คดีกุ้งครึ่งหมื่น (ที่พุ่มรัก พานสิงห์ ยังไม่ได้สืบ) : โดย กล้า สมุทวณิช

ตอนหนึ่ง ในนิยายสืบสวนชวนหัวชุด “พุ่มรัก พานสิงห์” ชุดที่ 8 “คดีสามเงา” ของคุณวินทร์ เลียววาริณ นักสืบพุ่มรักซึ่งเป็นตัวเอกของเรื่อง กล่าวกับสารวัตรสามิต ว่า

“มึงดูถนนข้างหน้า มันไม่ใช่ภาพคนขับแท็กซี่รีดนักท่องเที่ยวต่างชาติ มันลึกกว่านั้น มันสะท้อนวิธีคิดของคนไทยกลุ่มใหญ่ที่โลภ ขี้เกียจ และขี้บ่น จึงหากินทางลัดบนความทุกข์ของคนอื่น กูเกลียดคนพรรค์นี้ที่สุด มันมักง่ายไม่ต่างจากการลัดคิว พวกนี้บ่นแค่ว่าชีวิตกูลำบาก หากินยากยังงั้นยังงี้ แต่ยังมีคนยากจนอีกเป็นล้านๆ คนที่ทำงานหาเช้ากินค่ำ โดยไม่เคยบ่นว่าชีวิตฉันแย่ โลกไม่ยุติธรรม พวกที่มักง่ายและโลภแบบนี้กำลังสร้างความเหลื่อมล้ำให้สังคมโดยที่พวกเขาไม่รู้ตัวหรือไม่แยแส…”

นิยายเรื่องนี้ว่าด้วยคดีลึกลับที่มีคนเอาระเบิดกลิ่นเหม็นไปวางไว้บนรถแท็กซี่ไม่รับผู้โดยสาร คดีชวนหัวซึ่งเป็นเหมือนยอดสุดของภูเขาน้ำแข็ง ซึ่งขับเคลื่อนเรื่องราวไปไกลและยาวเกินกว่าที่ผู้อ่านจะคาดคิด สนุกสนานน่าติดตามสมเครื่องหมายการค้า “พุ่มรัก พานสิงห์” โดยท่านผู้เขียนเจ้าของรางวัลดับเบิ้ลซีไรต์คนที่สองของประเทศไทย

โบราณเขาว่าเกลียดอะไรได้สิ่งนั้น หรือมันอาจจะเป็นมุมกลับของกฎแห่งแรงดึงดูดว่า ความเกลียดกลัวก็จะดึงดูดสิ่งไม่พึงประสงค์ ในที่สุดคุณวินทร์ก็ได้พบกับ “คนไทยกลุ่มใหญ่ที่โลภหากินทางลัดบนความทุกข์ของคนอื่น” เข้าให้จนได้ จากกรณีของร้านอาหารทะเลที่หัวหิน คิดราคากุ้งเผาตัวละพันบาท รวมค่าอาหารหกพันกว่าบาท รายละเอียดปรากฏตามข่าวที่น่าจะผ่านตากันมาแล้ว (แต่ถ้าใครยังไม่ได้อ่านข่าวละเอียด Google คำว่า “นักเขียนซีไรต์ กุ้ง พันบาท” ก็รู้)

Advertisement

แม้ไม่ได้กล่าวถึงตรงๆ ในสเตตัสต้นทาง แต่เมื่ออ่านแล้วก็อดเอามาเชื่อมโยงกับ “พุ่มรัก พานสิงห์” ที่อ้างถึงไว้ข้างต้นเสียไม่ได้ และคำถามสองสามประเด็นก็แวบผ่านเขามาในสมองให้ขบคิด

ประการที่หนึ่ง นิสัย “ขี้โลภ ขี้เกียจ และขี้โกง” เป็นสิ่งที่บรรจุอยู่ใน DNA ของบุคคลในเชิงเชื้อชาติ จริงหรือ มีแต่คนไทยหรือไงที่ขี้โกงชอบเอาเปรียบ เรื่องนี้ตีตกได้ง่ายดาย เพราะเราสามารถพบคนโกงหรือไม่ตรงไปตรงมาแบบนี้ได้ในทุกประเทศทั่วโลก การโกงนักท่องเที่ยวหรือคนแปลกหน้าเป็นตำนานบอกเล่าในแทบทุกเมืองในแต่ละประเทศที่เป็นจุดหมายการเดินทางเยี่ยมเยือน

