หมอชวนวิ่ง

“เบาหวาน” และ “ความดันโลหิตสูง” โรคไม่ติดต่อ ที่เป็นภัยคุกคาม ลุกลามอย่างรวดเร็วไปทั่วโลก รวมทั้งประเทศไทย ส่งผลกระทบต่อการพัฒนาทางเศรษฐกิจอย่างมาก จากข้อมูลสมาพันธ์เบาหวานนานาชาติ (International Diabetes Federation : IDF) รายงานว่าทั่วโลกมีผู้ป่วยเสียชีวิตด้วยโรคเบาหวาน 4 ล้านคนต่อปี เฉลี่ย 8 วินาทีต่อคน และพบว่ามีผู้ป่วยเบาหวานมากกว่า 300 ล้านคน อยู่ในประเทศที่มีรายได้ต่ำ

สถานการณ์ในประเทศไทยมีคนไทยป่วยด้วยเบาหวาน 3.5 ล้านคน แต่มีถึง 1.1 ล้านคน ที่ไม่รู้ว่าตัวเองป่วย ที่น่าห่วงยิ่งไปกว่านั้น คือ ผู้ป่วยนี้เสี่ยงต่อการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจและหลอดเลือดสมองสูงกว่าคนปกติถึง 2-4 เท่า และมากกว่าครึ่งมีความผิดปกติทางระบบประสาท และเสื่อมสมรรถนะทางเพศในผู้ชาย เกิดภาวะแทรกซ้อนทางตา เท้า และไต ส่วนสถานการณ์โรคความดันโลหิตสูง ข้อมูลจากองค์การอนามัยโลก (WHO) พบว่าทั่วโลกมีผู้ที่เป็นความดันโลหิตสูงเกือบถึง 1,000 ล้านคน สองในสามของจำนวนนี้อยู่ในประเทศที่กำลังพัฒนา

สำหรับในประเทศไทย จากข้อมูลสถิติสำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ สำนักปลัดกระทรวงสาธารณสุข พบว่ามีผู้ป่วยสถานการณ์ป่วยและเข้ารับการรักษามีแนวโน้มมากเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในทุกภาค เมื่อเปรียบเทียบข้อมูล 10 ปีที่ผ่านมา (พ.ศ.2543-2553) พบว่าอัตราป่วยประชากรต่อแสนคน จะมีผู้ป่วยด้วยโรคความดันโลหิตสูง จาก 259 เป็น 1,349 ซึ่งถือว่ามีอัตราเพิ่มสูงขึ้นกว่า 5 เท่า (ข้อมูลสำนักโรคไม่ติดต่อ กรมควบคุมโรค)

เบาหวานและความดันโลหิตสูงจึงกลายเป็นปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญของประเทศไทย หากดูเรื่องค่าใช้จ่ายจากข้อมูลสำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ รายงานสถานการณ์โรคไม่ติดต่อเรื้อรังและประมาณการค่าใช้จ่ายในปี 2551 พบว่ามีผู้ป่วย

Advertisement

⦁โรคเบาหวาน (DM) ประมาณ 3 ล้านคน มีค่าใช้จ่ายทางการแพทย์ 47,596 ล้านบาทต่อปี
⦁โรคความดันโลหิตสูง (HT) ประมาณ 10 ล้านคน มีค่าใช้จ่ายทางการแพทย์ จำนวน 79,263 ล้านบาทต่อปี
⦁โรคหัวใจ (CVS) ประมาณ 4 ล้านคน มีค่าใช้จ่ายทางการแพทย์ จำนวน 20,632 ล้านบาทต่อปี
⦁โรคหลอดเลือดสมอง (CNS) ประมาณ 0.5 ล้านรายต่อปี มีค่าใช้จ่ายทางการแพทย์ 20,632 ล้านบาทต่อปี
⦁โรคไตวายระยะสุดท้าย ประมาณ 3 หมื่นรายต่อปี มีค่าใช้จ่าย 6,000 ล้านบาทต่อปี

ในภาพรวม 4 โรคข้างต้นมีพบจำนวน 17.5 ล้านคนมีค่าใช้จ่ายทางการแพทย์ทั้งสิ้น 308,337 ล้านบาทต่อปี

ปัญหาสุขภาพของคนไทยในปัจจุบันและอนาคตโรคไม่ติดต่อเรื้อรังที่เป็นปัญหาสำคัญดังกล่าวข้างต้นนั้นเกิดจากการเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตความเป็นอยู่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงด้านพฤติกรรมสุขภาพล้วนๆ นอกจากปัญหาด้านพันธุกรรมก็เป็นปัจจัยที่สำคัญที่ทำให้เกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรังดังกล่าว

