พลเมืองประชาธิปไตย : ความเป็นไทยที่คงกระพัน : โดย ธงชัย สมบูรณ์

ตั้งแต่อดีตมาจนถึงปัจจุบัน ทุกรัฐชาติต่างมีความคาดหวังที่จะสร้างผู้คนในชาติให้มีอัตลักษณ์ที่งดงามสอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ที่เกิดขึ้น การขัดเกลาและบ่มเพาะย่อมเกิดจากความร่วมมือและ “การสร้างฝัน” ของทุกภาคส่วน รัฐชาติเป็นผลรวมของผู้คนในชาติที่มีความกลมเกลียวซึ่งกันและกัน ตลอดจนมีอุดมการณ์ในการรักษาเอกราชของตนไว้ให้ได้อย่างมั่นคง รัฐชาติหนึ่งๆ ย่อมประกอบด้วยพื้นที่ ประชาชน อำนาจอธิปไตย และรัฐบาล

แต่อย่างไรก็ตาม รัฐชาติแต่ละแห่งย่อมมีความแตกต่างกันทางด้านโครงสร้าง ทางด้านสังคม รูปแบบและแบบแผน รวมทั้งวัฒนวิถีประชาชนของตนเองด้วย ทั้งนี้ เป็นผลสืบเนื่องมาจากการขัดเกลาทางด้านต่างๆ ที่รัฐหยิบยื่นให้ ฉะนั้น “พื้นที่” ในการสร้างความเป็นพลเมืองที่ดีจึงเป็นหน้าที่ของระบบการถ่ายทอดและถ่ายโยงที่ต้องมีพลังเข้มแข็งในการที่จะปั้นแต่งคุณลักษณะที่พึ่งประสงค์ต่อไป

อะไร คือ สายรากประชาธิปไตยที่แท้จริง

หากย้อนกลับไปที่นครรัฐลาโคเนีย (Laconia) และนครรัฐแอตติกา (Attica) ที่ชาวประชาของกรีกในสมัยโบราณต่างมีความชื่นชมและเข้าใจในวัฒนวิถีประชาธิปไตยที่เกิดขึ้น เพลโตได้กล่าวไว้ในหนังสือ อุตมรัฐ (The Republic) รัฐที่ดีต้องสร้างผู้คนให้มีอัตลักษณ์และบุคลิกภาพประชาธิปไตยอย่างน้อย 4 ประการ คือ

Advertisement

1) ปัญญา (Wisdom) เกิดจากการใช้สมรรถภาพทางความคิดที่อยู่หลักของเหตุผล ผู้คนมีลักษณะปัญญาประชาธิปไตย คือผู้ที่รู้จักมโนคติเป็นผู้ที่ใช้เหตุผลกำหนดชี้นำพฤติกรรมของตนได้เป็นอย่างดี

2) ความกล้าหาญ (courage) ความกล้าหาญ คือ พลังศรัทธาของเหตุผลที่ถูกนำมาเป็นฐานคติเบื้องต้นในการกระทำต่างๆ ภายใต้การไตร่ตรองที่รอบคอบและอย่างดี

3) การรู้จักประมาณ (Temperance) เกิดจากการใช้เหตุผลควบคุมความต้องการ (Desire) อันเป็นสมรรถภาพของวิญญาณขั้นต่ำสุดให้อยู่ในขีดพอดี

Advertisement

4) ความยุติธรรม (Justice) หมายถึงความสมดุลภายในใจของผู้คนในรัฐชาติที่มีวิญญาณทั้งการเป็นอยู่และดำรงอย่างเหมาะสม แต่อย่างไรก็ตาม การสะท้อนแนวคิดนี้ได้มีการปรับเปลี่ยนไปตามกาลเวลา ซึ่งในปัจจุบัน ผู้คนหลายๆ รัฐชาติต่างเข้าใจว่าเส้นทางของการสร้างพลเมืองประชาธิปไตยจะมีส่วนช่วยให้สังคมของตนเองและสังคมโลกมีลักษณะที่ “น่าอยู่” มากขึ้น

การสร้างพลเมืองประชาธิปไตย : ต้องก้าวไกลและสร้างสรรค์

การสร้างพลเมืองที่ดีนั้นจำเป็นอย่างยิ่ง ต้องอาศัยกระบวนที่เกิดจากครอบครัว พ่อแม่ คือสิ่งแวดล้อมที่สำคัญที่สุดที่จะพัฒนาให้เยาวชนของชาติมีบุคลิคภาพประชาธิปไตย นอกจากนี้ โรงเรียนและสถาบันการศึกษา ต้องสร้างสังคมจำลองให้เกิดการเรียนรู้ในการแสดงออก เสรีภาพและการแสดงออกทางความที่ถูกต้อง ฝึกการเรียนรู้ที่เท่าทันการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ด้วย ยิ่งไปกว่านั้น ภาคส่วนต่างๆ คือหัวใจในการผลิตข้อความรู้ทางด้านประชาธิปไตยออกมา เช่น การเผยแพร่สู่สื่อต่างๆ การเป็น “ตัวแบบ” ที่ดี ด้วยเหตุนี้ การสร้างพลเมืองประชาธิปไตย สามารถทำได้ดังนี้

