สกู๊ปพิเศษ : มั่นและมิ่ง อนาคตพญาแร้ง ฟื้นคืนป่าเมืองไทย

นับตั้งแต่ปี 2535 ที่นายพรานใจโฉดตั้งใจจะล่าเสือโคร่งในพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง โดยฆ่าเก้งให้ตายก่อน แล้วเอายาฆ่าแมลงทาซากเก้งเพื่อหวังให้

เสือโคร่งมากิน ว่ากันว่า วิธีนี้จะทำให้ได้หนังเสือโคร่งที่สมบูรณ์ที่สุด เพราะหากใช้วิธีการยิง จะมีรอยตำหนิเป็นรูได้

เสือโคร่งไม่ตาย แต่ฝูงพญาแร้งที่บินผ่านมาในตอนนั้นได้กลิ่นและเห็นซากเก้ง

ดังกล่าวเสียก่อน พวกมันโผลงมาจิกกินซากเก้งอย่างเอร็ดอร่อย ต่อมาไม่นานก็ค่อยๆ ดิ้นทุรนทุรายขาดใจตายไปอย่างช้าๆ นับซากได้ทั้งสิ้น 35 ตัว

Advertisement

ที่น่าเศร้าใจยิ่งกว่าคือ พวกมันเป็นพญาแร้งในธรรมชาติฝูงสุดท้ายในป่าธรรมชาติของประเทศไทย

ในตอนนั้นประวัติศาสตร์ด้านสัตว์ป่าของประเทศไทยในเวลานั้นได้บันทึกเอาไว้ว่า พญาแร้งในประเทศไทยได้สูญพันธุ์จากธรรมชาติไปอย่างถาวรแล้ว เช่นเดียวกับสมัน กูปรี และนกกระเรียน

ผ่านไป 20 กว่าปี สถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าห้วยขาแข้ง สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช ได้รับพญาแร้งพลัดหลงและพญาแร้งที่ประชาชนเคยครอบครองมาก่อนเอามามอบให้เลี้ยงดู ขณะเดียวกันที่สวนสัตว์นครราชสีมาก็ดูแลพญาแร้งอยู่ 5 ตัว กรมอุทยานแห่งชาติรวมแล้วเวลานี้มีพญาแร้งอยู่ในกรงเลี้ยงทั้งหมด 7 ตัว กรมอุทยานจึงร่วมกับองค์การสวนสัตว์แห่งประเทศไทยและมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ทำโครงการฟื้นฟูประชากรพญาแร้งในถิ่นอาศัยตามธรรมชาติของประเทศไทย โดยจะทำกรงขนาดใหญ่ในป่าธรรมชาติ คือพื้นที่ซับฟ้าผ่า ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง พื้นที่ที่พบพญาแร้งฝูงสุดท้ายในป่าธรรมชาติ

Advertisement

กรงขนาดใหญ่ที่ว่าจะมีขนาด 20×40 เมตร สูง 20 เมตร ให้ล้อมรอบด้วยป่าธรรมชาติ เพื่อให้พญาแร้งและลูกน้อยในอนาคตได้คุ้นเคย

มั่น

“มติชน” ได้เดินทางไปเยี่ยม เจ้ามิ่ง กับน้องมั่น พญาแร้ง 2 ตัว เพศผู้กับเพศเมีย ที่สถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าห้วยขาแข้ง จ.อุทัยธานี

ตรศักดิ์ นิภานันท์ หัวหน้าสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าห้วยขาแข้ง เล่าว่า ได้รับมิ่ง พญาแร้งตัวเมียจากสถานีวิจัยการเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าเขาประทับช้าง ส่วนมั่น พญาแร้งตัวผู้ได้มาจาก จ.ศรีสะเกษ

“ระหว่างที่เรากำลังรอสร้างกรง หลังจากฟูมฟักเจ้ามิ่งกับเจ้ามั่นจนแข็งแรงได้สักพัก เราเอาทั้ง 2 ตัว มาอยู่ร่วมกรงเดียวกัน ก็เป็นที่น่ายินดีว่ามิ่งไม่ได้นึกรังเกียจมั่น ไม่มีปฏิกิริยาต่อต้าน ยอมให้เข้าใกล้บ้างในบางครั้ง ซึ่งปกติแล้วหากพญาแร้งตัวเมียไม่เอาตัวผู้มันจะไม่ให้เข้าใกล้เลย อาจจะมีการต่อสู้กัน แต่มิ่งไม่ได้เป็นแบบนั้น ถือเป็นสัญญาณที่ดี ถ้าพูดกันตามประสาคน คือคงจะมีชอบๆ บ้าง แต่ช่วงนี้ยังไม่ถึงเวลาผสมพันธุ์ ก็คงต้องรอเวลาอีกสักนิด” นายตรศักดิ์กล่าว

