สุชาติ ศรีสุวรรณ : โลกเก่ากับคนใหม่

เมื่อราว 20 ปีก่อน นักคิดนักวิเคราะห์ทั่วโลก รวมถึงในประเทศไทยเราเคยตื่นตัว ฮือฮากับหนังสือชื่อ “The Third Wave” หรือ “คลื่นลูกสาม”

อัลวิน ทอฟเลอร์ นักวิชาการชาวอเมริกัน ผู้เขียนวิเคราะห์ความเป็นไปของการสังคมมนุษย์บนโลก ทำนองว่า “ความเป็นโลกาภิวัตน์” อันหมายถึงการเชื่อมถึงกันด้วยเทคโนโลยีการสื่อการและการคมนาคมที่พัฒนาไปมากมาย จะทำให้ความรู้สึกเป็นหนึ่งเดียวกันของคนทั้งโลกมีมากขึ้น

สรุปความได้ว่าแม้จะแบ่งเป็นประเทศ เป็นชาติ แต่การถ่ายเททางวัฒนธรรม ค่านิยม และข้อมูลข่าวสารที่จะรับรู้ถึงกันอย่างรวดเร็ว เรื่องราวที่เกิดขึ้นในซีกโลกหนึ่งจะรับรู้ถึงอีกซีกโลกหนึ่งได้ทันที ด้วยเทคโนโลยีที่ทำได้ง่ายขึ้น

ด้วยเหตุนี้ แม้จะยังอยู่คนละประเทศแต่ความรู้และอารมณ์ร่วมจะส่งต่อถึงกันได้อย่างรวดเร็ว ด้วยเครื่องไม้เครื่องมือที่ทุกคนสามารถเข้าถึงได้

Advertisement

ใน 20 ปีกว่าที่อ่านหนังสือเล่มนี้ บางคนอาจจะยังจินตนาการไม่ออก โดยเฉพาะคนที่ทำใจให้เชื่อไม่ได้ว่า เอกลักษณ์ของชาติต่างๆ จะกลมกลืนกันไปตามข้อมูล ข่าวสาร และอารมณ์ที่ถ่ายเทถึงกัน กระทั่งทำให้ความผูกพันเห็นอกเห็นใจ ร่วมทุกข์ร่วมสุขกันของคนในโลกไม่ขึ้นต่อความเป็นชาติเดียวกันมากมายเหมือนที่ผ่านมา

แต่ถึงวันนี้ แทบไม่ต้องจินตนาการ เพราะเรื่องราวที่ “ทอฟเลอร์” เคยชี้ให้เห็นแนวโน้มไว้นั้นกลับปรากฏชัดเจน ด้วยเทคโนโลยีที่ง่ายดาย ด้วยอุปกรณ์การสื่อสารที่แทบจะอยู่ในมือของทุกคน

ไม่ใช่แค่สำนักข่าวที่มีผู้สื่อข่าวอยู่ทั่วโลกจะผลิตข่าวขึ้นมานำเสนอผ่านทีวีแบบนาทีต่อนาทีเท่านั้น แต่วันนี้ด้วยเครือข่ายโซเชียลมีเดีย คนคนหนึ่งไม่ว่าจะเป็นใครหากมีสมาร์ทโฟนอยู่ในมือ และเชื่อมต่อกับโครงข่ายอินเตอร์เน็ต สามารถทำการถ่ายทอดสดเหตุการณ์ที่อยู่ตรงหน้าของตัวเองไม่ว่าจะเป็นเหตุการณ์อะไร เผยแพร่ไปให้คนทั้งโลกได้แชร์ต่อๆ กันไปดูได้แบบเรียลไทม์สดๆ

Advertisement

มีโปรแกรมที่บอกเล่าเรื่องราวให้เครือข่ายได้รับรู้ทันทีอย่างเป็นปัจจุบัน

โลกไม่มีช่องว่างของการถ่ายทอดข้อมูลข่าวสาร ความรู้ และความคิดอีกต่อไปแล้ว เรื่องราวที่เคยปิดกั้นได้ วันนี้ทำไม่ได้อีกต่อไป

โลกรับรู้ และมีปฏิกิริยาจากเรื่องที่เกิดขึ้นได้ทันที

นี่คือเสรีภาพของการเรียนรู้ ที่มาพร้อมกับการพัฒนาเทคโนโลยีการสื่อสาร

สิ่งที่ “ทอฟเลอร์” ทำนายไว้เมื่อ 20-30 ปีที่แล้ว เป็นจริงชัดเจนในโลกปัจจุบัน

เป็นโลกของคนแห่งยุคสมัยปัจจุบันที่แปลกประหลาดไปจากความเคยชินของคนรุ่นเก่า

และเมื่อคนรุ่นเก่าตีความว่า ความเป็นไปอย่างที่ตัวเองเคยชินเป็นความดีงาม ความเปลี่ยนแปลงที่มีการพัฒนาเทคโนโลยีการสื่อสารเป็นปัจจัยซึ่งคือความเป็นไปของคนยุคใหม่เป็นย่อมถูกให้ค่าว่าเป็น “ความเลวร้าย” ที่จะต้องหาทางกำจัด

การปิดกั้นการสื่อสาร การลดทอนการแสดงออกเป็นเรื่องที่ “ความดีงามตามค่านิยมเดิม” เห็นว่าจำเป็นต้องกระทำ เพื่อป้องกันไม่ให้ “สังคมเลวร้าย” ในความรู้สึกของเหล่าผู้เฒ่า

ในนามของ “การปฏิรูป” มีการออกกฎหมายและจัดการให้ความเป็นไปของสังคมอยู่ใน “ความดีที่มาจากความเคยชินของคนรุ่นเก่า” ด้วยเจตนาที่ต้องการสร้างสังคมที่ดีงามไว้ให้คนรุ่นหลัง

เพียงแต่ว่า “สังคมที่ดีงามตามความคุ้นชินของคนรุ่นที่จะต้องล้มหายตายจากไปอีกไม่นาน” ดูคล้ายกับว่ากลายเป็น “ความไม่เคยชินของคนรุ่นใหม่ ที่สัมผัสสัมพันธ์อยู่กับเสรีภาพในการแสดงออกมายาวนานระยะหนึ่ง”

การถูกควบคุมกลายเป็นความอึดอัด และบีบคั้นให้ต้องแสดงออกเพื่อต่อต้าน

ดูเหมือนว่า ชั่วโมงนี้การปะทะกันระหว่าง “ค่านิยมเก่า” กับ “จิตสำนึกใหม่” เริ่มที่จะเกิดขึ้น สะท้อนผ่าน “สงครามไซเบอร์” ที่ฝ่ายหนึ่งพยายามควบคุม ขณะที่อีกฝ่ายหนึ่งหาทางท้าทาย ตอบโต้ด้วยความรู้ในเรื่องเทคโนโลยี

ระหว่างคนรุ่นใหม่ที่เดินไปตามความเปลี่ยนแปลงและพัฒนาการของโลก โดยยักไหล่ให้การให้คุณค่าความดี ความงามแบบเก่าๆ กับผู้เฒ่าที่ทนไม่ได้กับสังคมที่เปลี่ยนไปจาก “ความดีงามที่ตัวเองคุ้นชิน”

ที่สุดแล้วจะเป็นอย่างไร เป็นเรื่องที่น่าสนใจติดตามยิ่ง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image