คนจนและชนชั้นทางสังคม โดย ดิเรก ปัทมสิริวัฒน์, สุมาลี สันติพลวุฒิ,กาญจนา ศรีพฤกษ์เกียรติ์

1.จากประสบการณ์จากทั่วโลก เมื่อบ้านเมืองพัฒนารายได้ของประชาชนมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเป็นลำดับ รัฐบาลจัดเก็บภาษีได้เป็นกอบเป็นกำ มักจะจัดสรรงบประมาณรายจ่ายเพื่อสวัสดิการและช่วยเหลือคนจนเพิ่มขึ้นตามลำดับ เมืองไทยของเราก็เช่นเดียวกันกำลังวิวัฒนาการตามเส้นทางนี้ คล้ายคลึงกับประเทศพัฒนาแล้ว ในโอกาสนี้ขอนำผลงานวิจัยเรื่องความเสี่ยงการเป็นคนจนและชนชั้นทางสังคมมาเล่าสู่กันฟัง

2.การศึกษาว่า ใครยากจน? จำเป็นต้องเริ่มด้วยนิยามศัพท์ เริ่มจากการตั้งคำถามว่า วัดความยากจนอย่างไร? และประชาชนกลุ่มใดคนจน? คำถามอย่างนี้จะให้คิดตรงกันเป็นเรื่องยาก นานาจิตตัง แต่ถึงกระนั้นก็ตามมีความพยายามสร้างดัชนีความยากจนโดยหลายสถาบัน เริ่มจากสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เป็นหน่วยงานแรกที่บัญญัติศัพท์ “เส้นความยากจน” (poverty line) หมายถึง รายได้หรือรายจ่ายขั้นต่ำเพื่อการดำรงชีพ เหนือจากนี้พ้นจากยากจน ใต้เส้นนี้=ยากจน ในปี 2559 เส้นความยากจนของสภาพัฒน์ระบุว่าเท่ากับ 2,902 บาทต่อเดือนสำหรับประชาชนในเขตเทศบาล และ 2,425 บาทต่อเดือนสำหรับประชาชนที่พำนักนอกเขตเทศบาล พร้อมแจกแจงสถิติว่า ในแต่ละจังหวัดมีสัดส่วนของคนจนร้อยละเท่าใด
(ผู้สนใจสามารถสืบค้นเว็บไซต์เริ่มจาก google ด้วยคำว่า เส้นความยากจน)

กรมพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย เป็นอีกหน่วยราชการที่ทำงานสำรวจ “ความจำเป็นขั้นพื้นฐาน” (จปฐ.) ของประชาชน ได้จัดทำข้อมูลขนาดใหญ่ระดับตำบลเพื่อประเมินความก้าวหน้าของการพัฒนาชุมชน กระทรวงพัฒนาสังคมและทรัพยากรมนุษย์เป็นอีกหน่วยงานหนึ่งเพราะว่ารับผิดชอบงานสงเคราะห์และจัดสรรสวัสดิการช่วยเหลือคนจน ได้จัดทำทะเบียนคนจน ล่าสุด กระทรวงการคลังเข้ามามีบทบาทในการจดทะเบียนคนจนพร้อบกับแจกบัตรคนจน จัดสรรเงินช่วยเหลือเพื่อลดภาระค่าครองชีพให้กับคนจน พร้อมกับพัฒนาฐานข้อมูล on-line ที่มีคนลงทะเบียนถึง 11 ล้านคนเศษ ในฐานข้อมูลระบุเพศ อายุ อาชีพ การศึกษา ฯลฯ

คนจนและชนชั้น ตามที่จั่วหัวข้างต้นนี้ เป็นส่วนหนึ่งของงานวิจัยที่สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) สนับสนุน เรานำผลสำรวจครัวเรือนของสำนักงานสถิติแห่งชาติ (ย่อว่า SES=socio economic survey) ครั้งล่าสุดในปี 2560 โดยสุ่มตัวอย่างจากทุกจังหวัด ทั้งในเขตเมืองและชนบท นิยามเส้นยากจนว่าหมายถึงรายได้ 4,123 บาทต่อคนต่อเดือน (ร้อยละ 60 ของรายได้มัธยฐาน หมายเหตุ นิยามเช่นนี้แพร่หลายในผลงานวิจัยหลายชิ้นในหลายสิบประเทศ อีกนัยหนึ่งหากว่าท่านมีรายได้เกินกว่า 49,476 บาทต่อปีถือว่าไม่ใช่คนจน)

