การเดินหน้าลงน้ำอีกครั้งหนึ่งของกรุงเทพฯ : โดย พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์

กรุงเทพฯนั้นมีพัฒนาการการเติบโตหมุนกลับมาสู่รอบใหม่อีกครั้งหนึ่ง

จากยุคตั้งตนที่แม่น้ำลำคลองนั้นเป็นเส้นทางสำคัญที่หล่อเลี้ยงการเติบโตของเมือง

มาสู่ยุคของถนนและรถยนต์เริ่มเข้ามาแทนที่ เราจะเห็นการลดบทบาทลงของแม่น้ำลำคลองบางส่วนถึงขั้นของการถมคลอง ตัดถนนทับลงไป หรือการเริ่มหันหน้าเข้าสู่ถนนแทนการหันหน้าเข้าสู่คลองของสิ่งปลูกสร้างและที่พักอาศัยต่างๆ

ยุคต่อมาถนนทั่วไปเริ่มใช้การได้ยากขึ้น รถเริ่มติดมากขึ้น ศูนย์กลางเมืองเริ่มเข้าถึงได้น้อยลง ห้างขนาดใหญ่แทนที่จะอยู่ใจกลางเมือง เริ่มขยับขยายไปอยู่แถบชานเมืองมากขึ้น ห้างแบบนี้บางครั้งเรียกว่าเป็นแม่เหล็กสำคัญที่ทำให้การพัฒนาพื้นที่โดยรอบเกิดขึ้นได้มากขึ้น อาจเรียกว่าในปัจจุบัน ในกรุงเทพฯเองนั้นถ้าจะนับศูนย์เมืองย่อยของกรุงเทพฯอาจจะต้องนับว่ามีสาขาของห้างใหญ่ที่เป็นแกนสำคัญของการพัฒนาในพื้นที่อยู่ในบริเวณไหนบ้าง เช่น บางกะปิ บางแค ศรีนครินทร์ บางนา ปิ่นเกล้า มีนบุรี พระรามสอง พระรามสาม เป็นต้น

Advertisement

เมื่อรถติดขึ้น ศูนย์กลางเมืองก็เข้าถึงยาก คนเริ่มขยับขยายไปยังพื้นที่ไกลขึ้น ในพื้นที่ในเมือง มอเตอร์ไซค์รับจ้างก็เริ่มมีมากขึ้น ชานเมืองก็มีมากขึ้นเช่นกัน เพราะซอยต่างๆ มันยาวขึ้นและรถเมล์ก็โตตามไม่ทัน ทางด่วนและรถตู้ก็เป็นทางเลือกมากขึ้น ทั้งเข้าเมืองและขยายเมืองออกไป หากนั่งรถเมล์เข้ามาในเมืองคงใช้เวลานาน แต่ถ้านั่งรถตู้ก็จะทำให้เข้าเมืองและกลับบ้านได้ด้วยเวลาที่น้อยลง

ต่อมาโจทย์ใหม่ก็เพิ่มเข้ามา เมื่อถนนธุรกิจเจออุปสรรคของห้างชานเมืองที่ดึงลูกค้าใกล้บ้านไปมากขึ้นเรื่อยๆ ส่วนหนึ่งนำไปสู่การมีรถลอยฟ้าและรถใต้ดิน เพื่อตรึงให้พื้นที่เมืองย่านธุรกิจยังคงสภาพของแกนที่ดึงดูดเมืองเอาไว้ จะเห็นได้ว่าในช่วงแรกรถไฟฟ้าจะวิ่งเฉพาะในย่านใจกลางเมืองทางธุรกิจเป็นสำคัญ และก่อให้เกิดการกลับเข้าสู่เมืองอีกครั้งของผู้คนรุ่นใหม่ในรูปแบบของการเกิดที่พักอาศัยในอาคารสูง คือคอนโดและอพาร์ตเมนต์ตามแนวรถไฟฟ้า

