ลดโลกร้อน…ด้วยมือเรา โดย นพ.วิชัย เทียนถาวร

ตามทฤษฎีของชาร์ลส์ ดาร์วิน (Charles Darwin) นักชีววิทยาของโลก บอกว่า Phenotype = Genotype + Environment (รูปลักษณ์ของคนหรือสัตว์หรือสิ่งมีชีวิต = ยีนพันธุกรรมที่มีมาแต่กำเนิด บวก หรือผสมกับการเปลี่ยนแปลงของสิ่งแวดล้อม) ผู้เขียนได้ศึกษาตำราทางแพทย์ก็พบว่า “คน” หรือ “มนุษย์” มีตัวคงที่คือยีนพันธุกรรมที่ได้รับการถ่ายทอดจากพ่อ จากแม่มาเป็นต้นทุน และสิ่งที่มีอิทธิพลมาก คือ “สิ่งแวดล้อม” (Environmental) ซึ่งมีผลกระทบอิทธิพลต่อ Phenotype ที่จะเกิดขึ้น

เคยเขียนเรื่องทำนองนี้ในฉบับก่อน ว่า “มนุษย์” หรือ “คนเรา” มีการเปลี่ยนแปลง “Change” ตั้งแต่อยู่ในครรภ์มารดา ในถุงน้ำคร่ำ (Amniotic Sac) หากเราติดตามแฝดคู่ที่เกิดจากไข่ใบเดียวกันของมารดากับตัวอสุจิของพ่อ โดยตามกฎธรรมชาติแล้วแฝดคู่นี้จะมีเพศเดียวกัน รูปลักษณ์ ผิวพรรณ สูง เตี้ย อยู่ในครรภ์จะละหม้ายหรือเหมือนกันมาก แต่เมื่อ “คุณแม่” ที่อุ้มครรภ์เมื่อถึงคราวคลอด นับจากเด็กแฝดคู่นี้อุแว้ออกมา จนอายุ 3-5 ปี จะพบว่าเด็กคู่นี้จะได้รับการเลี้ยงดูเสมือนว่าจะเหมือนกันทุกอย่าง แต่ปัจจัยบางอย่าง “ภายนอก” ของการเลี้ยงดูตั้งแต่แบเบาะ เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมแม่ ป้อนน้ำ ป้อนอาหารทารก อากาศหายใจ อารมณ์ การใส่เสื้อผ้า พ่อแม่มักจะพยายามซื้อหาเสื้อสีเดียวกัน ลายเดียวกัน ให้ประมาณรู้สึกเองว่า “รักลูกเท่ากัน” รวมทั้งการอบรมกล่อมเกลาเลี้ยงดูเกือบจะเหมือนกัน แต่ด้วยปัจจัยภายนอก (External Environment) มีอิทธิพลต่อการเจริญเติบโตทั้งกาย จิตใจ อารมณ์ รวมถึงจิตวิญญาณของเด็กคู่นี้จะต่างกัน เช่น แฝดผู้น้องอาจจะตัวสูงกว่าผู้พี่ หรือฉลาดน้อยกว่าหรือมากกว่าผู้พี่ก็ได้ จะเห็นได้จากการเปลี่ยนแปลง “Change” มีอิทธิพลต่อคนเราตั้งแต่แรกเกิดเลยทีเดียว

มาดูอิทธิพลของสิ่งแวดล้อมในมหภาคที่ทั่วโลก รวมถึงประเทศไทยกำลังเผชิญ กับภาวะ “ร้อนจนตับจะแตกตาย” เรียกว่าร้อนจนแทบจะทนไม่ได้ ส่วนหน้าหนาวก็มาช้าหรือมาช่วงสั้นๆ ก็ผ่านไป ฝนจะตกได้ก็ต้องไปแห่นางแมว ขอเทพเจ้าประทาน “ฝน” ให้ ข้าวที่ปลูกไม่มีน้ำ คอยฝนก็ไม่มา จากที่รุ่นพ่อรุ่นแม่หรือผู้ใหญ่บอกนักบอกหนาว่าอย่าตัดไม้ทำลายป่า ระวังจะเกิด “โลกร้อน” เพราะไม่มีต้นไม่พืชผักคลุมต้น เวลาฝนตกก็จะตกชุก เรียกว่า ร้อนแล้งก็สุดๆ ดินแตกระแหง ถ้าฝนมาก็สุดๆ ทำให้เกิดมหาอุทกภัยตามที่เคยเกิดมาแล้ว

ผลกระทบสิ่งแวดล้อมต่อ “คน” เกิดอะไรบ้าง?…

Advertisement

“หมีไม่มีที่อยู่” : ที่เห็นชัดๆ คือ “หมีขั้วโลก” และภาวะน้ำแข็งละลายที่ทั้งขั้วโลกเหนือ ขั้วโลกใต้ โดยภาพที่ถูกสื่อออกมานั้น จะเป็นภาพ “หมีขาวตัวใหญ่” ที่ไร้แผ่นน้ำแข็งในการดำรงชีวิตต้องว่ายน้ำไปเรื่อยๆ เพื่อหาแผ่นน้ำแข็งเกาะ บางตัวหาแผ่นน้ำแข็งไม่ได้ก็หมดแรง “จมน้ำตายไปเสียดื้อๆ”… เรียกว่าตายต่อหน้าต่อตาเลยทีเดียว การรณรงค์เช่นนี้ยาก เพราะหมีน้อยไม่รู้เรื่องด้วยกับการที่คนปล่อยก๊าซเรือนกระจก ต้องมารับกรรมจากการกระทำของมนุษย์