ไม่เชื่อก็กลับไปที่หน้าจอ Google อีกครั้ง แล้วลองใช้คำค้นว่า “ท่องเที่ยว [เติมชื่อประเทศ] โกง” และเปลี่ยนชื่อประเทศในวงเล็บไปเรื่อย ก็จะพบว่าแม้แต่ใส่ชื่อประเทศที่เราคิดว่าคนซื่อสัตย์ นอบน้อม ปฏิบัติดีต่อนักท่องเที่ยวอย่างญี่ปุ่น ก็ยังอุตส่าห์มีประสบการณ์ของคนที่หลุดหลงเข้าไปในมุมมืดของประเทศนั้นโกงเอาได้

ความโกงของคนจึงไม่น่าจะเกี่ยวกับเชื้อชาติหรือสัญชาติ แต่มันมาจากกลไกธรรมดาของมนุษย์ ว่าการกระทำของมนุษย์โดยปกตินั่นมุ่งประโยชน์สูงสุดต่อตน และหลีกเลี่ยงสิ่งที่เป็นโทษ เช่นนี้ หากการ “โกง” หรือการเอาเปรียบผู้อื่นนั้นมีราคาหรือความเสี่ยงที่จะต้องจ่ายราคานั้นต่ำเท่าไร ผู้คนที่ไม่มีศีลธรรมพอที่จะควบคุมจิตใจตัวเองได้ก็มีโอกาสโกงทั้งนั้น และนี่คือคำตอบว่า ทำไมนักท่องเที่ยวหรือคนแปลกหน้ามักจะโดนโกง นั่นก็เพราะส่วนใหญ่อนุมานได้ว่าจะไปที่นั่นครั้งหรือสองครั้งเท่านั้นในชีวิต หรือกำแพงภาษา การใช้เวลาและความยุ่งยากในการดำเนินคดี ด้วยจะทำให้เสียโอกาสไปเที่ยวที่อื่นต่อหรือเดินทางกลับประเทศ ทำให้เชื่อได้ว่าการฉ้อฉลฉกชิงจากผู้มาเยือนโดยมิชอบนั้น น่าจะลอดหูลอดตาการถูกดำเนินคดีตามกฎหมายเพราะอุปสรรคดังนั้น

แต่กระนั้นก็ตาม เรื่องที่ควรต้องยอมรับคือ แม้ประเทศไหนก็มีคนโกงหรือเอาเปรียบที่แฝงมาในคราบของผู้ขายสินค้าและบริการ แต่ส่วนใหญ่ เหยื่อของการโกงจะได้แก่นักท่องเที่ยวต่างถิ่น หรืออาจจะเป็นมุมมืดของสังคมนั้น เช่น สถานบริการสีเทาๆ ซึ่งจะแตกต่างจากประเทศไทยที่โกงกันได้ในที่สาธารณะ กลางวันแสกๆ อย่างเปิดเผย และใครๆ ก็มีโอกาสโดนฟันหัวแบะทั้งนั้น ไม่ว่าจะชาวเทศชาวไทย คนแปลกหน้าหรือคนท้องถิ่น

หากให้เราไล่ลิสต์เรื่องโกงทั้งหลายที่เราอาจจะได้เจอทั้งในฐานะของผู้อยู่อาศัยหรือผู้มาเยือนในประเทศไทย ก็คงลิสต์ได้ยาวเป็นหางว่าว ทั้งอาหารราคาแพงเกินคาด ผลไม้ที่คัดเอาชิ้นเล็กๆ เน่าๆ ไว้ข้างใต้ คาราโอเกะรีดเงิน แก๊งหากินง่ายๆ ที่เอาสติ๊กเกอร์หรือรูปพระเกจิอาจารย์มายัดใส่มือบนสะพานลอย แล้วให้คนไปดักรอเรียกเงินเอาที่บันไดขาลง

