เมื่อเมืองไทยไร้ป่า (2) โดย วสิษฐ เดชกุญชร

แฟ้มภาพ

 

ผมนึกว่าจะเขียนเรื่องป่าของเมืองไทยสักตอนเดียว แต่เมื่อเขียนแล้วจึงรู้ว่ายังมีข้อมูลอื่นๆ อีกมากที่ผมเพิ่งรู้ และเชื่อว่าท่านผู้อ่านอีกไม่น้อยก็คงยังไม่รู้เช่นเดียวกัน จึงขอเขียนต่อเป็นตอนที่ 2

เรื่องแรกที่ผมเพิ่งรู้และเห็นว่าท่านผู้อ่านควรรู้ด้วยคือเรื่องป่าไม้เมืองน่าน ซึ่งเป็นตัวอย่างหนึ่งของการทำลายป่าที่ชัดเจนที่สุด คุณศศิน เฉลิมลาภ เลขาธิการมูลนิธิสืบนาคะเสถียร เขียนเอาไว้ในหน้าของท่านในเฟซบุ๊กเมื่อวันที่ 30 เมษายนนี้ว่า “ปัจจุบันพื้นที่น่านยังมี (ป่า) อยู่ถึง 65% ของพื้นที่จังหวัด แบ่งเป็นของกรมอุทยาน 36% และกรมป่าไม้ 29% แต่ปัญหาใหญ่คือพื้นที่ป่าหายไปในช่วงสิบปีที่ผ่านมาถึง 10% ของพื้นที่จังหวัด คิดเล่นๆ ว่าป่าหายไปถึงแสนไร่ต่อปี หรือคิดแล้วชั่วโมงหนึ่งป่าหายไปราวๆ สองสามสนามฟุตบอล วันนี้พื้นที่ปลูกข้าวโพดบนภูเขาประมาณ 9 ล้านไร่ อยู่ในป่าอุทยาน 300,000 ไร่ ในป่าสงวนเกือบ 600,000 ไร่ นี่คือต้นน้ำลำธารที่สำคัญ พื้นที่นี้น่าจะใหญ่เกือบเท่าพื้นที่กรุงเทพฯ”

อีกเรื่องหนึ่งที่เกี่ยวพันกันและเป็นเรื่องที่ผมเพิ่งจะรู้เหมือนกันก็คือ กว่าสามปีมาแล้วเมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2557 สำนักงานโครงการสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี กองทัพบก และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้จัดให้มีการสัมมนาโครงการ “รักษ์ป่าน่าน” ขึ้นที่ศูนย์การเรียนรู้และบริการเครือข่ายแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จังหวัดน่าน ตำบลผาสิงห์ อำเภอเมืองั้จังหวัดน่าน โดยมีธนาคารกสิกรไทยเป็นผู้สนับสนุนและ ประสานงาน ตามแนวพระราชดำริของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ที่ทรงมีพระราชประสงค์จะให้แก้ไขปัญหาความเสื่อมโทรมของพื้นที่ป่าไม้ในจังหวัดน่านอย่างยั่งยืน และรักษาความสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของประเทศ

Advertisement

สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเป็นประธานและทรงเปิดการสัมมนาในวันนั้น ทั้งยังได้ทรงบรรยายเรื่อง “การสร้างสำนึกในเด็กและเยาวชนอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ” ในโอกาสเดียวกันทรงเปรียบเทียบป่าว่าเป็นเหมือน “ซุปเปอร์มาร์เก็ต” ที่จะใช้อะไรก็ไปหาได้ในป่า ปัจจัย 4 ทั้งอาหาร เครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัย และยารักษาโรค รับสั่งว่าป่าธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์จะช่วยป้องกันน้ำท่วม ดินถล่ม ความแห้งแล้ง เมื่อก่อนชาวบ้านถางป่าทำไร่เลื่อนลอย ป่าจึงถูกทำลายไม่รุนแรงนัก แต่ต่อมาการทำลายป่าทันสมัยขึ้น มีเลื่อยไฟฟ้า ทำให้การทำลายป่าลุกลามอย่างรวดเร็ว หรือใช้วิธีเผาป่าทั้งภูเขาเพื่อให้มีพื้นที่ในการทำมาหากินมากขึ้น ที่จังหวัดน่านไม่มีการตัดไม้เป็นไม้เถื่อนแล้ว มีแต่ตัดไม้เพื่อปลูกพืชไร่อย่างเดียว ทำให้สัตว์ตามธรรมชาติหมดไป และเป็นการเผา “ซุปเปอร์มาร์เก็ต” ให้หมดไปด้วย

ตรัสด้วยว่ามีพระราชประสงค์ที่จะให้ใช้เรื่องป่าไม้เป็นสื่อการเรียนการสอนที่ดีที่สุดไปยังเด็กๆ ใช้รูปภาพไฟไหม้ป่า เผาป่า จะได้เห็นภาพที่น่าสังเวช แล้วจะได้ไม่ทำ ทรงอยากให้พิจารณาว่าป่าไม้เป็นสิ่งสวยงาม เป็นสิ่งที่มีประโยชน์ เป็นสมบัติของทุกคน จะได้เกิดความหวงแหน ไม่อยากทำลาย

สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯไปทรงเป็นประธานเปิดการสัมมนาเชิงวิชาการ “รักษ์ป่าน่าน” อีกเป็นครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2558 คราวนี้ได้ทรงบรรยายเรื่องการจัดการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติป่าไม้ ทรงเน้นว่าการอนุรักษ์ป่าไม้จะสำเร็จได้นั้นควรทำควบคู่กับการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติอื่นๆ โดยประชาชนที่อาศัยอยู่รอบป่าจะต้องมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นจึงจะไม่บุกรุกทำลายป่า ทรงย้ำอีกว่าควรสร้างความรู้ความเข้าใจให้แก่เด็กเยาวชนและประชาชน ให้เข้าใจว่าสรรพสิ่งทุกอย่างล้วนเกี่ยวข้องกัน ควรกระตุ้นให้มีการเรียนรู้ในเรื่องโลกและสิ่งมีชีวิตบนโลก อาทิ ภูมิศาสตร์ สัตวศาสตร์ และพฤกษศาสตร์ และต้องแบ่งพื้นที่อนุรักษ์ พื้นที่ทำการเกษตรให้ชัดเจน ตลอดจนปลูกต้นไม้ทดแทนในพื้นที่ป่าเสื่อมโทรม สำหรับโครงการสร้างป่าสร้างรายได้ในพื้นที่จังหวัดน่าน ทรงเน้นให้ปลูกพืชไม้พื้นเมืองควบคู่กับพืชเศรษฐกิจ เช่น กาแฟ หวาย ไผ่ และพืชสมุนไพร เพราะมีระบบรากที่แข็งแรง สามารถยึดเกาะหน้าดินได้ดี ซึ่งจะช่วยลดการพังทลายของหน้าดินในพื้นที่ลาดชัน ไม่ให้เป็นอันตรายกับทรัพยากรธรรมชาติอื่นๆ ชีวิตและทรัพย์สินของคน

Advertisement

โครงการ “รักษ์ป่าน่าน” น่าจะเป็นต้นแบบให้จังหวัดอื่นๆ ในการคืนป่าให้เมืองไทย และรัฐบาลควรจะถือเอาเรื่องฟื้นฟูและอนุรักษ์ป่าไม้เป็นงานเร่งด่วนที่สุดชิ้นหนึ่ง เพราะยิ่งล่าช้าเท่าใด ความเสียหายอันเกิดจากการไร้ป่าก็จะยิ่งรุนแรงร้ายแรงมากขึ้นเท่านั้น

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image