งาน ครอบครัว สังคม ไปด้วยกัน : สมดุลชีวิตฉบับแรงงานไทย : โดย ธัญลักษณ์ ศรีสง่า

งานมีความหมายอย่างไรกับชีวิต ?

จากรายงาน “การศึกษาสถานการณ์คุณธรรมจริยธรรมของช่วงวัยแรงงานไทย” ที่ดำเนินการร่วมกันระหว่างหน่วยวิจัยความมั่นคงของมนุษย์และความเท่าเทียม สถาบันวิจัยสังคมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เครือข่ายวิชาการสังคมเป็นธรรม (JusNet) และศูนย์คุณธรรม (องค์การมหาชน) พบว่าความหมายของงานจากผู้ตอบแบบสอบถามจำนวน 411 คน 5 อันดับแรกคือ 1.เงินหรือรายได้ (85.6%) 2.คุณค่าชีวิต (30.4%) 3.การดูแลผู้อื่น (20.2%) 4.บริการ (17.8%) 5.ความพึงพอใจ (15.8%)

ถึงแม้ว่าความหมายของการทำงานผูกโยงกับเรื่องเงินหรือรายได้เป็นหลัก แต่ข้อมูลสำรวจข้างต้นก็แสดงให้เห็นว่ารายได้ไม่ใช่ประเด็นเดียวที่ทำให้การทำงานมีความหมายกับชีวิตเพราะถ้าพิจารณาจากลำดับที่ 2-5 จะพบว่าความหมายของงานแฝงไว้ด้วยชุดคุณค่าที่เชื่อมโยงกับตัวคนทำงาน และคนรอบข้างรวมไปถึงสังคม

การดำเนินงานอีกส่วนหนึ่งของศูนย์คุณธรรมที่ควบคู่กันไปกับการศึกษาข้างต้น คือโครงการสมดุลชีวิตสนิทกับครอบครัว ซี่งเป็นโครงการจัดกระบวนการเรียนรู้ที่เน้นการสร้างความสมดุลในชีวิต 5 มิติ คือ เวลา การเงิน สุขภาวะ ครอบครัว สังคมให้กับคนทำงานในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) จำนวน 3 รุ่น ซึ่งได้มีการจัดเวทีถอดบทเรียนและจัดทำเป็นองค์ความรู้ “สมดุลชีวิต ฉบับวัยแรงงาน”

Advertisement

การถอดบทเรียนร่วมกันทำให้พบว่าการทำ “แผนชีวิต” ที่เป็นกระบวนการทบทวนชีวิตในอดีต และวางแผนอนาคตในรูปแบบของเส้นเวลา (Timeline) ควบคู่กับการกำหนดเป้าหมายความเปลี่ยนแปลงที่เป็นรูปธรรม สามารถวัดผลได้ในระยะเวลา 3 เดือน 6 เดือน และ 1 ปี

เป็นเครื่องมือสำคัญที่มีอิทธิพลต่อการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้เข้าร่วมกระบวนการ เนื่องจากเป็นการแปรเปลี่ยนความตั้งใจให้เป็นรูปธรรม

เรื่องเล่าของผู้เข้าร่วมกระบวนการทั้ง 3 รุ่นในเวทีถอดบทเรียนสะท้อนถึงความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นจากการนำแผนชีวิตไปใช้เป็นเครื่องมือในการกำหนดเป้าหมายของชีวิต ทั้ง 5 มิติ

Advertisement

มิติเวลา พบว่ามีการจัดแบ่งเวลาในชีวิตโดยให้ความสำคัญกับเวลาของครอบครัวควบคู่ไปกับการทำงาน หลายคนสะท้อนว่าจะไม่นำเรื่องงานไปทำต่อที่บ้าน ให้บ้านเป็นพื้นที่ของการใช้เวลาร่วมกันในครอบครัว รวมถึงการแก้ไขปัญหาร่วมกันระหว่างสมาชิกในครอบครัว เช่น ผู้เข้าร่วมคนหนึ่งได้เล่าถึงความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นหลังจากจัดเวลาให้กับครอบครัวว่าทำให้ทราบว่าลูกไม่สนใจเรียน ไม่ทำการบ้านส่งครู จึงได้ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมตนเองโดยให้เวลากับลูกทำให้ลูกสนใจการเรียน และผลการเรียนดีขึ้น

มิติการเงิน ผู้เข้าร่วมมีการวางแผนการใช้เงินโดยจัดลำดับความสำคัญไปที่การออมก่อนเป็นลำดับแรก ก่อนที่จะนำไปใช้จ่ายในส่วนอื่น นอกจากนั้นยังมีการศึกษาหาความรู้เพื่อสร้างรายได้เสริม เช่น ศึกษาการทำนาโยน การปลูกทุเรียนจากอินเตอร์เน็ต และกลับไปทดลองทำที่ต่างจังหวัดกับพ่อ ซึ่งเรื่องเล่ากรณีนี้ยังสะท้อนถึงรูปแบบความสัมพันธ์แบบ “ครอบครัวแหว่งกลาง” ที่สมาชิกในครอบครัวกระจายกันอยู่ในหลายพื้นที่ด้วย

