สุจิตต์ วงษ์เทศ : พระยาเพชรปาณี สร้างสรรค์ลิเกก้าวหน้า

ลิเกทรงเครื่องคณะเพชรปาณี (ภาพเก่าจากหอจดหมายเหตุแห่งชาติ)

ลิเก แรกมีสมัย ร.5 จากสวดแขกตามประเพณีในศาสนาอิสลามของชาวมุสลิมจากมลายูปัตตานี ที่ถูกกวาดต้อนขึ้นมาอยู่กรุงเทพฯ สมัย ร.1 (พร้อมปืนใหญ่พญาตานี หน้ากระทรวงกลาโหม)

ดังนั้น จึงมีกลองรำมะนาตีประโคมรับลิเกในยุคแรกเริ่ม (เหมือนลำตัด เพราะมีกำเนิดจากสวดแขกมาด้วยกัน)
ลิเกยุคแรกไม่เล่นเป็นเรื่องอย่างละคร แต่เล่นเป็นจำอวดชุด เช่น ชุดสิบสองภาษา ต้องเล่นออกสำเนียงภาษาต่างๆ ละแวกเพื่อนบ้านโดยรอบ
เจ้านายนักปราชญ์องค์หนึ่งเขียนเล่าเรื่องลิเกไว้ (จากบทความเรื่อง บ่อเกิดของลิเก โดย ว. ชยางกูร พิมพ์ในสังคมศาสตร์ปริทัศน์ ปีที่ 5 ฉบับที่ 1 มิ.ย.-ส.ค. 2510 หน้า 41-46) คัดมาลงตั้งแต่เมื่อวาน จะคัดมาอีก ดังนี้

“ในลิเกชุดสิบสองภาษานี้ ข้าพเจ้าจำได้ว่าชุดที่เราชอบเอามาเล่นมาร้องมากที่สุดคือ ชุดมอญ ตอนพระยาน้อยชมตลาด ขึ้นต้นร้องเกริ่นว่า ‘พระสุริยงส่องฟ้าพระสุริยาเยี่ยมอัมพร ฝ่ายสมิงพระยามอญ ให้เร่าร้อนในอุรา’

ครั้นแล้วพระยาน้อยก็เดินกรีดกรายไปช้าๆ จนมาถึงร้านขายหมากขายพลู จึงมีคำบรรยายว่า ‘ถึงร้านขายหมากพลู นักเลงเจ้าชู้ดูดีดดิ้น ขายหมากไม่อยากกิน เอานมออกปลิ้นให้ชายดู’”
ในขณะนั้น แขกก็เดินตามมาด้วย คราวนั้นพวกแม่ค้าก็โจมตีอาบังเข้าบ้าง แม่ค้าถามอาบัง “อาบังรักที่ตรงไหน จงบอกไปเสียเถิดพี่ รักเนื้อหรือรักนม หรือรักผ้าห่มของน้องนี้” พี่บังตอบว่า “อะไรมันไม่สำคัญ เหมือนน้ำมันตานี” ลูกคู่ร้องรับว่า “เยลันยา ตูหนาลั้นกั่น อะไรมันไม่มันสำคัญเหมือนน้ำมันตานี”

Advertisement

“เมื่อจางวางแย้มออกโรงมาได้สักหน่อยก็เกิดมีผู้เอาอย่าง มีลิเกขึ้นอีกหลายโรง พระยาเพ็ชรปาณีตั้งโรงอยู่นอกกำแพงพระนคร ตรงหน้าวัดราชนัดดา ประชาชนเรียกว่า ลิเกพระยาเพ็ชร”

“พระยาเพ็ชรปาณีได้ดัดแผลงจากของเดิม โดยมีเครื่องแต่งตัวขึ้นบ้าง มีพระ มีนาง และตัวลิเกต่างก็มีบทร้องและเล่นเป็นเรื่องราวตามเรื่อง วงศ์ๆ จักรๆ จากหนังสือซึ่งหลังปกมีปรากฏว่า

‘เล่มละสลึงพึงรู้ท่านผู้ซื้อ ร้านหนังสือหน้าวัดเกาะ เพราะหนักหนา ฯลฯ’ เรื่องที่ดื่นอยู่ในเวลานั้นก็คือ จันทโครบ และลักษณวงศ์ และอื่นๆ”

Advertisement

“ตั้งแต่พระยาเพ็ชรปาณีได้พัฒนามาถึงมีลิเกลูกบท ก็เกือบใกล้ ‘นาฏะดนตรี’ อยู่แล้ว คือ มีปี่พาทย์ลาดตะโพนและดนตรีประกอบคล้ายละคร ผิดกันแต่เพียงตัวลิเก ร้องเอง ไม่มีใครบอกบท”
“ถัดพระยาเพ็ชรปาณีมาก็มีลิเกนาวาตรี หลวงสันทนาการกิจ (โหมด) ประชาชนเรียกว่าลิเกวิกหลวงสัน ตั้งอยู่ตำบลสะพานหัน ถัดจากวิกหลวงสันมาก็มี ลิเกวงหม่อมสุภาพ ซึ่งเป็นวงสุดท้ายที่ข้าพเจ้ารู้จัก”

“จำเนียรกาลนานมาก็มีราษฎรตั้งคณะยี่เกขึ้นอีกหลายคณะ และการพัฒนาก็ตามมาอย่างรวดเร็ว จนถึงบางวงมีพระเอก (ชายจริง) และนางเอก (หญิงแท้) เมื่อลิเกได้บรรลุถึงขีดมาตรฐานอันสูงส่ง ท่านที่คิดแปลกๆ ก็สถาปนาขึ้นเป็น ‘นาฏะดนตรี’ หรืออีกนัยหนึ่งเรียกว่า ‘ลิเกทรงเครื่อง’”

ข้อความว่า “ท่านที่คิดแปลกๆ” น่าจะหมายถึง จอมพล ป. พิบูลสงคราม (ชื่อจริงว่า แปลก) ผู้มีคำสั่งให้เรียกลิเกด้วยชื่อใหม่ว่า นาฏดนตรี

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image