“ชาติ”กับความรักและความชัง : พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์

ช่วงบรรยากาศทางการเมืองในหลายปีที่ผ่านมา อาจกล่าวได้ว่า ประเด็นของการเมืองวัฒนธรรมว่าด้วยการวิจารณ์ชาติ และการปกป้องชาตินั้นดูจะกว้างขวางและเข้มข้นขึ้นเรื่อยๆ

เอาเข้าจริงสิ่งที่เราเผชิญนั้นเป็นเรื่องของขั้วตรงข้ามจริงๆ ไหม? หมายถึงว่าเรากำลังเผชิญกับสภาพที่มีคนรักชาติอยู่กลุ่มเดียว แล้วมีคนชังชาติอยู่อีกกลุ่มจริงๆ หรือเปล่า ผมว่าไม่ใช่

ผมคิดว่า ความรักชาติมีหลายแบบ คนที่วิจารณ์ชาตินั้น ถ้าเขาไม่รักเขาจะวิจารณ์ทำไม

ความรักในสิ่งที่เราถูกสอนให้เทิดทูนมาแต่ไหนแต่ไรแบบเรื่องของชาตินั้น เวลาวิจารณ์หลายคนเขาวิจารณ์เพราะว่าเขาผิดหวังกับสิ่งที่เขารักหรือเปล่า?

Advertisement

คนที่เขาไม่รักจริงๆ เขาอาจจะไม่พูดเลยก็ได้

หรือเราจะแน่ใจได้อย่างไรว่า คนที่อ้างตัวเองว่ารักนั้นเขารักจริง รักโดยไม่มีเงื่อนไข หรือการรักชาติและไล่บี้คนอื่นนั้นเป็นส่วนหนึ่งของการแสดงออกแบบหนึ่งของเขาให้คนยอมรักเท่านั้นเอง

เรื่องความรักชาติ และชาตินิยมนั้นเป็นเรื่องละเอียดอ่อนและสลับซับซ้อน บางครั้งมันก็ไม่ง่ายที่จะมองว่าการรักชาตินั้นเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นโดยปราศจากเงื่อนไข หรือมองว่าเราสามารถอยู่โดยปราศจากชาติได้

Advertisement

รวมไปถึงการอธิบายว่า ชาติเป็นของคนใด กลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง

ประเภทที่บอกว่า ชาติเป็นของประชาชน คำแบบนี้ก็ดูจะทรงพลัง แต่สิ่งท้าทายก็คือ เมื่อชาติเป็นของประชาชน แล้วในสภาพเป็นจริงประชาชนมีอยู่อย่างหลากหลาย ทั้งแนวดิ่งและแนวระนาบ คือ มีความหลากหลายที่เท่ากัน และความหลากหลายที่ไม่เท่ากันในแง่ของความเหนือ/กว่าด้อยกว่า

เราจะทำอย่างไรให้ชาติเป็นของประชาชนจริงๆ?

คำตอบหนึ่งก็คงอยู่ที่ว่าเรามีระบบการเมือง สถาบันการเมือง และสำนึกทางการเมือง ที่จะทำให้ชาติเป็นของทุกคนมากน้อยแค่ไหนด้วยหล่ะครับ ทั้งในเรื่องการมีสิทธิมีเสียง เรื่องความเป็นธรรม และเรื่องของการรับฟังและยอมรับซึ่งกันและกัน

ไอ้ประเภทที่พยายามไล่อีกฝ่ายหนึ่งออกไปนอกประเทศนั้นผมว่าเรื่องไม่จบหรอกครับ

หลายประเทศสงครามกลางเมืองที่เกิดขึ้น หรือชัยชนะของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งที่เกิดขึ้นนั้นก็จบลงด้วยการไล่อีกฝ่ายออกจากประเทศ หรือไล่ออกจากพื้นที่กันทั้งนั้นแหละครับ ทั้งพื้นที่กายภาพ หรือพื้นที่ชีวิตด้วยซ้ำ