แต่สำหรับมนุษย์ หรือคนอย่างพวกเราอยู่ที่ร้อน (สุดๆ) จะให้ลุกขึ้นมาลดภาวะโลกร้อน เพราะสงสารหมีน้อยที่อยู่คนละซีกโลกกับเรา ดูจะเป็นการรณรงค์ที่ไกลมาก ขนาด “ตัวเราเอง” ก็ยังอยู่ยาก

ป่าหาย ทะเลหด : ในประเทศไทยจะเห็นชัด คือ ป่าแถวๆ ภาคเหนือ อีสาน ภาคใต้ ต้นไม้ที่เคยปกคลุม ก็กลายเป็นเขาหัวโล้น พื้นที่ป่าถูกบุกรุกโดยนักแสวงหา นายทุน ปลูกบ้าน ปลูกโรงแรม รีสอร์ต สนามกอล์ฟ ส่วนทะเลสาบกลางเมือง แม่น้ำสายหลักๆ หดแคบลง น้ำน้อย ตื้นเขินมากขึ้น

Advertisement

ในระดับโลก ทะเลสาบน้ำจืดที่ใหญ่ที่สุดในโลกที่เคยมีพื้นที่กว่า 25,000 ตารางกิโลเมตร (ปี 2507) ครอบคลุมประเทศแถบไนเจอร์ ไนจีเรีย ในปีนี้เหลือเพียง 2,500 ตารางกิโลเมตร หายไปกว่า 10 เท่า หรือพื้นที่ป่าอเมซอน หรือป่าดิบร้อนชื้น อันถือเป็นปอดหลักของโลก มีพื้นที่ลดลงจาก 6.4 ตารางกิโลเมตร กินพื้นที่ครึ่งหนึ่งของบราซิล และอีก 8 ประเทศใกล้เคียง เหลือพื้นที่ 5.5 ตารางกิโลเมตร อันเกิดจากการรุกรานผืนป่าของผู้มีอิทธิพล

ตัวแปรหลัก : ภาวะโลกร้อนถือเป็นเรื่องที่มนุษยชาติเพิ่งจะมาตื่นตัวกันเมื่อเร็วๆ นี้ หลังจากเกิด “การปฏิวัติอุตสาหกรรม” ครั้งใหญ่ขึ้นในโลกมนุษย์ เมื่อปลายทศวรรษที่ 18 จนถึงต้นทศวรรษที่ 19 นั้น ภาค “อุตสาหกรรม” ได้ปล่อยก๊าซเรือนกระจกเข้าสู่ชั้นบรรยากาศอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้อุณหภูมิของโลกร้อนขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยเฉลี่ย 100 ปีที่ผ่านมานั้น อุณหภูมิพื้นผิวของโลกนั้นสูงขึ้นกว่า 0.74 องศาเซลเซียส และถ้าหากว่าโลกร้อนขึ้นด้วยอัตราคงที่แบบนี้ ภายในปี พ.ศ.2568 อุณหภูมิของโลกจะสูงขึ้นมากที่สุดถึง 6.4 องศาเซลเซียสเลยทีเดียว

โดยตัวแปรหลักในการเกิดภาวะโลกร้อนนั้น คือ “ก๊าซเรือนกระจก” ที่มีสาเหตุหลากหลาย คือการคายความร้อนของผิวโลกเอง, การปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่างๆ ทั้งก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ก๊าซมีเทน (CH3) ก๊าซโอโซน (O3), รวมไปถึงการเพิ่มของก๊าซไนตรัสออกไซด์ (N2O) อันเกิดจากกิจกรรมทั้งภาคการเกษตรและภาคอุตสาหกรรม อันเกิดจากฝีมือของ “มนุษย์” ดำเนินการหรือต้องทำมาหากินเพื่อปากท้องและการค้าพาณิชย์ ในครัวเรือน ระดับชาติ และนานาชาติ

แม้ว่าจะมีการก่อตั้งสนธิสัญญาต่างๆ ว่าด้วยความร่วมมือกันจัดตั้งคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ รวมไปถึงการให้สัตยาบันในสนธิสัญญาเกียวโต ระหว่างหลายๆ ประเทศเพื่อร่วมมือกันให้ตระหนักถึง “ปัญหาโลกร้อน” และร่วมกันลดภาวะโลกร้อน แต่เราก็ยังปฏิเสธไม่ได้ว่า การใช้ชีวิตประจำวันของเรานั้นก็มีส่วนสำคัญในการ “เพิ่มอุณหภูมิ” ให้กับโลกเล็กๆ ใบนี้ด้วยเหมือนกัน

