‘อังกฤษ’ แยกตัวออกจาก ‘อียู’ : โดย ศ.ชยานันต์ ศุกลวณิช

ปัญหาสหราชอาณาจักรแยกตัวออกจากสหภาพยุโรป ได้ผ่านการเจรจาท่ามกลางภาวะที่ระส่ำระสายเป็นเวลา 20 เดือนเศษ ในที่สุดได้บรรลุสัญญาข้อตกลง (ฉบับชั่วคราว)

ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีเทเรซา เมย์ ต้องขอมติเห็นชอบจากรัฐสภา จึงจะมีผลใช้ได้ แต่จำนวนสมาชิกของพรรคอนุรักษนิยมไม่เพียงพอ เพราะเป็นรัฐบาลเสียงข้างน้อย จึงจำเป็นต้องได้รับการสนับสนุนจากพรรคฝ่ายค้าน ซึ่งเป็นเรื่องยาก ซ้ำร้ายภายในพรรคได้เกิดการแตกแยกเป็นวงกว้างและมีสมาชิกจำนวนมากในรัฐสภาเตรียมแผนลับเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจ “เทเรซา เมย์”

ความเสื่อมกำลังจะมาเยือน

สหราชอาณาจักรกับสหภาพยุโรปยังมีประเด็นความขัดแย้งทางการค้าที่ยืดเยื้ออยู่ส่วนหนึ่งซึ่งยังไม่สามารถเจรจาทำความเข้าใจและรับรู้ร่วมกัน ต่างมีความระแวงและไม่เชื่อใจซึ่งกัน

Advertisement

สัญญาตกลงออกจากสหภาพยุโรป จะมีผลบังคับใช้วันที่ 29 มีนาคม 2019 หลังจากนั้นมีเวลาอีก 21 เดือนที่เรียกว่า “Transition Period” เพื่อให้ทำการเจรจาปัญหาที่ตกค้าง

กรณีพอจะอนุมานได้ว่า การเจรจาคงเปี่ยมด้วยความเปลี่ยนแปลงในหลากหลายประเด็น รวมทั้งประเด็นที่ “สกอตแลนด์” ได้เสนอให้มีการลงประชามติใหม่อีกครั้งหนึ่งด้วย

อนาคตของสหราชอาณาจักรจึงมากด้วยปัญหา เส้นทางการเมืองก็เต็มไปด้วยขวากหนาม

Advertisement

ปัญหาออกจากสหภาพยุโรป หลังจากได้ลงประชามติเมื่อ 23 มิถุนายน 2016 ความกังวลที่สถิตในดวงหทัยของคนอังกฤษคือ “ซอฟต์แลนดิ้ง” หรือ “ฮาร์ดแลนดิ้ง”

เวลาผ่านมาประมาณ 29 เดือน

วันนี้ความกังวลดังกล่าวของคนอังกกฤษก็ยังไม่คลาย

อัน “ซอฟต์แลนดิ้ง” คือการแยกตัวออกด้วยความละมุนละม่อม

ส่วน “ฮาร์ดแลนดิ้ง” คือการจบลงด้วยความเจ็บปวด

สัญญาข้อตกลงฉบับชั่วคราวระหว่างสหราชอาณาจักรและสหภาพยุโรปนั้น ยังต้องผ่านมติความเห็นชอบจากรัฐสภาของทั้งสองฝ่าย จึงจะมีผลสมบูรณ์

ถ้ารัฐสภาสหราชอาณาจักรไม่เห็นชอบ น่าจะมีความเป็นไปได้ 2 ประการ

1 คือขอให้มีการเจรจาใหม่ หรือขอให้มีการลงมติใหม่ภายใน 21 วัน

หากสหภาพยุโรปปฏิเสธการเจรจาใหม่ หรือรัฐสภาใช้สิทธิยับยั้ง

ย่อมหมายถึง “ฮาร์ดแลนดิ้ง” มาเยือน

ถ้าทั้งรัฐสภาสหราชอาณาจักรและสหภาพยุโรปมีมติเห็นชอบรับรองสัญญาข้อตกลงการแยกตัวฉบับชั่วคราว ก็คือ “ซอฟต์แลนดิ้ง”

ความเป็นไปได้อีก 1 คือ กดดันให้ “เทเรซา เมย์” พ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีด้วยวิธีหนึ่งวิธีใด แล้วจัดการเลือกตั้งใหญ่ขึ้นใหม่ น่าจะเป็นเหตุผลดีที่จะแจ้งให้สหภาพยุโรปชะลอดำเนินการตามวาระแห่งสัญญาข้อตกลงแยกตัว (ฉบับชั่วคราว) ไปพลางก่อน

ถ้าสหภาพยุโรปปฏิเสธการร้องขอ ก็ไม่แคล้ว “ฮาร์ดแลนดิ้ง”

มิฉะนั้น รัฐสภาสหราชอาณาจักรก็ต้องเสนอให้มีการทำประชามติอีกครั้งหนึ่ง

จากผลการลงประชามติเมื่อปี 2016 นั้น คนอังกฤษเห็นด้วย 52% ไม่เห็นด้วย 48%

คะแนนที่เหลื่อมล้ำกันไม่มาก ก็เพราะพื้นฐานความสามารถแห่ง “การรับรู้ร่วมกัน” ยังละอ่อน

สหราชอาณาจักรกับสหภาพยุโรปเป็นพันธมิตรกันมารวมเวลา 40 ปีเศษ

แต่ปัญหาเกี่ยวกับ “อยู่” หรือ “ไป” นั้น การเจรจาไม่มีวันสิ้นสุด เพราะมีการยื้อถ่วงหน่วง

