ความผันแปรของเก้าอี้ ส.ส.ในการเลือกตั้งปี 2562 : โดย เรืองวิทย์ เกษสุวรรณ

วิธีคำนวณเก้าอี้ ส.ส.สำหรับการเลือกตั้งปี 2562 ให้คิดเก้าอี้ ส.ส.รวมของพรรค ก.ก่อน แล้วเอาไปหักเก้าอี้ ส.ส.เขตของพรรค ก. ส่วนที่เหลือจึงเป็นเก้าอี้ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ของพรรค ก.เขียนเป็นสมการที่หนึ่ง ได้ว่า

เก้าอี้ ส.ส.รวมพรรค ก.-เก้าอี้ ส.ส.เขตพรรค ก.=เก้าอี้ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ พรรค ก.

ตามสมการนี้ คนจึงเข้าใจว่า ถ้าเก้าอี้ ส.ส.เขตมาก เก้าอี้ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์จะน้อย จึงเสนอให้พรรค ก.อย่าชนะเยอะ เช่น ชนะแค่เขตละ 5 หมื่นเสียง เพราะจะเหลือคะแนนไปคิด ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์มาก เมื่อรวม ส.ส.เขตกับ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์แล้วพรรค ก.จะได้ ส.ส.มาก คำแนะนำอีกอย่างคือ เมื่อยิ่งได้ ส.ส.เขตเยอะ จะยิ่งได้ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์น้อย เพราะเชื่อว่าคะแนนเต็มแล้ว จึงเสนอให้แตกพรรค ก.เป็นพรรคพันธมิตร ข.ค.ง. ไปเก็บคะแนนปาร์ตี้ลิสต์

แต่ที่จริง สมการที่หนึ่ง เป็นส่วนแบ่งเก้าอี้ (seat share) ซึ่งขึ้นอยู่กับคะแนนเลือกตั้งที่พรรค ก.ได้จากการเลือกตั้ง (vote share) เพราะจำนวนเก้าอี้ ส.ส.หนึ่งตัวจะเป็นเท่าใดขึ้นอยู่กับคะแนนเลือกตั้ง เขียนเป็นสมการที่สองได้ว่า

Advertisement

คะแนนเสียงต่อเก้าอี้ ส.ส.หนึ่งตัว = คะแนนเสียงที่พรรค ก.ได้ + คะแนนเสียงของพรรคอื่นๆ ทั้งหมดที่ได้ ÷ 500

เมื่อให้ 500 เป็นค่าคงที่ = จำนวนเก้าอี้ ส.ส.ทั้งหมด

ถ้าคะแนนเสียงที่พรรค ก.ได้ + คะแนนเสียงของพรรคอื่นๆ ทั้งหมดที่ได้สูง คะแนนเสียงต่อเก้าอี้ ส.ส.หนึ่งตัวก็สูงตามไปด้วย เมื่อคะแนนเสียงต่อเก้าอี้ ส.ส.หนึ่งตัวสูงจำนวนเก้าอี้ ส.ส.รวมของพรรค ก.ก็อาจน้อยลง เพราะต้องใช้คะแนนเสียงมากขึ้นในการคิดหาเก้าอี้ ส.ส.หนึ่งตัว

Advertisement

คะแนนเสียงที่พรรค ก.ได้ จึงสัมพันธ์กับคะแนนเสียงของพรรคอื่นๆ ทั้งหมดที่ได้ด้วย

ส่วนคะแนนที่พรรค ก.ได้ + คะแนนเสียงของพรรคอื่นๆ ทั้งหมดที่ได้ ก็ขึ้นอยู่กับจำนวนเสียงทั้งหมดที่ผู้มีสิทธิเลือกตั้งมาลงคะแนน (vote population) และขนาดของเขตเลือกตั้ง (district magnitude) ซึ่งปี 2562 ขนาดของเขตเลือกตั้งลดลงจาก 375 เขต เหลือ 350 เขต การแข่งขันจะยิ่งมากขึ้นกว่าเดิม รวมทั้งพรรคที่เข้ามาแข่งขันและวิธีการแข่งขัน

ในการแปลง vote share เป็น seat share (คือ เอาสมการที่หนึ่งกับสมการที่สองรวมกัน) สำหรับการเลือกตั้งหลายพรรคและหลายเขตนั้น นักทฤษฎีการเลือกตั้ง เช่น Taagepera (1986) จึงเสนอเป็นสมการที่สามว่า

ตามกฎของคิวบ์ลอว์ (Cube Law) n มีค่าเข้าใกล้ 3 หมายความว่า การแปลงคะแนนเสียงเป็นจำนวนเก้าอี้ ส.ส.นั้นมาจากหลักของระบบสองพรรค ซึ่งจำนวนเก้าอี้ ส.ส.ของพรรคที่หนึ่ง จะเท่ากับ คะแนนเสียงของพรรคที่หนึ่ง ยกกำลังสามหารด้วยคะแนนเสียงของพรรคที่สอง ยกกำลังสาม และพิสูจน์แล้วว่าถูกต้องจากการเลือกตั้ง ส.ส.เขตในอังกฤษ

