โสเครติสกับกฎหมาย โดย โกวิท วงศ์สุรวัฒน์

โสเครติสเป็นนักปรัชญาชาวกรีกสมัยก่อนคริสตกาล (ปี 470-399 ก่อน ค.ศ.) เขาเป็นชาวเอเธนส์ นครรัฐที่ริเริ่มระบอบประชาธิปไตยเป็นครั้งแรกกว่าศตวรรษก่อนสมัยของเขา

โสเครติสเป็นนักปรัชญาที่ใช้เวลาส่วนใหญ่ปฏิบัติการเรียนและสอนความรู้ในที่สาธารณะโดยไม่เรียกค่าตอบแทน วิธีการแสวงความรู้อันมีชื่อเสียงของเขา ที่เรียกว่า Socratic method คือการสอบถามและแลกเปลี่ยนวาทกรรมกับคู่สนทนาแบบวิภาษวิธี (dialectic) โดยผลของกรรมวิธีนี้ เขาได้สร้างความรู้สึกเสียหน้าหรือความรู้สึกโกรธแค้นแก่คู่สนทนาจำนวนมาก

ในช่วงชีวิตของโสเครติสเป็นช่วงที่นครรัฐเอเธนส์เผชิญกับวิกฤตครั้งใหญ่ โดยเฉพาะสงครามเปโลโปนเนเชียนกับนครรัฐสปาร์ตา โสเครติสเองก็เป็นทหารเข้าร่วมรบในสงครามกับสปาร์ตาถึง 3 ครั้ง แต่เอเธนส์พ่ายแพ้แก่สปาร์ตาในที่สุดเมื่อปี 404 ก่อนคริสตกาล ซึ่งความพ่ายแพ้นี้ทำให้เอเธนส์ซึ่งเคยเจริญรุ่งเรืองก็ตกอยู่ในยุคเสื่อมและมีการแสวงหาแพะรับบาปต่อความพ่ายแพ้นี้ จึงมีผู้มีอำนาจของเอเธนส์ยุคนั้นยุยงให้ศาลสูงของกรุงเอเธนส์ไต่สวนโสเครติส โดยกล่าวหาว่าโสเครติสเป็นผู้ที่ทำให้เยาวชนและชาวเอเธนส์เสื่อมศรัทธาในศาสนาทำให้เมืองเอเธนส์ต้องพ่ายแพ้ต่อสปาร์ตาเนื่องจากชาวเมืองเอเธนส์จำนวนมากยังเชื่อถือในเทพเจ้าว่าเป็นผู้ปกป้องเมืองต่างๆ อยู่

การพ่ายแพ้ของเอเธนส์เป็นเพราะเทพเจ้าเอเธนา (Athena-เป็นเทพเจ้าพรหมจรรย์แห่งปัญญา ความกล้า แรงบันดาลใจ อารยธรรม กฎหมายและความยุติธรรม การสงครามโดยชอบ ชาวเอเธนส์เชื่อว่าเทพเจ้าเอเธนาเป็นผู้อุปถัมภ์กรุงเอเธนส์ ชาวเอเธนส์ตั้งวิหารพาร์เธนอนบนอะโครโพลิสในกรุงเอเธนส์เพื่อบูชาพระนาง) ผู้เป็นเทพแห่งเมืองเอเธนส์นั้นประสงค์จะลงโทษเมืองเอเธนส์เพราะผู้คนในเมืองเสื่อมศรัทธาในศาสนา

Advertisement

ดังนั้นการที่โสเครติสตั้งคำถามและสนทนาเกี่ยวกับปรัชญาและศาสนาจึงเท่ากับเป็นการทรยศต่อชาติ การไต่สวนตัดสินว่าโสเครติสมีความผิด เขาจึงถูกลงโทษประหารชีวิต โดยการต้องดื่มยาพิษ

ข้อที่น่าสนใจก็คือ ช่วงเวลาที่ได้พิพากษากับช่วงเวลาลงโทษทอดยาวมาก ซึ่งมีทั้งเวลา โอกาส และขบวนการที่จะช่วยเหลือให้โสเครติสหลบหนีไปไม่ต้องรับโทษ ข้อที่น่าสนใจคือวิธีคิด ความเชื่อ และความกล้าหาญของเขา ซึ่งประจักษ์จากคำตอบที่เขาตอบแก่พรรคพวกผู้ที่ตั้งใจจะพาเขาหลบหนีว่าเขาต้องยอมรับโทษทัณฑ์ของกฎหมายที่ชั่วร้ายนั้นเพื่อรักษาจิตวิญญาณของกฎหมาย (spirit of law) ไว้

