จุดอ่อนของระบบจัดสรรปันส่วนผสมของไทย : โดย เรืองวิทย์ เกษสุวรรณ

ระบบจัดสรรปันส่วนผสมของไทยที่จะใช้เลือกตั้งปี 2562 นี้ คล้ายกับระบบผสมของเยอรมนีตามกฎหมายเลือกตั้งปี 1949 คือ เป็นระบบที่ให้เลือกตั้งเฉพาะ ส.ส.เขตและมีบัตรใบเดียว และใช้คะแนน ส.ส.เขตคำนวณหาจำนวน ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ แต่ไม่ให้เลือกพรรคเพื่อคิด ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์โดยตรง ส่วนที่ต่างกันมีเพียงไทยไม่มีเกณฑ์ขั้นต่ำที่จะได้ ส.ส.เหมือนเยอรมนี

ระบบจัดสรรปันส่วนผสมของไทยมีจุดอ่อนที่สำคัญ 4 ประการ ดังนี้

ประการที่หนึ่ง จุดอ่อนจากการใช้บัตรเลือกตั้งใบเดียว และการกำหนดให้ผู้เลือกตั้งเลือกได้เฉพาะ ส.ส.เขต แต่ไม่ให้เลือก ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ โดยใช้วิธีคำนวณแทน ปัญหาที่จะเกิดจากกรณีนี้ ได้แก่

(1) ส.ส.เขตมีความสำคัญมาก เพราะเป็นตัวชี้ขาดการเลือกตั้ง ทั้งจำนวน ส.ส.เขตที่พรรคการเมืองจะได้ และจำนวน ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ซึ่งเกิดจากการนำคะแนน ส.ส.เขตไปคิดคำนวณ ดังปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นอยู่ในขณะนี้ คือ ผู้สมัครต่างต้องการลงสมัคร ส.ส.เขต จนล้นพรรค และจะส่งผลให้เกิดปัญหาการควบคุม ส.ส.เขตในอนาคต

Advertisement

(2) การแข่งขัน ส.ส.เขตจะรุนแรงมาก สืบเนื่องจาก ส.ส.เขตมีความสำคัญมาก ดังนั้น พรรคการเมืองจะทุ่มทุนและทรัพยากรทุกอย่างเข้าสู่สนามการแข่งขัน ส.ส.เขต เช่น ต้องส่งสมัครให้ครบ 350 เขต ต้องคัดคนที่มีความนิยมในพื้นที่ หรือใช้วิธีลัดดึงเอาคนที่ได้รับความนิยมอยู่แล้วเข้าพรรค รวมทั้งวิธีการอื่นทุกๆ ทาง

(3) วิธีการแข่งขันจะเปลี่ยนไป เนื่องจากแข่งขัน ส.ส.เขตจะขึ้นอยู่กับความเป็นพรรคพวก (partisanship) สายสัมพันธ์ส่วนตัว และผลงานของผู้สมัคร ส.ส.เขตในพื้นที่ ซึ่งเกี่ยวข้องกับผลงานและนโยบายของพรรคน้อยลง เพราะไม่ได้เลือกพรรคโดยตรงแบบการเลือกด้วยบัตรสองใบ ผลงานกับนโยบายของพรรคจึงมีผลทางอ้อมมากกว่าทางตรง

(4) ผู้เลือกตั้งไม่สามารถใช้วิธีลงคะแนนเสียงเชิงกลยุทธ์ (strategic vote) ได้ วิธีลงคะแนนเสียงเชิงกลยุทธ์มีหลายแบบ สำหรับกรณีบัตรเลือกตั้งสองใบ ผู้เลือกตั้งสามารถเลือกผู้สมัครพรรคหนึ่ง และเลือกเบอร์พรรคอีกพรรคหนึ่งได้ แต่เมื่อมีบัตรเลือกตั้งใบเดียว ผู้เลือกตั้งจะถูกบังคับให้เลือก ส.ส.เขตอย่างเดียว หรือที่ทางวิชาการเรียกว่า “sincere vote”

Advertisement

(5) ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ลดความสำคัญลง เนื่องจากผู้เลือกตั้งไม่ได้ไปคูหาลงคะแนนเสียงเลือกพรรค โดยเอาประเทศเป็นเขตเลือกตั้ง และคิดเป็นเปอร์เซ็นต์ว่าพรรคใดจะได้ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์กี่ที่นั่งเหมือนเมื่อก่อน นอกจากนั้น ยังมีเหตุผลมาจากวิธีการคำนวณแบบใหม่ซึ่งยอกย้อน และคาดคะเนได้ยากว่าแต่ละพรรคจะได้ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์กี่คน