สิ่งที่ทำให้ผู้คนเหล่านั้นกล้าที่จะโกงหรือเอาเปรียบคนได้กลางร้านอาหารอย่างเปิดเผย หรือบนท้องถนนสะพานลอย นั่นเป็นเพราะการ “โกง” ของเขานั้นแทบไม่มีราคาหรือความเสี่ยงใด (หรือถ้าจะมีบ้างก็เป็นเรื่องเชิงปัจเจกของเหยื่อ เช่น ถ้าเห็นกลุ่มลูกค้ามาในชุดซาฟารีหรือท่าทางเป็นข้าราชการฝ่ายปกครองหรือในกระบวนยุติธรรมก็อย่าไปคิดราคาค่าอาหารให้มันดุเดือดนัก หรือเห็นคนตัวโตกล้ามใหญ่เดินมาก็อย่าทะเล่อทะล่าเอาสติ๊กเกอร์รูปพระไปยัดมือเขา) แต่ความเสี่ยงในการถูกดำเนินคดีตามกฎหมายกบิลเมืองนั้นแทบไม่มีเลย

เราอาจจะโทษเรื่องความย่อหย่อนของเจ้าหน้าที่บ้านเมืองก็ว่าได้ แต่ถ้าจะยอมรับกันในทางความเป็นจริง คือ ถ้าไม่มีใครแจ้งเหตุอย่างจริงจัง ก็ยากที่ฝ่ายบ้านเมืองที่เกี่ยวข้องจะรับรู้หรือแก้ปัญหา แต่นั่นก็นำไปสู่ข้อโต้แย้งตามมาว่า ต่อให้แจ้งไปก็ไม่มีอะไรเกิดขึ้น ไม่มีการแก้ปัญหาจริงจัง อย่างมีน้ำใจหน่อยก็แจ้งกลับมาว่าตรวจสอบแล้วไม่พบ แต่ผลส่วนใหญ่คือรับเรื่องไปแล้วหายเงียบ หรือไม่ก็เกี่ยงงอนในการรับแจ้งความกล่าวโทษดำเนินคดีตั้งแต่ต้น เช่นนี้คนจึงรู้สึกเสียแรงเปล่าที่จะไปร้องเรียนแจ้งความ พิจารณาในแง่มุมนี้ก็จริง

และเมื่อไม่มีใครแจ้งความหรือร้องเรียน เจ้าหน้าที่บ้านเมืองผู้รักษากฎหมายก็ไม่รู้เห็น ราคาและความเสี่ยงในการค้าหรือประกอบอาชีพแบบไม่ตรงไปตรงมานี้ก็ยิ่งต่ำลง ภูมิคุ้มกันและความยับยั้งชั่งใจในการที่จะไม่ข้ามเส้นไปสู่การโกงก็แทบไม่เหลือ เพราะผู้เสียหายไม่เอาความ เจ้าหน้าที่บ้านเมืองก็ไม่เอาเรื่อง

ส่วนผู้กลายเป็นหมูให้เขาต้มก็ได้แต่จ่ายเงินหรือยอมรับเงื่อนไขไม่เป็นธรรม แล้วค่อยไปบ่นกับเพื่อน อย่างดีก็โพสต์ลงพันทิปหรือในพื้นที่โซเชียลกันไป เว้นแต่โชคดีมีคนแชร์ไปเยอะ ก็อาจจะเกิดแรงกระเพื่อมอะไรได้บ้าง กลายเป็นว่า ในสังคมที่เปิดโอกาสให้มีคน “ขี้โกง” แต่คนอื่นๆ ในสังคม ก็แก้ปัญหาด้วยการเป็นคน “ขี้บ่น”

ดังนั้น มันน่าจะดีกว่าถ้าเราอยากได้ความซื่อสัตย์แบบ “อารยประเทศ” เราก็ต้องปรับทัศนคติการแก้ปัญหาของเราอย่างอารยะเช่นกัน คือการร้องทุกข์ร้องเรียนในช่องทางที่จะมีผู้รับผิดชอบ หรือหากผู้รับผิดชอบคือภาครัฐนั้นทำท่าจะไม่รับผิดชอบ ปฏิเสธ หรือทำงานล่าช้า ก็ไล่บีบไล่บี้จนได้ผล ซึ่งกลไกปัจจุบันอย่างศาลปกครองหรือผู้ตรวจการแผ่นดิน ประสานรวมกับการส่งเสียงผ่านโลกโซเชียลนั้น การกระทุ้งหน่วยงานของรัฐที่ควรจะต้องรับผิดชอบให้ลุกตื่นเดินไปดูปัญหาก็ทำได้ไม่ยากนัก

