คฤหัสถอาศรม มงคลภารตวิวาห : โดย ผศ.ดร.อาชว์ภูริชญ์ น้อมเนียน

ปัจจุบันประเทศไทยถูกหมายตาจากคู่รักชาวอินเดียที่จะมาประกอบพิธีสำคัญครั้งหนึ่งในชีวิตของพวกเขาด้วยเหตุผลหลายประการโดยเฉพาะอย่างยิ่งทางภาคใต้ เพราะว่าความสวยงามของหาดทราย ค่าห้องพักโรงแรม 5 ดาวของไทยถูกกว่าอินเดียเกินครึ่ง อาหารอร่อย และใช้หัวใจในการบริการ

ด้วยเหตุนี้ภารตวิวาหมงคลซึ่งถือเป็นความร่ำรวยทางวัฒนธรรมของชาวอินเดียจึงเป็นสิ่งที่ควรค่าแก่การศึกษาเรียนรู้เพราะยังคงเอกลักษณ์ได้อย่างน่าชื่นชม และเป็นเสน่ห์หนึ่งที่ดึงดูดให้ผู้คนอยากจะได้มีโอกาสเข้าร่วมสักครั้งหนึ่งในชีวิต

ผู้ที่หลงใหลในวัฒนธรรมแบบฉบับภารตจะได้รับรสแห่งวิวาหมงคลซึ่งเป็นบันไดขั้นที่ 2 แห่งความเชื่อเรื่องลำดับขั้นตอนของชีวิตที่เรียกว่า อาศรม 4

คำว่า อาศรม 4 คือบันได 4 ขั้นของชีวิตมนุษย์ เพื่อใช้ไต่ขึ้นไปจนสามารถเข้าถึงพรหมันในที่สุด ส่วนในมนูสมฤติได้กล่าวว่า อาศรมธรรมเป็นสถาบันทางสังคม เพื่อตอบสนองความต้องการด้านจิตวิญญาณของมนุษย์ ประกอบด้วย

Advertisement

ขั้นแรก คือ พรหมจริยอาศรม (Brahmacharya ashram) นับตั้งแต่เกิดจนถึงอายุ 25 ปี

ขั้นที่สอง คือ คฤหัสถอาศรม (Grihastha ashram) นับตั้งแต่อายุ 25-50 ปี

ขั้นที่สาม คือ วนปรัสถอาศรม (Vanprast ashram) เมื่ออายุเข้าสู่ 50-75 ปี

Advertisement

และขั้นสุดท้าย คือ สันยาสอาศรม (Sanyas ashram) เมื่ออายุ 75 ปีจนถึงวาระสุดท้ายของชีวิต ในฉานโทคยะ อุปนิษัท (Chandoigaya Upanishad, 2:23.1) กล่าวไว้เพียง 3 อาศรม ตรยะธรรม (Trayadharmas) ได้แก่ พรหมจารยะ คฤหัสถะ และสันยาสะ เท่านั้น

ดังปรากฏข้อความที่เน้นย้ำช่วงชีวิตเพิ่มเติมในมนูสมฤติว่า “ทุกคนควรประพฤติตนให้สมบูรณ์ทั้ง 4 สถานที่เพื่อเป็นการพัฒนาทั้งความรู้ พัฒนากาย พัฒนาจิตใจ และพัฒนาจิตวิญญาณทำให้สังคมเกิดความเจริญก้าวหน้า”

หลังจากได้ศึกษาเวทอย่างถูกต้องตามแบบแผนทุกประการแล้ว ก็ควรจะก้าวไปสู่ระดับคฤหัสถะ (Manusmrti, 3:2) ถ้าเมื่อใดปรากฏรอยตีนกาบนใบหน้าและมีผมสีดอกเลา ก็ควรจะก้าวไปสู่ระดับวนปรัสถะและสันยาสะในที่สุด (Manusmrti, 6:2) เราจึงเรียกอาศรมในช่วงสองระยะแรกว่า เส้นทางแห่งการทำงาน (Pravatri Marg) ส่วนสองระยะสุดท้ายเรียกว่า เส้นทางแห่งการสละโลก (Nivrti Marg)