Advertisement

รัฐบาลทุกยุคทุกสมัยที่ผ่านมากว่าทศวรรษมีนโยบายเร่งด่วนพัฒนาระบบประกันสุขภาพ หรือโครงการ      30 บาทรักษาทุกโรค เพื่อให้ประชาชนได้รับบริการอย่างมีคุณภาพ สะดวก รวดเร็วและเป็นธรรม รวมทั้งบูรณาการแผนงานของหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องให้สอดคล้องไปแนวทางเดียวกัน ตลอดจนส่งเสริมนำเทคโนโลยีสารสนเทศที่ทันสมัยและคุ้มค่าต่อการให้บริการมาใช้ให้แพร่หลาย รวมทั้งจัดให้มีมาตรการลดปัจจัยเสี่ยงที่มีผลต่อสุขภาพและภาวะทุพโภชนาการที่นำไปสู่การเจ็บป่วยโรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง รวมทั้งโรคจิต โรคมะเร็ง โรคอุบัติใหม่ โดยเฉพาะการส่งเสริมสุขภาพที่พูดถึงกันบ่อยๆ คือ “3อ 2ส” “3อ” ได้แก่ ออกกำลังกาย ถูกวิธีวันละ 30 นาที อาทิตย์ละ 3 วัน การกินอาหารให้ครบ 5 หมู่ ลดอาหารประเภทหวาน มัน เค็ม การมีอารมณ์ดีไม่เครียดไม่โกรธง่าย “2ส” ได้แก่ ลดการสูบบุหรี่ และเสพสุรา เป็นต้น

ในโอกาสที่ “แพทยสภาครบรอบ 50 ปี” ในวันที่ 11 ตุลาคม พ.ศ.2561 คณะกรรมการแพทยสภาได้มีมติให้จัดงานโครงการ “หมอชวนวิ่ง” โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเสริมสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างบุคลากรทางการแพทย์กับ “ประชาชน” และให้ประชาชนได้ตระหนักถึงความสำคัญในการดูแลสุขภาพด้วย “การออกกำลังกาย” โดยการวิ่งหรือเดินถูกวิธี

ดังนี้คณะกรรมการแพทยสภาจึงได้จัดกิจกรรม “หมอชวนวิ่ง” ทั่วประเทศ โดยมี นายแพทย์สัมพันธ์ คมฤทธิ์ เป็นประธาน จากภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันตก ภาคใต้ วิ่งมาสู่ลาน “พระบรมรูปสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก กระทรวงสาธารณสุข โดยเริ่มต้นตั้งแต่ 4 พฤศจิกายน 2561 วิ่งเข้าสู่กระทรวงสาธารณสุข พร้อมเพรียงกันในวันอาทิตย์ที่ 25 พฤศจิกายน พ.ศ.2561 อันถือได้ว่าเป็นการรวบรวมพลังอย่างยิ่งใหญ่ระหว่างบุคลากรทางการแพทย์และหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐโดยเฉพาะอันได้แก่ กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงมหาดไทย กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงกลาโหม สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ฯลฯ ภาคเอกชนและประชาชน

ได้มีการจัดการวิ่งภายในเดือนพฤศจิกายน 2561 ระหว่างวันที่ 4-25 พฤศจิกายน แบ่งการวิ่งออกเป็น        15 สาย โดยจุดสตาร์ตเริ่มต้นสุดขอบชายแดนของประเทศ 15 จุด 15 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดแม่ฮ่องสอน เชียงราย น่าน เลย บึงกาฬ นครพนม มุกดาหาร อุบลราชธานี ร้อยเอ็ด ตราด กาญจนบุรี นราธิวาส ยะรา สตูล และภูเก็ต เริ่มวิ่งจากจังหวัด 15 สาย ที่กำหนดวิ่งต่อเป็นทอดๆ จากจังหวัดหนึ่งถึงจังหวัดต่อไป รวม 76 จังหวัด ในการนี้แต่ละสายจะเริ่มต้นที่จังหวัดต้องวิ่งถือ “คทาแพทยสภา” ส่งต่อกันแต่ละจังหวัด…ท้ายสุดของการวิ่งจะมี “คทาแพทยสภา” จากทุกสายรวม “20 คทา” จาก 15 สาย 76 จังหวัด ในวันที่ 25 พฤศจิกายน พ.ศ.2561 ก็จะวิ่งมาสู่ลานพระบรมรูป “สมเด็จพระราชบิดา” ในกระทรวงสาธารณสุข