เวลานี้ มั่นอายุประมาณ 20 กว่าปี ถ้าเปรียบกับคนก็เหมือนหนุ่มวัยฉกรรจ์ที่พร้อมจะเป็นพ่อพันธุ์เต็มที่ ส่วนมิ่งยังเป็นสาวรุ่น อายุประมาณ 10 กว่าปี ก็ถือว่าอยู่ในวัยเจริญพันธุ์เช่นเดียวกัน แต่ประเด็นที่ต้องระมัดระวังอย่างยิ่ง สำหรับการฟูมฟักพญาแรงเพื่อให้ได้ลูกน้อยออกมาก็คือ พญาแร้งจะไข่เพียงครั้งละฟอง และไข่ปีเว้นปีเท่านั้น หากสภาพภูมิอากาศไม่เอื้ออำนวยหรือมันมีอาการตกใจ สภาวะจิตใจไม่ดีก็จะไม่ผสมพันธุ์ และไม่ออกไข่ในเวลาที่ควรจะออกเลย

“แต่ก็มีสัญญาณที่ดีนะครับว่ามิ่งกับมั่นจะลงเลยกันด้วยดี หากพวกมันมีลูกทันกับที่กรงใหญ่เราสร้างเสร็จ กรงใหญ่จะช่วยให้มันได้เรียนรู้ชีวิตในธรรมชาติ และฝึกบินได้สูงขึ้น เมื่อมั่นใจแล้วเราก็จะปล่อยมันคืนสู่ธรรมชาติในป่าห้วยขาแข้งทันที” หัวหน้าสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าห้วยขาแข้งกล่าว

ตรศักดิ์กล่าวว่า ใครๆ หลายคนอาจจะมองว่าแร้งเป็นสัตว์ที่มีรูปร่างหน้าตาอัปลักษณ์ หัวล้าน ตัวเหม็นสาบ กลิ่นรุนแรง แต่แร้งเป็นสัตว์ที่มีคุณต่อเราอย่างยิ่ง ในอดีตแร้งเป็นสัตว์ที่ทำหน้าที่เหมือนพนักงานทำความสะอาด มันคอยกินซากเน่าเปื่อยของสัตว์ที่ตายทั้งในและนอกป่า ป้องกันไม่ให้เชื้อโรคระบาดลุกลามออกไปจากพื้นที่ที่มีซากสัตว์ตาย

รูปลักษณ์และกิริยาท่าทางต่างๆ ในตัวแร้งนั้นธรรมชาติสร้างขึ้นอย่างมีเหตุผลมากที่สุดด้วย เช่น ส่วนหัวที่ไม่มีขนเอาเสียของแร้งนั้น เป็นเพราะปกติเวลากินซากสัตว์ต่างๆ แร้งจะเอาหัวชอนไชเข้าไปตามซอกของซากสัตว์เหล่านั้น หากมีขนที่หัวพวกมันจะทำความสะอาดตัวเองยาก ส่วนการที่แร้งมักจะกางปีกอยู่เสมอๆ นั้น ตรศักดิ์อธิบายว่า มันไม่ได้ต้องการจะข่มขวัญอะไรใคร แต่ด้วยแร้งเป็นสัตว์ใหญ่ น้ำหนักตัวเยอะ การหุบปีกเอาไว้จะทำให้เกิดความชื้น มีเหงื่อ พวกมันจึงต้องระบายความชื้นให้ตัวเองโดยการกางปีกออกบ่อยๆ นั่นเอง

สำหรับนกแร้งที่พบในประเทศไทยมี 5 ชนิด แบ่งออกได้เป็นสองกลุ่มใหญ่ คือ แร้งอพยพ และแร้งประจำถิ่น

แร้งอพยพ คือ แร้งที่ไม่จับคู่ ทำรัง วางไข่ในประเทศไทย แต่อพยพหนีอากาศหนาวเข้ามาในประเทศไทยในช่วงฤดูหนาวเป็นระยะเวลาสั้นๆ เพียง 3-5 เดือน ตั้งแต่ประมาณเดือนธันวาคมถึงพฤษภาคม ซึ่งในประเทศไทยพบเพียงสองชนิดเท่านั้น คือแร้งสีน้ำตาลหิมาลัย กับแร้งดำหิมาลัย

ส่วน แร้งประจำถิ่น หมายถึง แร้งที่จับคู่ ทำรัง ผสมพันธุ์ วางไข่ และหากินในประเทศไทยตลอดทั้งปี ไม่อพยพไปที่อื่น แบ่งออกเป็นสามชนิด คือแร้งเทาหลังขาว มีขนาดเล็กที่สุดที่พบในประเทศไทย ไม่มีรายงานการพบเห็นมากกว่า 30 ปีแล้ว แร้งสีน้ำตาลก็ไม่มีรายงานการพบเห็นนานมากแล้ว และพญาแร้ง ซึ่งสูญพันธุ์ไปจากป่าธรรมชาติแล้วเช่นเดียวกัน

ทายาทของมั่นและมิ่ง คืออนาคตของพญาแร้งในป่าธรรมชาติของประเทศไทยนั่นเอง…

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image