บทความ : การหยั่งเสียงเลือกหัวหน้าพรรค มิติใหม่ทางการเมืองไทย : โดย นิมิตร จินาวัลย์

สถานการณ์ทางการเมืองของพรรคประชาธิปัตย์ในรอบปี 2561 และใกล้จะถึงวันเลือกตั้งในปี 2562 เปรียบเทียบกับพรรคการเมืองอื่นๆ ในการเตรียมการลงแข่งขัน การเลือกตั้งทั่วไปเป็นพรรคที่เงียบสงบ ไม่ค่อยมีข่าวปรากฏทางสื่อมวลชนมากนัก แม้จะได้รับผลกระทบอย่างมากคำสั่งของ คสช.จนทำให้สมาชิกนับล้านวูบหายไป และรวมถึงสาขาพรรคทั่วประเทศก็ถูกยุบไป พรรคประชาธิปัตย์เป็นพรรคการเมืองที่เก่าแก่ที่สุดในประเทศไทย มีประสบการณ์การทำงานทางการเมืองมายาวนาน มีอุดมการณ์ทางการเมืองที่ชัดเจน แม้จะมีบุคลากรทางเมืองออกจากพรรคไปก็ไม่กระทบกับการบริหารภายในองค์กร เพราะพรรคมีความเป็นสถาบันสูง สิ่งเหล่านี้กลายเป็นวุฒิภาวะทางการเมืองของพรรคจึงไม่หวั่นไหวทางการเมืองพร้อมที่จะต่อสู้แข่งขันยอมรับในกฎกติกา และมุ่งมั่นในแนวทางของตนเองตามเจตนารมณ์ของกฎหมายเป้าหมายหลักคือ การปฏิรูปพรรคการเมืองให้เป็นสถาบันทางการเมืองของประชาชนอย่างแท้จริง

ที่น่าติดตามอย่างยิ่งคือ การหยั่งเสียงเลือกหัวหน้าพรรคและการทำดีเบต (Debate) ในอีก 1-2 วัน บทความนี้อาจจะถูกนำเสนอแล้วในวันดังกล่าว สิ่งแรกคือ การหยั่งเสียงเลือกหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ที่จะจัดให้มีขึ้นในระหว่างวันที่ 1-5 พฤศจิกายน 2561 ที่มีผู้สมัครเข้าชิงตำแหน่ง 3 คน คือ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หมายเลข 1 ซึ่งได้มอบหมายงานให้กับนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ รองหัวหน้าพรรครักษาการแทน เนื่องจากนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นผู้มีส่วนได้เสียในการหยั่งเสียงเลือกหัวหน้าพรรค จึงขอหยุดปฏิบัติหน้าที่ชั่วคราว หมายเลข 2 นายแพทย์วรงค์ เดชกิจวิกรม อดีต ส.ส.พิษณุโลก หมายเลข 3 นายอลงกรณ์ พลบุตร อดีต ส.ส.เพชรบุรี เคยเป็นรัฐมนตรีและรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ แต่ได้ลาออกจากพรรคไปแล้วหลายปี

กระบวนการหยั่งเสียงดำเนินไปตามขั้นตอนของกฎหมายทุกประการ โดยเจตนารมณ์แล้ว นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ มีความประสงค์จะให้สมาชิกพรรคได้มีโอกาสเข้ามามีส่วนร่วมในการเลือกหัวหน้าพรรค ก่อนนำพรรคเข้าสู่การเลือกตั้ง เพื่อยืนยันความเป็นสถาบันทางการเมืองของพรรคในระบอบประชาธิปไตย และเป็นการพิสูจน์ความเป็นสถาบันทางการเมืองที่มีการแข่งขันในการเลือกหัวหน้าพรรคอย่างจริงจัง เดิมให้ที่ประชุมใหญ่ซึ่งประกอบไปด้วยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและประธานสาขาพรรคเป็นหลัก ซึ่งสอดคล้องกับกฎหมายพรรคการเมือง

แต่มีการเพิ่มเติมด้วยความหยั่งเสียงผ่านแอพพลิเคชั่นในโทรศัพท์มือถือก่อนนำเข้าสู่การตัดสินใจในที่ประชุมใหญ่ของพรรค