อีกอย่างหนึ่งที่ไม่ควรลืมว่าความแตกแยกทั้งหลายนั้น หากมันไม่ถูกนำมาบริหารจัดการให้ดี คนที่เป็นตาอยู่ก็จะเข้ามาปกครอง แล้วก็อยู่ไปเรื่อยๆ ถ้าคนสองฝ่ายไม่รู้จักเจรจา แล้วพยายามอยู่ด้วยกัน

คำว่าชาตินิยมหรือ nationalism มันมีทั้งเรื่องเชิงบวกและประเด็นท้าทาย ในยุคสมัยหนึ่ง เราเชื่อว่าชาตินิยมมันเป็นเรื่องเชิงบวกเท่านั้น เราเชื่อว่าชาตินิยมเป็นสิ่งดี เป็นเงื่อนไขสำคัญในการก้าวสู่ความทันสมัยทางการเมือง เพราะสำนึกเรื่องความเป็นชาติมันหลอมรวม หรือผนึกประสานความหลากหลายเข้าด้วยกัน ลองนึกถึงประเทศที่กว้างใหญ่และมีผู้คนมากหน้าหลายตา ต่างถิ่นกำเนิด แต่เมื่อเขามาอยู่ร่วมกัน มีอัตลักษณ์เดียวกัน และมีความมุ่งหมายให้ชุมชนใหม่ของพวกเขามันเติบโตและก้าวหน้า มันก็ถือเป็นตัวชี้วัดที่สำคัญของพัฒนาการทางการเมือง

แต่เวลาที่เราพูดเรื่องแบบนี้ สิ่งที่ต้องไม่ละเลยก็คือ สำนึกความเป็นชาติในการเชื่อฟังและเคารพชาติ ไม่จำเป็นจะต้องเป็นเรื่องเดียวกับการเชื่อฟังผู้ปกครองที่ปกครองชาติ

มีหลายกรณีในประวัติศาสตร์โลกที่ความรักชาตินี่แหละที่ไม่ได้ไล่คนออกนอกประเทศ แต่ไล่ผู้ปกครอง หรือชนชั้นปกครอง และชนชั้นที่ได้ประโยชน์จากระบบที่เป็นอยู่ออกนอกพื้นที่และออกจากตำแหน่งเช่นกัน

และอีกเรื่องที่สำคัญก็คือ ความเป็นชาตินี้มันจะสมบูรณ์ยั่งยืนได้ ไม่ใช่แค่เรื่องสำนึก แต่ต้องหมายถึงการบริหารจัดการที่เป็นธรรมและมีส่วนร่วม และการยอมรับความแตกต่างหลากหลาย และเห็นอกเห็นใจกันด้วย

ส่วนชาตินิยมในเชิงลบนั้น บ่อยครั้งเราจะพบแนวอธิบายว่า ชาตินิยมเป็นเสมือนเครื่องมือทางการปกครองของผู้ปกครอง หรือของคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ชนชั้นใดชนชั้นหนึ่ง

ประเด็นที่ท้าทายในเรื่องดังกล่าวก็คือ เราจะยกเลิกชาตินิยมได้จริงไหม แล้วถ้าไม่มีชาตินิยม เราจะมีแนวคิดอะไรมาทดแทน

ความท้าทายจากการมองชาตินิยมทั้งทางบวกและลบก็คือ การพยายามทำให้ความเป็นชาตินั้นมันโอบรับกับความต้องการที่หลากหลายของผู้คนให้ได้ และสร้างความเป็นธรรมให้เกิดขึ้น

เพื่อไม่ทำให้ความรักชาติกลายเป็นความคลั่งชาติไปในทางหนึ่ง

และไม่ทำให้ความรักชาติกลายเป็นความชังชาติไปอีกทางหนึ่งเช่นกัน

ข้อถกเถียงอีกประการหนึ่งที่เรียกรู้จากสังคมอื่นๆ ก็คือ เวลาเขาเถียงกันเรื่องชาตินิยม เขาพยายามแยกแยะเรื่องของชาตินิยมออกมาเป็นสองแบบคือ ลัทธิชาตินิยมที่ล้นเกิน (nationalism – เป็นคำแปลเฉพาะในความหมายนี้) กับลัทธิรักชาติ (patriotism)

ism นี้เป็นลัทธิทั้งนั้นแหละครับ

ความรักชาติ ในความหมายนี้หมายถึง ความภูมิใจในความเป็นชาติ และเต็มใจ-พร้อมใจที่จะปกป้องชาตินี้จากภัยคุกคามและศัตรู ความรักชาติในความหมายนี้หมายถึงความเป็นเอกราช และความเชื่อในการเป็นส่วนหนึ่งของชาติที่แข็งแกร่ง

