กรรมการสภามหาวิทยาลัยเป็นใคร ทำไมต้องยื่นบัญชีทรัพย์สิน?? โดย ศาสตราจารย์ ดร.โกวิทย์ พวงงาม

ผมเข้าใจว่า ยังเป็นที่ถกเถียงวิพากษ์วิจารณ์กัน และยังไม่ได้ลงตัวว่าการกำหนดให้นายกสภามหาวิทยาลัยและกรรมการสภามหาวิทยาลัยต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินตามมาตรา 102 แห่ง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2561 ซึ่งเป็นที่มาที่ไปของการนำมาสู่การยื่นใบลาออกของนายกสภาและกรรมการสภามหาวิทยาลัยหลายแห่ง ที่อาจจะส่งผลกระทบโดยตรงต่อการดำเนินงานของมหาวิทยาลัยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แม้ว่ามีทางออกเบื้องต้นว่าจะขยายเวลาการยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินออกไปก็ตาม

ในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับนายกสภาและกรรมการสภามหาวิทยาลัยต้องวกกลับไปดูที่มาที่ไปว่าเป็นใคร มาได้อย่างไร และมีอำนาจหน้าที่สำคัญๆ อะไรบ้าง เพื่อจะนำไปสู่การตีความว่า “นายกสภาและกรรมการสภามหาวิทยาลัยเข้าข่ายเป็นผู้บริหารมหาวิทยาลัยหรือไม่ที่ต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินหรือไม่อย่างไร”

ผมเห็นว่า กรรมการสภามหาวิทยาลัยทำหน้าที่หลักๆ ที่คล้ายคลึงกันทุกมหาวิทยาลัยนั่นก็คือ

ประการที่หนึ่ง การกำหนดนโยบายและอนุมัติแผนพัฒนามหาวิทยาลัย เพื่อให้ฝ่ายบริหารหรืออธิการบดีนำไปปฏิบัติ ประการที่สอง ออกระเบียบข้อบังคับเพื่อเป็นประโยชน์ในการปฏิบัติงานของมหาวิทยาลัย

Advertisement

ประการที่สาม อนุมัติให้ปริญญา ประกาศนียบัตร และอนุปริญญาบัตร รวมทั้งอนุมัติให้ปริญญากิตติมศักดิ์ ประการที่สี่ ให้ความเห็นชอบเลือกอธิการบดี แต่งตั้งและถอดถอนรองอธิการบดี คณบดี ผู้อำนวยการสำนัก รวมทั้งตำแหน่งทางวิชาการ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ รองศาสตราจารย์ เป็นต้น

ประการที่ห้า พิจารณาให้ความเห็นชอบหลักสูตรต่างๆ ของมหาวิทยาลัยให้สอดคล้องกับมาตรฐานที่คณะกรรมการอุดมศึกษากำหนด

และประการที่หก พิจารณาเสนอเรื่องเพื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งและถอดถอนนายกสภามหาวิทยาลัย กรรมการสภามหาวิทยาลัยผู้ทรงคุณวุฒิ อธิการบดี ศาสตราจารย์ และศาสตราจารย์พิเศษ

Advertisement

ดังนั้น จึงเห็นว่ากรรมการสภามหาวิทยาลัยมีความสำคัญต่อการทำหน้าที่ทางวิชาการในด้านการศึกษาเพื่ออนุมัติหลักสูตรของมหาวิทยาลัย การอนุมัติปริญญาต่างๆ รวมทั้งตำแหน่งทางวิชาการของทางมหาวิทยาลัย ตลอดจนการกำหนดนโยบายและแผนการพัฒนามหาวิทยาลัย เพื่อให้อธิการบดีนำไปปฏิบัติ

ซึ่งในประการหลักๆ ที่กล่าวนี้ หากกรรมการสภาลาออกเกินครึ่งหนึ่งจะทำให้การดำเนินงานต่างๆ เป็นต้นว่า อนุมัติปริญญาบัตร อนุมัติหลักสูตรการเรียนการสอน ก็ไม่สามารถดำเนินการได้ ทำให้มีปัญหาอย่างแน่นอน

ส่วนที่มาที่ไปของกรรมการสภามหาวิทยาลัยโดยทั่วไปจะประกอบด้วย นายกสภามหาวิทยาลัย ซึ่งจะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ และมีที่มาโดยผ่านกระบวนการสรรหาจากผู้มีความรู้ความสามารถ และมีประสบการณ์เป็นที่ยอมรับทางสังคม โดยผ่านความเห็นชอบจากสภามหาวิทยาลัยนั้นๆ

