อุปมา มัดมือชก ประชามติ รัฐธรรมนูญ ถาม มีชัย ฤชุพันธุ์

อุปมาว่ากระบวนการทำประชามติดำเนินไปเหมือนกับ “มัดมือชก” อันมาจาก นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์

ให้ความรู้สึก “ไม่ค่อยดี”

ไม่เชื่อลองไปเปิดหนังสือ “พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2525” ไปยังหน้า 638 สดมภ์ 1 บรรทัดที่ 21 นับจากด้านบน

มัดมือชก (สำ) ก.บังคับหรือใช้วิธีการใดๆ ให้อีกฝ่ายหนึ่งตกอยู่ในอำนาจแล้วจัดการเอาตามใจชอบ

Advertisement

ยิ่งเปิดหนังสือ “พจนานุกรม ฉบับมติชน” อันตีพิมพ์ครั้งแรกเมื่อ พ.ศ.2547 ไปยังหน้า 676 สดมภ์ 1 บรรทัดที่ 9 นับจากด้านล่าง

มัดมือชก (สำ) ก.บีบบังคับอีกฝ่ายหนึ่งเพื่อตนเองเป็นผู้กระทำแต่ฝ่ายเดียว

ยิ่งปวดร้าวหากประเมินจากสถานะของ นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ ซึ่งอยู่ในด้านของ “ผู้ถูกกระทำ” จากกระบวนการ “ประชามติ”

Advertisement

ยิ่งเปิด “สารานุกรม ภาษิต คำพังเพย สำนวนไทย” หน้า 417 ตรงคำอธิบาย

เป็นการบังคับอีกฝ่ายให้ทำในสิ่งที่ไม่ต้องการจะทำ หรือเจ้ากี้เจ้าการทุกอย่างด้วยความคิดของตนเองเพียงคนเดียว โดยไม่สนใจว่าผู้อื่นพร้อมใจเห็นตามด้วยหรือไม่

ยิ่งน่าเห็นใจ นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ อย่างล้ำลึก

บังเอิญที่ “ประชามติ” ในวันที่ 7 สิงหาคม มิได้เป็นเรื่องของ นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ หรือของพรรคประชาธิปัตย์เท่านั้น

หากเป็นเรื่องของ “ประชาชน”

เหตุเพราะสิ่งที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จะนำไปสอบถาม “ความเห็น” ของประชาชน คือ ร่างรัฐธรรมนูญ

นี่ย่อมเป็น “เรื่องใหญ่”

เป็นเรื่องใหญ่ไม่เพียงเพราะเป็นเรื่องของ “ประชามติ” อันสะท้อนมติของประชาชน หากเป็นเรื่องใหญ่เพราะนิยามและความเข้าใจต่อ “รัฐธรรมนูญ”

คือ กฎหมายสูงสุดในการปกครองประเทศ

เรื่องเช่นนี้หากดำเนินไปในลักษณะ “มัดมือชก” ย่อมมิใช่เรื่องดี และยากเป็นอย่างยิ่งที่จะสามารถสะท้อน “มติ” หรือ “ความเห็น” ของประชาชนได้อย่างตรงกับความเป็นจริง

กระทั่ง “ศรีอยุธยา” ยังเคยระบุในพระราชนิพนธ์เรื่อง “ปล่อยแก่”

“พุทโธ่ พุทโธ่ ผมนะแรงน้อยลงไปแล้วนา นัยน์ตาก็ไม่ดีเหมือนแต่ก่อน เสมอกับ “มัดมือชก” เทียวนา”

อัน ขุนวิจิตรมาตรา (สง่า กาญจนาคพันธุ์) ถอดความออกมาว่า

บังคับหรือทำด้วยวิธีใดๆ ก็ตามให้อีกฝ่าย 1 ตกอยู่ในอำนาจแล้วจัดการเอาตามชอบใจไม่ให้ฝ่ายนั้นโต้แย้งต่อสู้ได้

เปรียบเหมือนมัดมือทั้ง 2 ไว้ไม่ให้ต่อสู้แล้วชกต่อยเอาข้างเดียวตามสบาย

ไม่น่าเชื่อว่านักกฎหมายซึ่งเป็น “คนดี” ระดับ นายมีชัย ฤชุพันธุ์ จะสบายใจกับมาตรการ “มัดมือชก” ในการทำ “ประชามติ”

ยิ่งคนดีระดับ นายวิษณุ เครืองาม ยิ่ง “อิมพอสสิเบิล”

สภาพอย่างไรหรือที่นักการเมือง “น้ำดี” จากพรรคประชาธิปัตย์อย่าง นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ รู้สึกที่ไม่ดีต่อกระบวนการทำ “ประชามติ”

นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ ยกมาอ้างอิงอย่างเห็นเป็นรูปธรรม

“การที่รัฐเอื้อประโยชน์ให้ฝ่าย 1 พูดถึงข้อดีของร่างรัฐธรรมนูญได้ แต่ไม่เอื้อประโยชน์ให้อีกฝ่าย 1 พูดถึงข้อเสียของร่างรัฐธรรมนูญ

จึงเท่ากับเป็นการ “มัดมือชก”

“ทางที่ดีรัฐควรเปิดพื้นที่ร่วมมือสนับสนุนให้ผู้เห็นต่างดำเนินการเช่นเดียวกับคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญทำได้ ก็จะถือเป็นการทำประชามติที่เสรีและเป็นธรรม”

อ่านแล้วเข้าใจ ไม่ต้องแปลไทยเป็นไทยอีก

อ่านแล้วก็เข้าใจและเห็นใจในความรู้สึกอันปวดร้าวและทรมานใจของนักการเมืองอย่าง นายองอาจ คล้ามไพบูลย์

เพียงแต่ นายมีชัย ฤชุพันธุ์ จะรู้สึกด้วยหรือไม่

เพียงบาทก้าวแรกที่เข้าสู่สนาม “ประชามติ” ร่างรัฐธรรมนูญก็เริ่มปรากฏ “ตำหนิ” อันเหมือนใฝฝ้า ราคี

นั่นก็คือ กระบวนการทำประชามติในแบบที่เรียกว่า “มัดมือชก” โดยตัดสิทธิลิดรอนอีกฝ่ายอย่างเข้มข้น รุนแรง แต่อีกฝ่ายกลับเคลื่อนไหวอย่างอ้าซ่าเต็มพิกัด

นักประชาธิปไตยอย่าง นายมีชัย ฤชุพันธุ์ จะรู้สึกอย่างไร

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image