เดินหน้าชน ‘ปิโตร’โบแดง-ดำ โดย : สราวุฒิ สิงห์เอี่ยม

หลังจากถูกฉุดกระชากลากยื้อมาหลายปี กว่าจะเปิดให้เอกชนที่ผ่านคุณสมบัติยื่นขอสิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียมแหล่ง “เอราวัณ” และ “บงกช” เมื่อวันที่ 25 กันยายนที่ผ่านมา

แหล่ง “เอราวัณ” มีผู้สนใจยื่น 2 กลุ่ม โดยกลุ่มแรกคือบริษัท ปตท.สผ. เอนเนอร์ยี่ ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ “ปตท.สผ.” ร่วมกับบริษัท เอ็มพี จี2 (ประเทศไทย) จำกัด เครือมูบาดาลา ยักษ์ใหญ่ด้านลงทุนปิโตรเลียมจากรัฐอาบูดาบี สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (ยูเออี)

อีกกลุ่มคือบริษัท เชฟรอน ไทยแลนด์ โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) ที่จับมือกับบริษัท มิตซุยออยล์ เอ็กโปลเรชั่น คัมปานี ลิมิเต็ด

ส่วนแหล่ง “บงกช” ก็มีผู้สนใจ 2 ราย คือบริษัท ปตท.สผ.ที่ยื่นแบบรายเดียวโดดๆ แข่งกับบริษัท เชฟรอน ประเทศไทยฯ ที่ร่วมกับบริษัท มิตซุยออยล์ฯ เหมือนเดิม

Advertisement

ตามโรดแมปแล้วภายในพฤศจิกายนนี้จะรู้ว่าใครได้สิทธิใน 2 แหล่งก๊าซ จากนั้นธันวาคมจะเสนอ ครม.พิจารณา และไม่เกินกุมภาพันธ์ 2562 จะมีการลงนามสัญญาการแบ่งปันผลผลิต (พีเอสซี) กับผู้ชนะการประมูล

แต่กระนั้นก็ยังไม่วายที่กลุ่มคนหน้าเดิมยังดิ้นรนหาทางล้มการประมูลนี้ให้ได้ ด้วยการเผยแพร่ข้อมูลที่บิดพลิ้ว เช่นว่าประเทศจะได้ผลประโยชน์น้อย เพราะนำระบบ “พีเอสซี” มาใช้ ทั้งที่ระบบนี้ก็มาจากข้อเสนอของกลุ่มตัวเองก่อนหน้านี้

ยิ่งหากไปใช้ระบบสัญญาจ้างผลิต (เอสซี) ตามที่กลุ่มต้านเรียกร้อง คงไม่มีเอกชนรายใดมายื่นประมูลแน่ เพราะไม่คุ้มทุน

Advertisement

นอกจากนี้ ยังโหมกล่าวหาว่าล็อกสเปก-ฮั้วประมูลจึงมีผู้ยื่นแค่ 2 ราย เป็นการมองแค่มี “ปตท.สผ.” แข่งกับ “เชฟรอนฯ” แต่จริงๆ แล้วมีพันธมิตรที่ทำธุรกิจพลังงานระดับโลกมาร่วมอีก 2 บริษัท

จะว่าไปก่อนหน้านี้มียักษ์ใหญ่หลายบริษัทจากจีน ฝรั่งเศส และออสเตรเลีย สนใจร่วมประมูล แต่เมื่อเข้าไปศึกษาข้อมูลอย่างละเอียดใน “ดาต้ารูม” ของกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ ทำให้หลายรายถอนตัวกันเป็นแถว เพราะเมื่อเห็นศักยภาพแหล่ง “บงกช” และ “เอราวัณ” แล้ว ปริมาณก๊าซธรรมชาติเหลือไม่มากพอที่จะจูงใจให้ลงทุนระยะยาว

แต่กลุ่มต้านหน้าเดิมยัง “มโน-โมเม” ว่าแหล่งปิโตรเลียมของไทยยังเป็น “ขุมทองโกโบริ” มีก๊าซธรรมชาติและน้ำมันมากมายมหาศาลไม่ต่างกับชาติตะวันออกกลาง แล้วก็คิดเอง-เออเองว่าการประมูลครั้งนี้ไม่โปร่งใส ด้วยข้ออ้างต่างๆ นานา

กุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน ต้องออกมายืนยันว่า “ทุกกระบวนการชัดเจน โปร่งใส ยึดถือผลประโยชน์ของประเทศเป็นหลัก”

ขณะนี้คณะทำงานชุดต่างๆ ของกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติกำลังพิจารณาเอกสาร-ข้อเสนอต่างๆ ของผู้ยื่นประมูล โดยคณะทำงานแต่ละชุดมีทั้งนักวิชาการด้านปิโตรเลียม ผู้เชี่ยวชาญ นักเศรษฐศาสตร์ และผู้ทรงคุณวุฒิด้านต่างๆ ช่วยพิจารณากลั่นกรองอย่างเข้มข้นว่าข้อเสนอรายไหนจะเป็นประโยชน์กับประเทศชาติมากที่สุด

ทั้งนี้ กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติประเมินว่าผลประโยชน์ที่จะได้จากการประมูล “เอราวัณ” และ “บงกช” ช่วง 10 ปีแรก ทั้งค่าภาคหลวง-ภาษีเงินได้-ส่วนแบ่งกำไร รวมประมาณ 8 แสนล้านบาท มีการจ้างงานคนไทย 80% ในปีแรก และอย่างน้อย 90% ในปีที่ 5

นอกจากนี้ช่วยลดการนำเข้าก๊าซปิโตรเลียมเหลว (แอลพีจี) ประมาณ 22 ล้านตัน มูลค่ากว่า 4.6 แสนล้านบาท และจะเกิดการลงทุนหมุนเวียนในประเทศอีกกว่า 1.2 ล้านล้านบาท

นายกฯบิ๊กตู่-พล.อ.ประยุทธ์ จันทรโอชา ย้ำถึงเรื่องนี้ว่า “สิ่งที่สำคัญที่เป็นกังวลในเรื่องที่ทำไม่ได้หรือทำไม่ทัน คือผลต่อพลังงานลดลง ไม่ว่าจะเป็นแก๊สและน้ำมัน จะทำให้มีผลต่อระบบอุตสาหกรรมด้วย”

เมื่อผู้นำรัฐบาลยืนยันเช่นนี้ ก็เบาใจระดับหนึ่งว่าประเทศจะไม่เสี่ยงต่อความเสียหายมหาศาลที่จะเกิดขึ้น

แต่หากกลัวคำขู่กลุ่มต้านหน้าเดิมแล้วกลับลำเบรกเรื่องนี้อีก ผลงานรัฐบาลก่อนหมดวาระจาก “โบแดง” จะกลายเป็น “โบดำ” ไปซะฉิบ

สราวุฒิ สิงห์เอี่ยม

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image