สุจิตต์ วงษ์เทศ : ทำนบรอ ยุคอยุธยา ที่หัวรอ บริเวณป้อมมหาไชย

โค้งแม่น้ำหน้าวังจันทรเกษมถึงหัวรอ อยุธยา บริเวณที่เคยมีทำนบรอ (ภาพเก่า)

ยุคอยุธยา ในพระนครศรีอยุธยา มีทำนบเบี่ยงเบนกระแสน้ำในแม่น้ำ แล้วยังใช้ประโยชน์เป็นสะพานข้ามแม่น้ำด้วย เรียกว่า ทำนบรอ ทุกวันนี้เรียก หัวรอ
บริเวณด้านตะวันออกเฉียงเหนือของเกาะเมืองมีลำน้ำใหญ่อย่างน้อย 2 สาย ไหลมาบรรจบกัน คือแม่น้ำลพบุรีกับแม่น้ำป่าสัก
แม่น้ำลพบุรีไหลวกไปทางทิศตะวันตกเป็นคลองเมืองด้านเหนือ แม่น้ำป่าสักไหลตรงลงทิศใต้เป็นคลองเมืองด้านตะวันออก
แต่กระแสน้ำมักไหลตรงลงทางใต้ด้านตะวันออกมากกว่าไหลวกไปด้านเหนือ ทางราชการยุคอยุธยาต้องสร้างทำนบรอไว้ตรงหัวมุมเกาะเมืองด้านตะวันออกเฉียงเหนือ บริเวณที่มีป้อมมหาไชย (ใกล้วังหน้า) เพื่อชะลอกระแสน้ำให้เฉลี่ยไหลไปทั้งสองทางพร้อมกัน
ภายหลังต่อมาเรียกว่าตำบลหัวรอจนถึงทุกวันนี้ แต่ไม่มีทำนบรอให้เห็นแล้ว
เอกสารจากหอหลวง (ยุคอยุธยา) ระบุว่าเมื่อครั้งกรุงศรีอยุธยา ทำนบรอกว้าง 3 วา หรือราว 6 เมตร มีช่องกลางแม่น้ำสำหรับเรือใหญ่น้อยผ่านไปมา เป็นที่ลาดลงมาถึงตลิ่ง ทั้งสองฟาก
ตรงกลางที่มีช่องให้เรือผ่าน ปูกระดานเป็นสะพานช้างชักเข้าออกได้ เพื่อให้สมณ ชีพราหมณ์ผู้คนทั่วไป รวมทั้งช้าง ม้า และเกวียนราชการผ่านเข้าออกพระนคร
แล้วมีเจ้าพนักงานกรมพระนครบาลรักษาอยู่ที่ศาลาเชิงทำนบ ห้ามช้างม้าวัวควายเกวียนของราษฎรเดินข้ามเป็นอันขาด ยกเว้นไว้แต่ราชการหลวงเท่านั้นเดินข้ามได้ แต่ต้องมีใบบอกมาบอกก่อน

แม่ป่าสักน้ำหน้าวังจันทรเกษม อยุธยา บริเวณที่เคยมีทำนบรอ (ภาพเก่า)
แม่ป่าสักน้ำหน้าวังจันทรเกษม อยุธยา บริเวณที่เคยมีทำนบรอ (ภาพเก่า)

ทำนบรอนี้พวกมอญในกองทัพหงสาวดีสร้างขึ้นเมื่อราว พ.ศ. 2099 ในแผ่นดินสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ ครั้งนั้นพระเจ้ากรุงหงสาวดียกกองทัพมาทำสงครามล้อมกรุง แล้วมอญเอาไม้ตาลโตนดมาปักเป็นทำนบรอ ถมดินทำสะพานเรือกข้ามแม่น้ำยกเข้ากรุง ภายหลังต่อมาไม่ได้ทำลายรื้อถอน เอาไว้ใช้เป็นสะพานใหญ่ข้ามแม่น้ำเข้ากรุงได้โดยสะดวก
เมื่อทำนบรอเก่าของพวกมอญนั้นผุพังไป ฝ่ายไทยก็ซ่อมแปลงผลัดเปลี่ยนต่อมาเนืองๆ จนเป็นสะพานใหญ่

วิถีชีวิตในประวัติศาสตร์สังคมยุคอยุธยาที่ยกมานี้ ไม่มีบอกในประวัติศาสตร์แห่งชาติ
และไม่มีแสดงไว้ที่ไหนๆ ทั้งพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เจ้าสามพระยา (อยุธยา) และบริเวณตลาดสดหัวรอ (ที่รื้อป้อมมหาไชยออกไปสร้างตลาดแทน) ก็ไม่มีหุ่นจำลองไว้ให้คนรู้

กรณีชุมชนป้อมมหากาฬ ชานกำแพงพระนคร กรุงเทพฯ สังคมไทยไม่ควรถูกทำร้ายซ้ำแล้วซ้ำอีก (โดยผู้มีอำนาจหยิบมือเดียว แต่กระทบประวัติศาสตร์สังคมของคนทั้งประเทศ)

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image