จิตวิวัฒน์ ตอน ศิลปะของการไม่ ‘ช่างแม่ง’ : โดย ศรชัย ฉัตรวิริยะชัย

เมื่อตอนอยู่มหาวิทยาลัยผมได้ตัดสินใจทำอะไรบางอย่างที่มีผลต่อชีวิตผมมาก ผมได้ลงเรียนวิชา “พื้นฐานการแสดงเบื้องต้น” เด็กวัยรุ่นจากนครสวรรค์ ซึ่งในชีวิตที่ผ่านมารู้จักแค่การเรียนและการสอบ เมื่อมาเรียนละครผมก็ได้รู้จักกับวิชาใหม่ คือ วิชา “ช่างแม่ง”

เมื่อมองย้อนหลังกลับไป สิ่งที่ผู้ใหญ่อย่างเราทิ้งกองมรดก “วิชาการข้น ความเป็นคนจืดจาง” เอาไว้ให้ลูกหลานในนามแห่งความหวังดี มันเยอะแยะเกิดกว่าจะจาระไน แต่ระบบการศึกษาที่เน้นให้ความสำคัญกับการวัดการประเมิน ทำให้ผมกลายเป็นเด็กที่เติบโตมาอย่างหวาดวิตก ขี้กลัว ย้ำคิดย้ำทำ แม้แต่เรื่องเล็กๆ น้อยๆ ก็ไม่กล้า เคยแม้กระทั่งก่อนจะออกจากบ้านจะต้องถามแม่ก่อนว่าแต่งตัวแบบนี้ได้ไหม ส่วนถ้าวันไหนหาหัวเข็มขัดลูกเสือไม่เจอนั่นเรื่องใหญ่เลย

ผมแบกเอานิสัยความวิตกกังวลนี้ติดตัวมาตลอดโดยไม่รู้ตัว กระทั่งเมื่อต้องมาแสดงละครเรื่องหนึ่ง ผมก็งุ่นง่านอยู่หลังฉาก เพื่อนก็ทักว่าเป็นอะไร เขาเห็นสีหน้าผมก็รู้ทันทีโดยไม่ต้องอธิบาย เขาบอกว่า

“ฉั่ว มึงต้องท่องอันนี้ไว้นะ กูจะให้คาถามึงอันหนึ่งรับรองจัดการได้ทุกปัญหา”

Advertisement

ผมมองเขาอย่างไม่เชื่อ

“เชื่อสิ มึงท่องอันนี้ไว้เลย” เขามากระซิบข้างหู และคำนั้นก็คือ ใช่ครับ “ช่างแม่ง”

ผมลองพูดตามเขาดังๆ “ช่างแม่ง” วินาทีต่อมาเหมือนยกภูเขาออกจากอก รู้สึกได้ถึงความผ่อนคลายโล่ง ความตึงเครียดในร่างกายเมื่อสักครู่ค่อยเบาบางลงบ้าง และนั่นเป็นครั้งแรกที่ผมได้เห็นถึงประโยชน์ของคาถาบท “ช่างแม่ง”

แต่ไม่นานมานี้ผมได้ไปเจอหนังสืออยู่เล่มชื่อว่า ศิลปะของการไม่ “ช่างแม่ง” (The Subtle Art of Not Giving a Fuck) ชื่อหนังสือถูกใจผมมาก เมื่ออ่านจนจบเล่มก็พบว่ามีบางสิ่งที่น่าสนใจ ผู้แต่ง อีตา มาร์ค แมนสัน เธอเป็นลูสเซอร์ (คนขี้แพ้) คนหนึ่ง ถูกครูจับได้ตั้งแต่อยู่โรงเรียนมัธยมว่าสูบกัญชาจึงถูกพักการเรียน แล้วต่อมาพ่อแม่ก็แยกทางกัน ทำงานก็ไม่ประสบความสำเร็จ ทุกวันนี้ เขาหลุดพ้นจากช่วงเวลาเหล่านั้นมาได้ จึงมาบอกเล่าประสบการณ์

มาร์คสวดส่งจิตวิทยาเชิงบวก บอกว่าเป็นเหมือนเฮโรอีน เป็นการสะกดจิตตัวเอง และผู้ที่สะกดจิตตัวเองอยู่เนืองๆ จะได้ความรู้สึกเหมือนการเสพยา เขาบอกว่าคนเราให้ค่ากับความรู้สึกกันจนมากเกินไป เราแสวงหาแต่ความรู้สึกดีๆ และพยายามจะหลบหนีจากความรู้สึกเป็นทุกข์ เขาบอกว่าไอ้ความรู้สึกโดยตัวมันเองไม่มีอะไรเลย มันเป็นปฏิกิริยาหนึ่งที่เกิดขึ้น เป็นผลของสถานการณ์บางอย่าง แต่คนเรามักปล่อยให้ความรู้สึกเหล่านั้นมาครอบงำจนหลงลืมไปคิดว่าความรู้สึกนั่นก็คือตัวเรา แต่จริงๆ ไม่ใช่ เมื่อเราเข้าใจว่าความรู้สึกเป็นเพียงบางสิ่งที่เกิดขึ้น เข้าใจว่าคนเราสามารถเลือกได้ว่าจะมีปฏิกิริยาอย่างไรต่อความรู้สึกที่เกิดขึ้น