ขณะที่ชาตินิยมที่ล้นเกินนั้น มันคือความรักชาติที่พัฒนาไปจนเชื่อว่าเราเหนือกว่าชาติอื่น และดูถูกเหยียดหยามคนอื่นหรือชาติอื่น และไปๆ มาๆ อาจจะหันมาเอาเป็นเอาตายกับคนในชาติตนเองเข้าไปอีกต่างหาก

ไปๆ มาๆ เรื่องใหญ่ที่เรากังวลในเรื่องของความเป็นชาติ มันก็คือเรื่องของการที่เราจะอยู่ด้วยกันอย่างไร คำว่า “อย่างไร” เป็นเรื่องสำคัญ ไม่ใช่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งนิยามขึ้นมาเอง

ที่สำคัญอีกเรื่องหนึ่งก็คือ เดิมทีเวลาที่เรานึกถึงเรื่องชาติเรามักจะสนใจแต่เรื่องขององค์รวม นึกถึงการไร้ซึ่งเสรีภาพในหลายครั้ง เพราะมองว่าถูกบังคับจากชาติ จากส่วนรวม แต่อีกด้านที่เราไม่ควรละเลยก็คือ แนวคิดแบบพวกชาตินี้มันมีด้านที่ควรระวังก็คือ มันมักเป็นการสร้างความสามัคคีและสร้างเอกภาพ-ความเป็นปึกแผ่นผ่านเรื่องของการมีทั้งพวกเรา และ “พวกเขา” หรือศัตรู/ภัย ที่มีอยู่หลากหลาย

ในแง่นี้เราต้องไม่ให้คนใดคนหนึ่ง หรือกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง นิยมศัตรูและภัยอยู่ฝ่ายเดียว

และความรักชาติจะต้องรวมไปถึงความอดทนที่จะอยู่ด้วยกัน รับฟังซึ่งกันและกันด้วย โดยเฉพาะการยอมรับ “คนอื่น” และ “ความเป็นอื่น” (other and otherness)

ความรักชาติจนล้นเกินในบางประเทศ จากเดิมที่แสดงออกง่ายที่สุดคือ การก่อสงคราม ในปัจจุบันลดลงไปมาก แต่ยังแสดงตัวอย่างเข้มแข็งและเข้มข้นเช่นในเรื่องของนโยบายและอารมณ์ร่วมของความเป็นชาติผ่านการต่อต้านการอพยพและแรงงานต่างด้าว เรื่องนี้มีทั้งเรื่องของการห้าม หรือการทำให้คนอพยพตกอยู่ภายใต้เงื่อนไขมากมายมหาศาล เพื่อไม่ให้ได้รับความเป็นพลเมืองได้ง่ายๆ หรืออาจไม่ได้เลย เช่น การคิดค้นสถานะพิเศษทางกฎหมายบางประการที่จำกัดเงื่อนไขการจ้างการและการใช้ชีวิต และการขาดสถานะทางการเมือง และสวัสดิการสังคม

บ้างก็ยังมีการสนับสนุนให้ไล่ หรือเข่นฆ่าคนบางกลุ่มในประเทศ ด้วยข้ออ้างที่ว่าคนเหล่านั้นไม่ใช่คนในประเทศ หรือไม่ได้มีจุดร่วมกันกับคนในชาติ