Advertisement

“ชนชั้นทางสังคม” เป็นมโนทัศน์ที่เรานำเป็นกรอบวิจัย โดยปรับปรุงจากนิยามศัพท์ socio-economic class ของสำนักงานสถิติแห่งชาติ นำมาจำแนกใหม่โดยแบ่งออกเป็น 6 กลุ่ม ได้แก่ เกษตรกร เกษตรกรที่ไม่มีที่ดินทำกิน ผู้ประกอบการ นักวิชาชีพ แรงงานทั่วไป และกลุ่มที่ไม่ได้ทำงาน (เกษียณ) โจทย์วิจัยพยายามสืบค้นว่า ความเสี่ยงที่จะเป็นคนจนของแต่ละชนชั้นแตกต่างกันเพียงใด ผลลัพธ์ดังแสดงในตารางที่ 1

ขอนำผลลัพธ์มาสรุปและอภิปรายดังต่อไปนี้

Advertisement

หนึ่ง ครัวเรือนทั่วประเทศประกอบด้วย 21 ล้านครัวเรือนโดยประมาณ ก่อนอื่นเราสนใจว่าการกระจายชนชั้นเป็นอย่างไร? พบว่า ครัวเรือนเกษตรกรหมายถึงผู้มีที่ดินทำกินของตนเองมีสัดส่วนร้อยละ 10.8 ของครัวเรือนทั่วประเทศ (สดมภ์ที่หนึ่ง) เกษตรกรผู้เช่าหรือไม่มีที่ทำกิน สัดส่วนร้อยละ 4.3 ผู้ประกอบการร้อยละ 4 นักวิชาชีพร้อยละ 10.4 แรงงานทั่วไปร้อยละ 32 และยังมีกลุ่มครัวเรือนที่ขณะนี้ไม่ได้ทำงาน (economically inactive) ร้อยละ 38.5 นับว่าสูงทีเดียว สอง รายได้ของแต่ละชนชั้นเป็นอย่างไร? พบว่ามี 2 ชนชั้นที่รายได้สูงคือ ผู้ประกอบการ (หมายถึงผู้ประกอบกิจการและมีลูกจ้าง) กับ กลุ่มนักวิชาชีพ รายได้ต่อเดือนต่อคนเกินกว่า 2 หมื่นบาท อีก 3 ชนชั้นที่เหลือ-รายได้ต่อคนต่อเดือนต่ำกว่า 1 หมื่นบาท

สาม สดมภ์ที่ 3 แสดงสัดส่วนของครัวเรือนที่ยากจน สะท้อนว่า ทุกชนชั้นมีความเสี่ยงที่จะเป็นคนจนด้วยกันทั้งสิ้น เพียงแต่ว่าความเสี่ยงนั้นแตกต่างกัน เกษตรกร-เกษตรกรที่ไม่มีที่ดินทำกิน-แรงงานทั่วไป-กลุ่มที่ไม่ทำงาน เสี่ยงสูง ประมาณร้อยละ 20-50 ในทางตรงกันข้ามมีชนชั้นที่มีความเสี่ยงฯต่ำ คือผู้ประกอบการ นักวิชาชีพ โอกาสเป็นคนยากจนต่ำกว่า 10% ถือว่าเป็นคนโชคดี อาจเป็นเพราะว่าครัวเรือนเหล่านี้มี “ทุนทรัพย์” หรือ “ทุนมนุษย์” หรือมีทั้งสองอย่าง