ในขั้นตอนที่ 2 คือคฤหัสถอาศรมจึงมีความหมายและความสำคัญอย่างยิ่งเพราะคำว่า คฤหัสถะ ซึ่งมีรากศัพท์มาจาก คฤหะ แปลว่า เรือน และ สถะ แปลว่า ดำรงอยู่ คำว่า คฤหัสถะ แปลว่า ดำรงอยู่ในเรือน หรือการมีเหย้ามีเรือน หรือการครองเรือน นับว่าเป็นช่วงเวลาที่สำคัญมากเพราะเป็นการเลือกคู่ครองย่อมมีพิธีกรรมทางศาสนาเข้ามาเกี่ยวข้อง ตลอดถึงเรื่องของครอบครัวของทั้งฝ่ายหญิงและฝ่ายชาย

ดังนั้น การแต่งงานจึงไม่ใช่การตัดสินด้วยปัจเจกบุคคลแต่ต้องคำนึงถึงครอบครัวที่ต้องนำมาเกี่ยวข้องด้วย จากสาเหตุนี้ ฤษีมนู และ ยาชญวัลกยะ จึงได้แบ่งประเภทของการพิธีวิวาหตามสมฤติไว้ 8 ประเภท ได้แก่

1.พรหมะ วิวาหะ เป็นการแต่งงานที่ชาวฮินดูถือว่าประเสริฐที่สุด ถือเป็นการแต่งงานแบบพรหม บิดาได้ยกลูกสาวของตนให้แก่ชายผู้มีความประพฤติดีและการศึกษาดี ฝ่ายชายเองก็ยอมรับฝ่ายหญิงไว้เป็นภรรยาอย่างเต็มใจและให้เกียรติ โดยไม่เรียกสินสอดทองหมั้นใดๆ ทั้งสิ้น การแต่งงานของสูรยเทพและโสมเทพ ตามที่กล่าวไว้ในฤคเวท เป็นการแต่งงานแบบพรหมวิวาหะ

2.ไทวะ วิวาหะ หมายถึงการแต่งงานที่บิดาของฝ่ายหญิงได้มอบบุตรสาวของตนเองแก่ฤษีผู้ทำพิธีบูชายัญ ในฐานะเป็น “ทักษิณา” หรือเครื่องบูชา สมัยก่อนเรียกสิ่งของเพื่อการกระทำทักษิณาว่าไทวะ เพราะมีการมอบของขวัญให้ฤษีในพิธีบูชาเรียกว่าไทวะ

3.อารษะ วิวาหะ หมายถึงการแต่งงานที่ฝ่ายชายมอบโคหรือกระบือหรือทั้ง 2 อย่างแก่บิดาฝ่ายเจ้าสาว แล้วได้แต่งงานกับลูกสาวของเขา

4.ประชาปัตยะ วิวาหะ เป็นการแต่งงานที่ฝ่ายชายและบิดาเจ้าสาวตกลงใจกันโดยมีเงื่อนไข เช่นจะประกอบธุรกิจการงานหรือทำหน้าที่ทางศาสนาบางอย่างร่วมกัน เป็นต้น

5.อสุระ วิวาหะ เป็นการแต่งงานที่ฝ่ายชายให้ทรัพย์สินเงินทองแก่ญาติฝ่ายหญิงหรือแก่เจ้าสาวเองแล้วได้แต่งงานกับหล่อน

6.คานธรวะ วิวาหะ เป็นการแต่งงานที่ฝ่ายชายและฝ่ายหญิงร่วมกันจัดขึ้นเอง จากความพึงพอใจของทั้งสองคน โดยที่พ่อแม่และญาติของทั้งสองฝ่ายไม่ได้รับทราบด้วย

7.รากษส วิวาหะ เป็นการแต่งงานที่ฝ่ายชายใช้กำลังบังคับแย่งชิงและขู่เข็ญฝ่ายหญิง หลังจากที่ได้ทำร้ายพ่อแม่และญาติพี่น้องของฝ่ายหญิงแล้ว

8.ไปศาจะ วิวาหะ เป็นการแต่งงานที่ชาวฮินดูดูถูกเหยียดหยามมากที่สุด จึงเรียกว่า การแต่งงานแบบปีศาจ