เรื่องนี้อาจอธิบายว่าเป็นเพราะเงื่อนไขทางเศรษฐกิจ วัฒนธรรม และประวัติศาสตร์อันยาวนาน แต่ในบางกรณี ความรักชาติจนล้นเกินกลับแสดงออกจากการปะทะกันเองในประเทศ แม้ว่าอาจจะไม่มีการปะทะทั้งความคิด วาจา แต่การสร้างความเป็นอื่นกับคนใน หรือคนในกลายเป็นคนอื่น (the other within) ก็เกิดขึ้นอยู่บ่อยๆ

เรื่องของความเป็นชาติและชาตินิยมมันซับซ้อนแบบนี้แหละครับ จะเลิกหรือหันไปเลือกอย่างอื่นก็ยาก เพราะความเป็นชาติมันมักจะไปผูกติดกับสิทธิและการได้รับการดูแลจากรัฐนั้นๆ ด้วย การที่บอกว่าไม่อยากเป็นชาตินี้แล้วก็อาจจะคิดง่ายๆ ว่า ฉันมีทางไป เพราะฉันก็ไปอยู่ในชาติอื่น ในแง่นี้ก็คือเป็นแค่การย้ายชาติจากนิยมชาติหนึ่งไปสู่อีกชาติหนึ่งเท่านั้น

แต่อีกกลุ่มหนึ่ง อาจจะต้องการการก้าวพ้นจากชาติ ไปสู่โลกแบบใหม่ แต่คำถามสำคัญก็คือ ในโลกใหม่ที่ไม่มีชาตินั้น ใครจะรองรับสิทธิของเรา แล้วเราเองจะเกี่ยวโยงกับคนอื่นด้วยเงื่อนไขอะไร

ในแง่นี้ก็ไม่ถึงกับจะฟันธงหรอกครับว่า เรา “ต้อง” อยู่ในชาติเท่านั้น จะอยู่ในชุมชนแบบอื่นไม่ได้ เพียงแต่เราอาจจะต้องอยู่ในชาติอย่างมีสติ และเข้าอกเข้าใจเพื่อนร่วมชาติและเข้าใจความรักชาติ ชังชาติ หรือน้อยใจชาติ ให้มากขึ้นอีกสักหน่อย

นักวิชาการบางคนเชื่อว่า เวลาที่เราพูดเรื่องความรักที่มีต่อชาติ เราต้องไม่หลงลืมว่า ความรักมันคู่กับความเกลียด หรือการสร้างความเป็นอื่น หรือการสร้างความเป็นลบ เหมือนกับเด็กที่พัฒนาการรับรู้ไม่ใช่แค่จากเรื่องของความรัก แต่มาจากการปฏิเสธสิ่งต่างๆ รอบตัวเช่นกัน และต่อมาถ้าพัฒนาขึ้นไม่ดี โดยเฉพาะในบางสิ่งแวดล้อม เราอาจจะเกลียดตัวเองได้

แต่จะโทษว่าการเกลียดตัวเองเป็นปัญหาส่วนตัวคงไม่ได้ เพราะสิ่งแวดล้อมก็สำคัญ และความสำคัญของสิ่งแวดล้อมอยู่ที่ว่าสิ่งแวดล้อมในที่นี้หมายถึงความสัมพันธ์ต่อกันกับคนอื่นๆ ด้วย

อีกเรื่องที่สำคัญก็คือ ชาติ แม้จะมีที่มาจากยุคสมัยหนึ่งในอดีต แต่ชาติก็เป็นเสมือน “โครงการ” ที่เดินทางอย่างยาวนานจากอดีตสู่ปัจจุบันและอนาคต และดูเหมือนจะไม่สิ้นสุดลงง่ายๆ

ประเด็นท้าทายจึงอยู่ที่ว่า เราจะอยู่ในชาติที่ไม่คลั่งชาติ และไม่ชังชาติ แต่รักชาติในแบบที่เข้าใจความเกลียดของเรา และเข้าใจว่าจะต้องอยู่ร่วมกันคนอื่นอย่างไร รวมทั้งมีสติกับภัยและศัตรูที่เรากำหนดขึ้นมาได้มากน้อยแค่ไหน

พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์
([email protected])

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image