สุจิตต์ วงษ์เทศ : เจ้านายชั้นสูงดูลิเกพระยาเพชรปาณี ที่ชุมชนป้อมมหากาฬ ชานกำแพงพระนคร

ย่านบันเทิงยุค ร.5 ของคนธรรมดาหลากหลายชาติพันธุ์ หน้าวิกลิเกแห่งแรกของพระยาเพชรปาณี เป็นต้นกำเนิดลิเกรำในกรุงสยามสืบถึงปัจจุบัน แสดงว่าเป็นย่านใหญ่ มีคนจำนวนมากอยู่อาศัยและไปมาหาสู่บริเวณชุมชนป้อมมหากาฬ ชานกำแพงพระนคร (ภาพเก่าจากโปสการ์ดของ สินชัย เลิศโกวิทย์)

ลิเกมีต้นทางกำเนิดจากสวดแขกตามประเพณีในศาสนาอิสลามของชาวมุสลิมจากมลายูปัตตานี แล้วมีพัฒนาการประสมประสานการละเล่นหลายอย่าง เช่น สวดไทย (สวดคฤหัสถ์) รวมทั้งเลียนแบบอย่างเพี้ยนๆจากละครหลวง

ลิเกไม่ใช่คำไทยแท้ดั้งเดิม แต่เป็นคำยืม (ยุคต้นกรุงรัตนโกสินทร์) จากภาษามลายูปัตตานีว่า ดิเกร์ หมายถึงสวดเป็นทำนองร้องสรรเสริญพระผู้เป็นเจ้าในศาสนาอิสลาม
คนยุคต้นกรุงเทพฯ บางทีเรียกเป็นไทยๆ บ้านๆ ว่า สวดแขก
[ผู้รู้ภาษามลายูปัตตานี เคยอธิบายคำดิเกร์ ว่ารับมาอีกทอดหนึ่งจากภาษาอาหรับ และ/หรือ เปอร์เซีย]
ไทยยืมคำดิเกร์มาใช้ แต่ออกเสียงเป็นลิเก บางทีเพี้ยนเป็นยี่เก โดยมีความหมายเปลี่ยนไปเป็นการแสดงอย่างหนึ่งที่ทำให้เพี้ยนจากละครหลวง
เช่น ผู้แสดงรำเอง แล้วร้องเอง โดยไม่มีคนบอกบท (ต่างจากละครชาตรีที่มีคนบอกบท) แล้วยังมีอื่นๆ อีกที่ทำต่างจากละครหลวง

มีบอกในลายพระหัตถ์ (ลงวันที่ 9 เมษายน 2483) ของสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชา นุภาพ (เล่าถวายสมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานิศรานุวัดติวงศ์) หลังเสด็จไปทอดพระเนตรลิเกพระยาเพชรปาณีที่ตรอกพระยาเพชร (ป้อมมหากาฬ ชานกำแพงพระนคร) จะคัดที่สำคัญๆ มาดังนี้

“เมื่อพระยาเพชรปาณี (ตรี) ตั้งโรงเล่นยี่เกให้คนดูอยู่ที่บ้าน หน้าวัดราชนัดดา แกเชิญหม่อมฉันไปดูครั้ง 1 และมานั่งอยู่ด้วยตลอดเวลาเล่น
หม่อมฉันมีโอกาสจึงถามความสงสัยบางอย่างในกระบวนเล่นยี่เก ว่าเหตุไฉนจึงคิดทำเครื่องเล่นยี่เกหรูหรานอกรีตต่างๆ เช่น ใส่ปันจุเหร็จยอด ใส่สังวาลแพรสายตะพาย และโบว์แพรที่บ่า เป็นต้น
แกบอกอธิบายว่าแต่งอย่างนั้นผู้หญิงเห็นว่าสวย มักติดใจ ชอบไปดู มีผู้หญิงไปดูมาก พวกผู้ชายก็มักพากันไปดูพวกผู้หญิง ก็การตั้งโรงยี่เกเป็นข้อสำคัญ อยู่ที่อยากให้มีคนชอบไปดูให้มาก จึงต้องคิดแต่งตัวยี่เกไปทางอย่างนั้น
ถามต่อไปว่าหน้าพาทย์เล่นยี่เก เหตุใดจึงใช้แต่เพลงเชิดเป็นพื้น ทั้งบทร้องและกระบวนฟ้อนรำดูก็ไม่เอาใจใส่ให้เป็นอย่างประณีต
แกตอบว่าคนที่ขอบดูยี่เกไม่เอาใจใส่ในการขับร้องฟ้อนรำ หรือเพลงปี่พาทย์ ชอบแต่ 3 อย่าง คือ ให้แต่งตัวสวย อย่าง 1 ให้เล่นขบขัน อย่าง 1 กับเล่นให้เร็วทันใจ อย่าง 1 ถ้าฝืนความนิยมคนก็ไม่ชอบดู
หม่อมฉันฟังอธิบายก็ต้องชมว่าแกช่างสังเกต และรู้จักจับความนิยมของคนดู จะติไม่ได้เพราะกิจที่เล่นยี่เกก็เพื่อจะหาเงินค่าดู เล่นอย่างใดจะได้เงินมากแกก็ต้องเล่นอย่างนั้น”
จะเห็นว่าลิเกไม่ได้มีรากฐานเดิมจากราชสำนัก และไม่ได้มาจากละครรำ ตามที่มีบทความพิมพ์เผยแพร่ในวารสารวัฒนธรรมของกระทรวงวัฒนธรรม (ฉบับมกราคม-มีนาคม 2559 หน้า 28)
แต่ลิเกมาจากสวดแขก แล้วพยายามเลียนแบบหลายอย่างให้เพี้ยนจากละครหลวง พอเป็นกระสายเท่านั้น ไม่จริงจังอะไร ครั้นยุคหลังแข่งขันกันอวดรำแบบละครรำ เลยทำท่าจะไปไม่รอด เพราะคนเลิกดู

Advertisement

กระทรวงวัฒนธรรม ควรแก้ไขข้อมูลให้ถูกต้อง แล้วเร่งรัดไปดูแลรักษาวิกลิเกแห่งแรกของสยามที่ตรอกพระยาเพชร ชุมชนป้อมมหากาฬ ชานกำแพงพระนคร

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image