หมายถึงการแต่งงานที่ฝ่ายหญิงถูกล่อลวง มอมยา หรือถูกลักหลับด้วย

ความสำคัญของพิธีวิวาหจึงเป็นเรื่องละเอียดอ่อนเป็นอย่างยิ่งและถูกจัดอยู่ในพิธีกรรมในศาสนาฮินดูที่เรียกว่าพิธีสังสการซึ่งมีอยู่ด้วยกันทั้งหมด 16 พิธีกรรม ดังที่ฮินดูธรรมศาสตร์กล่าวว่า พิธีกรรมเริ่มต้นตั้งแต่อยู่ในครรภ์ของมารดาจนถึงวาระสุดท้ายของชีวิต ดังนั้น จำนวนพิธีกรรมหรือสังสการในศาสนาฮินดูจึงมีจำนวนมากและต่างกันออกไปตามความเชื่อและการปฏิบัติ

ตัวอย่าง ยาชญวัลกยะ และมนูกล่าวว่า มี 13 สังสการ ส่วนในอัคนี ปุราณะ และภาวายะ ปุราณะ กล่าวว่ามี 48 สังสการ ส่วนสวามี ทยานันท์ กล่าวว่ามี 16 สังสการ เช่นเดียวกับบัณฑิต ภีมเสน ศรามา กล่าวไว้ใน โศฑัส สังสการ ว่ามีจำนวน 16 สังสการ ดังจะขอนำในส่วนของสวามี ทยานันท์ มากล่าวถึง 16 พิธีกรรมหรือสังสการ ดังนี้

1.ครภาธานะ สังสการ          พิธีตั้งครรภ์ถัดจากวันวิวาห์
2.ปุงสวนะ สังสการ              พิธีเพื่อให้ได้บุตรชาย
3.สีมันโตนนยนะ สังสการ     พิธีแยกผมหญิง ในระยะตั้งครรภ์แล้ว 4 หรือ 8 เดือน
4.ชาตกรมะ สังสการ            พิธีเกิด
5.นามกรณะ สังสการ           พิธีตั้งชื่อ
6.นิษกรมณะ สังสการ          พิธีนำเด็กไปดูพระอาทิตย์ขึ้นครั้งแรก
7.อันนปราศนะ สังสการ       พิธีป้อนข้าวน้ำ
8.จุฑากรมะ สังสการ           พิธีโกนจุก
9.กรณเวธะ สังสการ            พิธีเจาะหู
10.อุปนยนะ สังสการ           พิธีเริ่มการศึกษาเป็นทวิชาติ
11.เวทารัมภะ สังสการ         พิธีเริ่มศึกษาพระเวท
12.สมาวรตนะ สังสการ        พิธีต้อนรับกลับบ้านหลังสำเร็จการศึกษา
13.วิวาหะ สังสการ               พิธีแต่งงาน
14.วานปรัสถะ สังสการ        พิธีออกไปอยู่ป่า
15.สันนยาสะ สังสการ         พิธีบวชเป็นฤาษี
16.อันเตเยษฏิ สังสการ        พิธีศพ

พิธีสังสการทั้ง 16 กล่าวว่าพิธีวิวาหะ สังสการ เป็นพิธีกรรมที่สำคัญมีการสืบทอดปฏิบัติกันมาจนถึงปัจจุบันเพราะเป็นพิธีที่บริสุทธิ์ ศักดิ์สิทธิ์ สูงส่ง และอลังการสำหรับชีวิต การสมรสจึงไม่ได้หมายถึงการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลสองคนเท่านั้น หากแต่เป็นการเริ่มต้นชีวิตใหม่ ที่ผูกพันด้วยร่างกาย ชีวิต จิตใจ และวิญญาณ ยิ่งมีพิธีกรรมเกี่ยวข้องกับศาสนารวมอยู่ด้วยแล้วเท่ากับเป็นการผูกพันทางภาระทั้งทางโลกและทางศาสนาเข้าไว้ด้วย ดังที่อาปัสตัมพสูตร (Apastamba) II,10,27:6 กล่าวว่า “ถ้าปฏิญญาสาบานถูกยกเลิก ทั้งสามีและภรรยาจะไปสู่นรกแน่นอน” (Max Mullaer, 1969:166)

ด้วยเหตุนี้ สัญญาที่คู่รักมีต่อกัน นอกจากเป็นเครื่องชี้วัดความอยู่รอดของคู่สามีภรรยาแล้ว ยังหมายถึงสิ่งที่จะได้รับในโลกหน้าอีกทางหนึ่งด้วย

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อาชว์ภูริชญ์ น้อมเนียน
ภาควิชามนุษยศาสตร์
คณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image