หลักการและความเชื่อของโสเครติสคือ

Advertisement

“กฎหมายเป็นสิ่งที่สำคัญและจำเป็นต่อทุกสังคม ผู้คนในสังคมต้องเคารพและปฏิบัติตามกฎหมายเพราะกฎหมายช่วยทำให้สังคมเจริญรุ่งเรืองก้าวหน้าและมีสันติสุข แต่กฎหมายนั้นมีทั้งกฎหมายที่ดี อาทิ กฎหมายที่กำหนดให้คนทุกคนเท่าเทียมกันภายใต้กฎหมาย และกฎหมายที่เลวคือกฎหมายที่เป็น 2 มาตรฐานและกำหนดให้ผู้คนมีความเหลื่อมล้ำกันภายใต้กฎหมาย ซึ่งวิญญูชน (ผู้ที่รู้จักผิดชอบชั่วดี) ต้องไม่ปฏิบัติตามกฎหมายที่เลว แต่ต้องยอมรับโทษทัณฑ์ของกฎหมายที่ชั่วร้ายนั้นเพื่อรักษาจิตวิญญาณของกฎหมาย (spirit of law) ไว้”

โสเครติสมีลูกศิษย์คนสำคัญชื่อ “เพลโต” ต่อมาเพลโตก็มีศิษย์เอกชื่อ “อริสโตเติล” ผู้ศึกษาอยู่กับอาจารย์เพลโตถึง 20 ปีเลยทีเดียว

อริสโตเติลเป็นบุคคลที่น่าพิศวงมากเพราะเขาได้ศึกษาแทบทุกสาขาวิชา ที่มีในช่วงเวลาของเขา ในสาขาวิทยาศาสตร์ อริสโตเติลได้ศึกษา กายวิภาคศาสตร์, ดาราศาสตร์, ภูมิศาสตร์, ธรณีวิทยา, อุตุนิยมวิทยา, ฟิสิกส์ และสัตววิทยา ในด้านปรัชญา อริสโตเติลเขียนเกี่ยวกับ สุนทรียศาสตร์, เศรษฐศาสตร์, จริยศาสตร์, การปกครอง, อภิปรัชญา, การเมือง, จิตวิทยา, วาทศิลป์ และเทววิทยา เขายังสนใจเกี่ยวกับศึกษาศาสตร์, ประเพณีต่างถิ่น, วรรณกรรม และ กวีนิพนธ์ ผลงานของเขาเมื่อรวบรวมเข้าด้วยกันแล้ว สามารถจัดว่าเป็นสารานุกรมของความรู้สมัยกรีก

ทฤษฎีของอริสโตเติลทางด้านชีววิทยานั้นเป็นที่ยกย่องกันมาก เพราะเขาได้ทำการศึกษาเกี่ยวกับชีวิตของสัตว์ต่างๆ เช่น ปลา และพวกสัตว์เลื้อยคลานและได้บันทึกไว้อย่างละเอียดมาก เขาได้แบ่งสัตว์ออกเป็น 2 พวกใหญ่ คือ พวกมีกระดูกสันหลัง (Vertebrates) และพวกไม่มีกระดูกสันหลัง (Invertebrates) นับว่าอริสโตเติลเป็นผู้บุกเบิกความรู้ทางด้านนี้จนได้รับการยกย่องว่าเป็นนักธรรมชาติวิทยาคนแรกของโลก

ดังนั้น บรรดาหลากหลายวิชาดังกล่าวที่สอนกันมหาวิทยาลัยทุกแห่งจึงยกย่องอริสโตเติลเป็นบิดาของวิชาเหล่านั้นนั่นเอง นอกจากนี้อริสโตเติลเองก็เป็นอาจารย์ของพระเจ้าอเล็กซานเดอร์มหาราช ผู้พิชิตที่คนไทยรู้จักกันดีและได้เผยแพร่แนวคิดของอารยธรรมกรีกไปอย่างกว้างไกลรวมทั้งแนวความคิดและปรัชญาของโสเครติสไปทั่วโลก ดังนั้น คนที่ได้ศึกษาในระดับมหาวิทยาลัยทุกคนน่าจะต้องรู้จักชื่อของโสเครติสกันบ้างอย่างแน่นอน

ครับ ! บทสรุปของการเขียนบทความนี้มาเป็นวรรคเป็นเวรก็เพื่อที่จะบอกว่าการที่กฎหมายของบ้านเราไม่ศักดิ์สิทธิ์น่าจะสันนิษฐานได้ว่า เราได้ฆ่าจิตวิญญาณของกฎหมายไปทุกครั้งที่มีการรัฐประหารนั่นเอง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image