พินิจพิเคราะห์เห็นว่า การตัดสินใจของ 2 ฝ่าย ยังปราศจากความมั่นใจ ความลังเลจึงเกิด

วันนี้ คนอังกฤษส่วนหนึ่งเห็นว่าการแยกตัวออกจากสหภาพยุโรปเป็นการตัดสินใจที่ผิดพลาด เรตติ้งของคนคัดค้านนับวันสูงขึ้น และมีความประสงค์ให้มีการทำประชามติใหม่

ปัญหายังมีมากภายในสหราชอาณาจักร ซึ่งมากด้วยความสับสน ความถูกผิดมิอาจแยกแยะ

นอกจากความขัดแย้งในรัฐสภาระหว่างรัฐบาลกับพรรคฝ่ายค้าน ภายในพรรคอนุรักษนิยมก็แตกเป็น 2 พวก เวลา 2 ปีที่ผ่านมาบรรดาอำมาตย์ที่ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้เจรจาปัญหาการแยกตัวได้ลาออก 2 คน รัฐมนตรีหลายคนทำการประท้วงด้วยการลาออกเช่นกัน

คู่สนทนาเจรจาการแยกตัวคือ พันธมิตร 27 ประเทศ กระดูกต่างเบอร์ ความคิดแตกแยก

นอกจากนี้ ระหว่างที่ทำการเจรจาอยู่ในห้วงเวลาที่ฝรั่งเศสและเยอรมนีมีการเลือกตั้งใหญ่ ต้องพบกับการเปลี่ยนแปลงประเด็นของจุดยืนอีกด้วย เพิ่มความลำบากให้มากขึ้น เช่น มีการเรียก “ค่าแยกตัว” ถึง 5.20 หมื่นล้านปอนด์ ต่อมาเพิ่มขึ้นเป็น 9.20 หมื่นล้านปอนด์

แต่สหราชอาณาจักรต่อรองเหลือ 1.80 หมื่นล้านปอนด์

ปัญหาที่ใหญ่ที่สุดคือ ระหว่างประเทศพันธมิตรในสหภาพยุโรปไม่มีหน่วยงานศุลกากรและตรวจคนเข้าเมือง เป็นเหตุให้เกิดความสับสนในด้านพรมแดน ฉะนั้น เมื่อสหราชอาณาจักรแยกตัว ก็ต้องมีการสร้างเขตแดนขึ้นใหม่ เป็นเรื่องใหญ่ที่ต้องใช้งบมหาศาล

การแยกตัวออกจากสหภาพยุโรปของสหราชอาณาจักร ไม่ว่าจะสำเร็จหรือล้มเหลว ย่อมต้องกระทบการเติบโตทางเศรษฐกิจของสหราชอาณาจักร สหภาพยุโรปก็ต้องประสบชะตากรรมเดียวกัน เช่น สินค้าที่เยอรมนีส่งออกไปยังสหราชอาณาจักร เป็นการสร้างงานให้ประชาชนเยอรมันถึง 7.7 แสนตำแหน่ง เป็นปัญหาใหญ่ทั้งผู้ส่งออกและผู้นำเข้า

นอกจากนี้ ยังเป็นหนทางวิบากของสหภาพยุโรป เพราะเห็นได้จากการที่ระบุไว้ในสัญญาฉบับชั่วคราว มีความตอนหนึ่งว่า “หลังการแยกตัว สหราชอาณาจักรจะออกกฎหมายที่มีเงื่อนไขการแข่งขันทางการค้าที่มีมาตรฐานต่ำกว่าสหภาพยุโรปมิได้” เป็นมาตรการป้องกันตัว

สหราชอาณาจักรจึงอยู่ในสภาพที่กลืนไม่เข้าคลายไม่ออก

มองอดีตเมื่อ 2011 สหราชอาณาจักรประสบวิกฤตเศรษฐกิจ อันเกิดจากการร่วมมือกับสหรัฐทำสงครามที่อิรักและอัฟกานิสถาน และปัญหาเศรษฐกิจในยูโรโซนคือ กรีซ ไอร์แลนด์ และสเปนได้ระบาดเข้าลอนดอนอย่างรวดเร็วนำมาซึ่งผลกระทบต่อรัฐบาลและธุรกิจเอกชนอย่างไม่เคยมีมาก่อนในอดีต จนหย่อนความสามารถในการฟื้นตัว ส่งผลกระทบถึงหน่วยงานรัฐบาลด้านสวัสดิการสังคม การศึกษา และการรักษาพยาบาล

สภาพของอังกกฤษในสมัยนั้น เปรียบเสมือนใบไม้ร่วง แม้กระทั่งกำลังความสามารถในการป้องกันประเทศก็ยังหาได้ไม่ จึงมีความจำเป็นต้องลงนามในสนธิสัญญาความร่วมมือ “ป้องกันประเทศ” กับฝรั่งเศส กรณีละม้ายกับลูกไก่ในกำมือของฝรั่งเศส ณ บัดนั้น

ฉะนั้น การเจรจาการแยกตัวออกจากสหภาพยุโรปในครั้งนี้จึงยาก เพราะฝรั่งเศสคุมเกมอยู่

อย่างไรก็ตาม สัญญาข้อตกลงการแยกตัว (ฉบับชั่วคราว) ระหว่างสหราชอาณาจักรกับสหภาพยุโรปนั้น ไม่ว่ารัฐสภาของทั้งสองฝ่ายจะเห็นพ้องหรือไม่ ล้วนเป็นเรื่องใหญ่และสำคัญยิ่ง

อนาคตของสหราชอาณาจักรเต็มไปด้วยเมฆหมอก

ศ.ชยานันต์ ศุกลวณิช

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image