กรรมการสภามหาวิทยาลัยอีกกลุ่มหนึ่งมาจากตัวแทนผู้บริหารมหาวิทยาลัย ได้แก่ อธิการบดี รองอธิการบดี ประธานสภาคณาจารย์และตัวแทนคณาจารย์ประจำ และตัวแทนข้าราชการหรือพนักงาน รวมทั้งประธานกรรมการส่งเสริมกิจการของมหาวิทยาลัย

ที่สำคัญ กรรมการสภามหาวิทยาลัยผู้ทรงคุณวุฒิ ซึ่งต้องมีจำนวนไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของกรรมการสภามหาวิทยาลัยทั้งหมดซึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งจากบุคคลภายนอก โดยคำแนะนำของนายกสภาและกรรมการสภามหาวิทยาลัย

ทั้งนี้ ผู้ทรงคุณวุฒิดังกล่าว ต้องมาจากผู้ที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญในสาขาวิชาต่างๆ เช่น ด้านการศึกษา ด้านสังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ กฎหมาย วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ด้านการบริหารการเงิน งบประมาณ การบริหารงานบุคคล การปกครองท้องถิ่น เป็นต้น

ผมจึงเห็นว่า การเลือกนายกสภามหาวิทยาลัยและกรรมการสภามหาวิทยาลัยในแต่ละมหาวิทยาลัย จึงต้องพิจารณาถึงคุณสมบัติเพื่อมองหาคนที่มีความรู้ความสามารถและมีประสบการณ์ความเชี่ยวชาญในสาขาวิชาต่างๆ เพื่อจะได้เป็นประโยชน์ต่อมหาวิทยาลัยในการกำหนดนโยบายและแผนการพัฒนามหาวิทยาลัยนั้นๆ ด้วย

แต่ก็มีข้อสังเกตสำหรับในบางมหาวิทยาลัยที่มักไม่ค่อยให้ความสำคัญกับการเลือกผู้ทรงคุณวุฒิ แต่กลับมักจะเลือกบุคคลที่จะมาคอยสนับสนุนกลุ่มตนเอง เช่น เลือกผู้ทรงคุณวุฒิเพื่อมาสนับสนุนการเลือกอธิการบดี หรือทีมบริหารมหาวิทยาลัย เป็นต้น

สภามหาวิทยาลัยบางแห่งก็กลายเป็น “สภามหาวิทยาลัยตรายาง” ซึ่งก็ไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ของการมีกรรมการสภามหาวิทยาลัยที่จะต้องเป็นผู้ที่มาให้คำแนะนำทางวิชาการ มาเสนอนโยบายและแผนงานมหาวิทยาลัยเพื่อให้อธิการบดีนำไปปฏิบัติ

จึงเป็นที่มาของกลุ่มคณาจารย์จำนวนหนึ่งที่ออกมาสนับสนุนว่า นายกสภามหาวิทยาลัยและกรรมการสภามหาวิทยาลัยมีความจำเป็นต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน

เพราะกรรมการสภามหาวิทยาลัยบางแห่งอาจจะไปมีผลประโยชน์ร่วมกับอธิการบดี รองอธิการบดี ที่เป็นกลุ่มก้อน (ก๊วน) เดียวกัน เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม กรรมการสภามหาวิทยาลัยในบางมหาวิทยาลัยที่มีความมุ่งมั่นและแสวงหากรรมการสภามหาวิทยาลัยที่มีประสบการณ์ มีความเชี่ยวชาญ ซึ่งบางครั้งอาจจะต้องไปเชิญ หรือขอร้องมาให้เป็น เพราะจะได้ทำหน้าที่ที่เป็นประโยชน์กับมหาวิทยาลัยนั้น

และเมื่อเขาต้องมาเจอการให้แสดงบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน เขาอาจจะเห็นว่ายุ่งยาก หรือไม่ได้มีผลประโยชน์อะไรหรือไม่มีส่วนได้ส่วนเสียกับมหาวิทยาลัยแต่อย่างใด

เพราะกรรมการสภามหาวิทยาลัยไม่ได้เป็น “ผู้บริหารมหาวิทยาลัย” เขาจึง “ขอลาออกดีกว่า”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image