เหยี่ยวถลาลม 23พ.ย.61 : การเมืองย้อนยุค (4)

การใช้พลังดูดเอาบุคลากรและทรัพยากรจากพรรคและกลุ่มการเมืองต่างๆ ของ “ฝ่ายอำนาจนิยม” ที่มาจากคณะรัฐประหารนั้นมีมานานแล้วในสังคมไทย

ภายหลังรัฐประหาร 2490 หรือเมื่อ 71 ปีก่อน จอมพล ป.พิบูลสงคราม ก็ใช้แผนประทุษกรรมเดียวกันคือ พยายามจะทำให้โลกเห็นว่า ถึงแม้ได้อำนาจมาด้วย “ปืน” แต่ก็พยายามจะเล่นการเมืองแบบเสรีประชาธิปไตยด้วยการตั้งพรรคการเมืองขึ้นมาสู้ตามกติกา

เพียงแต่ “ที่มา” ของพรรคการเมืองที่สนับสนุนทหารนั้นเกิดจาก “ระบบสินบน” หรือระบบอุปถัมภ์ที่ต้องใช้เงินมหาศาลในการกวาดต้อนนักการเมืองจากหลายซุ้มหลายค่ายให้มารวมกลุ่มเป็นก้อนเดียวกัน

พรรคการเมืองที่สนับสนุนทหารต้องเป็นพรรคเกิดใหม่ที่โตเร็ว

Advertisement

ก่อนเลือกตั้งต้นปี 2500 จอมพล ป.มีพรรคการเมืองของตัวเองชื่อว่า “เสรีมนังคศิลา”

ต่อมาเมื่อ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ โค่นล้ม จอมพล ป.ในเดือนกันยายน 2500 “สฤษดิ์” ก็ใช้แบบแผนเดียวกันคือ จัดตั้ง “พรรคชาติสังคมนิยม” ขึ้นแทนพรรคเสรีมนังคศิลา

พรรคการเมืองฝ่ายอำนาจนิยมพวกนี้เกิดขึ้น และเติบโตในเวลาอันรวดเร็วได้ก็ด้วย “สินบน” ที่ดึงดูดนักการเมืองหลายกลุ่มให้มารวมตัวกันเพื่อสนับสนุนผู้นำที่มาจากทหาร

Advertisement

แต่ในที่สุด อยู่ด้วยกันได้ไม่นาน “สฤษดิ์” รู้สึกหงุดหงิดรำคาญกับแนวทางที่ไม่คุ้นชิน ในเดือนตุลาคม 2501 จึงรัฐประหารรัฐบาลตัวเอง “ล้มกระดาน” เพื่อก้าวสู่แนวทางที่ต้องการ

นั่นคือ ห้ามมีพรรคการเมือง ห้ามชุมนุมทางการเมืองเกินกว่า 5 คน สั่งปิดร้านหนังสือ จับกุมและกวาดล้างคนเห็นต่าง พร้อมยัดข้อหาร้ายแรง “ฝักใฝ่ในลัทธิคอมมิวนิสต์”

“สฤษดิ์ ธนะรัชต์” ประกาศเดินหน้านโยบายเอาใจชาวบ้าน สร้างคะแนนนิยมด้วยการให้ประชาชนใช้น้ำประปาฟรี ลดค่าไฟฟ้า ลดราคากาแฟเย็น ลดราคาน้ำตาล สั่งให้ทหารเรือขนมะพร้าวราคาถูกมาขาย จัดให้มีตลาดนัดวันอาทิตย์ ขายสินค้าราคาถูก เพียงแค่ไม่ได้ปัก “ธงฟ้า” เป็นสัญลักษณ์

พฤติการณ์ทางการเมืองของผู้นำที่มาจากทหารเมื่อปี พ.ศ.2490 พฤติกรรมของผู้ที่มาจากรัฐประหารเมื่อปี พ.ศ.2500, 2501 กับผู้นำทหารที่มาจากรัฐประหารในปี พ.ศ.2557 ต่างกันตรงไหนในรอบ 70 กว่าปีมานี้วิกฤตการณ์ทางการเมืองของผู้นำทหารไม่เคยเปลี่ยน

เหตุใดผู้คนจำนวนหนึ่งจึง “เชื่อ” อย่างซ้ำซากกับคำโฆษณาชวนเชื่อเดิมๆ !?!!

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image