อนึ่ง เราคงเคยได้ยินการรณรงค์ของกระทรวงสาธารณสุขใน 10 ปีที่ผ่านมาหลายรูปแบบ เช่น “สุขภาพดี  ไม่มีขายต้องสร้างเอง”… “สร้างสุขภาพ นำซ่อมสุขภาพ”… สุขภาพดีเริ่มต้นได้ที่ “ตัวเรา” รวมถึงการรณรงค์สร้างเสริมสุขภาพด้วย “3อ 2ส” ดังกล่าวข้างต้นหากเราพิจารณาดูให้ดี “3อ” ที่กล่าวแล้วนั้น “อาหาร    ออกกำลังกาย อารมณ์” คือ วัคซีนชีวิตที่ดีเยี่ยมและดีที่สุด ประหยัดคุ้มค่าแก่การเสพหรือบริโภค หรือสร้างให้แก่ตัวเราโดยเฉพาะเรื่อง “ออกกำลังกาย” มีส่วนสำคัญยิ่งที่ทำให้ร่างกายเรามี “สุขภาพดี”

ต้องชื่นชม “แพทยสภา” โดยเฉพาะ “คณะกรรมการ” ที่มีมติเป็นเอกฉันท์ส่งเสริมสุขภาพรณรงค์การออกกำลังกายด้วยการ “วิ่ง” และใช้วลีเด็ดว่า “หมอชวนวิ่ง” ซึ่งมีความหมายในเรื่องตรรกะด้วย ความเข้าใจว่าชาวบ้านประชาชนทั้งหลายทุกอาชีพ ทุกวัย เชื่อ “หมอ” ถ้าหมอบอกว่าวิ่งแล้วทำให้สุขภาพดี ก็จะเห็นคล้อยและทำตามเป็นการกระตุ้นชี้นำ สนับสนุน ส่งเสริม สร้างและบันดาลใจให้ประชาชนทุกๆ คนทั้งประเทศ ซึ่งก็เป็น “หมอ” ต้องดูแลตนเองเช่นกัน มาใส่ใจออกกำลังกายด้วยการ “วิ่ง” แล้วอย่างไรล่ะ???

ผู้เขียนขออนุญาตชี้นำให้เห็น “ความสำคัญ” ของการวิ่งเพื่อสุขภาพ “การออกกำลังกาย” ที่สามารถทำได้ง่ายและคนส่วนใหญ่นิยมกันคือ “การวิ่งเพื่อสุขภาพ” ซึ่งมีความแตกต่างกับการวิ่งเพื่อแข่งขัน โดยการวิ่งเพื่อสุขภาพ (ที่เรียกว่าจ๊อกกิ้ง) เป็นการวิ่งเหยาะๆ ด้วยความเร็วระหว่างการเดินกับการวิ่งเร็ว การวิ่งที่ได้ผลดีต้องเป็น “ธรรมชาติ” ไม่เกร็ง โดยมีข้อแนะนำ 4 ประเด็น คือ 1.เทคนิคการวิ่ง 2.ความหนัก ความนาน และความบ่อยของการวิ่ง 3.การอบอุ่นร่างกายก่อนวิ่งและการผ่อนคลายร่างกายหลังวิ่ง 4.ประโยชน์ของการวิ่ง

เทคนิคในการวิ่ง : 1.การลงเท้าที่ถูกวิธี เป็นสิ่งที่สำคัญมากเพื่อป้องกันการบาดเจ็บสำหรับนักวิ่งเพื่อสุขภาพ โดยส้นเท้าจะสัมผัสพื้นก่อนทั้งฝ่าเท้าจึงจะตามลงมา และเมื่อปลายเท้าหมุนลงมาแตะพื้น ก็เป็นจังหวะที่     ส้นเท้าเปิดขึ้น ปลายเท้าก็จะคล้ายตะกุยดิน ถีบตัวเหมือนสปริงดีดตัวขึ้นบนและเคลื่อนไปข้างหน้า จุดที่เท้าสัมผัสพื้นควรจะตรงกับหัวเข่างอเข่านิดๆ เท้าควรจะสัมผัสพื้นหลังจากที่ได้เหยียดออกไปข้างหน้า ส่วนอีกเท้าเหวี่ยงไปข้างหลัง ควรจะลงแตะพื้นเบาๆ นักวิ่งส่วนใหญ่จะลงพื้นด้วยริมนอกของเท้า และหมุนเข้าด้านใน ซึ่งการหมุนเข้าด้านใน ช่วยเป็นเกาะกันกระแทก การลงเท้าและการก้าวเท้าจะช่วยให้วิ่งเร็วขึ้น ส่วนจะก้าวยาวหรือสั้นนั้นขึ้นอยู่กับนักวิ่งว่าต้องการความเร็วแค่ไหน โดยนักวิ่งเร็วจะลงพื้นด้วยปลายเท้าก่อน ส่วนนักวิ่งระยะกลางจะลงพื้นด้วยอุ้งเท้าก่อน และสำหรับนักวิ่งระยะไกลและนักวิ่งเพื่อสุขภาพจะลงด้วยส้นเท้าก่อน

