บทความ : ใบเสมาที่ถูกทาสี คือ ปัญหาของความสับสนนิยามของความเป็นโบราณสถาน : โดย ผศ.พิพัฒน์ กระแจะจันทร์

เห็นข่าวเรื่องใบเสมาสมัยกรุงศรีอยุธยาของวัดไชนาวาส จังหวัดสุพรรณบุรี ที่ถูกญาติโยมผู้ใจบุญเอาสีสมัยใหม่ เข้าใจว่าเป็นสีอะคริลิค ทาตลอดทั้งใบจนถึงฐานของใบเสมากันเลยทีเดียว ทำให้ถูกวิพากษ์วิจารณ์ในโลกโซเชียลอย่างหนัก อ.พิทยา บุนนาค นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์ศิลปะ มองว่า นี่ไม่ใช่ทางบุญ แต่เป็น “ทางไปนรกนั้นปูไว้ด้วยความปรารถนาดี”

แน่นอนครับว่า ถ้ามองด้วยสายตาของนักอนุรักษ์ นี่เป็นความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ แต่ผมจะไม่รีบด่วนสรุปว่าคนกลุ่มนี้ผิดหรือไม่ เพราะเราจะพบว่าเหตุการณ์ทำนองนี้มักเกิดขึ้นเสมอในบ้านเรา แสดงว่ามันจะต้องมีอะไรบางอย่างของระบบคิด

เมื่อไม่กี่วันก่อนมานี้ผมได้เดินทางไปที่เมืองเมียวดี ประเทศพม่า ไกด์ท้องถิ่นชาวไทยและคนพม่า ซึ่งเป็นลูกน้องของอาอี๊ผม ได้เล่าให้ฟังว่า แนวคิดของพระและญาติโยมทางพม่าคือไม่นิยมให้วัดที่ยังคงใช้งานอยู่
มีสภาพเสื่อมโทรม เพราะเท่ากับทำให้ศาสนาดูหม่นหมอง จึงต้องทำให้วัดให้ดูใหม่อยู่เสมอด้วยการก่อสร้างและทาสี ซึ่งจะทำให้ได้บุญกุศล

ผมว่าแนวคิดของทั้งพระและญาติโยมในไทยนั้นไม่ได้แตกต่างกันมากนัก จากการสัมภาษณ์พระมหาชุมพร รำไพ วัดเหล่าอาภรณ์พระนักอนุรักษ์และสายวิปัสสนา ได้อธิบายว่า พระธรรมวินัยจะเน้นให้พระสงฆ์ต้องรักษาความสะอาดอาคารสถานที่อย่างมาก เพื่อให้เหมาะกับการเป็นรมณียสถาน นอกจากนี้ การเทศนาพรให้ญาติโยมให้เชื่อว่าการก่อสร้างสิ่งต่างๆ อย่างวิจิตร จะช่วยให้ผู้สร้างได้ไปสวรรค์ชั้นสูง มีทิพยสมบัติและบริวารมากมาย บางครั้งญาติโยมก็ขอทาสีสิ่งก่อสร้างในวัดใหม่ด้วยเชื่อว่า การทาสีจะช่วยให้ผิวพรรณผ่องใส หายจากโรคภัยไข้เจ็บ

Advertisement

น่าเสียดายที่ไม่มีใครได้สอบถามญาติโยมที่ทาสีใบเสมา ว่าอะไรดลใจให้เขาทำเช่นนั้น แต่คือต้องเข้าใจอย่างนี้ครับว่า โลกของพระหรือญาติโยมนั้นต่างจากโลกของนักอนุรักษ์มาก ในโลกทางศาสนา (religious world) นั้น การก่อสร้าง ต่อเติม บูรณะ หรือทำวัดให้ใหม่อยู่เสมอนั้นคือการสืบทอดพระพุทธศาสนาแบบหนึ่ง ไม่นับรวมถึงการได้บุญขึ้นสวรรค์อีก ด้วยเหตุนี้เอง จะเห็นได้ว่าวัดในสมัยโบราณจึงมักผ่านการบูรณปฏิสังขรณ์หลายครั้ง กระทั่งรื้อเพื่อสร้างใหม่ก็มี และทั้งหมดนี้ก็ทำขึ้นเพื่อประโยชน์ของคนปัจจุบันและอนาคต หรือพูดอีกแบบในโลกทางศาสนานั้นไม่มีกรอบของเวลา ไม่แบ่งแยกอดีต ปัจจุบัน และอนาคต

