สุจิตต์ วงษ์เทศ : ท้องถิ่นมีสตอรี่ แต่ทางการไทยไม่มีสตอรี่ท้องถิ่น

(ซ้าย) ดอยขุนน้ำนางนอนในปัจจุบัน (ภาพจาก www.news1live.com) ผาสามเส้า หรือดอยขุนน้ำนางนอน อ. แม่สาย จ. เชียงราย

สตอรี่ท้องถิ่นมีในความทรงจำของคนท้องถิ่นทุกหนทุกแห่ง ทั้งเก่าและใหม่ ทั้งมากและน้อยต่างไป เช่น ชื่อบ้านนามเมือง เป็นต้น

เหล่านี้ล้วนเป็นตัวกระตุ้นสำคัญให้เกิดพลังสร้างสรรค์และการท่องเที่ยวทั้งเชิงวัฒนธรรมและไม่วัฒนธรรม ซึ่งทุกประเทศทั่วโลกที่ก้าวหน้าทางภูมิปัญญาและทางเทคโนโลยี ต่างยกย่องสตอรี่ท้องถิ่นเหล่านั้น

ชื่อบ้านนามเมือง หมายถึง เรื่องราวความเป็นมาของพื้นที่นั้นๆ (เช่น ชุมชนหมู่บ้าน, เมือง, จังหวัด, แม่น้ำลำคลอง, ภูเขา, ทุ่งนา, หนองบึงบุ่งทาม, เกาะแก่ง และภูมิประเทศทั่วไป) จากความทรงจำตลอดจนความหมายและคำแปลชื่อท้องถิ่น ที่ต้องตรวจสอบกับหลักฐานอื่นๆ ทางประวัติศาสตร์โบราณคดี จึงจะเชื่อถือได้บ้างเป็นเรื่องๆ ไป แต่ไม่จำเป็นต้องยุติตามนั้นทั้งหมดทุกเรื่อง

บางชื่อบางนามเป็นตำนานหรือนิทานที่ถูกแต่งขึ้นสมัยหลังๆ อย่างไม่น่าเป็นเรื่องจริงมาแต่เดิม

Advertisement

แต่ตำนานนิทานเหล่านั้นเป็นสตอรี่ มีพลังสร้างสรรค์ทางศิลปวรรณกรรมร่วมสมัย ย่อมมีคุณค่าควรแก่การทะนุถนอมแล้วใช้งานด้านอื่นๆ ได้มากนับไม่ถ้วน (ถ้าคิดเป็นและทำได้)

เขาขุนน้ำนางนอน (อ.แม่สาย จ.เชียงราย) มีความทรงจำใหม่เกี่ยวกับเหตุการณ์ติดถ้ำหลวงของนักฟุตบอลเยาวชนและโค้ช แต่ในพื้นที่นั้นยังมีความทรงจำเก่าแก่เกี่ยวข้องประวัติศาสตร์ไทยโดยผ่านตำนานนิทานชื่อบ้านนามเมือง เช่น พระเจ้าพรหม ต้นวงศ์พระเจ้าอู่ทองสร้างกรุงศรีอยุธยา ฯลฯ

ทั้งหมดล้วนเป็นทรัพยากรมีพลังเศรษฐกิจสร้างสรรค์อย่างยิ่ง

Advertisement

แต่ทางการไทยทั้งด้านวัฒนธรรมและด้านการศึกษา ส่วนมากตามไม่ทันวิสัยทัศน์สากล จึงกีดกันสตอรี่ท้องถิ่นประเภทคำบอกเล่าชาวบ้านลักษณะตำนานนิทานให้หลุดจากการเรียนการสอนทั้งในระบบและนอกระบบ

ข้าราชการผู้ใหญ่บางคนระดับผู้บริหารวัฒนธรรม เหยียดตำนานนิทานชื่อบ้านนามเมืองในประเทศไทยอย่างไม่ไยดี ทั้งๆ ชื่อหน่วยงานนั้นเกี่ยวข้องส่งเสริมวัฒนธรรม ส่งผลให้หนังสือเผยแพร่เกี่ยวกับวรรณกรรมและการละเล่นพื้นบ้านพื้นเมือง มีผิดพลาดวิปลาสคลาดเคลื่อนจนเกินเยียวยา ไม่น่าใช้ในสถานศึกษา เหตุจากเหยียดชื่อบ้านนามเมืองภูมิสังคม จึงขาดพื้นฐานความรู้ท้องถิ่นที่จะอธิบายสิ่งเหล่านั้น

งานวิจัยของอาจารย์มหาวิทยาลัยมีไม่มาก หรือไม่มีเลยเกี่ยวกับภูมิสังคมชื่อบ้านนามเมือง ไม่ว่าด้านภาษาและวรรณกรรม หรือประวัติศาสตร์ท้องถิ่น

เท่าที่มีไม่มาก งานวิจัยเหล่านั้นกองอยู่ในที่ไม่มีใครรู้เห็นเพราะใช้งานไม่ได้ เนื่องจากรูปแบบรุ่มร่ามอลังการ แต่เนื้อหาซ้ำซาก น้ำท่วมทุ่ง คัดลอกของเก่ามาย้อมแมวขายผิดๆ ถูกๆ เพ้อเจ้อเหมือนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ที่ใช้การจริงไม่ได้

งานวิจัยของอาจารย์มหาวิทยาลัยทำเพื่อประโยชน์ส่วนตน เมื่อได้ตำแหน่งวิชาการแล้วก็เลิก จึงมีลักษณะ ไม่ต่อยอดเป็นนวัตกรรมŽ ตามที่ รมต. ช่วยศึกษาฯ ว่าไว้ในข่าวมติชน(ฉบับวันอังคารที่ 16 ตุลาคม 2561 หน้า 21)

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image