พูดให้ง่ายเข้า คือ การเลือกตั้งแต่ละครั้งจะมีตัวผันแปรเชิงโครงสร้างอย่างน้อย 4 ตัวได้แก่

1.คะแนนเสียงที่พรรค ก.ได้
2.คะแนนเสียงที่พรรคอื่นๆ ที่เหลือได้
3.จำนวนเสียงที่ประชาชนลงคะแนนทั้งหมดในครั้งนั้น
4.จำนวนเขตเลือกตั้งในครั้งนั้น

ดังนั้น สมมุติฐานเกี่ยวกับคะแนนเสียงกับเก้าอี้ ส.ส.จึงเป็นไปได้หลายทาง ยกตัวอย่าง

1.พรรค ก.ได้คะแนนเสียงมาก + พรรคอื่นๆ ได้น้อย = พรรค ก.จะได้ ส.ส.เขตมาก + ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์มาก
2.พรรค ก.ได้คะแนนเสียงมาก + พรรคอื่นๆ ได้มาก = พรรค ก.จะได้ ส.ส.เขตมาก + ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์น้อย
3.พรรค ก.ได้คะแนนเสียงมาก + พรรคอื่นๆ ได้ปานกลาง = พรรค ก.จะได้ ส.ส.เขตมาก + ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์น้อย
4.พรรค ก.ได้คะแนนเสียงน้อย + พรรคอื่นๆ ได้มาก = พรรค ก.จะได้ ส.ส.เขตน้อย + ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์น้อย
5.พรรค ก.ได้คะแนนเสียงน้อย + พรรคอื่นๆ ได้น้อย = พรรค ก.จะได้ ส.ส.เขตน้อย + ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์น้อย

ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับจำนวนเสียงที่ประชาชนมาลงคะแนนในครั้งนั้น + จำนวนเขตเลือกตั้ง + พรรคการเมืองที่แข่งขันกัน ในครั้งนั้น เพราะถ้าประชาชนมาออกเสียงเลือกตั้งมาก เขตเลือกตั้งมีน้อย พรรคการเมืองมีมาก การแชร์คะแนนจะยิ่งมีมาก โอกาสที่พรรคต่างๆ จะได้คะแนนก็ลดลงตามส่วน เช่น ได้ ส.ส.เขตน้อยลง และได้ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์น้อยลงด้วย อย่างไรก็ตาม ยังขึ้นอยู่กับความนิยมที่มีต่อพรรคการเมือง ซึ่งคะแนนเสียงอาจเทหรือเบ้ไปที่พรรคใดก็ได้

ด้วยเหตุนี้ เราจึงไม่สามารถนำคะแนนการเลือกตั้งปี 2554 มาคำนวณเก้าอี้ ส.ส.ปี 2562 ได้เพราะว่า

1.เลือกตั้งปี 2554 กับปี 2562 ใช้ระบบเลือกตั้งคนละระบบกัน
2.เราไม่รู้ตัวแปรต่างๆ ที่เกี่ยวข้อตามสูตรของการแปล vote share เป็น seat share โดยเฉพาะเราไม่รู้ว่าพรรคเราจะได้เท่าไหร่ พรรคอื่นได้เท่าไหร่ ประชาชนมาลงคะแนนเท่าไหร่ พรรคที่แข่งขันกันมีเท่าไหร่ หรือเขาทุ่ม-ไม่ทุ่ม

การคำนวณเก้าอี้ ส.ส.ในการเลือกตั้งปี 2562 ไม่มีคะแนนเต็มเราจะรู้ว่าพรรค ก.ข.ค. ฯลฯ ได้เก้าอี้ ส.ส.รวมเท่าไหร่ ก็ต่อเมื่อเรารู้ค่าตัวแปรต่างๆ ดังกล่าว เมื่อได้เก้าอี้ ส.ส.รวมแล้ว จึงไปหักจำนวน ส.ส.เขตออก จึงเป็นเก้าอี้ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ โดยมีความห่างระหว่างคะแนนเสียงของพรรคเรากับพรรคอื่นๆ เป็นตัวตัดสิน

ส่วนการแนะนำให้ชนะ ส.ส.เขต จำนวนมากๆ แต่ไม่ต้องชนะเยอะ เช่น ชนะแค่เขตละ 5 หมื่นนั้น มันทำได้ยาก เพราะเวลา ส.ส.เขตเขาแข่งกัน เขาทุ่มสุดตัว เหมือนนักมวยแพ้ที่เดินลงมาจากเวทีแล้วกระซิบฝ่ายตรงกันข้ามว่า “แหมพี่ก็ไม่ต้องต่อยผมสิบหมัดหรอก ผมโดนพี่น็อกตั้งแต่หมัดที่ห้าแล้ว”

ผู้ชนะตอบเบาๆ ว่า “แล้วกูจะไปรู้ได้ยังไง!!!”

เรืองวิทย์ เกษสุวรรณ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image