อย่างไรก็ดี เมื่อร้อยกว่าปีมาแล้ว เมื่อประเทศสยามได้รับอิทธิพลจากตะวันตก ทำให้เกิดกระแสในการอนุรักษ์วัดและโบราณสถานเกิดขึ้น ความคิดนี้เป็นความคิดทางโลก (secular world) ซึ่งมองว่าวัดและโบราณสถานเป็นของควรค่าแก่การอนุรักษ์ เพื่อแสดงถึงรากเหง้าทางวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์อันเก่าแก่ของชาติ ดังนั้น การที่จะให้วัดหรือโบราณสถานแสดงเป้าประสงค์ดังกล่าว จำเป็นจะต้องอนุรักษ์ให้คงสภาพดั้งเดิมไว้ได้มากที่สุด ไม่เช่นนั้นมันจะไม่แสดงความจริงแท้ของประวัติศาสตร์ออกมาได้ โลกทางความคิดแบบนี้เองที่จะทำให้คุณรู้ว่า อะไรคือของเก่า อะไรคือของใหม่ และอะไรควรอนุรักษ์ หรืออะไรเป็นของใหม่

ดังนั้น ถ้าพูดด้วยสายตาแบบนักอนุรักษ์ แน่นอนครับ ทั้งญาติโยมและพระที่ดูแลวัดทำไม่ถูกภายใต้กระแสของการอนุรักษ์ ดังที่พระมหาชุมพรได้ให้ความเห็นว่า ในสายตาของคนที่เข้าไปใช้วัดในทางบุญและคนในชุมชน ซึ่งเป็นคนที่ใช้วัดนั้น เอาเข้าจริงทั้งนักโบราณคดีและนักอนุรักษ์ “ไม่ได้มีส่วนได้เสียในชีวิตประจำวันของคนในชุมชน ซึ่งในชุมชนคนเขาก็ย่อมต้องมองไปที่ประโยชน์อันจะเกิดในปัจจุบันเป็นหลัก ตามหลักในฐานะผู้อยู่ในวัดนี่เพราะต้องเป็นเเกนหลักน่ะถูก แต่ความจริงตอนนี้ไม่ใช่หรอกเพราะพระส่วนใหญ่ไม่ได้มีความรู้ทางวิชาการเรื่องโบราณคดีอะไรนั่นเลย”

Advertisement

แต่ผมอยากเสนอประเด็นที่เกี่ยวพันด้วยอีกเล็กน้อย จะเห็นได้ว่า วัดในไทยหลายแห่งมีสถานะที่ซ้อนทับอยู่ด้วยกันคือ เป็นทั้งวัดที่ใช้งานในปัจจุบัน และเป็นโบราณสถานไปพร้อมกัน ทำให้สิ่งก่อสร้างภายในวัดอันหนึ่งมี 2 สถานะไปพร้อมกัน ความไม่ลงรอยของกรอบคิดเรื่องการแบ่งอดีตกับปัจจุบัน หรือสถานะของตัววัดนี้เองที่ทำให้เกิดความสับสนบางประการขึ้น ในเมื่อสิ่งที่เรียกว่าโบราณสถานนั้นไม่ใช่โบราณสถาน หรือไม่ใช่โบราณวัตถุ แต่มันเป็นของที่เป็นมรดกตกทอดมาและยังใช้อยู่ถึงปัจจุบัน