ภัยใกล้ตัวกว่าที่คิด : แม้เราจะรู้สึกสัมผัสด้วยตัวเองว่าบรรยากาศรอบตัวเราร้อนขึ้นๆ ทุกวันแบบปฏิเสธไม่ได้ว่า “หน้าหนาว” ดูเหมือนจะเลิกมาเยือนเมืองกรุงหรือหัวเมืองใหญ่ๆ แบบถาวรไปแล้ว แต่ดูเหมือนว่าเราจะยังไม่ได้ตระหนักว่า “ตัวเราเอง” นั่นแหละก็มีส่วนทำให้เกิด (แม้เพียงเล็กน้อย) ในการช่วยกันเพื่อให้โลกร้อนขึ้นอีกนิดในทุกๆ วันที่เราใช้ชีวิต

ตามทฤษฎีผีเสื้อ หรือ “Butterfly Effect” นั้นถือเป็นทฤษฎีที่ใช้ได้จริง เพราะการกระทำของเราเพียงนิดนั้น อาจจะส่งผลให้เกิดเรื่องราวใหญ่โตได้แบบที่เราไม่คาดคิด เรื่องง่ายๆ… อย่างการเปิดไฟทิ้งไว้ เปิดทีวีไว้โดยไม่มีคนดู เปิดเครื่องปรับอากาศไว้ในห้องโดยไม่มีคนอยู่ ใช้รถยนต์เป็นกิจวัตรโดยไม่แชร์ร่วมกันกับคนอื่น ถือเป็นเรื่องที่เราๆ รู้กันอยู่แล้ว แต่เรื่องอะไรเล็กๆ น้อยๆ อย่างเช่น การทำฟาร์มปศุสัตว์ขนาดใหญ่ โดยสัตว์อยู่ร่วมกันนั้น “วัว” จะเรอออกมาเป็นก๊าซมีเทน ซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งของก๊าซเรือนกระจก

ดังนั้น แม้แต่ “สเต๊ก” ชิ้นเล็กๆ บนจานอาหารค่ำของพวกเราๆ หรือ “ก๋วยเตี๋ยวเนื้อ” น้ำอร่อยที่เราโปรดปรานก็มีส่วน (บ้างไม่มากก็น้อย) ในการ “เพิ่มอุณหภูมิให้กับโลก”

“เราจะเยียวยาโลกร้อนได้อย่างไร?…” : การประชุมประจำปีว่าด้วยเรื่องโลกร้อนที่กรุงปารีส เมื่อต้นเดือนธันวาคม ปี 2015 ถือเป็นการประชุมครั้งแรกที่กว่า 200 ประเทศทั่วโลก (รวมถึงประเทศมหาอำนาจทั้งหลาย) ตกลงร่วมกันที่จะแก้ไขปัญหาโลกร้อน เรียกว่า (ข้อตกลงร่วมปารีส หรือ “Paris Agreement”) ซึ่งมีสาระสำคัญ คือ : ต่างช่วยควบคุมอุณหภูมิของโลกไม่ให้สูงเกินกว่า 2.0 องศาเซลเซียส ในระหว่างช่วงเวลาที่โรงงานอุตสาหกรรมทำงาน (หรือลดลงไปได้ถึง 1.5 องศาเซลเซียส) โดยทุกประเทศจะร่วมมือกัน “ลดก๊าซเรือนกระจก” และประเทศที่ “ร่ำรวยกว่า” ก็จะช่วยด้านการเงินให้กับประเทศที่ “จนกว่า” ในการปฏิบัติการลดโลกร้อน

เมื่อเหตุการณ์เป็นเช่นนี้…แล้วตัวเราจะ Change ตัวเราอย่างไรดี? : การช่วยลดโลกร้อนไม่ใช่เรื่องไกลตัว พวกเราอาจจะไม่ต้องใช้ชีวิต “สุดโต่ง” แบบรับประทานอาหาร “มังสวิรัติ” และ “เดินไปทำงานทุกวันก็ได้” เพียงแค่ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเล็กๆ น้อยๆ อย่างเช่น การลดการใช้ถุงพลาสติกเมื่อซื้อของชิ้นเล็กๆ หรือของไม่กี่ชิ้น การตั้งเวลาปิดเครื่องปรับอากาศก่อนเวลาที่เราจะตื่นจริงประมาณครึ่งชั่วโมง การใช้ขนส่งสาธารณะ หรือการติดรถไปกับเพื่อนแทนการขับรถไปคนละคัน การรับประทานอาหารให้หมดเกลี้ยงจาน (เพื่อลดขยะได้อีกทางหนึ่ง) และการใช้ของ “ทุกชิ้น” อย่างรู้คุณค่านั้น

เพียงเท่านี้ก็ถือว่า “คุณคือคนสำคัญ” ได้ร่วมด้วยช่วยโลกใบนี้ให้ปลอดภาวะโลกร้อน ด้วยคนละไม้คนละมือของเราแล้ว เพื่อนๆ เราทุกคนจะได้มี “คุณภาพชีวิต” ที่ดี ห่างไกลจาก “ภาวะโลกร้อน” ทุกคนไงเล่าครับ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image