บทนำมติชน : กม.ประชามติ

พระราชบัญญัติว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2559 มีผลบังคับใช้แล้ว และกำหนดหลักเกณฑ์ไว้น่าสนใจหลายประการด้วยกัน อาทิ มาตรา 7 ว่า บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น และเผยแพร่ความคิดเห็นเกี่ยวกับการออกเสียงโดยสุจริตและไม่ขัดต่อกฎหมาย และยังกำหนดในมาตรา 61 (1) ว่า ผู้ใดก่อความวุ่นวายเพื่อให้การออกเสียง ไม่เป็นไปด้วยความเรียบร้อย มีโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี ปรับไม่เกิน 2 แสนบาท และอาจถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง 5 ปีด้วยก็ได้ และถ้ากระทำโดยคณะบุคคลตั้งแต่ 5 คน ขึ้นไป โทษจำคุกตั้งแต่ 1 ปีถึง 10 ปี ปรับ 2 หมื่นถึง 2 แสนบาท และเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง 10 ปี

การก่อความวุ่นวายตามมาตรา 61 (1) คืออย่างไร มีการขยายความในมาตราเดียวกันว่า ผู้ใดเผยแพร่ข้อความ ภาพ เสียง ในสื่อหนังสือพิมพ์ วิทยุโทรทัศน์ สื่ออิเล็กทรอนิกส์ หรือช่องทางอื่นใด ผิดไปจากข้อเท็จจริง หรือมีลักษณะรุนแรง ก้าวร้าว หยาบคาย ปลุกระดม หรือข่มขู่ โดยมุ่งหวังให้ผู้มีสิทธิออกเสียง ไม่ไปใช้สิทธิออกเสียง หรือออกเสียงอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือไม่ออกเสียง ให้ถือว่า ผู้นั้นกระทำการก่อความวุ่นวาย เพื่อให้การออกเสียง ไม่เป็นไปด้วยความเรียบร้อย

ต้องถือว่า เป็นการลงประชามติที่มีกรอบเข้มงวด นอกจากกฎหมายดังกล่าวแล้ว ยังมีคำเตือนจากคณะกรรมการการเลือกตั้ง และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ที่ขอให้ประชาชนให้ศึกษากฎหมายให้ดี ผลกระทบที่เกิดขึ้นอย่างแน่นอนก็คือ แม้กฎหมายฉบับเดียวกัน ได้ให้เสรีภาพในการแสดงและเผยแพร่ความคิดเห็น โดยสุจริต และไม่ขัดต่อกฎหมาย แต่ข้อห้ามและบทลงโทษต่างๆ อาจทำให้เกิดความหวั่นเกรงหรือไม่แน่ใจ เพราะไม่แน่ใจว่า ข้อคิดเห็นที่เสนอออกไป จะถูกตีความว่า เป็นความผิดหรือไม่

ร่างรัฐธรรมนูญที่เข้าสู่กระบวนการลงประชามติ เป็นกฎหมายที่สำคัญสูงสุด เพราะรับรองสิทธิเสรีภาพและกำหนดบทบาทของอำนาจอธิปไตยทั้งสาม จึงควรให้ประชาชนมีส่วนร่วมมากที่สุด ที่ผ่านมา การยกร่างกระทำโดยคณะบุคคล ยังดีที่ให้ประชาชนชี้ขาดในการลงประชามติ อย่างไรก็ตาม เมื่อมาถึงขั้นนี้แล้ว ผู้มีอำนาจตามกฎหมายประชามติ ควรใช้กฎหมายนี้ เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนสอบถาม หาคำตอบและแสดงความสงสัย เพื่อประโยชน์ในการใช้วิจารณญาณ มากกว่าเพื่อบั่นทอน ทำให้เกิดการใช้เสรีภาพด้วยความไม่แน่ใจและไม่มั่นใจ

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image