“อยู่ในเมืองเป็นส่วนใหญ่ สังคมครอบครัวหายไป ครอบครัวแหว่งกลาง กลับบ้านแฟน (จันทบุรี) และไปบ้านพ่อ (สระแก้ว) ทุกอาทิตย์ ทำให้พ่อเรียนรู้สิ่งใหม่ เช่น ทำนาโยน ย้ายสวนทุเรียนไปสระแก้ว เพื่อให้พ่อมีเวลาอยู่กับสวน พาพ่อไปตรวจสุขภาพทุกปี”

มิติสุขภาวะ พบว่าเรื่องเล่าในประเด็นนี้เน้นไปที่การดูแลร่างกาย การออกกำลังกาย โดยเป็นที่น่าสังเกตว่ามีบางกรณีที่ตระหนักถึงความสำคัญของการดูแลสุขภาพเมื่อมีอาการเจ็บป่วยเกิดขึ้นแล้ว

“ตื่นขึ้นมาตอนเช้าแล้วแขนขาไม่มีแรง ลุกขึ้นแล้วล้ม เป็นจุดเปลี่ยนให้ฉุกคิดว่าหากเราไม่ใส่ใจเรื่องสุขภาพจะส่งผลกระทบไม่เฉพาะตัวเรา แต่ยังจะส่งผลต่อครอบครัวอีกด้วย” จากเหตุการณ์นี้จึงนำไปสู่การค้นหาข้อมูลดูแลสุขภาพจากสื่อออนไลน์ต่างๆ และปรับพฤติกรรมเพื่อให้มีสุขภาพที่แข็งแรงขึ้นและสำหรับการดูแลด้านจิตใจ ผู้เข้าร่วมหลายคนมีวิธีการจัดการความเครียดด้วยวิธีการจัดการใจตนเอง “คิดบวก ไม่เอาตัวเองเป็นที่ตั้ง ต้องนึกถึงใจเขาใจเรา พยายามคิดว่าการทำงานร่วมกับผู้อื่น ต้องยอมรับในความแตกต่างของแต่ละคน”

มิติครอบครัว เนื่องจากผู้เข้าร่วมหลายคนมีบทบาทอยู่ในสหภาพแรงงาน ซึ่งเป็นบทบาทที่เกี่ยวข้องกับผู้คนเป็นจำนวนมาก และมีประเด็นละเอียดอ่อนที่อาจส่งผลกระทบกับความสัมพันธ์ในครอบครัว ซึ่งผู้นำด้านแรงงานได้สะท้อนว่าการให้ความสำคัญกับมิติครอบครัวจากโครงการนี้มีความสอดคล้องกับ “หลัก 5 ไม่” ของการทำงานสหภาพ คือ “การทำงานสหภาพต้องยึดหลัก 5 ไม่ คือ 1.เวลา (ไม่เสียหายเรื่องเวลา) 2.วาจา (ไม่พูดปด) 3.การเงิน (ไม่เสียหายเรื่องการเงิน) 4.สุรา (ไม่เมาสุรา) 5.นารี (ไม่เสียหายเรื่องชู้สาว)” และสิ่งสำคัญที่สุดในความสัมพันธ์ของครอบครัว คือ ความซื่อตรง สื่อสารอย่างตรงไปตรงมา และการเปิดใจรับฟังซึ่งกันและกัน

มิติสังคม เนื่องจากกลุ่มผู้เข้าร่วมโครงการส่วนมากเป็นผู้นำแรงงานจึงให้ความสำคัญกับการทำงานเพื่อสังคมในรูปแบบจิตอาสาค่อนข้างมาก เรื่องเล่าที่โดดเด่นในมิตินี้ คือการไม่เพิกเฉยต่อปัญหาในชุมชนเรื่องเงินส่วนกลางของหมู่บ้าน ซึ่งนำมาสู่การลงสมัครเป็นกรรมการหมู่บ้าน เพื่อร่วมตรวจสอบทางการเงิน และทำให้คนในชุมชนตระหนักถึงปัญหาที่เกิดขึ้นร่วมกัน ซึ่งสิ่งที่ทำนี้นอกจากอุดรอยรั่วเงินส่วนกลางของหมู่บ้านจากการดำเนินงานที่ไม่โปร่งใสแล้ว

การลุกขึ้นมาแก้ปัญหายังทำให้เจ้าของเรื่องเล่าได้รับความไว้วางใจจากคนในชุมชน และเกิดความสามัคคีในชุมชน

เรื่องเล่าความเปลี่ยนแปลงใน 5 มิติ ข้างต้นนี้เป็นข้อถกเถียงที่สำคัญที่ทำให้เห็นว่าภายใต้เงื่อนไขการทำงานในโลกปัจจุบัน แรงงานไทยได้มีความพยายามในการสร้างสมดุลชีวิตทั้งในเรื่องการทำงานเพื่อหาเลี้ยงชีพ การดูแลครอบครัว และการทำงานเพื่อสังคม ซึ่งความสมดุลเช่นนี้จะเกิดได้มากขึ้นถ้ามีกลไกเชิงนโยบายมาสนับสนุนร่วมด้วย

สำหรับผู้ที่สนใจ “การศึกษาสถานการณ์คุณธรรมจริยธรรมของช่วงวัยแรงงานไทย” และ “สมดุลชีวิต ฉบับวัยแรงงาน” สามารถดาวน์โหลดได้ที่ คลังข้อมูลดิจิทัลด้านคุณธรรมความดี http://dl.moralcenter.or.th

ธัญลักษณ์ ศรีสง่า
www.thaissf.org, twitter.com/jitwiwat
สนับสนุนโดย มูลนิธิสดศรี-สฤษดิ์วงศ์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image