เรื่องนี้จึงออกจะน่าเสียดายว่าการออกมาเตือนของท่านผู้เขียนนิยายชุดพุ่มรัก แม้อาจจะทำให้คนหกพันคน ไม่ถูกโกงด้วยราคาอาหารที่เหมือนจะเกินจริง เรื่องมันน่าจะแก้ปัญหาให้สังคมได้มากกว่านั้น หากคุณวินทร์นำเรื่องนี้ไปแจ้งยังเจ้าหน้าที่ของรัฐที่เกี่ยวข้องว่า นี่เป็นเรื่องปกติหรือไม่ และหากไม่ปกติ ทางภาครัฐจะแก้ปัญหาอย่างไร พร้อมหลักฐานต่างๆ ที่ชัดเจนไม่ต้องให้ไป Google เดาให้เดือดร้อนกับทางร้านที่ไม่รู้ว่าเป็นผู้ร้ายตัวจริงหรือเปล่า หรือแค่ถูกอัลกอริทึ่มของระบบแสดงผลออกมาเป็นรายการแรกๆ

และด้วยความอะไรที่ “ไทยๆ” การที่คนมีชื่อเสียงในสังคมอย่างคุณวินทร์นั้นเดินเรื่อง โอกาสที่ทางเจ้าหน้าที่ของรัฐจะทำเงียบๆ หรือบอกปัดไม่รับเรื่องนั้นก็คงจะยากทีเดียว จึงออกจะน่าเสียดาย ที่เมื่อมีโอกาสทองในการได้จัดการกับคนพรรค์ที่นักสืบพุ่มรักเกลียดที่สุด ท่านผู้เขียนก็ใช้เวลาในการตัดสินใจนานตั้งสองเดือน จนไม่เหลือพยานหลักฐานหรือร่องรอยอะไรให้ติดตามจับมือใครมาดม

สุดท้าย มิตรสหายท่านหนึ่งตั้งข้อสังเกตขึ้นมาว่า กุ้งเผาราคาตัวละพันบาทนั้นแพงไปหรือไม่ อันนี้นักเลงกินกุ้งหลายท่าน ให้ความเห็นไว้ตรงกันว่า ถ้าว่ากันที่ราคาก็ถือว่าราคาสูง แต่ราคานี้ก็อาจเป็นไปได้ เพราะต้องขึ้นกับว่ากุ้งตัวใหญ่แค่ไหน (ซึ่งคุณวินทร์เขียนว่าไม่ใช่กุ้งใหญ่ แต่ก็ไม่รู้ว่าคำว่า “ใหญ่” ของแต่ละคนอาจจะมีขนาดไม่เท่ากันก็ได้) ส่วนความที่เป็นร้านอาหารที่ดูธรรมดาไม่ใช่ภัตตาคารหรูนั้น เราก็ยากที่จะตัดสินอะไรแบบนี้จากสภาพร้านได้ ดูอย่างร้านที่ได้ดาวมิชลินหลายร้านของประเทศไทย ก็ดูธรรมดาขายกันริมถนน แต่ก็เสิร์ฟอาหารเมนูติดดาวจานละเป็นร้อยเป็นพันได้

ในการกินนั้นควรถามราคานั้นก็เป็นคำแนะนำที่จริงทีเดียว เพราะเราควรรู้ราคาก่อน และตัดสินใจว่าจะเลือกจ่ายหรือไม่ นั่นเป็นกฎธรรมดา แต่เช่นนี้ เราก็ควรต้องระวังการไปรับประทานซูชิแบบโอมากาเสะ (Omakase) หรือโอโคะโนะมิ (Okonomi) ในประเทศญี่ปุ่นหน่อยก็ดีเหมือนกัน

ไม่งั้นหากไปนั่งกินข้าวปั้นหน้าปลาดิบแค่สิบคำ ถูกเรียกเก็บเงินหลายหมื่นบาท จะได้ไม่ต้องกลับบ้านมานั่ง Google คำว่า “ร้านซูชิ โตเกียว โกง”

กล้า สมุทวณิช

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image