ในช่วงที่ผ่านมานี้การเติบโตของเมืองแบบนี้ดำเนินต่อไปเรื่อยๆ พร้อมกับพลวัตเมืองอีกด้านหนึ่งก็คือเคลื่อนไหวและใช้ชีวิตของคนจนเมือง และคนที่เปราะบางต่อการพัฒนาเมือง ทั้งที่พวกเขาก็เป็นส่วนหนึ่งของความมั่งคั่งและการเติบโตของเมืองเช่นกัน ดังที่เห็นจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ไม่เป็นทางการ อาทิ หาบเร่ แผงลอย ตลาดนัดกลางคืน และที่พักอาศัยตามริมน้ำ และตามชุมชนแออัด รวมทั้งห้องเช่า หอพัก ที่มักไม่ค่อยได้มาตรฐาน แต่ก็แลกมาด้วยโอกาสที่จะได้เป็นส่วนหนึ่งของความมั่งคั่งในเมือง

Advertisement

ไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้ ความเข้มข้นของการจัดระเบียบเมืองมีมากขึ้น โดยเฉพาะการไล่รื้อตลาดนัดกลางคืนแห่งใหญ่ในพื้นที่ชั้นใน ที่มาควบคู่กับกระแสการฟื้นฟูเมืองชั้นในให้สวยงาม รถไฟฟ้าสายใหญ่เริ่มก่อสร้างเพื่อเข้าสู่พื้นที่ดังกล่าว ตึกรามบ้านเรือนในพื้นที่มีการรื้อสร้างใหม่ด้วยการย้อนเอารูปทรงของตึกในแบบเดิมมาสร้างให้ดูเหมือนการย้อนยุค

พื้นที่ทางเดินเท้าถูกปิดกั้นไม่ให้มีการค้าขายด้วยข้ออ้างของความเป็นระเบียบของเมือง และเป็นการคืนถนนให้กับคนเดิน คนวิ่ง และเกิดการสร้างพื้นที่จักรยานซ้อนลงไปบนถนนในหลายพื้นที่ทั้งที่ปัจจุบันทิ้งร้างไปก็ไม่ใช่น้อย

การรื้อและย้ายพื้นที่ชุมชนริมน้ำจำนวนหนึ่งเกิดขึ้นภายใต้เงื่อนไขของเรื่องข้อหาในการบุกรุกพื้นที่ริมน้ำ และเงื่อนไขของการนำพื้นที่คืนมาเพื่อบริหารจัดการป้องกันน้ำท่วม

รวมทั้งการนำเสนอภาพการเปลี่ยนแปลงใหญ่ในบริเวณริมน้ำทั้งหมดเพื่อสร้างทางเดินเท้า และพื้นที่พักผ่อนสาธารณะ รวมทั้งการปรับปรุงภูมิทัศน์อีกมากมาย ทั้งในระดับพื้นที่ที่ครอบคลุมในวงกว้าง หรือในพื้นที่ย่อยที่ปรับเปลี่ยนท่าเรือเก่าให้กลายเป็นย่านร้านอาหารและพักผ่อนหย่อนใจใหม่ที่ราคาสินค้าเพิ่มสูงขึ้นไปอย่างมาก

มาจนถึงการเปิดตัวของ landmark หรือสถานที่ที่เป็นจุดสังเกตหลักแห่งใหม่ในพื้นที่ริมน้ำในรูปแบบของห้างสรรพสินค้าและโครงการพัฒนาที่ดินขนาดใหญ่ที่เชื่อว่าจะเป็นแหล่งดึงดูดทั้งเงิน ผู้คนในระดับโล

สิ่งสำคัญที่น่าตั้งข้อสังเกตก็คือ แนวโน้มการพัฒนาใหม่ของกรุงเทพฯกำลังย้ายตัวไปที่ริมน้ำมากขึ้น ขณะที่เรายังไม่ค่อยมีความพร้อมทั้งในระดับของสังคมและในระดับของรัฐบาลท้องถิ่นและระดับชาติในการวางแนวทางการพัฒนาพื้นที่ริมน้ำอย่างเป็นระบบ

ไม่ต้องพูดอะไรไปไกลมากหรอกครับ แค่คณะกรรมการจัดการน้ำเวลามีน้ำท่วมแต่ละรอบก็ยังแย่เลยครับ