1.การสร้างพลเมืองฐานความรู้ (Knowledgeable people) ความรู้ที่จะต้องสร้างกับพลเมืองประชาธิปไตยสมัยใหม่ คือ การรู้เท่าทันสื่อ การเข้าถึงสารสนเทศและดิจิทัล และสิ่งที่รัฐจะต้องปลูกฝังมากที่สุด คือการเสพสื่ออย่างมีวิจารณญาณ สถาบันครอบครัวและสถาบันทางการศึกษาทั้งมวลต้องชี้แนะชี้นำในสิ่งที่เกิดประโยชน์ต่อการปฏิพัทธ์และเสพได้อย่างเหมาะสม อนึ่ง ความรู้ที่ถูกนำมากระจายต่างๆ นั้น ต้องสร้างปลุกจิตสำนึกให้เกิดความรับผิดชอบต่อบ้านเมือง (Personally Responsible Citizen)

2.การสร้างพลเมืองฐานสังคมปฏิสัมพันธ์ (Social Interactive People) รัฐต้องมีกระบวนการ “นำเสนอ” กระบวนต่างๆ เพื่อพลเมืองที่มีส่วนร่วม (Participatory Citizen) มีการสร้างแนวร่วมผู้นำเชิงองค์กรในระดับท้องถิ่น การวางแผนการพัฒนาโครงสร้างของสังคม เช่น มีการจัดประชุมเพื่อการจัดการชุมชนในการรักษาสิ่งแวดล้อม การสร้างความเชื่อมโยงและการสร้างความเข้าใจอย่างถ่องแท้ในกระบวนการทำงานของรัฐชาติว่าเป็นอย่างไร

3.การสร้างพลเมืองฐานความยั่งยืน (Sustainable People) ความยั่งยืนในฐานคติของพลเมืองประชาธิปไตยนั้น จำเป็นที่รัฐจะต้องจัดวางในการสร้างความเข้าใจทางด้านความเป็นธรรมของสังคม (Justice- oriented Citizen) ฝึกการคิดเชิงวิพากษ์ มีการผลักดันทั้งทางตรงและทางอ้อมเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ผ่านกลไกเพื่อสร้างสังคมที่เป็นธรรม นอกจากนี้ ฐานความพัฒนาที่ยั่งยืนเพื่อสร้างพลเมืองประชาธิปไตยนั้น ต้องสร้างพลเมืองให้ “เข้าใจ” การเคลื่อนไหวทางด้านสังคมด้วย

ประชาธิปไตยที่คงกระพัน : การแต่งปั้นที่ถาวร

1.ต้องมีเครื่องมือที่ดีพอในการ “ถอดรหัสปัญญาประชาธิปไตย” ซึ่งเครื่องมือจะหมายถึง สื่อต่างๆ รวมทั้ง “ผู้คนในสังคม” โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผู้คนที่มีอำนาจที่เกี่ยวข้องนั้นต้องมีลักษณะอย่างน้อยสามประการ คือ ปัญญาธรรม สังคมธรรม และรัฐธรรม เพื่อเป็นตัวอย่างที่ดีแก่เด็กและเยาวชนและผู้คนที่มี “อำนาจด้อยกว่า” ให้ทำตามและยึดเป็นความร่มเย็นของสังคม

2.การตอบสนองของผู้คนในรัฐต้องสามารถวิเคราะห์ และสังเคราะห์ “ประชาธิปไตยพื้นฐาน” เป็นการแสดงออก การใส่ใจ การเข้าใจ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ คือ กระบวนการขัดเกลา การเข้าไปมีส่วนร่วม และการปลุกจิตสำนึกที่ดีงามจากผู้คนถึงผู้คนซึ่งกันและกัน

3.จิตวิญญาณที่ดี การแสดงความถูกต้องที่ต้องส่งผ่านจากอำนาจของสื่อต่างๆ สื่อจะต้องนำเสนอความผูกพันและภราดรภาพของรัฐชาติที่มีประวัติศาสตร์อันยาวนาน ขนบจารีตวัฒนธรรมและวิถีของผู้คนที่สร้างความเป็นปึกแผ่น และยังความเจริญมาถึงปัจจุบัน

4.อุดมการณ์และความเชื่อแห่งวิถีประชาธิปไตย คือสิ่งที่ผู้คนในรัฐชาติจำเป็นจะต้อง “เห็นภาพจริงมากกว่าภาพลวง” เพราะบางครั้งอุดมการณ์ทางด้านประชาธิปไตยก็ถูกผุกร่อนจากอำนาจแฝงและเหตุการณ์ทางด้านสังคมที่เอ่ยวาทกรรมการเปลี่ยนแปลง แต่ผลสรุปหามิใช่เป็นไปตามที่ครรลองจะเป็น

5.ความคงกระพันอีกประการหนึ่งที่จะทำให้ประชาธิปไตยเกิดได้และมีความเป็นถาวรนั้น คือ อำนาจ และอำนาจนี้ต้องแสดงผลประโยชน์รวมของผู้คนในชาติ การสร้างสามัญสำนึก ในทุกอย่างที่เรียกว่า “ผลประโยชน์ร่วมและการพัฒนาแบบรวม” จำเป็นต้องมีการแสดงออกมาอย่างชัดเจน

พลเมืองประชาธิปไตย คือ อุดมการณ์ของรัฐชาติ เวลา คือความปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น แต่เวลาหาได้กำหนดประชาธิปไตยให้ยืนยงและคงกระพัน การจัดวางของกระบวนการการกระทำที่ถูกต้องดีงามในทุกภาคส่วน ตลอดจนการสถาปนาอำนาจที่แท้จริงของผู้คนในรัฐที่มองว่า “ส่วนร่วมส่วนรวม” นั่นแหละ คือ พลเมืองประชาธิปไตยและประชาธิปไตยของพลเมือง สิ่งนี้ก็จะยังความคงกระพันติดตัวไปทุกกาลเวลา…อย่างแน่นอน

ธงชัย สมบูรณ์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image