Advertisement

ที่กล่าวข้างต้นแสดงให้เห็นถึงการที่พรรคจะให้ความสำคัญอย่างยิ่งกับพรรคการเมือง เพราะพรรคการเมืองมีบทบาทโดยตรงในการปฏิรูป พรรคการเมืองเป็นสถาบันทางการเมืองต่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตย และประเทศไทยมีการปกครองตามระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขมีโครงสร้างทางระบบรัฐสภา พรรคจึงมีความตระหนักให้ความสำคัญกับคำว่า “ประชาธิปไตย” ที่อำนาจเป็นของประชาชน จึงจำเป็นที่จะต้องให้บทบาทของประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมทุกขั้นตอนของการตัดสินใจพรรคการเมืองต้องเป็นศูนย์รวมกลุ่มบุคคลที่มีอุดมการณ์ทางการเมือง เข้ามาบริหารประเทศผ่านกลไกทางรัฐสภา มีนโยบายการบริหารประเทศทุกเรื่องทั้งในระยะสั้นและระยะยาว เพื่อประโยชน์สูงสุดของประเทศและประชาชน พรรคการเมืองจะต้องก้าวข้ามความขัดแย้ง ความเหลื่อมล้ำในการแข่งขันอย่างเสรี และเป็นธรรม เปิดโอกาสให้ประชาชนได้แสดงความคิดเห็น สะท้อนปัญหาเพื่อนำไปสู่นโยบายสาธารณะเพื่อเกลี่ยความเสมอภาคทางโอกาสอย่างแท้จริง เมื่อมีโอกาสได้รับความไว้วางใจจากประชาชนให้เข้ามาบริหารประเทศก็จะต้องทำหน้าที่ให้สมบูรณ์ที่สุดที่แถลงไว้กับสภา หรือหากทำหน้าที่ฝ่ายค้าน ก็จะต้องตรวจสอบการทำหน้าที่ของรัฐบาลอย่างเข้มข้น เพื่อรักษาผลประโยชน์ของส่วนรวม

บทบาทที่สำคัญอย่างยิ่งอีกอย่างหนึ่ง คือ การกลั่นกรองบุคคลที่เหมาะสมเข้าสมัครรับการเลือกตั้งและดำรงตำแหน่งทางการเมือง เพื่อเป็นหลักประกันว่าจะได้บุคคลที่เหมาะสม มีความรู้ความสามารถ มีความซื่อสัตย์ สุจริต เข้าไปทำหน้าที่แทนประชาชนตามความหมายของคำว่า “ผู้แทนราษฎร” จริงๆ

จากการติดตามการแสดงจุดยืนทางการเมือง แนวนโยบายและวิสัยทัศน์ทางการเมืองของผู้เข้าแข่งขัน ชิงดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรคทั้ง 3 คน ซึ่งล้วนแล้วแต่มีความมุ่งมั่นที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงโดยเฉพาะอย่างยิ่งการจะทำพรรคเข้าสู่การเลือกตั้งและชนะการเลือกตั้ง น่าเสียดายที่พรรคคงจะมีเวลาจำกัดไม่สามารถจะจัดทำดีเบตสู่สาธารณะ เพื่อให้ผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งตัดสินเลือกผู้สมัครที่ตนเห็นว่าเหมาะสมที่จะเป็นผู้นำประเทศมากที่สุด และเป็นการเปิดโอกาสให้ผู้ชมทั่วประเทศได้มีโอกาสติดตาม เป็นการสร้างวัฒนธรรมทางการเมืองตามระบอบประชาธิปไตยที่มีเสรีภาพ (Freedom) และความเสมอภาคทางโอกาส (Equality) เป็นการเปิดโอกาสให้ประชาชนมีความตื่นตัวรองรับการเปลี่ยนแปลง