สี่ นิยามคนจนแบ่งออกเป็น 2 ประเภท ประเภทแรกเรียกว่า head-count ใครที่รายได้ต่ำกว่า 4,123 บาทต่อคนต่อเดือน-ตกเป็นคนจน แบบที่สองเรียกว่า poverty gap (วัดความขาดแคลน) หมายถึง รายได้หย่อนจาก 4,123 บาทต่อคนต่อเดือน สมมุติว่าครัวเรือนที่ 1 รายได้เฉลี่ย 3,000 บาท/คน/เดือน แปลว่าขาดแคลน 1,123 บาท ส่วนครัวเรือนที่ 2 รายได้เท่ากับ 2,000 บาท/คน/เดือน ขาดแคลนมากกว่า ปรมาจารย์ที่เสนอแนะการคำนวณแบบนี้คือ Amartya K. Sen ชาวอินเดีย ซึ่งได้รับรางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์ และท่านผู้นี้เคยมาแสดงปาฐกถาในเมืองไทยของเราหลายครั้ง องค์การสหประชาชาติและหน่วยงานวิชาการได้สมาทานข้อเสนอของท่านในการสร้าง “ดัชนีการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์”

ห้า สรุปเป็นภาพรวม ร้อยละ 24.4 ของคนไทย รายได้ต่ำกว่าเส้นยากจน หรือ 1 คนใน 4 คนเป็นคนจน

3.เราสนใจสืบค้นต่อว่า การกระจายของคนจนแตกต่างกันตาม “จังหวัด” มากน้อยเพียงใด? เรื่องนี้สำคัญเพราะว่าจังหวัดเป็นหน่วยการปกครองที่มีอำนาจตามกฎหมาย รับมอบหน้าที่และงบประมาณจากรัฐบาล เราตีความว่าจังหวัดมีภารกิจสำคัญ 2 ประการ ประการแรก จังหวัดต้องทำบทบาทส่งเสริมภาคการผลิตให้เจริญเติบโตตามยุทธศาสตร์ “ประเทศไทย 4.0” สอง จังหวัดต้องสนับสนุนคนจนและลดความเหลื่อมล้ำ

งานวิจัยของเราจำแนกจังหวัดตามระดับความยากจน ออกเป็น 4 กลุ่ม กลุ่มแรก เสี่ยงยากจนต่ำกว่า <10% กลุ่มที่สอง ความเสี่ยงยากจนปานกลาง 10-20% กลุ่มที่สาม ยากจนสูง 20-30% กลุ่มที่ 4 ยากจนสูงมาก ร้อยละ 30 ขึ้นไป แต่เนื่องจากพื้นที่จำกัดขอระบุชื่อ 10 จังหวัดที่อัตราความยากจนต่ำสุด และ 10 จังหวัดที่อัตราความยากจนสูงสุด ในตารางที่ 2

 

4.สรุปความสำคัญ หนึ่ง ในยุคนี้เรามีความร่ำรวยด้านข้อมูล คือ big data ข้อมูลคนจนที่ระบุเป็นรายบุคคล รายชนชั้น วัดความรุนแรงของความยากจนในแต่ละจังหวัด นับว่าเป็นคุณประโยชน์และความก้าวหน้าทางวิชาการ แต่ถ้าหากเราหยุดแค่ “อยากรู้” ก็น่าเสียดายอย่างยิ่ง สอง ความท้าทายประการสำคัญคือการดูแลประชาชน รัฐบาลไม่ว่ามาจากเลือกตั้งหรือรัฐบาลจากรัฐประหาร ก็สมควรต้องทำหน้าที่ลดความเหลื่อมล้ำ กำจัดความยากจน รัฐบาลมี “จังหวัด” และ “งบประมาณพื้นที่” ถ้าหากใช้เครื่องมืออย่างชาญฉลาดและอย่างจริงจัง

เชื่อว่าความยากจนสามารถกำจัดได้หรืออย่างน้อยบรรเทาลงได้มาก นานาประเทศทั่วโลกได้ถือว่าการกำจัดความยากจนและหิวโหยนั้นคืนเป้าหมายลำดับหนึ่งของ “การพัฒนาที่ยั่งยืน” (SDG, sustainable development goal)

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image