ความจริงแล้ว กรมศิลปากรเพียรพยายามอบรมพระสงฆ์อยู่เสมอให้เข้าใจถึงคุณค่าของโบราณสถานมาหลายปี แต่ดูเหมือนก็ไม่ได้ผลนัก เท่าที่ได้ฟังมา มีหลายเหตุผลครับ เช่น พระที่ไปอบรมโดยมาก
มักเป็นพระลูกวัดที่ไม่มีอำนาจตัดสินใจอะไร เมื่อกลับไปวัด ก็จึงไม่สามารถช่วยอะไรได้นัก
เมื่อเจ้าอาวาสสั่งให้ทาสีหรือก่อสร้างอะไรทับไปบนโบราณสถาน นี่ยังไม่นับญาติโยมที่รู้เท่าไม่ถึงการณ์ขอไปก่อสร้างอะไรต่อมิอะไรบนโบราณสถาน

ปัญหาที่ซ้ำร้ายไปกว่านั้นอีกก็คือ ระบบการเลื่อนขั้นสมณศักดิ์ของพระทุกวันนี้ยังเกี่ยวข้องกับจำนวนสิ่งก่อสร้างที่เพิ่มขึ้นในวัด และจำนวนเงินบริจาค ยิ่งสร้างมากก็ยิ่งได้สมณศักดิ์สูงขึ้นเท่านั้น พูดอีกแบบเป้าหมายดั้งเดิมของการก่อสร้างสมัยก่อนที่สัมพันธ์กับการต่ออายุพระพุทธศาสนานั้น
ได้เปลี่ยนไปเมื่อระบบทุนนิยมและรัฐราชการได้มีอิทธิพลในวัด

แต่ถึงจะมีปัญหาต่างๆ ที่ว่ามา อย่างที่ผมคิดคือ รากเหง้าของปัญหาที่พระผู้ดูแลวัดไม่เข้าใจเรื่องโบราณสถานนั้น อาจใช่ทั้ง
ไม่เข้าใจสิ่งที่อบรม หรือเห็นแก่สมณศักดิ์เพียงอย่างเดียว หากแต่เพราะเกิดจากปัญหาของความไม่สามารถแบ่งแยกระหว่างของใช้ในอดีตกับปัจจุบันออกจากกันได้ และไม่รู้ว่าจะให้คุณค่ากับมันอย่างไร ใช้งานมันในสถานะใด ควรสร้างเสริมบูรณะหรือบำรุงมันอย่างไร

ผมคิดว่า ญาติโยมเองก็คงเผชิญปัญหาเดียวกันกับพระ เพราะเมื่อเข้าไปในวัด
คุณก็อาจจะไม่สามารถแบ่งได้ว่าอะไรเป็นของเก่า อะไรเป็นของใหม่ ในเมื่อตัวของวัดเองมันเป็น living heritage (วัดที่ยังใช้งาน) ไม่ใช่เป็น death monument (โบราณสถานที่ไม่มีการใช้งานแล้ว) อีก ต้องยอมรับนะครับว่า ความรู้ทางประวัติศาสตร์ไม่ได้สอนให้คนทั่วไปมีความสามารถมากพอที่จะดูว่าอะไรเป็นของเก่าเป็นของใหม่

เอาเป็นว่า ทางออกในการแก้ปัญหาระยะยาวของวัดหรือโบราณสถานที่อยู่ในการดูแลของวัดนั้น ผมคงไม่โทษระบบการศึกษานะ เพราะผมเชื่อว่าวิชาประวัติศาสตร์นี่ปลูกฝังเรื่องคุณค่าของโบราณสถานอย่างมากแล้ว แต่มันเป็นปัญหาของระบบการจัดแบ่งเวลา การจัดแบ่งว่าอะไรคือของเก่า อะไรคือของใหม่ ดังนั้น ถ้าจัดการกับความสับสนของการนิยามนี้ได้ก็น่าจะช่วยทำให้สถานการณ์ต่างๆ นั้นดีขึ้นได้ครับ

ผศ.พิพัฒน์ กระแจะจันทร์

สาขาวิชาประวัติศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ PhD candidate, SOAS, University of London

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image