Advertisement

การดีเบตเป็นวัฒนธรรมทางการเมืองในประเทศแถบยุโรปและอเมริกา สำหรับผู้เข้าชิงตำแหน่งสูงสุดฝ่ายบริหารที่เรียกว่าประธานาธิบดีซึ่งเป็นที่สนใจเฝ้าติดตามของประชาชน เป็นส่วนสำคัญประการหนึ่งในหลายๆ ปัจจัยต่อการตัดสินใจ เมื่อมีการนำกิจกรรมการดีเบตมาใช้ในทางการเมือง เรื่องหรือหัวข้อย่อยเป็นกรณีเกี่ยวเนื่องกับประโยชน์สาธารณะนโยบายของพรรคการเมือง นักการเมือง การบริหารจัดการปัญหาต่างๆ ของประเทศ ซึ่งผู้เข้าร่วมดีเบตจะต้องแสดงความคิดเห็นให้ปรากฏ ปฏิภาณไหวพริบ ทักษะทั้งด้านการเจรจา ด้านการบริหารจัดการ ด้านความสามารถในการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า

รวมทั้งชี้จุดแข็งในนโยบายของตน และชี้จุดอ่อนในนโยบายของผู้อื่น

ประโยชน์ที่สาธารณะจะได้รับจากนโยบายการบริหารประเทศที่ฝ่ายตนเสนอ ดีเบตทางการเมืองไม่ใช่การทะเลาะ ไม่ใช่เรื่องชวนหัวตลกโปกฮา ไม่ใช่เรื่องประคารมเอาชนะกัน หรือการโต้ตอบคารมเอาใจผู้ฟังที่คุ้นเคยเหมือนการบันเทิง และนันทนาการ สมศักดิ์ เธียรจรูญกุล ได้ให้ความสำคัญ และเป็นสาระความสำคัญต่อการเมืองการปกครองอย่างมีนัยสำคัญอย่างน้อย 6 ประการ คือ

ประการแรก เมื่อดีเบตเป็นการแสดงวิสัยทัศน์ การบริหารจัดการประเทศ และชี้จุดอ่อนและจุดแข็งของนโยบายของแต่ละฝ่าย ย่อมเป็นประโยชน์ต่อการตัดสินใจของประชาชนเจ้าของสิทธิ เจ้าของเสียง เจ้าของอำนาจอธิปไตย สำหรับการตัดสินใจว่าเห็นด้วยกับนโยบายของฝ่ายใดและจะลงคะแนนให้กับฝ่ายใด

ประการที่สอง การดีเบตมีการแสดงออกให้เห็นถึงทักษะการเจรจา การแก้ปัญหาเฉพาะหน้า การแสดงปฏิภาณไหวพริบของผู้เสนอตัวเป็นผู้นำฝ่ายบริหาร ซึ่งหลีกหนีไม่พ้นที่ผู้นำฝ่ายบริหารของประเทศจะต้องพบปะเจรจาการเมืองกับผู้นำของประเทศอื่นๆ ซึ่งทางผู้เสนอตัวเป็นผู้นำฝ่ายบริหารของไทย มีทักษะด้านต่างๆ เป็นอย่างดีย่อมเป็นข้อมูลของคุณสมบัติของผู้เสนอตัวที่ประชาชนเจ้าของอำนาจอธิปไตย ผู้ลงคะแนนเสียงตัดสินใจได้ดีกว่า

ประการที่สาม การดีเบตต้องเจอคำถามเกี่ยวกับการบริหารจัดการประเทศต่างๆ ทั้งด้านระบอบการเมือง การปกครอง เศรษฐกิจ การศึกษา สังคม กฎหมาย วัฒนธรรม ประเพณี การเงินการคลัง กิจการระหว่างประเทศ ซึ่งผู้เข้าร่วมดีเบตที่แสดงให้เห็นความพร้อม ความรู้ความสามารถ สติปัญญา การใช้คน คุณสมบัติที่ดีกว่าย่อมเป็นบุคคลที่เหมาะสมต่อการลงคะแนนเสียงให้จากประชาชนเจ้าของอำนาจอธิปไตย

ประการที่สี่ เมื่อการดีเบตต้องแสดงความคิดต่อปัญหาของประเทศอย่างรอบด้าน และต้องมีการนำเสนออธิบาย ชี้แจงนโยบายฝ่ายตน ย่อมก่อให้ประชาชนเจ้าของอำนาจอธิปไตยเกิดความชัดเจนและความเข้าใจในนโยบายของฝ่ายตน อีกทั้งยังก่อให้เกิดการเรียนรู้ ความเข้าใจของประชาชนในแนวทางที่ถูกในการใช้สิทธิใช้เสียงของตน อันส่งผลถึงการพัฒนาการเมืองการปกครองในระบอบประชาธิปไตยของประเทศไทยให้ดีขึ้น