การพัฒนาพื้นที่ริมน้ำนั้นมันยึดโยงทั้งประเด็นสิ่งแวดล้อมคือในส่วนของตัวแม่น้ำลำคลอง และในส่วนของพื้นที่ริมน้ำ และพื้นที่ที่ลึกเข้าไปที่จะได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงพื้นที่ริมน้ำอีกมากมาย

ยกตัวอย่างง่ายๆ ก็คือ การจราจรทางน้ำที่เกิดขึ้นในปัจจุบันนั้น เนื่องจากปริมาณยังไม่มากนัก ก็ดูจะไร้ระเบียบอยู่ไม่น้อย ทีนี้ถ้าลองตั้งคำถามใหม่ว่า ในอนาคตการจราจรทางน้ำไม่ใช่แค่เรื่องของการขออนุญาตมีเรือ และการมีท่าเรือ แต่รวมไปถึงเรื่องของการเดินเรือในหลายรูปแบบขึ้น เราจะมีระบบในการจัดการอย่างไร

เรื่องต่อมาก็คือ เรามักจะอ้างกันแต่ว่ามีชุมชนริมน้ำที่รุกล้ำเข้าไปในพื้นที่ แต่เราไม่ค่อยตั้งคำถามว่า พื้นที่ริมแม่น้ำกับพื้นที่ริมชายฝั่งทะเลเป็นพื้นที่ริมน้ำเหมือนกันไหม? ถ้าเหมือนกัน ทุกคนต้องมีสิทธิในการเข้าถึงพื้นที่น้ำเหมือนกันใช่หรือไม่? ถ้าใช่ ทำไมเราจึงไม่สามารถเดินริมน้ำในทุกจุดได้?

เรื่องต่อมาก็คือ เรายังไม่มีรูปแบบของหน่วยงานของรัฐบาลท้องถิ่นในที่นี้คือ กทม. ที่รับผิดชอบโดยตรงในการจัดทำแผนงานและจัดการการมีส่วนร่วมของพื้นที่ริมน้ำอย่างเป็นระบบ ที่ประชาชนเข้าถึงได้และเข้าใจบทบาทของตนในการเข้าร่วม (หรือถ้ามีเราก็คงจะไม่ค่อยได้รับทราบกัน)

ส่วนสำคัญในกรณีของกรุงเทพฯก็คือ พื้นที่ที่กำลังจะเกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในวันนี้คือพื้นที่ในบริเวณฝั่งธน ซึ่งถูกทิ้งไปจากสายตาของนักพัฒนาและระบบราชการมาเป็นเวลานาน นับตั้งแต่การผนวกรวมฝั่งธนเข้ามาอยู่ในส่วนหนึ่งของกรุงเทพมหานครอย่างเป็นทางการเมื่อปี 2514 เป็นต้นมา ซึ่งจะเห็นว่า นับจากช่วงนั้นมาจนถึงเมื่อไม่นานมานี้ไม่มีโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ลงไปพัฒนาฝั่งธนอย่างเป็นระบบ เมื่อเทียบกับโครงการขนาดใหญ่ที่ข้ามฝั่งธนไปยังจังหวัดโดยรอบของกรุงเทพฯ เช่น นครปฐม ปทุมธานี สมุทรปราการ นนทบุรี เป็นต้น เว้นแต่จะมีสะพานและถนนตัดผ่านไปยังพื้นที่นอกกรุงเทพฯ

มาวันนี้ฝั่งธนกำลังเกิดการเปลี่ยนแปลงขนาดใหญ่ ทั้งจากรถไฟฟ้าจำนวนหลายสาย และโครงการที่อยู่อาศัยและโครงการพัฒนาอีกจำนวนมากในพื้นที่ฝั่งธนบุรี

