ไอยูยู ไอเคโอ รธน.เสรีภาพ คนละเรื่องเดียวกัน

สองปีผ่านไปหลังการยึดอำนาจของ คสช.

สถานการณ์ภายในประเทศอาจจะดู “สงบเรียนร้อย” ขึ้น

เพราะการใช้อำนาจที่เหนือกว่ากดความเห็นที่แตกต่างเอาไว้

แต่แนวรบด้านต่างประเทศไม่เปลี่ยนแปลง

Advertisement

ซ้ำดูเหมือนจะยิ่งมีแรงบีบรัดหนักหน่วงยิ่งขึ้น

กรณีล่าสุดคือ IUU หรือ illegal, unreported, unregulated หรือการทำประมงที่ “ผิดกฎหมาย ขาดรายงาน ไร้มาตรการควบคุม” ที่สหภาพยุโรปตั้งข้อหากับประเทศไทย

ใบเหลืองใบแรกที่มากว่าหนึ่งปียังไม่ถูกปลด

ในการแจ้งสถานภาพล่าสุด อียูให้เหตุผลในการคงใบเหลืองเอาไว้ว่า

เพราะไทยขาด political will หรือเจตนารมณ์ทางการเมืองในการแก้ปัญหา

คำชี้แจงของฝ่ายไทยที่ว่าแก้ไขปัญหาไปแล้ว 36 จาก 65 ประเด็น

กลับมาเป็นหอกย้อนทิ่มแทงตัวเอง ว่าทั้งหมดยังดำเนินการไม่ครบถ้วน

มีปัญหาทั้งในระดับหน่วยงานปฏิบัติ

และมีข้อกังวลถึง “สถานการณ์ทางการเมือง”

ภาพและข้อเท็จจริงทั้งหมดจะชัดเจนยิ่งขึ้น ในการหารือระหว่างตัวแทนรัฐบาลไทย-กรรมาธิการประมงอียูรอบต่อไปในเดือนพฤษภาคม

และการเจรจาปลด “ใบแดง” ขององค์การการบินนานาชาติ หรือ ICAO

ในเวลาไล่เลี่ยกัน

ในด้านหนึ่ง

ปฏิเสธไม่ได้ว่าการดำเนินการทั้งเรื่องประมงและการบินของไทย มีปัญหาในเรื่องมาตรฐานอยู่จริง

แต่ในอีกด้านหนึ่ง

ปฏิเสธไม่ได้อีกเช่นกันว่าปัญหา “ภาพพจน์” โดยเฉพาะอย่างยิ่งทางการเมือง ส่งผลกระทบต่อปัญหาที่เกิดขึ้นอยู่แล้ว

ไม่มากก็น้อย

ขึ้นกับความเชื่อและทัศนคติของผู้ที่จับจ้องมองฝ่ายหนึ่ง

และขึ้นกับพฤติกรรม-การแสดงออกของไทยเองอีกฝ่ายหนึ่ง

การออกกฎหมายที่ให้อำนาจกับเจ้าหน้าที่ทหารสามารถจับกุมคุมขังบุคคลได้แม้ปราศจากข้อหาก็ดี

การกุมตัวนายวัฒนา เมืองสุข อันนำไปสู่ข้อเรียกร้อกให้ปล่อยตัวขององค์กรด้านสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศจำนวนไม่น้อยก็ดี

การประกาศกฎระเบียบในการทำประชามติรัฐธรรมนูญ ที่เอื้อต่อการสนับสนุนมากกว่าแสดงความเห็นคัดค้านก็ดี

ฯลฯ

เหล่านี้ทำให้เกิดปฏิกิริยาที่ไม่เป็นทางบวกมาแล้วทั้งสิ้น

แม้แต่ผู้มีหน้าที่พูดจาสร้างภาพพจน์ประเทศ

ก็ยังชวนให้สงสัยอยู่ว่า

จะช่วยสร้างความเข้าใจหรือสร้างภาพอันไม่พึงปรารถนา

นายดอน ปรมัตถ์วินัย รมว.ต่างประเทศ ตอบข้อถามเรื่องบทลงโทษที่รุนแรงใน พ.ร.บ.การออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ จะดึงให้องค์การระหว่างประเทศเข้ามาร่วมสังเกตการณ์หรือไม่ ว่าไม่

เพราะกฎหมายคือกฎหมาย และประเทศทางตะวันตก เขาก็เคารพกฎหมายทั้งของบ้านเขาและของคนอื่น

เมื่อ พ.ร.บ.ฉบับนี้ประกาศใช้แล้ว ทุกคนต้องปฏิบัติตาม

“ขอถามว่า พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าวทำให้ใครเสียหายเจ็บปวด หากไม่ได้แสดงความคิดเห็น”

เมื่อถามว่ากรณีที่ นพ.เหวง โตจิราการ แกนนำ นปช. ระบุว่าสมควรมีองค์กรที่คานอำนาจกับคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) มาสังเกตการณ์เพื่อให้การทำประชามติมีความยุติธรรม

นายดอนกล่าวว่า ก่อนที่รัฐธรรมนูญของแต่ละประเทศจะออกมา ไม่ใช่ทุกทุกประเทศที่จะทำประชามติ

แต่ของเราถือว่ามีความเป็นสุภาพบุรุษ เพราะตอนปี 2549 ที่คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) ทำรัฐประหาร ก็ให้ทำประชามติกับร่างรัฐธรรมนูญปี 2550

ด้วยเหตุนี้ คสช. เห็นว่า เป็นเรื่องที่ดีและเป็นสุภาพบุรุษในลักษณะของทหารพัฒนา ที่ไม่ต้องการอยู่ในอำนาจยาวนาน

จึงนำมาใช้บ้าง

ถ้าเชื่อโดยสนิทใจว่าปัญหาเศรษฐกิจไม่มีความเกี่ยวโยงต่อเนื่องกับการเมือง

ถ้าเชื่อโดยสนิทใจว่าแรงกดดันจากต่างประเทศมิได้ส่งผลกระทบใดๆ กับกิจการภายในประเทศ

ก็ไม่มีความจำเป็นจะต้องสนใจ “ประชาธิปไตยโลก”

ก็ไม่มีความจำเป็นจะต้องเคารพในหลักการสากล

ไม่ว่าจะเป็นหลักเสรีภาพ หลักเสมอภาค หรือหลักสิทธิมนุษยชน

แต่ถ้าเชื่อว่าทุกอย่างมีความเกี่ยวเนื่องเชื่อมโยง

เชื่อว่าโลกที่ใบเล็กลง ทำให้ผลกระทบต่อไทยรุนแรงกว้างขวางขึ้น

ปัจจัยต่างประเทศเป็นสิ่งที่มองข้ามไม่ได้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image