ประการที่ห้า เมื่อการดีเบตมีการชี้แจง อธิบาย แสดงความเห็นแย้งถึงข้อดี ข้อเสีย จุดอ่อน จุดแข็ง ในนโยบายของแต่ละฝ่าย ย่อมเป็นการตรวจสอบแนวคิด นโยบาย แนวการบริหารจัดการประเทศของแต่ละพรรคการเมืองไปด้วย การตรวจสอบมิใช่มีแต่การอภิปรายไม่ไว้วางใจหรือการตั้งกระทู้ในสภาเท่านั้น การตรวจสอบอาจทำได้โดยสื่อมวลชน กลุ่มองค์กรพัฒนาเอกชน (NGOs) นักวิชาการ ประชาชนทั่วไปรวมทั้งการตรวจสอบผ่านการดีเบต ซึ่งเป็นการดีเบตต่อการเมืองการปกครอง และการบริหารจัดการบ้านเมืองในแง่ที่ว่าประชาชนได้เห็น ได้ยิน การตรวจสอบนโยบายของแต่ละพรรคการเมืองผ่านการดีเบตก่อน หาใช่เข้าไปถืออำนาจรัฐและบริหารจัดการประเทศก่อน เมื่อเกิดความเสียหายแล้วค่อยให้ฝ่ายนิติบัญญัติตรวจสอบในสภา หรือคอยตรวจสอบภายหลัง การตรวจสอบสามารถทำได้ตั้งแต่ก่อนเข้าดำรงตำแหน่ง มิใช่ต้องตรวจสอบภายหลังการเข้าดำรงตำแหน่งเพียงมิติเดียว ซึ่งสังคมไทยเข้าใจผิดในประเด็นนี้มาโดยตลอด

ประการที่หก เมื่อผู้เสนอตัวต้องมีคุณสมบัติที่แสดงให้ประชาชนเห็นด้วยตัวของตนเองผ่านการดีเบต ไม่ใช่จากการโฆษณาประชาสัมพันธ์โดยฝ่ายการตลาดหรือนักโฆษณาแต่ฝ่ายเดียว การที่พรรคการเมืองจะเสนอสมาชิกในฝ่ายของตนขึ้นเสนอตัวเป็นผู้นำฝ่ายบริหารของประเทศ พรรคการเมืองย่อมต้องพิจารณา คัดกรองผู้ที่มีความรู้ ความสามารถ สติปัญญา หาไม่แล้วเมื่อต้องเข้าร่วมกิจกรรมการดีเบตย่อมเป็นที่ประจักษ์แก่ประชาชนเจ้าของอำนาจอธิปไตยว่าบุคคลที่พรรคการเมืองนั้นๆ นำเสนอไร้ความสามารถ ไร้สติปัญญา ไร้คุณสมบัติที่เหมาะสมเป็นผู้นำของประเทศ

ดังนั้น พรรคการเมืองจึงต้องคัดสรรบุคคลที่เรียกภาษาชาวบ้านว่า “เป็นของจริง” เก่งจริงมีความสามารถจริง

ครับ…ประสบการณ์ทางการเมืองของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เกือบ 30 ปี ที่ยึดมั่นในอุดมการณ์ทางการเมืองในพรรคประชาธิปัตย์อย่างปราศจากข้อสงสัย อยากจะสร้างกระบวนการประชาธิปไตยภายในพรรคให้เป็นที่พึ่งที่หวังของประชาชน อยากเห็นการแข่งขันอย่างสร้างสรรค์และเป็นธรรม เพื่อสะท้อนความต้องการที่แท้จริงว่ามีความต้องการอย่างไร เป็นความท้าทายที่เปิดโอกาสให้บุคคลภายนอกเข้าร่วมการแข่งขันซึ่งไม่เคยมีมาก่อน

ความฝันที่อยากจะให้ประเทศไทยเป็นอย่างไร จึงเป็นฝันร่วมของประชาชน และจะเป็นบทพิสูจน์ที่คนมีความเชื่อว่า “เปลี่ยนคนแล้วพรรคจะดีขึ้น” เราขอให้กำลังใจ

นิมิตร จินาวัลย์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image