เรื่องนี้ทำให้ต้องคิดต่อไปว่า นอกจากเรื่องของพื้นที่ริมน้ำที่จะต้องบริหารจัดการควบคู่ไปกับการเข้าใจเรื่องนิเวศวิทยาของแม่น้ำลำคลองแและพื้นที่โดยรอบจากพื้นที่ริมน้ำแล้ว เรื่องของการมองการพัฒนาในระดับภูมิภาค คือมองฝั่งธนทั้งระบบและทำความเข้าใจฝั่งธนในฐานะที่เป็นเมืองของตัวเองที่ไม่ต้องพึ่งพาฝั่งพระนคร รวมทั้งการพัฒนาความสัมพันธ์ของฝั่งธนกับพื้นที่โดยรอบของฝั่งธนนั้นมีความสำคัญยิ่ง เพราะกรุงเทพฯเป็นการผนวกเอาเมืองใหญ่สองเมืองเข้าด้วยกัน

แต่ที่ผ่านมาการพัฒนานั้นทำให้ฝั่งธนถูกละเลย และเป็นพื้นที่ที่ต้องพึ่งพาความเจริญจากฝั่งกรุงเทพฯมาโดยตลอด ทั้งที่ในปัจจุบันพื้นที่ฝั่งธนจำนวนมากเป็นพื้นที่ที่มีการขยายตัวอย่างก้าวกระโดด เพื่อตอบรับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทั้งถนน สะพาน รถไฟฟ้า คอนโด โรงแรม และห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่ทั้งสิ้น

การเติบโตของห้างริมน้ำรวมทั้งโครงการพัฒนาที่ดินขนาดใหญ่ของห้างใหม่ย่านฝั่งธนในรอบนี้ทำให้เราต้องตั้งหลักคิดกันต่อว่า นี่คือครั้งแรกในรอบหลายทศวรรษที่การพัฒนาที่ดินนั้นถูกบุกเบิกโดยเอกชนโดยปราศจากโครงสร้างพื้นฐานรองรับที่เพียงพอ (ยังไม่ได้พูดถึงเรื่องของรถไฟฟ้าสายใหม่ที่กำลังจะเข้าไปในห้างนั้น ว่าตกลงใครจะเป็นคนแบกภาระในการก่อสร้าง) เมื่อนับว่า เดิมนั้นห้างใหญ่และการพัฒนาที่ดิน อย่างน้อยจะเกิดขึ้นก็เมื่อมีถนนรองรับมาก่อน และประเด็นร้อนๆ เรื่องของการพัฒนาพื้นที่ริมน้ำในช่วงไม่นานนี้เริ่มปะทุขึ้นมาในหลายพื้นที่

การขับเคลื่อนการพัฒนาที่ดินในรอบใหม่นี้มีความชัดเจนกว่าการพัฒนาที่ดินในกรุงเทพฯในช่วงที่แล้วอยู่หลายประการ รวมทั้งความเชื่อมั่นว่าจะสามารถดึงดูดเม็ดเงินจากต่างชาติผ่านการท่องเที่ยว และเม็ดเงินจากคนไทยไฮโซอีกไม่ใช่น้อย และที่น่าสนใจยิ่งก็คือ เรื่องของความเชื่อมั่นว่าความเป็นไทยจะสามารถขายได้ และถูกผนวกเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของการเติบโตของโลกาภิวัตน์

เมื่อการขับเคลื่อนของเอกชนรุดหน้าไปถึงเพียงนี้ คำถามคือ ภาครัฐและภาคประชาชนควรจะเริ่มตั้งหลักคิดถึงทิศทางการพัฒนาพื้นที่ริมน้ำอย่างจริงจัง โดยไม่จำเป็นต้องรองรับการพัฒนาของเอกชนเท่านั้น แต่ต้องคำนึงถึงผลกระทบต่างๆ ที่จะตามมาของสังคมเมืองในภาพรวม โดยเฉพาะทั้งเรื่องของความเป็นธรรมในการเข้าถึงพื้นที่ และความยั่งยืนของพื้นที่ รวมทั้งการให้ความรู้และความทรงจำเกี่ยวกับพื้นที่เหล่านั้นว่ามีความเป็นมาอย่างไร