(6) พรรคควบคุม ส.ส.ได้น้อยลง เนื่องจาก ส.ส.เขตจะเน้นตัวบุคคล เมื่อตัวบุคคลในแต่ละเขตมีความสำคัญ พรรคหรือผู้นำพรรคก็ย่อมมีความสำคัญลดลง ขณะเดียวกันกระบวนการสรรหาซึ่งพรรคเคยใช้ควบคุมและคัดคนลง ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์อย่างได้ผลนั้น จะใช้ได้น้อยลง เพราะผู้สมัครปาร์ตี้ลิสต์ในระบบใหม่มีความเสี่ยงสูงขึ้น คนดีคนเด่นจึงอยากลงน้อยลง

ประการที่สอง จุดอ่อนที่เกิดจากวิธีการคำนวณหาเก้าอี้ ส.ส. ระบบจัดสรรปันส่วนผสมใช้วิธีการคำนวณหาเก้าอี้ ส.ส.แบบใหม่ ผลที่เกิดขึ้น คือ

(1) ความเป็นสัดส่วน (proportionality) หายไป เนื่องจากพรรคหนึ่งๆ จะได้เก้าอี้ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ ต้องเอาคะแนน ส.ส.เขตไปคำนวณเพื่อหาเก้าอี้ ส.ส.รวมของพรรคนั้นก่อน จากนั้นจึงเอาจำนวนเก้าอี้ ส.ส.เขตมาหักออก ที่เหลือจึงเป็นเก้าอี้ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ ขณะที่เป็น “จำนวนเก้าอี้ ส.ส.รวมของพรรค” นั้น ยังคงความเป็นสัดส่วนอยู่ เพราะคิดตามสัดส่วนของคะแนนเสียงที่ประชาชนเลือกตั้งมาทั้งหมด แต่พอเอา “จำนวนเก้าอี้ ส.ส.เขต” ไปหักออก ตรงนี้แหละที่ทำให้ความเป็นสัดส่วนเสียไป เพราะเก้าอี้ของ ส.ส.เขตไม่ได้มาจากความเป็นสัดส่วน แต่มาจากหลักเสียงข้างมาก เมื่อหักเก้าอี้ ส.ส.เขตแล้วส่วนที่เหลือซึ่งเป็น “จำนวนที่นั่ง ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์” นั้น จึงขาดความเป็นสัดส่วนไปด้วย เมื่อเทียบกับระบบเดิมที่ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์มาจากประชาชนเลือกพรรค โดยใช้ประเทศเป็นเขตเลือกตั้ง เมื่อพรรคใดได้คะแนนจากการเลือกพรรคกี่เปอร์เซ็นต์ พรรคนั้นจะได้จำนวนที่นั่ง ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์เท่านั้นเปอร์เซ็นต์ด้วย ซึ่งมีความเป็นสัดส่วนกันชัดเจน

ความเป็นสัดส่วนนี้สำคัญมาก เพราะเป็นตัววัดความยุติธรรม (fair) ของการเลือกตั้ง โดยดูว่า “คะแนนเสียงที่พรรค ก.ได้รับ” จะเป็นสัดส่วนเดียวกันกับ “จำนวนเก้าอี้ ส.ส.ที่พรรค ก.ได้รับ” หรือไม่ เช่น ถ้าพรรค ก. ได้คะแนนเสียง 10% และได้ที่เก้าอี้ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ 10% อย่างนี้เรียกว่าเป็นสัดส่วนเดียวกัน หรือมีค่าความเป็นสัดส่วนระหว่างเก้าอี้กับคะแนนเสียง (seats to votes ratio) เท่ากับ 1 ถ้าค่าความเป็นสัดส่วนนี้ต่ำกว่า 1 หรือติดลบเท่าใด จำนวนที่นั่ง ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ของพรรค ก. ที่ได้รับจะน้อยกว่าคะแนนเสียงที่พรรค ก.ได้รับเท่านั้น หรือพูดง่ายๆ ว่า ไม่ยุติธรรม (unfair) กับพรรค ก.เท่านั้น และอย่าลืมว่าจะระบบปาร์ตี้ลิสต์ในโลกนี้สร้างขึ้นมา ก็เพื่อสร้างความเป็นสัดส่วนอันนี้ เพราะเขาถือว่าความเป็นสัดส่วนสะท้อนเจตจำนงของกลุ่มหลากหลาย คุ้มครองเสียงส่วนน้อยและกระจายผลประโยชน์ของกลุ่มคนได้ดีกว่าการไม่เป็นสัดส่วน อนึ่ง ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ในภาษาอังกฤษ เรียกว่า “proportional representation” แปลว่า “ตัวแทนในระบบสัดส่วน”

