสภาวะย่ำแย่”

ในเวลานั้น แทบไม่มีใครเชื่อว่าอู นุจะกลับมาบริหารประเทศ และแก้ปัญหาหลายอย่างที่ยืดเยื้อได้ จึงพากันสนับสนุนรัฐประหารของเน วิน เอกอัครราชทูตของสหรัฐ จอห์น สก๊อต เอเวอร์ตัน (John Scott Everton) ก็เคยกล่าวไว้ว่าเน วินจะเป็นเหมือนอัศวินขี่ม้าขาวที่จะมาแก้ปัญหาของพม่าได้ จึงไม่น่าแปลกใจที่ชาติใหญ่ๆ หลายชาติจะให้การรับรองรัฐบาลที่มาจากรัฐประหารของเน วินในทันที มีรัฐบาลของสหภาพโซเวียตและจีนรวมอยู่ด้วย

นอกจากอู นุแล้ว ผู้นำชนกลุ่มน้อยบางส่วน และนักการเมืองอีกจำนวนหนึ่งก็ถูกควบคุมตัวไว้ เจ้า ฉ่วย แต้ก (Sao Shwe Thaik) อดีตประธานาธิบดีพม่า กองทัพบุกจับเจ้า ฉ่วย แต้กที่บ้านพัก และระหว่างการจับกุม เกิดการต่อสู้กัน จนเป็นเหตุให้โอรสองค์หนึ่งของเจ้า ฉ่วย แต้กพระนามว่า ซอ มยี มยี (Saw Myee Myee) สิ้นพระชนม์ (เน วินส่งจดหมายไปแสดงความเสียใจกับครอบครัวของเจ้า ฉ่วย แต้กในภายหลัง แต่ต่อมา เจ้า ฉ่วย แต้ก ก็หายตัวไปอย่างไร้ร่องรอย) เจ้าจันทราเทวี (Sao Sanda) ผู้เขียนหนังสือ The Moon Princess (ปัจจุบันแปลเป็นภาษาไทยแล้วในชื่อ “จันทราเทวี: ความทรงจำจากรัฐฉาน” จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์ริเวอร์บุ๊คส์) เล่าว่า เมื่อครั้งที่ท่านทราบข่าวว่าเกิดรัฐประหาร ท่านรีบเดินทางกลับพม่าพร้อมปีเตอร์ ซิมส์ (Peter Simms) สามีชาวอังกฤษ และพบว่ากองทัพได้ล้อมย่างกุ้งไว้หมดแล้ว การตรวจตราที่สนามบินเคร่งครัด และทหารกีดกันไม่ให้ท่านเข้าบ้านของท่านเอง

สถานการณ์ในย่างกุ้งตึงเครียด แต่แทบไม่มีใครที่ออกมาประท้วงรัฐประหารของเน วิน แม้ประชาชนส่วนใหญ่จะยังเชื่อมั่นในตัวอู นุ และนโยบายสถาปนาศาสนาพุทธให้เป็นศาสนาประจำชาติ แต่ลึกๆ แล้วคนพม่าบางส่วนคงมองว่าการเปลี่ยนรัฐบาลคงไม่ใช่เรื่องเลวร้ายเกินไปนัก หลังรัฐประหาร เน วิน ในวัย 52 ปี เริ่มนำนโยบายแบบสังคมนิยมที่เขาเล็งไว้หลายปีดีดักมาใช้ ภายใต้คณะปฏิวัติ (Revolutionary Council) แต่ก่อนหน้านี้ นโยบายที่ถูกมองว่าสุดโต่งจนเกินไปไม่ได้รับการสนับสนุนจากคนในรัฐบาล ธงที่เน วินมีในตอนนั้นคือการเร่งกำจัดพรรคคอมมิวนิสต์พม่า และการสร้างรัฐสมัยใหม่ที่เน้นบทบาทของคนพม่า ลดบทบาทของคนต่างชาติ เน วินเริ่มออกนโยบายปฏิรูปที่ดิน เพื่อดึงดูดเกษตรกรในชนบทให้หันมาอยู่ฝั่งรัฐบาล หลังจากก่อนหน้านี้เกษตรกรจำนวนหนึ่งนิยมแนวทางแบบคอมมิวนิสต์

การมุ่งมั่นกำจัดอิทธิพลของต่างชาติปรากฏออกมาในหลายรูปแบบ ทั้งการจำกัดบทบาทของนักธุรกิจชาวอินเดีย และการจำกัดการทำงานของหน่วยงานจากตะวันตก เช่น บริติช เคาน์ซิล และมูลนิธิอื่นๆ จากฝั่งสหรัฐ เช่น โครงการฟูลไบรท์ มูลนิธิเอเชีย และมูลนิธิฟอร์ด ในที่สุดหน่วยงานต่างชาติเหล่านี้ทยอยออกจากพม่า พม่าเข้าสู่ยุคปิดประเทศอย่างจริงจังตั้งแต่ต้นทศวรรษ 1960 จนถึงปลายทศวรรษ 1980 ระหว่างที่หลายประเทศได้รับความช่วยเหลือทั้งทางด้านตัวเงินและเทคนิคจากสหรัฐอเมริกา หรือสหภาพโซเวียต พม่าปิดรับความช่วยเหลือจากชาติตะวันตก และหันไปสร้างนโยบายสังคมนิยมในแบบของตนเอง ที่เน้นบทบาทนำของกองทัพ ความพอเพียง และการสร้างความสมัครสมานสามัคคีของคนในชาติ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image