สัพเพเหระคดี : ใครประมาทกว่า : โดย โอภาส เพ็งเจริญ

ค่ำวันสงกรานต์หนุ่มวัยกระเตาะอย่างคุณจำนูญยังขับขี่จักรยานยนต์ร่อนไปทางนั้นทางนี้ที แล้วร่อนเข้าไปในช่องทางที่คุณโผงขับรถจักรยานยนต์สวนมาไฟหน้าก็ไม่เปิด

รถจักรยานยนต์ทั้งสองจึงชนกันดังโครม รถพัง–เจ็บสาหัสทั้งคู่

คุณจำนูญและคุณโผงต่างถูกพนักงานอัยการฟ้องคดีอาญา ข้อหากระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายสาหัส

คุณจำนูญให้การรับสารภาพ ศาลพิพากษาลงโทษคุณจำนูญคดีถึงที่สุดแล้ว

Advertisement

ส่วนคดีคุณโผงนั้นศาลยกฟ้อง คดีถึงที่สุดแล้วเช่นกัน

คุณโผงมาฟ้องคุณจำนูญ คุณจำรัสผู้พ่อ และคุณจำเรียงผู้แม่เป็นคดีแพ่งฐานละเมิด เรียกค่าเสียหาย 300,000 บาท

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้ทั้งสามร่วมกันชดใช้เงิน 50,000 บาทแก่คุณโผง

Advertisement

คุณโผงอุทธรณ์

ศาลชั้นอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ทั้งสามร่วมกันชดใช้เงิน 300,000 บาท ทั้งสามฎีกาคดี

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ศาลในคดีอาญายกฟ้องคุณโผง จึงมีความหมายว่า คุณโผงไม่ได้กระทำละเมิดทำให้คุณจำนูญเสียหายแก่ร่างกาย แต่เป็นคุณจำนูญเป็นผู้กระทำให้คุณโผงเสียหายแก่ร่างกายได้รับอันตรายสาหัสฝ่ายเดียว เป็นข้อเท็จจริงอันเป็นประเด็นโดยตรงที่ศาลต้องฟังตามนั้น ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 46

ส่วนในทางแพ่ง คุณจำนูญ คุณจำรัส และคุณจำเรียง ต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่คุณโผงเพียงไร ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 438 บัญญัติว่า “ค่าสินไหมทดแทนจะพึงใช้โดยสถานใดเพียงใดนั้น ให้ศาลวินิจฉัยตามควรแก่พฤติการณ์และความร้ายแรงแห่งละเมิด” ขณะที่มาตรา 442 บัญญัติว่า “ถ้าความเสียหายได้เกิดขึ้นเพราะความผิดอย่างหนึ่งอย่างใดของผู้ต้องเสียหายประกอบด้วยไซร้ ท่านให้นำบทบัญญัติแห่งมาตรา 223 มาใช้บังคับ โดยอนุโลม” ซึ่งมาตรา 223 บัญญัติว่า “ถ้าฝ่ายผู้เสียหายได้มีส่วนทำความผิดอย่างใดอย่างหนึ่งก่อให้เกิดความเสียหายด้วยไซร้ ท่านว่าหนี้อันจะต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ฝ่ายผู้เสียหายมากน้อยเพียงใดนั้นต้องอาศัยพฤติการณ์เป็นประมาณ ข้อสำคัญก็คือว่าความเสียหายนั้นได้เกิดขึ้นเพราะฝ่ายไหนเป็นผู้ก่อยิ่งหย่อนกว่ากันเพียงไร”

จึงเป็นหลักเกณฑ์ที่ศาลต้องยึดถือในการวินิจฉัยปัญหานี้

เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่า ขณะเกิดเหตุเป็นเวลากลางคืน คุณโผงขับรถโดยไม่มีโคมไฟหน้าอันทำให้คุณจำนูญไม่สามารถมองเห็นได้ชัดเจน ในภาวะเช่นนั้น การเปิดไฟหน้าเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่ง หากรถคุณโผงขับมามีโคมไฟและเปิดไฟไว้ อาจทำให้คุณจำนูญมองเห็นและหลบหลีกพ้นจากการเฉี่ยวชนกันก็เป็นได้

การที่รถของคุณโผงไม่มีโคมไฟหน้ารถ ถือว่าคุณโผงมีส่วนประมาทอยู่บ้าง

เช่นนี้ ย่อมถือว่า คุณโผงมีส่วนทำความผิด ก่อให้เกิดความเสียหายด้วย

แต่เมื่อความประมาทของคุณโผงไม่เป็นผลโดยตรงของการเฉี่ยวชน ค่าสินไหมทดแทนที่จะต้องใช้แก่คุณโผงจึงต้องพิจารณาลดหย่อนตามพฤติการณ์ของเหตุที่เกิด

ศาลฎีกาพิพากษาแก้ ให้ทั้งสามคุณพ่อแม่ลูกร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายแก่คุณโผง 200,000 บาท

(เทียบคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2163/2556)
——————————————

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
มาตรา 46 ในการพิพากษาคดีส่วนแพ่ง ศาลจำต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญา

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image