มาร์คบอกว่า ความทุกข์ ความเจ็บปวด คือเรื่องดี เพราะมันกำลังจะส่งสัญญาณบอกอะไรเราบางอย่าง ถ้าปราศจากความทุกข์ ความเจ็บปวด คนเราก็ยากที่จะลุกขึ้นมาเปลี่ยนแปลงตัวเอง

เขาบอกต่อไปว่าความทุกข์ไม่ใช่เรื่องเลวร้ายในตัวเอง เขายกตัวอย่างว่าถ้ามีใครเอาปืนมาจ่อหัวเราแล้วบอกให้เราไปวิ่งมาราธอน เราก็คงจะต้องทนทุกข์ทรมานอย่างแสนสาหัสในการไปวิ่งให้ครบ 42 กิโลเมตร แต่ถ้าเราเองตัดสินใจว่าจะวิ่งมาราธอนให้ได้ เราต้องฝึกหนัก เราต้องเสียเหงื่อ เราต้องไปวิ่งด้วยระยะทางเท่ากับตอนที่มีคนบังคับให้เราวิ่งโดยการเอาปืนจ่อหัว ทุกอย่างไม่แตกต่าง แต่อย่างหลังเราจะมีความสุขมากกว่า เพราะเราได้เลือกว่าเราจะมีทุกข์กับเรื่องอะไร

มาร์คบอกว่า ส่วนใหญ่คนเรามักจะชอบทุกข์กับเรื่องไม่เป็นเรื่อง เรื่องที่อยู่นอกเหนือจากการควบคุมของเรา ซึ่งเขาบอกว่ามันไม่มีประโยชน์

ในหนังสือเล่มนี้ ไม่ได้บอกให้เราช่างแม่งมันทุกเรื่อง แต่เขากำลังบอกว่าอันที่จริงแล้วคนเราต้องเลือกเรื่องที่เราจะไม่ช่างแม่ง และรับผิดชอบต่อตัวเลือกของเรา เรื่องไหนที่เราไม่สามารถจะช่างแม่งได้ แสดงว่าเรื่องนั้นเป็นเรื่องที่เราเห็นว่าสำคัญ เป็นเรื่องที่เราใส่ใจให้ค่า มาร์คบอกว่า เราทุกคนต้องกลับไปพิจารณาว่าเราให้ค่ากับอะไรในชีวิต เพราะการให้ค่าผิดๆ ทำให้เรามีปัญหาผิด และปัญหาผิดย่อมนำไปสู่การใช้ชีวิตผิดๆ เป็นวงจรอุบาทว์ ในทางกลับกันถ้าเราให้ค่ากับสิ่งที่ถูก ไม่ได้หมายความว่าเราจะไม่มีปัญหา แต่เราจะได้แก้ปัญหาที่เรารู้สึกมันท้าทายและสนุกที่จะได้ทำ และนั่นย่อมนำไปสู่ชีวิตอันอุดม

ทำไมการให้คุณค่าจึงสำคัญ เพราะเมื่อคนเราให้คุณค่ากับอะไรเราก็จะวัดประเมินตัวเองจากคุณค่านั้น การให้ค่ากับบางสิ่งที่ไม่เข้าท่าเช่น ความสำเร็จทางวัตถุ ซึ่งเป็นของนอกกาย ในที่สุดเราจะกลายเป็นคนที่ตื้นเขิน และพาชีวิตลงเหวด้วยความสัมพันธ์ส่วนตัวที่พังทลาย

หรือบางคนให้ค่ากับชื่อเสียงและความสำเร็จ นี่ก็ยิ่งเหมือนกับการวิ่งไล่จับเงา เพราะชื่อเสียงเป็นสิ่งที่อยู่นอกเหนือจากความควบคุมของเรา มาร์คบอกว่า การให้คุณค่ากับสิ่งที่เราควบคุมได้เช่น ความซื่อสัตย์ ความจริงใจ คือบันไดขั้นแรกสู่การบ่มเพาะชีวิตอันอุดม

เขายกตัวอย่าง นักกีตาร์หนุ่มยุคทศวรรษ 90 ที่ถูกถีบออกจากวงดนตรีร็อก ด้วยความเจ็บแค้นเขาพยายามรวบรวมวงดนตรีโดยคิดว่าตัวเขาจะต้องดังกว่าเพื่อนที่รวมหัวกันไล่เขาออกจากวง เขามุ่งมั่นจะประสบความสำเร็จโดยคิดว่าสักวันพวกนั้นต้องโกรธตัวเองที่ทำแบบนี้กับเขา และพวกนั้นจะต้องถูกบังคับให้มองความสำเร็จของเขาไปเป็นทศวรรษ และปรากฏว่าเขาก็ประสบความสำเร็จจริงๆ เพียงแค่ออกอัลบั้มแรกก็ได้ถึงแผ่นทองคำ