(2) เก้าอี้ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์มีแนวโน้มที่จะผกผันกับเก้าอี้ ส.ส.เขต เพราะเก้าอี้ ส.ส.เขตเป็นตัวหักออกจากเก้าอี้ ส.ส.รวมของพรรค ยิ่งพรรคได้ ส.ส.เขตมาก ก็ยิ่งมีแนวโน้มที่จะเหลือ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์น้อย แต่ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความแปรปรวนภายในระหว่างพรรคต่างๆ คือ คะแนนเสียงของพรรคเรากับพรรคอื่นด้วย ถ้าคะแนนเสียงของพรรคเราทิ้งขาดจากพรรคอื่นมากๆ เราก็อาจได้ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์มากด้วย แต่ถ้าพรรคเรากับพรรคอื่นๆ คะแนนไม่ทิ้งกันมาก พรรคอื่นจะเข้ามาเฉลี่ยเก้าอี้ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์มาก วิธีการแก้ปัญหานี้จึงมีทางเดียว คือ การสร้างความนิยมถล่มทลายให้เกิดกับพรรคเราให้ได้

(3) จูงใจให้พรรคเกิดใหม่เข้าสู่การเลือกตั้งมาก เมื่อเก้าอี้ ส.ส.คำนวณยาก จึงนิยมใช้คะแนนเก่ามาคิด เช่น ปี 2554 คำนวณได้ 7 หมื่นคะแนนต่อหนึ่งเก้าอี้ ส.ส.จึงสร้างความ “ฝันหวาน” ให้กับพรรคการเมืองใหม่ๆ เพราะถ้าได้แค่เขตละ 200 คะแนน คูณด้วย 350 เขต ก็ได้ 7 หมื่นคะแนนแล้ว

(4) สร้างความสับสนให้กับผู้เลือกตั้ง เมื่อมีพรรคใหม่เข้าสู่เลือกตั้งมาก เป้าหมายการแบ่งคะแนนและเก้าอี้จะมีมาก การหาเสียงจะซ้ำซ้อนและปนเปกัน จนผู้เลือกตั้งอาจมึนงงไปหมด เช่น คนอาจรู้จักพรรคหรือหัวหน้าพรรคไม่ครบทุกพรรค เว้นแต่พรรคที่เด่นจริงๆ หรือพรรคที่มีผู้เลือกตั้งเป็นกลุ่มแฟนพันธุ์แท้จริงๆ

ประการที่สาม ความผันผวนทางการเมือง (political volatility) สาเหตุข้อนี้มาทั้งจากทั้งการเปลี่ยนวิธีคำนวณในข้อที่ผ่านมา กับเหตุผลจากการที่พรรคการเมือง “ถูกกักบริเวณ” ไว้นานจนอั้น พอได้มีโอกาสปลดปล่อยจึงพุ่งพรวดออกมาพร้อมๆ กัน ทำให้เกิดพรรคการเมืองใหม่ขึ้นมาจำนวนมาก เช่น ในปัจจุบันมีผู้ขอจดทะเบียนพรรคการเมืองถึง 122 พรรค การเปลี่ยนแปลงพรรคการเมืองในสนามการเมืองเช่นนี้ ส่งผลโดยตรงต่อกระบวนการพัฒนาประชาธิปไตย (process of democratization) เพราะระบบพรรคการเมืองที่มั่นคงเป็นหัวใจสำคัญของเสถียรภาพทางการเมืองในระบอบประชาธิปไตยหากมีพรรคการเมืองมากเกินไปจะทำให้เกิดความไม่มั่นคงและความไม่แน่นอนทางการเมือง

ประการที่สี่ ปัจจัยต่างๆ ทั้งหมดส่งผลให้การเมืองมีแนวโน้มไม่มีพรรคใดได้เสียงข้างมาก จึงต้องเป็นรัฐบาลผสมซึ่งต้องกระทำโดยวิธีสร้างพันธมิตร เช่น แตกพรรค และวิธีหาพันธมิตร เช่น จับมือกันล่วงหน้า การเมืองไทยจะเกิดการต่อรองกันอย่างมาก ชนิดที่ไม่เคยมีมาก่อน มีแนวโน้มที่จะก่อให้เกิดการไร้เสถียรภาพทางการเมืองและรัฐบาลตามมา

โจทย์ที่ต้องขบคิดล่วงหน้า คือ คนไทยจะทนกับการต่อรองและการเป็นรัฐบาลผสมได้นานแค่ไหน!!!

เรืองวิทย์ เกษสุวรรณ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image