ไม่เกร็ง โดย ชุมฉันท์ ชำนิประศาสน์

แฟ้มภาพ

 

ระหว่างที่นักการเมืองและนักกิจกรรมรณรงค์ทางการเมืองอังกฤษ เริ่มหาเสียงในศึกประชามติ 23 มิถุนายน 2559 ว่า สหราชอาณาจักรควรออกจากการเป็นสมาชิกของสหภาพยุโรป (อียู) หรือไม่ กันอย่างคึกคักนั้น

เมื่อสัปดาห์ก่อน ประธานาธิบดีแห่งสหรัฐอเมริกา บารัค โอบามา ก็ไปแจมกับเขาด้วย พูดชัดเจนเลยว่า ถ้าอังกฤษพ้นจากการเป็นสมาชิกภาพของอียูเมื่อใด จะเสียอิทธิพลและโอกาสทางการค้าอย่างมากมายเลยทีเดียว

การแสดงความคิดเห็นอย่างนี้ทำให้ฝ่ายที่รณรงค์ให้แยกตัวพากันเคือง หลายคนตำหนิว่าโอบามาช่วย นายเดวิด คาเมรอน นายกรัฐมนตรีอังกฤษมากเกินไปแล้ว และบ้างก็ว่าไปจุ้นจ้านวุ่นวายเรื่องภายในของเขา

Advertisement

แน่นอนว่าโอบามาต้องรู้เรื่องนี้อยู่ก่อนแล้ว แต่ที่พูดเพราะเขามีส่วนได้ส่วนเสียในอนาคตของพันธมิตรสำคัญประเทศนี้ ดังนั้นการคิดในใจ หรือแสดงความคิดเห็นอยู่แต่ในบ้าน นั้นไม่มีพลังพอ

ที่สำคัญคือประชามตินั้นเป็นเรื่องของการแข่งขันกันที่ข้อมูลและความคิดเห็น เนื่องจากคำตอบหลักๆ จะมีอยู่สองทาง คือเลือก หรือไม่เลือก

ในการรณรงค์ประชามติแต่ละครั้งผู้คนจึงถกเถียงกันอย่างเข้มข้น เพื่อให้คนอื่นๆ ในสังคมคิดและพิจารณาในประเด็นที่ตนเองเห็นว่าสำคัญและมองข้ามไม่ได้

Advertisement

อย่างการจัดประชามติของสกอตแลนด์ เมื่อปี 2557 ว่าตกลงจะแยกตัวจากสหราชอาณาจักรหรือไม่ ผู้คนถกกันหน้าดำคร่ำเครียดทีเดียวว่า การออกไปกับการอยู่ที่เดิมนั้นมีผลดีผลเสียอย่างไร

ส่วนกิจกรรมรณรงค์นั้นมีทั้งธง โปสเตอร์ ใบปลิว ประดับประดาเต็มเมืองไปหมด จนวันที่ 18 กันยายน 2557 มีผู้ออกมาลงคะแนนแข่งกัน จำนวนผู้ใช้สิทธิสูงถึงร้อยละ 84.6 เพราะทุกคนอยากมีส่วนร่วมในการกำหนดอนาคตของตนเอง อนาคตของลูกหลานและบ้านเกิดที่อยู่อาศัย

ฝ่ายชนะคือฝ่ายขออยู่กับสหราชอาณาจักรต่อไปร้อยละ 55.3 ส่วนฝ่ายอยากแยกตัวอยู่ที่ 44.7 ไม่ถึงกับทิ้งห่างอะไร แต่ก็ยอมรับเสียงข้างมากที่ชนะตามระบอบประชาธิปไตย

การจัดประชามติของสกอตแลนด์จึงเป็นตัวอย่างและแรงบันดาลใจให้ผู้คนในประเทศอื่นๆ ว่าวิธีการนี้ยุติธรรมตรงไปตรงมาดี เมื่อถกเถียงกันจนตัดสินใจแล้วก็จบ เดินหน้าต่อไปได้

ประชามติจึงเป็นกระบวนการประชาธิปไตยที่น่าสนใจมากขึ้นเรื่อยๆ

กรณีของฮ่องกง กลุ่มนักศึกษาและคนรุ่นใหม่เริ่มเรียกร้องบ้างแล้วว่า อยากจะให้จัดประชามติว่าคนของฮ่องกงอยากเห็นอนาคตในดินแดนอย่างไร หลังจากคนจำนวนมากเริ่มรู้สึกว่าอิทธิพลของแผ่นดินใหญ่ไม่ธรรมดา และบางคนอึดอัดกับอิทธิพลนั้น

ด้านญี่ปุ่น รัฐบาลชุดปัจจุบันอยากจะปรับแก้รัฐธรรมนูญในส่วนกองกำลังป้องกันตนเองเพื่อให้มีบทบาทการทหารต่างแดนมากขึ้น ซึ่งนอกจากต้องมีเสียงสนับสนุนในทั้งสองสภาแล้ว ยังต้องมีแรงสนับสนุนจากการทำประชามติระดับชาติด้วย

หากประเทศเหล่านี้จัดประชามติ เราที่เป็นคนนอกคงจะสนใจและติดตามว่า เขาถกเถียงกันเรื่องอะไรบ้าง ใครมีความคิดเห็นอย่างไรบ้าง

คงไม่ต้องมาเกร็งหรือหวาดระแวงว่า พูดอะไรเขียนอะไรได้บ้าง จะผิด พ.ร.บ.ประชามติหรือไม่ และคงไม่ต้องมานั่งตีความว่าความคิดเห็นที่บริสุทธิ์ใจ คืออะไร

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image