ยื่นทรัพย์สิน : โดย เทวินทร์ นาคปานเสือ

ตามที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ออกประกาศ ป.ป.ช. เรื่อง กำหนดตำแหน่งของผู้มีหน้าที่ยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน ตามมาตรา 102 พ.ศ.2561

ที่ได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายนที่ผ่านมา

และจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 2 ธันวาคมนี้

โดยกำหนดให้ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินและเจ้าหน้าที่ของรัฐ

Advertisement

ต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินของตน คู่สมรสและบุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ

ลามไปถึงภรรยานอกกฎหมายที่ปรากฏพฤติการณ์ ที่บุคคลภายนอกสามารถรับรู้ได้

ในส่วนนี้น่าจะไม่ค่อยมีปัญหา เพราะส่วนใหญ่รู้กฎกติกาอยู่แล้ว

Advertisement

แต่ที่น่าวิตกกังวลจะเป็นบรรดานายกสภามหาวิทยาลัย กรรมการสภามหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยสงฆ์ ซึ่งรวมทั้งคู่สมรส และบุตรด้วยนั้น

หากพิจารณาอย่างผิวเผินก็ดูเหมือนเป็นเรื่องที่ดีน่าสนับสนุน เพราะเท่ากับว่ามาตรการนี้จะเป็นการสร้างความ “โปร่งใส” ให้กับองค์กรของสภามหาวิทยาลัยว่าบุคคลที่มาดำรงตำแหน่งนายกสภาก็ดีหรือกรรมการก็ดี

ต้องเป็นคนที่ “คลีน”

แต่ถ้าพิจารณาให้ลึกลงไปอีกจะเห็นว่ามาตรการนี้ไม่น่าจะสอดคล้องกับหลักการตรวจสอบมากนัก

เพราะว่าการตรวจสอบทรัพย์สินของผู้ดำรงตำแหน่งใดๆ นั้นน่าจะมาจากแนวคิดในเรื่องของตำแหน่งผู้บริหารองค์กร เพราะอย่าลืมว่าการดำรงตำแหน่งของเขามันมี “ช่องทาง” หรือ “โอกาส” ที่ง่ายในการกระทำ “ทุจริต” หรือเกิดผลประโยชน์ “ทับซ้อน”

ที่สำคัญตรวจสอบได้ไม่ง่าย!?

ดังนั้นการแสดงบัญชีทรัพย์สินสำหรับบุคคลที่อยู่ในตำแหน่งลักษณะนี้จะช่วยป้องปรามการกระทำผิด

และถ้ามีความผิดปกติก็สามารถขยายผลต่อจนกระทั่งจัดการกับผู้กระทำผิดได้

หากมองมุมนี้เมื่อพิจารณาถึงตำแหน่งนายกสภามหาวิทยาลัยรวมทั้งกรรมการ

ยังมองไม่ออกว่าตำแหน่งเหล่านี้จะเกิดการทุจริตในขั้นตอนใด

เพราะบุคคลเหล่านี้เป็นเพียง “ผู้ทรงคุณวุฒิ” ในการศึกษาที่ได้รับเชิญมาเป็นกรรมการ

พูดได้ว่าแทบจะส่งเทียบเชิญกราบกรานกันเข้ามานั่งให้ครบองค์ประชุม

บางคนนั่งเป็นนายกสภาฯ กรรมการสภากันหลายแห่ง

ค่าตอบแทนที่ได้รับเป็นเพียง “เบี้ยประชุม”

แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าบางสถาบันอาจมีนายกสภา กรรมการสภา เป็นเจ้าของบริษัทหรือเครือญาติทำธุรกิจ

อาจใช้ตำแหน่งแสวงหาผลประโยชน์ได้บ้าง

แต่ถือว่ามีเพียงส่วนน้อย

การ “เหมาเข่ง” แบบนี้จึงมีปัญหาที่ผู้ทรงคุณวุฒิจะลาออกกันเป็นแถวยาว

อย่าลืมว่าผู้ที่จะลงในเรื่องทางปฏิบัติคือคณะผู้บริหารสถานศึกษา

และที่น่าตกใจอีกประเด็นคือหลักเกณฑ์นี้จะต้องใช้กับมหาวิทยาลัยสงฆ์ด้วย

ซึ่งจะมีพระเป็นกรรมการอยู่ด้วย

อย่าลืมว่าเมืองไทยเป็นเมืองพุทธ อาจเกิดภาพแม้แต่พระสงฆ์องค์เจ้ากลับไม่เป็นที่น่าไว้วางใจของสังคม

ซึ่งเป็นเรื่องละเอียดอ่อน!?

ดังนั้นรัฐบาลและ ป.ป.ช.ต้องรีบหาทางออกก่อนปัญหาจะลุกลามบานปลายไปมากกว่านี้!?!

เทวินทร์ นาคปานเสือ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image