สถานีคิดเลขที่12 : ทหารประชาธิปไตย : โดย สุริวงค์ เอื้อปฏิภาน

บทบาทของทหารกับการเมืองไทย มีมาตลอดและมีมากมายหลายครั้ง ด้วยการก่อรัฐประหารยึดอำนาจจากรัฐบาลและล้มรัฐธรรมนูญ พูดง่ายๆ ว่าภาพรวมของทหารเมื่อเข้ามาเกี่ยวพันกับการเมือง ล้วนอยู่ตรงข้ามกับประชาธิปไตย

แม้ว่าตอนเข้ายึดอำนาจการเมือง ต้องมีการกล่าวอ้างถึงเหตุผลความจำเป็น เช่น รัฐบาลก่อการคอร์รัปชั่นจนสร้างความเสียหายต่อประเทศชาติ ไปจนถึงเพื่อระงับความขัดแย้งแตกแยกไม่ให้เกิดสงครามกลางเมือง อะไรเหล่านี้

แต่นั่นก็ไม่ใช่การเข้ามาตามวิถีทางประชาธิปไตย จึงไม่เป็นที่ยอมรับทั้งในประเทศและในทางสากล

การเลือกตั้งที่กำลังจะมีขึ้นในต้นปี 2562 กำลังดำเนินไปอย่างคึกคัก เพราะเป็นการกลับคืนสู่ประชาธิปไตยหลังการรัฐประหารเมื่อปี 2557

Advertisement

ผู้คนหลายวงการแห่กันเดินเข้าสู่ถนนการเมือง เข้าสังกัดพรรคต่างๆ

รวมทั้งนายทหารชั้นผู้ใหญ่ ที่เข้าสู่การเมืองด้วยวิถีทางที่ถูกต้อง ตามแนวทางประชาธิปไตย

ตอนนี้ชื่อของ พล.อ.ยศนันท์ หร่ายเจริญ หรือ บิ๊กยอร์ช เป็นที่กล่าวขวัญกันอย่างกว้างขวาง

Advertisement

ยิ่งได้บิ๊ก คสช.ออกมาช่วยเชียร์ ช่วยปั่นกระแสให้ ยิ่งเป็นที่รู้จักกันไปทั่ว

พล.อ.ยศนันท์ เพิ่งเกษียณอายุในตำแหน่งรองผู้บัญชาการทหารสูงสุด เข้าสมัครเป็นสมาชิกพรรคไทยรักษาชาติ ที่มีชื่อย่อฮือฮา “ทษช.”

มาพร้อมคำกล่าวต่อสื่อมวลชนและสมาชิกพรรค ทษช.ที่น่าสนใจว่า

อยากเรียกร้องทหารทุกคนยืนเคียงข้างประชาชน หมดยุคของการใช้อำนาจเผด็จการมาปกครองประเทศแล้ว บทเรียนของการยึดอำนาจตลอด 4 ปีกว่าที่ผ่านมา แสดงให้เห็นแล้วว่าประเทศชาติไม่เจริญก้าวหน้า ประชาชนเดือดร้อน เศรษฐกิจไม่เจริญเติบโต ถึงเวลาแล้วที่วันนี้ทหารทุกคนต้องหันมาหาประชาชน

ฟังจบ นักประชาธิปไตยต้องปรบมือรับเกรียวกราว

เพราะเป็นนายทหารผู้ใหญ่ที่เข้าร่วมการเมือง ด้วยแนวทางตรงกันข้ามกับ
ภาพรวมของกองทัพ

ถ้าไปดูปูมประวัติการรับราชการของ พล.อ.ยศนันท์ ก็เติบโตมาในสายกุมกำลังทั้งระดับ ผบ.พัน, ผบ.พล ผ่านหลักสูตรการศึกษาในต่างประเทศที่บ่งบอกว่าเป็นระดับหัวกะทิของกองทัพแน่ๆ

บางครั้งก็เคยพบปะเจอะเจอบิ๊กยอร์ช ไปร่วมฟังสัมมนาทางเศรษฐกิจวิชาการอีกด้วย

ทำให้พอมองออกว่า ทำไมจึงเป็นนายทหารสายประชาธิปไตยในวันนี้

อันที่จริง ในหลายยุคหลายสมัย มีนายทหารแนวคิดประชาธิปไตย แนวคิดกว้างและออกนอกกรอบ มีทหารสายพิราบที่คิดต่างออกไป

เช่น สมัยสงครามกับคอมมิวนิสต์ มี พันเอก หาญ พงศ์สิฏานนท์ นายทหาร กอ.รมน. ที่เริ่มผลักดันแนวคิด การจับกุมปราบปรามมีแต่ทำให้ฝ่ายคอมมิวนิสต์ยิ่งโต

จากนั้นก็มี พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ มาสานต่อ สร้างแนวทางการเมืองนำการทหาร จนกลายมาเป็นคำสั่งที่ 66/2523 ใช้สันติวิธีหยุดสงครามคอมมิวนิสต์ได้สำเร็จ

แถมในยุคนั้นยังมีนายทหารอีกกลุ่มที่เรียกตัวเองว่า “กลุ่มทหารประชาธิปไตย” พยายามเสนอแนวคิดทางการเมืองและการแก้ปัญหาประชาธิปไตย ที่แตกต่างจากความคิดรวมๆ ของคนในกองทัพ

หรือการรัฐประหารปี 2520 ของ พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ ถือว่าเป็นการล้มรัฐบาลแนวขวาจัด เพื่อพลิกการเมืองให้คลี่คลายไปสู่ประชาธิปไตย

มาในการเลือกตั้ง 2562 นี้ มีทหารแนวทางประชาธิปไตยเกิดขึ้นมาแล้ว แถมเข้าสมัครพรรค ทษช. แค่วันเดียวก็มีระดับบิ๊กออกมาช่วยประโคม จนชื่อเสียงดังเปรี้ยงปร้าง

คล้ายๆ กับที่ช่วยกันเรียกยอดคนเข้าดูเพลงแร็พประเทศกูมี ทำนองนั้น

สุริวงค์ เอื้อปฏิภาน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image