ความเชื่อในด้านบวกของการพัฒนาพื้นที่ริมน้ำในเมือง (urban waterfront redevelopment) มักเป็นเรื่องของการเพิ่มขึ้นของความเข้มแข็งของเศรษฐกิจในพื้นที่ การสร้างพื้นที่สาธารณะแห่งใหม่และการเพิ่มการเข้าถึงคุณค่าทางวัฒนธรรมและธรรมชาติของพื้นที่ รวมทั้งการเป็นเครื่องมือในการเพิ่มภาพลักษณ์ทางบวกของเมือง ซึ่งจะทำให้การเติบโตของเมืองมีความมั่นคงและเกิดการลงทุนจากต่างชาติ เมืองที่มีแม่น้ำซึ่งเดิมนั้นอาจจะรู้สึกว่าสกปรก และไม่ค่อยหน้ารื่นรมย์ก็หันมาทำให้แม่น้ำหรือพื้นที่ริมน้ำเป็นจุดขาย

แต่ในอีกด้านนั้นข้อกังวลเรื่องความเท่าเทียมและการรองรับความต้องการของผู้คนก็ตามมา เพราะคนที่เปราะบางและ ทนต่อค่าครองชีพที่เพิ่มขึ้นไม่ไหวก็อาจจะต้องย้ายออกจากพื้นที่เพราะราคาที่พักสูงขึ้น ที่พักใหม่ๆ ก็เข้าถึงไม่ไหว รวมทั้งเกิดคนกลุ่มใหม่ๆ ย้ายเข้ามาในพื้นที่เพิ่มขึ้น คำถามเรื่องของความเป็นธรรมในการพัฒนาก็ตามมา โดยเฉพาะกับรัฐบาลท้องถิ่นที่มีภารกิจต้องดูแลเรื่องอื่นๆ นอกเหนือไปจากการพัฒนาเศรษฐกิจในเมือง

นอกจากนั้นแล้ว การถกเถียงเรื่องการพัฒนาพื้นที่ริมน้ำในเมืองในยุคหลังๆ ยังเกี่ยวพันไปถึงเรื่องของการตั้งคำถามว่า กิจกรรมทางเศรษฐกิจที่เน้นเรื่องการท่องเที่ยวและการพักผ่อนหย่อนใจนั้นก่อให้เกิดรายได้จริงจังในฐานะภาคเศรษฐกิจที่เป็นจริงแค่ไหน หรือความมั่งคั่งที่เกิดขึ้นนั้นกลับย้อนกลับไปสู่บริษัทขนาดใหญ่ และสาขาของพวกเขามากกว่าบุคลากรในภาคการบริการที่สวัสดิการน้อยและค่าแรงไม่มากนัก ประเด็นเรื่องผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมเมื่อการปลูกสร้างเพิ่มมากอย่างก้าวกระโดดในพื้นที่ริมน้ำ

รวมทั้งการมีส่วนร่วมของประชาชนในการตัดสินใจในพื้นที่เหล่านั้น รวมไปถึงความเป็นธรรมของการใช้พื้นที่สำหรับคนที่ถูกเบียดขับจากพื้นที่และการเข้าไม่ถึงของคนอีกจำนวนไม่น้อยต่อการเปลี่ยนสภาพที่ดินในครั้งนี้

การตั้งคำถามถึงผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงการใช้ที่ดินในนามของการพัฒนาพื้นที่ริมน้ำยังรวมไปถึงว่าการพัฒนาในรอบนี้มันคือการพัฒนาเมืองที่ยั่งยืนเป็นธรรม หรือเป็นเพียงการกำหนดพื้นที่ทางการตลาดแบบที่ประชาชนจำนวนมากต่อรองอะไรไม่ได้ (place making) และสร้างบรรยากาศใหม่ในแบบพื้นที่ทางจินตนาการ (theme park) และเศรษฐกิจใหม่ที่กำลังเกิดขึ้นอาจไม่ได้ให้ประโยชน์กับคนทุกคนในเมือง

โดยเฉพาะเมื่อคำสวยๆ อย่างคำว่า การมีส่วนร่วมของชุมชน การร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน และการประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและสังคมนั้นถูกนำมาแทนที่กิจกรรมและเงื่อนไขของการปรึกษาหารือสาธารณะอย่างรอบด้าน การพัฒนาเมืองอย่างยั่งยืนและความเป็นธรรมในการพัฒนาเมือง

พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image