2.ท่าทางในการวิ่ง ควรวิ่งให้หลังตรงและเป็นธรรมชาติมากที่สุด ศีรษะตรง ตามองตรงไปข้างหน้าให้ส่วนต่างๆ จากศีรษะลงมาหัวไหล่และสะโพกจนถึงพื้นเป็นเส้นตรง ลำตัวไม่โน้มไปด้านหน้าหรือเอนไปด้านหลัง 3.การเคลื่อนไหวของแขน จะช่วยเป็นจังหวะและการทรงตัวในการวิ่ง ขณะวิ่งแขนแกว่งไปมาเหมือนกับลูกตุ้มนาฬิกาไปตามแนวหน้าหลังพยายามอย่าให้ข้อศอกงอเข้ามาแคบกว่า 90 องศา หัวแม่โป้งวางบนนิ้วชี้สบายๆ กำนิ้วหลวมๆ ข้อมือไม่เกร็ง บางครั้งอาจเหยียดแขนตรงลงมา หรือเขย่าแขนเพื่อให้กล้ามเนื้อคลายตัวบ้าง หลังจากยกแขนไว้นานๆ 4.การหายใจ ควรหายใจเข้าทางจมูกและปล่อยลมหายใจออกพร้อมกันทั้งทางจมูกและปาก อย่างไรก็ดี ให้ยึดกฎง่ายๆ คือ การหายใจควรเป็นไปตามสบายและพยายามหายใจด้วยท้อง การหายใจด้วยท้องคือ สูดหายใจเข้าไปในปอดจนท้องขยายและบังคับปล่อยลมให้ออกมาด้วยการแขม่วท้อง การหายใจไม่ถูกวิธีอาจจะทำให้เกิดการจุกเสียดขณะวิ่งได้

ความหนัก ความนาน และความบ่อยของการวิ่ง : ความหนักหรือความเร็ว ควรใช้ความเร็วที่ทำให้รู้สึกเหนื่อยจนต้องหายใจแรง แต่ไม่ถึงกับต้องหายใจทางปากหรือมีอาการหอบ เมื่อวิ่งไปแล้ว 4-5 นาที ควรมีเหงื่อออก ยกเว้นในอากาศเย็นจัดอาจยังไม่มี แต่สามารถวิ่งต่อไปได้เกิน 10 นาที อาจใช้ความเร็วคงที่ตลอดระยะทางหรือจะวิ่งเร็วสลับช้าบ้างก็ได้ แต่การวิ่งติดต่อกันโดยไม่หยุดถึง 10 นาที เป็นสิ่งที่ไม่ง่ายนักสำหรับ ผู้ที่ไม่ได้เล่นกีฬาหรือวิ่งเป็นประจำอยู่ก่อน ฉะนั้นผู้ที่เริ่มวิ่งทุกคนจึงไม่ควรตั้งความหวังสำหรับการวิ่งครั้งแรกไว้ว่า จะวิ่งให้ได้ตลอดมากกว่า 10 นาที โดยไม่สลับด้วยการเดิน

การอบอุ่นร่างกายก่อนวิ่งและการผ่อนคลายร่างกายหลังวิ่ง : ก่อนและหลังการวิ่งทุกครั้ง ควรอบอุ่นร่างกายและผ่อนคลายร่างกายประมาณ 4-5 นาที โดยวิ่งเหยาะๆ ด้วยความเร็วที่น้อยกว่าที่ใช้ในการวิ่งจริง พร้อมกับทำกายบริหารยืดเหยียดกล้ามเนื้อส่วนต่างๆ ของร่างกายด้วยแต่บางครั้งร่างกายอ่อนแอ อาจอดนอน หรือเจ็บไข้ หรือวิ่งในขณะอากาศร้อนจัด และไม่ได้ทดแทนน้ำและเกลือแร่พอเพียง อาจเกิดอาการที่ส่อ “สัญญาณเตือนอันตราย” ขึ้นขณะวิ่งได้ เช่น อาการเวียนศีรษะ คลื่นไส้หรือหน้ามืดเป็นลม รู้สึกคล้ายหายใจไม่ทันหรือหายใจไม่ออก ใจสั่น แน่น เจ็บตื้อบริเวณหน้าอก หรือลมออกหู หูตึงกว่าปกติ มีบางรายอาจควบคุมการเคลื่อนไหวร่างกายไม่ได้