ศิลปินคนนี้มีชื่อว่า เดฟ มัสเตน และวงดนตรีของเขามีชื่อว่า เมกาเดธ แต่โชคไม่ดีที่วงดนตรีที่เขาถูกไล่ออกมามีชื่อว่า เมทัลลิกา ซึ่งประสบความสำเร็จมากกว่าเมกาเดธหลายเท่านัก การที่เดฟ มัสเตน วัดประเมินคุณค่าของตัวเขากับวงดนตรีเมทัลลิกา เป็นเรื่องที่ไม่เข้าท่า เพราะถึงแม้ว่าตัวเขาจะมีเงิน มีชื่อเสียงเท่าไร เขากลับมองตัวเองว่าเป็นคนขี้แพ้ เพราะพ่ายแพ้ให้กับความสำเร็จของวงดนตรีอีกวง

หนังสือเล่มนี้ให้หลักว่าการให้คุณค่าที่ดีควรจะประกอบไปด้วยสามอย่าง คือ หนึ่งอยู่บนพื้นฐานของความเป็นจริง สองไม่เป็นพิษภัยต่อสังคม และสามต้องสามารถควบคุมได้ เขาได้ให้หลักการกว้างๆ 5 อย่าง ซึ่งมาร์คบอกว่า ทุกคนจะได้ประโยชน์ และไม่ควรช่างแม่ง ซึ่งก็คือ 1.รับผิดชอบ 100% 2.ดำรงอยู่ในความไม่รู้ 3.ยอมรับความล้มเหลว 4.กล้าพูดว่าไม่ และสุดท้ายคือ มรณานุสติ

ผมขอเลือกมาพูดเฉพาะคุณค่าแรก คือ “รับผิดชอบ 100%” หมายถึงให้เรารับผิดชอบกับทุกสิ่งทุกอย่างที่เกิดขึ้นมาในชีวิตของเรา 100% โดยไม่มีเงื่อนไข

ถึงแม้มันจะไม่ใช่ความผิดของเรา

ผมเคยทำงานกับผู้ร่วมงาน “ขี้โบ้ย” ที่มักจะแก้ตัวและโบ้ยความผิดไปให้คนอื่นตลอดเวลา มันทำให้ผมนึกถึงสุภาษิตไทยที่บอกว่า “คนดีชอบแก้ไข คนจัญไรชอบแก้ตัว” พระอาจารย์ไพบูลย์ ฐิตมโน คุรุทางจิตวิญญาณของผมมักจะกล่าวให้ได้ยินเสมอว่า “ผิดน่ะให้รับ ส่วนชอบไม่ต้องรับก็ได้ เพราะถ้าชอบยังไงมันก็อยากจะรับ” เป็นการตักเตือนอยู่เนืองๆ ว่าคนเราไม่ควรตักตวงเอาแต่ประโยชน์

มาร์คบอกว่า วินาทีที่เราตัดสินใจแอ่นอกรับทั้งผิดและชอบกับทุกอย่างที่เกิดขึ้นกับเรา

เราจะเปลี่ยนจากคนที่โทษนั่นโทษนี่ โทษโชคชะตาฟ้าลิขิต มาสู่การลิขิตชีวิตของตัวเอง ซึ่งเพียงข้อนี้ข้อเดียวเราจะเปลี่ยนมุมมองของเราที่มีต่อโลกใบนี้ไปเลย คำแนะนำนี้ดูตรงกันข้ามกับความเชื่อของคนทั่วไป โดยเฉพาะสังคมไทยที่นิยม “ความดี” ซึ่งเป็นคุณค่าที่แย่ เพราะในแง่หนึ่งความดีไม่ได้อยู่ที่ตัวเรา แต่อยู่ที่คนอื่นมองและมันเป็นปัจจัยที่คุณควบคุมไม่ได้ ความดีจึงค่อนข้างเลื่อนลอย แทนที่จะพูดว่าทำความดี ควรจะระบุไปเลยว่าคุณค่าอะไรที่เราคิดว่าดีและจะยึดถือมาเป็นสรณะ เป็นหลักในการดำรงชีวิต ซึ่งดีกว่าการตั้งเข็มปักธงว่าฉันจะ “เป็น” คนดี ซึ่งในตัวมันต้องการการรับรองจากคนอื่น จึงเป็นสิ่งที่เลื่อนลอยและเราควบคุมไม่ได้

ศรชัย ฉัตรวิริยะชัย
www.thaissf.org, twitter.com/jitwiwat
สนับสนุนโดย มูลนิธิสดศรี-สฤษดิ์วงศ์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image