สุจิตต์ วงษ์เทศ : ป้อมมหากาฬ-บ้านสาย

หน้าวัดเทพธิดาราม ถนนมหาไชย (ขวา) เห็นกำแพงเมืองกรุงเทพฯ เหลืออยู่ ทาสีขาวโพลน จากย่านบ้านสาย ต่อเนื่องป้อมมหากาฬ

ขรรค์ชัย บุนปาน กับ เรืองชัย ทรัพย์นิรันดร์ เคยไปนอนค้างคืนในกุฏิท่านพระครูไว (คณะ 5) วัดเทพธิดาราม แล้วรวมหัวกันเล่นผีถ้วยแก้ว เชิญวิญญาณสุนทรภู่มาแข่งกลอนสด

แต่ไม่เคยกินก๋วยเตี๋ยวผัดไทยร้านทิพย์สมัย ประตูผี ที่อยู่หน้าวัดฝั่งตรงข้าม (ใกล้บ้านสายรัดตะคด ต่อเนื่องตรอกพระยาเพชร ป้อมมหากาฬ) เพราะยากจนเข็ญใจ ต้องอาศัยข้าวก้นบาตรของท่านพระครู

เมื่อ 2-3 วันก่อน คุณขรรค์ชัย เตือนความจำว่า มหาสำเภา วงษ์เทศ เคยเขียนเล่าเรื่องป้อมมหากาฬ บ้านสายรัดตะคด

มหาสำเภาเป็นพ่อของผมเอง บวชเป็นพระบ้านนอก (อยู่ดงศรีมหาโพธิ์ จ. ปราจีนบุรี) แล้วเสี่ยงดวงเข้ากรุงเทพฯ เรียนบาลี อยู่วัดเทพธิดาราม ประตูผี สำราญราษฎร์ เมื่อ พ.ศ. 2474 (ลาสิกขา พ.ศ. 2487) เขียนอัตชีวประวัติ (เมื่อ พ.ศ. 2526-2527) เล่าเรื่องต่างๆ ไว้พาดพิงถึงบ้านสายและใกล้เคียง จะคัดมาโดยจัดย่อหน้าใหม่ดังนี้

Advertisement

หน้าวัดเทพธิดาราม ประตูผี

“ทางด้านหน้าวัด สมัยนั้นถนนมหาไชยโรยลูกรังผ่านหน้าวัดเทพธิดาราม เลียบริมคลองไปปากคลองโอ่งอ่างลงแม่น้ำเจ้าพระยา มีกำแพงเมืองสมัยโบราณไปตลอดสาย เว้นถนนผ่านเป็นช่วงๆ นับตั้งแต่ช่วงผ่านฟ้า มาช่วงถนนบำรุงเมืองที่เรียกว่าประตูผี ช่วงหน้าคุกลหุโทษ ถึงช่วงหน้าโรงหวย ถนนเจริญกรุง ช่วงหน้าวังบูรพา คือจากถนนพาหุรัดมาข้ามสะพานนั่นแหละ”

“ส่วนกำแพงเมืองนั้น เดี๋ยวนี้ไม่มีแล้ว รื้อออกหมดตลอด ยังเหลืออยู่แต่ป้อมมหากาฬ หน้าโรงหนังเฉลิมไทยผ่านฟ้า กับกำแพงเมืองอีกหน่อยหนึ่ง เอาไว้ให้คนรุ่นหลังดู”

Advertisement

“หน้าวัดเทพธิดาราม ข้ามถนนไปริมคลองนั่นแหละ เขาเรียกว่าบ้านสาย คือคนที่อยู่แถวนั้นทั้งแถว เขามีอาชีพทำสายกัน เขาตีด้ายปั่นด้ายทำสายประคดเอวพระนั่นแหละ

ที่ตีด้ายนั้นเขาทำที่ลานหน้าวัดทั้งหมดนั่นเอง เขาจะเช่ากับทางวัดเป็นเดือนเป็นปีอย่างไรไม่ทราบได้ เช้าขึ้นเขาเข้ามาทำด้ายกันที่นั่นทุกวัน

ฉะนั้นแถวริมคลองทางหน้าวัดที่ถนนมหาไชย เขาจึงเรียกว่า “ตรอกบ้านสาย” เดี๋ยวนี้จะมีทำสายอยู่หรือเปล่าไม่ทราบ เพราะผมจากไปนานแล้ว”

ปัจจุบันบริเวณเหล่านี้เป็นย่านประวัติศาสตร์สังคมของกรุงรัตนโกสินทร์ ตั้งแต่ป้อมมหากาฬ ชุมชนชานกำแพงพระนคร ตรอกพระยาเพชร และบ้านสายรัดตะคด ฯลฯ

ทุกอย่างเปลี่ยนแปลงไปเป็นปกติตามกาลเวลา จะรักษาเหมือนเดิมมิได้ แต่ควรเก็บข้อมูลหลักฐานเป็นประวัติศาสตร์สังคมของสามัญชนไว้ในมิวเซียมกลางแจ้ง บริเวณชุมชนป้อมมหากาฬ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image