ซึ่งถ้าเกิดมีอาการอย่างใดอย่างหนึ่งขึ้น ให้ทำตามลำดับดังนี้ : 1.ขณะวิ่ง ให้ชะลอความเร็วลง หากอาการหายไปอย่างรวดเร็ว อาจวิ่งต่อไปอีกระยะหนึ่งด้วยความเร็วที่ชะลอไว้แล้วนั้น 2.แต่หากชะลอความเร็วแล้ว  ยังมีอาการอยู่อีก ให้เปลี่ยนเป็นเดิน 3.ถ้าเดินแล้วยังมีอาการอยู่ ต้องหยุดนั่งหรือนอนราบจนว่าอาการจะหายไป 4.ซึ่งในวันต่อไป จำเป็นต้องลดความเร็วและระยะทางลงถ้าอาการที่เป็นสัญญาณเตือนอันตรายไม่หายไปแม้พักแล้วเป็นเวลานาน ต้องรีบปรึกษาแพทย์

ประโยชน์ของการวิ่ง มีมากมายตั้งแต่ 1.ช่วยให้ระบบไหลเวียนเลือด ปอด หัวใจทำงานดีขึ้นลดระดับไขมันในเลือด เพื่อป้องกันโรคหัวใจ ความดันโลหิตสูง และช่วยให้ไม่เป็นลมหน้ามืดง่าย 2.ทำให้กระดูกแข็งแรงขึ้น ลดภาวะกระดูกพรุน 3.ช่วยปรับภูมิคุ้มกันของร่างกายให้ทำงานดีขึ้น 4.ช่วยควบคุมน้ำหนักของร่างกาย 5.กระตุ้นให้สมองเกิดการหลั่งสารเอ็นโดรฟินขึ้น ซึ่งเป็นสารเคมีธรรมชาติที่มีฤทธิ์บรรเทาอาการปวด และทำให้รู้สึกสุขสบาย

ท้ายสุดนี้ โครงการ “หมอชวนวิ่ง” เมื่อสิ้นสุดโครงการมีผลที่คาดว่าจะได้รับ 3 ประการ คือ

1.“แพทย์” บุคลากรทางการแพทย์ได้ออกกำลังกายและเป็น “ตัวอย่างที่ดี” แก่ประชาชนทั่วไปในการรักษาสุขภาพ

2.ประชาชนทั้งประเทศก็คือ “หมอ” ที่ต้องดูแลตนเองเป็นเบื้องต้น ด้วยการสร้างสุขภาพ รู้ตระหนักใส่ใจมาร่วมออกกำลังกายกันมากขึ้น ลดการป่วย การตายลดความแออัดในโรงพยาบาล และลดค่าใช้จ่ายทางการแพทย์ซึ่งมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น หากลดได้ 1% จาก 3 แสนล้านบาท จะลดได้ถึง 3,000 ล้านบาท เป็นต้น

3) ประชาชนรู้เข้าใจและเข้าถึง “การวิ่ง” อย่าง “ถูกวิธี” ประโยชน์ที่ได้รับจากการออกกำลังกายเพื่อสุขภาพดี

ณ โอกาสนี้ขอขอบคุณ “แพทยสภา” ที่ริเริ่มโครงการที่ดีๆ “หมอชวนวิ่ง” รวมทั้งปลัดกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงมหาดไทย ผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัด นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด     นายอำเภอทุกอำเภอ ตำรวจทางหลวง ตำรวจการจราจร ตำรวจการท่องเที่ยวทุกจังหวัด รวมทั้งน้องๆ แพทย์ พยาบาล บุคลากรทางด้านการแพทย์ และสาธารณสุข และหมออนามัย อสม.

ตลอดจนประชาชนทั้งประเทศที่มาร่วม “ชวนหมอทุกคนมาวิ่ง” เพื่อมีสุขภาพ “คุณภาพชีวิตที่ดี” ของตนเองและครอบครัวในที่สุดนะครับ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image